เที่ยว 7 วัดเติมพลังศรัทธา สู่บูรพาจารย์แดนอีสาน

เที่ยว 7 วัดเติมพลังศรัทธา สู่บูรพาจารย์แดนอีสาน

เที่ยว 7 วัดเติมพลังศรัทธา สู่บูรพาจารย์แดนอีสาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

" บุญ " ความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ของพระพรหม คุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) คือ เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ และกุศลธรรม ดังนั้นการทำบุญถือเป็นส่วนประกอบสำคัญทางพุทธศาสนาที่มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ต่อการทำนุบำรุงพระศาสนา เป็นประโยชน์แก่สงฆ์ และเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนที่ทำบุญด้วย


ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตไม่มีคำว่าบังเอิญ เมื่อมีเหตุย่อมมีผลตามมา อากาศบริสุทธิ์ยามเช้าสายลมเย็นสบายผัดผ่านก้อนเมฆน้อยล่องลอยเคลื่อนตัวผ่านช้าๆ แลเห็นตะวันค่อยๆทอแสงแดดไออุ่นเหลืองนวลบางเบาสาดส่องกระทบพื้นผิวประตูสีทองทางเข้าตึกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ภาพบรรยากาศเดิมสวยงามตาเคยมองดูอยู่เสมอ เพราะอดีตชาติเคยสร้างเหตุมาด้วยกันปัจจุบันจึงต้องมารับผลร่วมกัน วันนี้ชีวิตได้พบเจอผู้มีจิตศรัทธา ยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย มีศีลครองใจ ดำรงอยู่ในศีลห้า มีใจศรัทธาในการทำนุบำรุงพระศาสนา และยินดีช่วยในกิจของสงฆ์เสมอ เพื่อนพ้องน้องพี่หน้าตาดีกันทุกคนมีน้ำจิตแบ่งปันน้ำใจมอบรอยยิ้มพิมพ์ใจ สร้างมิตรภาพที่ดีให้ซึ่งกันและกัน นั่งมองดูนัยน์ตาเป็นประกายสดใส น้ำเสียงร่าเริงแจ่มใส ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะครอบครัวมีความสุขจากใจกับกิจกรรมการเดินทางสร้างบุญบารมีด้วยกันในครั้งนี้

บริเวณจุดลงทะเบียนรู้สึกว่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ จึงเดินเข้าไปหาแล้วลงชื่อก็เข้าใจ รับป้ายชื่อหอยคอ และกระเป๋าสำภาระ พร้อมข้อมูลที่ควรทราบ และของสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้ร่างกายมีพลัง " มีข้าวกล่อง + น้ำดื่ม แจกด้วยนะ" อิ่มอร่อยกับอาหารเช้ากันไปแล้วก็ถึงเวลาเปิดงานโดยมี นายเกรียงจิตร มิตรยอดวงศ์ บรรณาธิการอำนวยการฝ่ายกิจกรรมนิตยสาร PHOTOTECH กล่าว รายละเอียดของการจัดงานซึ่งในครั้งนี้มีผู้ใหญ่ใจดี คุณพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับ นิตยสาร PHOTOTECH และ แทรเวล ไลน์ พร้อมพันธมิตรโดยบัตรเครดิตท่องเที่ยว ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดโครงการ " เที่ยวหน้าฝน ยลธรรมะ และธรรมชาติ " ตอน พลังศรัทธา สู่บูรพาจารย์แดนอีสาน (สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของภาคอีสาน ตามเส้นทาง กรุงเทพฯ - โคราช - ขอนแก่น - อุดรธานี - สกลนคร- กาฬสินธุ์ - มหาสารคาม โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนและครอบครัว นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศแหล่งท่องเที่ยวของภาคอีสาน และการประกวดภาพถ่ายชิงถ้วยเกียรติยศจาก ททท.

หลังจากจบพิธีเปิดงานถ่ายภาพหมู่เก็บไว้เป็นที่ระลึกกันเสร็จเรียบร้อยแล้วถึงเวลาออกเดินทางสู่ดินแดนบูรพาจารย์ภาคอีสาน นำขบวนรถโดยตำรวจ กองปราบปรามฯ มุ่งหน้าสู่ประตูอารยธรรมอีสาน นครราชสีมา  อุทยานมูลนิธิสมเด็จพุฒาจารย์โต ภาพบรรยากาศเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นต้นไม้น้อยใหญ่ ตะวันท่อแสงแดดอันแรงกล้า กระทบพื้นน้ำสีเขียวดูงามตาลำตะคอง บนถนนมิตรภาพ ห่างอำเภอสี่คิ้ว มาประมาณ 2 กิโลเมตร หรือ ก่อนถึงโคราช ประมาณ 40 กิโลเมตร มองเห็น อุทยานมูลนิธิสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วิหารสีขาวสะอาดตา ให้ลวดลายสีทองโดดเด่นเป็นสง่างาม อุทยานแห่งนี้ หรือ ที่หลายๆคนเรียกชื่อที่นี่ว่า วัดสรพงษ์ จนติดปากกัน คุณสรพงษ์ ชาตรี สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาต่อองค์ท่าน มีความตั้งใจเดิมไม่ใช่วัด ไม่มีพระสงฆ์ จะสร้างให้เป็นมูลนิธิ เพื่อให้คนที่เคารพบูชาสมเด็จโตเข้าไปกราบไว้ และ เพื่อใช้ในการบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือสังคม เป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมการเรียนการสอนของเด็กด้อยโอกาส

จากประตูทางเข้ามาถึงส่วนแรก อาคารกองอำนวยการ และประชาสัมพันธ์ มีป้ายสีเหลืองฝากข้อความเอาไว้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความพร้อมจะมาทำบุญให้สติเตือนใจ " เขตวิหารฯลานบุญ โปรดแต่งกายให้สุภาพ " เพียงก้าวเดินไปด้านซ้ายมืองามตางานพุทธศิลป์ พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) องค์จำลองเนื้อสีขาว ผู้มีจิตศรัทธามากมายมาทำบุญร่วมใจกันติดแผ่นทอง เมื่อยามตะวันทอแสงอ่อนส่องกระทบพระพุทธไสยาสน์ สะท้อนแสงสีเหลืองนวลทั่วบริเวณ อบอุ่นสุขอยู่ในใจยิ่งนัก การทำบุญที่จะส่งผลบุญให้แก่ชีวิตได้มากนั้น ขอให้มีจิตศรัทธาอย่างจริงใจ มีความตั้งใจเลื่อมใสที่อยากทำบุญจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำๆตามเขาไปอย่างนั้นเอง จะต้องมีเจตนาความรู้สึกที่ดีงาม " ก่อนทำบุญ ในขณะที่กำลังทำบุญ และหลังจากทำบุญ ให้อยู่ในอารมณ์เดิมเดียวกัน " ด้วยความยินดีและศรัทธา นี้ย่อมจะส่งผลบุญให้พร้อมกับความอิ่มเอิบเป็นสุขใจอย่างแท้จริง  ในบุญกิริยาวัตถุสิบ คือ แนวทางการทำบุญสิบวิธี ข้อที่หนึ่งว่าด้วยเรื่องของ " บุญทานมัย " คือ การให้ทานเป็นการทำบุญด้วยการแบ่งปันสิ่งของ หรือ เงินทองให้แก่ผู้อื่น นอกจากได้บุญแล้วยังช่วยลดและไม่ยึดติดในวัตถุหรือความเห็นแก่ตัว ซึ่งภายในอาคารกองอำนวยการ และประชาสัมพันธ์แห่งนี้มีวิธีให้เราได้สร้างบุญทานมัยกัน

เริ่มจากต้นเสาสีแดงมีช่องให้ใส่ดอกกุหลาบประดิษฐ์หลากสีสันสวยงาม พร้อมปัจจัย เงินทำ " บุญผ้าป่า " ใกล้ๆกันเชิญซื้อที่ดินตารางวาละ 1 บาท เราจะได้รับโฉนดที่ดิน เป็นหนังสือสำคัญแสดงการถวายที่ดิน ในโครงการสร้าง " พระพุทธไสยาสน์ ทองสัมฤทธิ์ ยาว 89 เมตร " และขอเชิญร่วมทำบุญ กระเบื้องศาลาทานบารมี ถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เดินเก็บภาพบรรยากาศผู้มีจิตศรัทธาสร้างบุญทานมัย ภายในใจรู้สึกยินดีด้วยทำให้คิดถึง บุญกิริยาวัตถุสิบข้อที่แปดว่าด้วยเรื่องของ " ปัตตานุโมทนามัย " คือ การยินดีในบุญของผู้อื่น เป็นการทำบุญโดยมีใจรู้สึกยินดีและให้ความยอมรับที่ผู้อื่นได้ทำความดีและได้ผลดีจากการกระทำนั้น ถนนทางเดินก็นำพามาพบ มหาวิหารแบบกุฎาคาร (เรือนยอดเจดีย์) ให้เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม โดยจัดสร้างรูปหล่อเหมือนองค์จริงของท่าน ให้องค์ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง 8 เมตร สูง 13 เมตร (ขนาดเท่าตึกสองชั้น) น้ำหนักรวม 61 ตัน ในการก่อสร้างต้องทำการหล่อด้วยทองเหลือง แยกชิ้นส่วนกันถึง 127 ส่วนและนำมาประกอบกันเป็นองค์พระพุฒาจารย์โต องค์ใหญ่ ปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์ เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543

กราบสักการะขอพร องศ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พุทธศาสนิกชนมีใจศรัทธา นับถือ เคารพ บูชา คาถาศักดิ์สิทธิ์ชินบัญชร ซึ่งถือกันว่าเป็นคาถาที่ตกทอดมาจากลังกา เป็นสิริมงคลแก่ผู้สวดภาวนา และบริเวณโดยรอบฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) เห็นบาตรวางเป็นแถวยาว พานทองใบน้อยน่ารัก มีเหรียญสตางค์เตรียมไว้ให้ผู้ต้องการร่วมทำบุญใส่บาตรพระอรหันต์ 108 องค์ ตามศรัทธา นอกจากรูปหล่อทองเหลืององค์ใหญ่ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรังสี) ยังมีรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงคล้ายหุ่นขี้ผึ้ง มีเส้นผมเหมือนจริงมากอีกองค์หนึ่งในส่วนของวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช หอแก้ว หอพระ กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ภูมิทัศน์โดยรอบตกแต่งด้วย น้ำพุ น้ำตก สระน้ำ เคียงคู่สวนหินกลมกลืนสวยงามร่มรื่นไม้ดอกร่มเย็นไม้ประดับ ทางเดินก็นำพาเรามาพบโรงทานไว้บริการผู้ที่ผ่านไปมาและมาบำเพ็ญกุศล โรงทานแห่งนี้เปิดให้บริการอาหารฟรีโดยอาหารขึ้นชื่อที่ผู้เข้ามาในอุทยานฯ จะพลาดไม่ได้ต้องมาแวะชิม " ราดหน้าชาววัง " มีเนื้อหมู เส้นใหญ่ ใส่ผักคะน้า มองดูผ่านๆหน้าตาธรรมดา แต่เมื่อลิ้นได้สัมผัสชิมรสชาติไม่ธรรมดากลมกล่อมอร่อยจริงๆ คนทำยิ้มแย้มแจ่มใส คนกินมีความสุขแล้วก็อย่าลืม ใส่ปัจจัยลงในกล่องบริจาคเอาไว้ให้ผู้เข้ารับประทานอาหารได้ร่วมต่อบุญให้กับผู้ที่มาทีหลังตามจิตศรัทธาอีกด้วย

สถานที่ต่อไปเราออกเดินทางสู่เมืองเสียงแคนดอกคูน จังหวัดขอนแก่น มาถึงอำเภอเมือง บนถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร นมัสการ พระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น แห่งวัดหนองแวง จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ มหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น พระมหาธาตุแก่นนครเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐ ถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมเรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานปากแห บริเวณด้านหน้าพบพระพุทธรูปประจำวันเกิดอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา จะมีชาวพุทธจำนวนมาก มาเวียนเทียน และไหว้พระประจำวันเกิด เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้า มีฆ้องขนาดใหญ่ใกล้บันไดทางขึ้นไปชั้นแรก เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกและพระประธาน 3 องค์อยู่ตรงกลาง และพบกับที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ ๑๐๐ องค์ ที่บรรจุอยู่ในโถแก้ว จะอยู่ในตู้กระจกด้านซ้ายมือของที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ส่วนบานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น โดยเฉพาะบานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ และมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น เช่น จิตรกรรมฝาผนัง รูปพระธาตุขามแก่น

ภายในรวบรวมพระธรรมคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ละชั้นโดดเด่นด้วยลวดลายของบานประตู และหน้าต่างแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ ภาพแกะสลักรูปพรหมสิบหกชั้น สำหรับผู้ที่มีพลังกายและจิตใจมุ่งมั่นก้าวเดินไปให้ถึงในส่วนชั้นบนสุดของพระธาตุซึ่งเป็นสถานที่สำคัญบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก อานิสงส์ที่ได้รับสักการบูชาพระธาตุเก้าชั้น เปรียงดังบูชาองค์พระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองอีกทั้งยังสามารถชมทัศนียภาพของเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศมีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ความสวยงามของพระมหาธาตุแก่นนครยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

เช็คอินเข้าโรงแรมที่พัก ค่ำคืนนี้ รับประทานอาหารเย็น พร้อมฟังการบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพให้สวยสมใจกับ Presentation ที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะจากวิทยากรระดับบรมครู อาจารย์ธวัช มะลิลา ที่ปรึกษาสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเปิดมุมมองวิธีคิด สร้างสรรค์งานถ่ายภาพให้ก่อเกิดเป็นพื้นฐานอย่างมั่นคงลงสู่จิตใจของผู้ฟัง

ตื่นนอนตอนเช้ารับอรุณวันใหม่กับอุทยานแห่งธรรมะตามทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-ขอนแก่น ผ่านชุมชนบ้านตาดไม่ไกลมากนัก เราก็มาถึงวัดป่ากรรมฐานแห่งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา และให้ชื่อว่า " วัดเกสรศีลคุณ " แต่ชาวบ้านจะรู้จักและเรียกกันในนาม " วัดป่าบ้านตาด " สภาพโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าบนโคก ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีต มีประตูเข้า-ออกเป็นประตูใหญ่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าของวัดออกมาทำร้ายชาวบ้าน

วัดป่าบ้านตาดสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานของ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ท่านเป็นลูกศิษย์ผู้สืบทอดปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ยังทรงธาตุทรงขันธ์เป็นที่พึ่ง วัดป่าบ้านตาดเป็นที่เคารพศรัทธา เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน โดยทั่วไป ภายในวัดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ ในบุญกิริยาวัตถุสิบข้อที่สามว่าด้วยเรื่องของ " ภาวนามัย " คือ การเจริญภาวนาเป็นการทำบุญด้วยการตั้งจิตบำเพ็ญภาวนาด้วยการสวดมนต์ เจริญสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบและละจากกิเลสต่างๆ และการปฏิบัติธรรมก็เป็นการรักษาศีลด้วย ซึ่งในบุญกิริยาวัตถุสิบข้อที่สองว่าด้วยเรื่องของ " สีลมัย " คือ การถือศีล เป็นการทำบุญด้วยการรักษาศีลและข้อปฏิบัติที่ดีงามต่างๆ

ภายในบริเวณวัดบรรยากาศเงียบ สงบ มีต้นไม้เขียวชอุ่มให้ความร่มรื่นของธรรมชาติ มีศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่สูง 2 ชั้น บริเวณด้านล่างมีกิจกรรมให้เราได้สร้างบุญทานมัยร่วมกัน คือ ขอเชิญร่วมสร้าง " พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ " และร่วมทำบุญสมทบทุน...มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนซึ่งด้านบนศาลานั้น คือ ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเป็นพระประธานของวัด ทั้งยังใช้เป็นที่แสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด และตู้ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านขวาขององค์พระประธานนั้นก็คือ ที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัว รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ ส่วนด้านล่างศาลานั้น ถูกใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า อันเป็นสถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นในแต่ละวัน ถึงแม้ว่า หลวงตามหาบัว ท่านได้ละสังขารไปแล้ว เมื่อเวลา 03.53 น. วันที่ 30 มกราคม 2554 แต่คำสอนของท่านยังคงอยู่ในใจลูกศิษย์ทั้งหลายอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของความรักชาติที่ท่านได้เป็นต้นแบบให้หลาย ๆ คนได้ทำตาม

เรายังคงอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ใช้เส้นทางถนนเพาะนิยม เดินทางไปตำบลหมากแข้ง เยี่ยมชม วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดฝ่ายธรรมยุติ เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร(โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งสร้างวัด ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดใหม่ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงประทานนามว่า "วัดโพธิสมภรณ์" ให้เป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรผู้สร้างวัดนี้

ในปี พ.ศ. 2550 พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์ทั้งภายในและภายนอกวัดโพธิสมภรณ์ ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงเห็นพร้อมกันดำริจัดสร้างพระเจดีย์ถวาย เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุอัฐิธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และปูชนียวัตถุมหามงคล ขึ้นประดิษฐานในสถานที่อันมั่นคงถาวรไว้เป็นมงคลสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินไทย และน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย โดยขนานนามว่า " พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ " ลักษณะผสมผสานสัญลักษณ์ของอีสานตอนบนและสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ โดยใช้วัสดุและวิธีการทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมชั้นสูง คำนึงถึงหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา เน้นสาระธรรมคงความเรียบง่าย มั่นคงถาวร สะดวกในการดูแลรักษา งามสง่าสูงค่าน่าเลื่อมใส ทรงคุณค่าแห่งสาระธรรม ไว้เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานปูชนียวัตถุมหามงคล ให้ลูกหลานได้กราบไว้สักการบูชาเป็นขวัญตาขวัญใจสืบไป

ดังนั้นก่อนจะขึ้นไปกราบนมัสการพระบรมธาตุธรรมเจดีย์โปรดให้ความสนใจสักนิด บริเวณด้านหน้ากระไดทางขึ้นป้ายแผ่นหิน มีข้อความสำคัญฝากเอาใจว่า " เพื่อความเป็นสิริมงคล พึงรักษาประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ จึงขอให้ทุกท่านร่วมกันปฏิบัติตามกฎระเบียบ ด้วยความเคารพเทิดทูน " ภายนอกผนังกรุหินแกรนิต จารึกพุทธโอวาท และ คติธรรมหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล , หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต บานประตูไม้สัก แกะสลักเรื่องราว เทพดาอารักขาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในวัดยังมีสถานที่น่าสนใจต่างๆ อาทิ เช่น พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์บูรพาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐาน พระระเบียงพระเจดีย์ และศาลามงคลธรรม ตั้งอยู่บริเวณมุมทั้งสี่ของพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน ชีวประวัติย่อ คติธรรม และรูปเหมือนพระบูรพาจารย์พระธุดงคกรรมฐาน

บริเวณใกล้ๆมีสำนักงานทำนุบำรุงพระบรมธาตุธรรมเจดีย์ ทำหน้าที่ดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย อำนวยความสะดวก ติดต่อประสานงาน ให้คำแนะนำ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์แก่ผู้มากราบนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ พร้อมแจก" คู่มือกราบนมัสการ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ " ในหน้าสุดท้ายข้อความจากสำนักงานทำนุบำรุงพระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ ขอเชิญพุทธบริษัทสี่ทุกท่านร่วมกันทำนุบำรุงพระบรมธาตุธรรมเจดีย์ เพื่อให้เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ คู่แผ่นดินไทยยั่งยืนสืบไป ตราบนานเท่านาน และสาธุชนท่านใดมีจิตศรัทธา ประสงค์จะร่วมกิจกรรมในการทำนุบำรุงรักษา พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ อาทิ การทำความสะอาดกวาดลานชำระพระเจดีย์ อ่านมาถึงตรงนี้ทำให้ใจคิดถึงบุญกิริยาวัตถุสิบข้อที่เจ็ดว่าด้วยเรื่องของ " เวยยาวัจจมัย " คือ การอุทิศตนเพื่อนสังคม เป็นการทำบุญด้วยการใช้แรงกายแรงใจช่วยเหลืองานใดๆ ก็ตามที่จะก่อเกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มากในสังคมโดยไม่หวังสิ่งใดๆ ตอบแทน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถสร้างบุญได้ด้วยนะ

จากจังหวัดอุดรธานีเราเดินทางไป " ถิ่นมั่นในพุทธธรรม อู่อารยธรรมแห่งอีสานตอนบน " ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร ตรงข้ามทางเข้าศูนย์ราชการจังหวัด มาถึง วัดป่าสุทธาวาส ในปัจจุบันเป็นสำนักเรียนสำคัญของพระภิกษุสงฆ์ ภายในวัดนอกจากอุโบสถ มีปูชนียสถานสำคัญ " อาคารพิพิธภัณฑ์บริขารพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตตเถระ " สร้างบนสถานที่หลวงปู่มั่นมรณภาพภายในอาคารมีการจำลองรูปเหมือนโดยสร้างจากหุ่นขี้ผึ้งในท่าขัดสมาธิ ด้านหน้ามีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น พร้อมจัดแสดงประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ และเครื่องใช้อัฐบริขารที่จำเป็นต่อสมณเพศเหมือนกับพระสงฆ์ทั่วๆไป บริขารเบ็ดเตล็ด นอกจากวัตถุที่ท่านใช้ในการบำเพ็ญสมณเพศตามที่กล่าวมาแล้วยังมีวัตถุอื่นๆอีกกลุ่มละเล็กละน้อย ซึ่งศิษยานุศิษย์ได้นำมาเก็บรวบรวม และจัดแสดงไว้เป็นอนุสรณ์บูชาเครื่องใช้ประจำวัน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมและการแผ่กุศลคุณงามความดี ยึดหลักของชีวิตสมณเพศอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุนี้ เครื่องใช้ประจำวันของท่านจึงมีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีพเท่านั้น วัตถุต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าท่านตัดวัตถุทั้งหลายทั้งปวงออกจากบ่วงของกิเลสจนหมดสิ้น

ในส่วนของหนังสือเกี่ยวกับธรรม แม้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ จะปฏิบัติธุดงคกรรมฐาน และอยู่ตามป่าเขาต่างๆ เป็นประจำก็ตาม แต่ท่านก็มิได้ละเว้น ที่จะศึกษาหนังสือธรรมอื่นๆ เช่นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายศึกษากัน อีกทั้งยังเก็บรักษาเอกสารที่สำคัญไว้ด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงยิ่ง หนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหลักธรรมคำสั่งสอนต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและบางส่วนเป็นนิทานอิงธรรมะ ซึ่งสำนักพิมพ์ต่างๆ พิมพ์ขึ้นเผยแพร่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เคยอธิบายให้สานุศิษย์ฟังเสมอว่า "...หนังสือชาติใดก็ตาม สามารถจารึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น จึงควรเคารพยำเกรง..." , " ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ ", " ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง "โวหารธรรมของท่าน อันศิษยานุศิษย์พึงจดจำเป็นเนติแบบอย่างสืบต่อไป

วันนี้คณะของเราโชคดีมีบุญได้ฟังธรรมจากเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ซึ่งในบุญกิริยาวัตถุสิบข้อที่ห้าว่าด้วยเรื่องของ " ธัมมัสสวนมัย " คือ การฟังธรรมะ แล้วน้อมนำเอาสิ่งดีๆ มาใช้เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ซึ่งธรรมะจะช่วยเปิดปัญญาให้สว่าง ถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง และข้อที่หกว่าด้วยเรื่องของ " ธัมมเทสนามัย " คือ การแสดงธรรม เป็นการทำบุญโดยแบ่งปันข้อคิดดีๆให้แก่ผู้อื่นได้รับ และสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเขาได้ พิพิธภัณฑ์บริขารพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตตเถระ อาคารนี้ก่อสร้างโดยสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย และดูใกล้ชิดกับธรรมชาติ อันเป็นการสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของท่านตลอดทั้งชีวิตการอุปสมบท บริเวณโดยรอบสงบเงียบร่มรื่นร่มเย็นใต้เงาไม้น้อยใหญ่

จากสกลนครเราเดินทางไปกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ ตำบลสหัสขันธ์ บ้านนาสีนวล นมัสการ " มหาธาตุเจดีย์ วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) " สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยอดเจดีย์เป็นทองคำแท้บริสุทธิ์ หนัก 30 กิโลกรัม ประดับด้วยอัญมณี-เพชร-พลอย พื้นผิวผนังโดยรอบเจดีย์เป็นทรายขัดทำเป็นรูปหนุมาน แสดงท่าต่างๆ ส่วนรอบๆ เป็นรูปเหตุการณ์สำคัญทางศาสนางานประณีตมากๆในพระมหาธาตุเจดีย์ มีประตูเป็นไม้แผ่นชิ้นเดียวขนาดใหญ่ ข้างในยิ่งตระการตา ผนังเป็นทรายขัดทำเป็นรูปพระอรหันต์ ส่วนยอดจะเป็นผ้าทอสีทอง ลายดอกบัว 4 แบบตรงกลางเจดีย์ เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ บรรจุอยู่ในเจดีย์แก้วเล็กๆ เรียงเป็นรูปต้นโพธิ์ ด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธนิมิตเหล็กไหล ทั้งองค์มีเนื้อสีดำ ประทับอยู่บนฐานไม้ ส่วนรอบ ๆ ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานรายรอบเต็มไปหมด

ในส่วนบริเวณถ้ำภูค่าว เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ภูค่าว สลักอยู่เพิงผา ขนาดย่อม ซึ่งแตกต่างจากพระพุทธไสยาสน์ทั่วไป คือ นอนตะแคงซ้าย และไม่มีพระเกตุมาลา ผู้รู้ได้สันนิษฐานว่า เป็นสัญลักษณ์ของ " พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้า " พระอัครสาวกเบื้องซ้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว โดยเป็นปูชนียวัตถุโบราณแห่งแรกของ จ.กาฬสินธุ์ ที่กรมศิลปากรรับจดขึ้นทะเบียน หลังจากที่ " สมเด็จพระมหาวีรวงษ์ " (อ้วน ติสฺสมหาเถร) อดีตปฐมสังฆนายกแห่งคณะสงฆ์ไทย วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้มากราบพระไสยาสน์องค์นี้ เมื่อ พ.ศ.2484 มีบัญชาให้อธิบดีกรมศิลปากร จดทะเบียนไว้ พระไสยาสน์องค์นี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไปและทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระพุทธรูปไสยาสน์ในวันตรุษสงกรานต์วันที่ 19 เมษายนของทุกปี

บริเวณภายในวัดยังมีอุโบสถไม้แบบเปิดโล่งไม่มีฝาผนังปิดกั้นก่อสร้างแบบภาคเหนือและภาคกลางผสมผสานให้กลมกลืนกัน ระเบียงปูด้วยศิลาแลงโดยรอบตัวอุโบสถทั้งหมดก่อสร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลายไทยเป็นภาพสามมิติ มีความอ่อนช้อยงดงามวิจิตรตามประตู หน้าต่าง เพดาน ภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติประกอบด้วยลายไทยเครือเถา ทิวทัศน์ป่า สรรพสัตว์นานา หน้าบรรณของอุโบสถหน้าหลัง และหลังคาด้านในจะเป็นภาพพระพุทธองค์ในปางต่างๆ ด้วยลีลาพระอิริยาบถต่างๆ ทศชาติชาดก และวิหารสังฆนิมิต ซึ่งเป็นที่เก็บพระพุทธรูป พระเครื่องที่หายากเปิดให้เข้าชมทุกวัน วัดพุทธนิมิต มีความสวยงามของทัศนียภาพของภูค่าว และชมความน่ารักของฝูงนกยูงอยู่หลายสิบตัว บางตัวกำลังรำแพน ออกท่าทางสวยงามได้รับการยกย่องชื่นชมจากสาธุชนทั่วไปว่า เป็นวัดที่มีทัศนียภาพสวยงามยิ่ง ทั้งวัตถุธรรมและเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ล้วนวิจิตรอลังการ ประหนึ่งเป็นพุทธสถานแห่งการท่องเที่ยวทั้งทางโลก-ทางธรรม และคงความศักดิ์สิทธิ์

ค่ำคืนนี้นอนมหาสารคาม ตื่นรับอรุณออกเดินทางด้วยใจอันบริสุทธิ์ เพื่อไปกราบสักการะ " พระอัฐิของย่าโม วีรสตรีแห่งเมืองโคราช ณ วัดศาลาลอย " พระอุโบสถที่สร้างแบบศิลปะไทยประยุกต์เป็นรูปสำเภาโต้คลื่น ใช้วัสดุพื้นเมืองอย่างกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนมาประดับตกแต่ง ทั้งผนังด้านหน้าอุโบสถที่เป็นภาพพุทธประวัติ ตอน มารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ส่วนบานประตูเป็นภาพโลหะลายนูนจากเรื่องเวชสันดรชาดก ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม ซึ่งอุโบสถหลังนี้เคยได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนี้ ภายในยังมีพระประธานปูนปั้นสีขาวปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนครโดยมีสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงถวายพระนามว่า " พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์ " ส่วนบริเวณด้านหน้าประตูอุโบสถมีรูปปั้นท้าวสุรนารีนั่งพนมมืออยู่ใต้ร่มเงาศาลากลางสระน้ำ ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีอยู่ด้วย ผู้คนมากมายแวะเวียนมากราบขอพรเจดีย์บรรจุอัฐิย่าโมที่วัดศาลาลอยแห่งนี้เป็นจำนวนมาก โดยเชื่อกันว่าย่าโมจะสามารถดลบันดาลให้สมปรารถนาได้ ภายในวัดศาลาลอยยังคงมีสถานที่น่าสนใจอีกอาทิ เช่น อาคารอนุสรณ์ 238 ปี ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) , หอเทพพระราหูทรงครุฑ , อาศรม พระอาจารย์ ครูปู่หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นต้น

วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่สามขั้นตอน คือ การให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา ซึ่งการให้ทานนั้นเป็นการสร้างบุญเบื้องต้นที่สุด ได้บุญน้อยที่สุดในการทำบุญทั้งสามขั้นตอน ซึ่งการให้ทานนี้ ไม่ว่าจะทำมากอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการรักษาศีลไปได้ และการรักษาศีลนั้น ถึงแม้ว่าจะรักษาอย่างเคร่งครัดอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากเกินไปกว่าการเจริญภาวนาไปได้ ฉะนั้นการเจริญภาวนา จึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงสุดได้บุญมากที่สุด หากมั่นทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาสะสมบุญเอาไว้มากๆ ชีวิตมีความสุขพบเจอแต่สิ่งที่ดีงามเจริญรุ่งเรื่องขึ้นกว่าเดิม


กิจกรรมดีๆแบบนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-721-4417 , 086-339-6769 , 086-339-6787 หรือ www.phototech-mag.com

เรื่อง & ภาพ : วุฒิภัทร วิมุกตานนท์

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 253 ภาพ

อัลบั้มภาพ 253 ภาพ ของ เที่ยว 7 วัดเติมพลังศรัทธา สู่บูรพาจารย์แดนอีสาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook