ใบยาเวอร์จิเนีย จ.แพร่

ใบยาเวอร์จิเนีย จ.แพร่

ใบยาเวอร์จิเนีย จ.แพร่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จังหวัดแพร่ เป็นอีกจุดหมายปลายทางที่เป็นจุดหมายรองๆ ที่ผู้คนจะแวะไปเยือนนะครับ แต่ถ้าพูดถึงความสวยงามของที่นี่ไม่ถือว่าน้อยหน้ากว่าที่ไหนเลย อีกทั้งยังมีธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ค่อนข้างเงียบสงบ เหมาะกับผู้ที่ต้องการพักผ่อนจิตใจแบบห่างไกลความวุ่นวายครับ นอกจากความเงียบสงบและอากาศดีติดอันดับแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะปลูก ยาสูบ แหล่งใหญ่เลยทีเดียว


ไร่ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียในจังหวัดแพร่

ใบยาสูบที่ปลูกกันในจังหวัดแพร่นั้น จะเป็น ใบยาเวอร์จิเนีย เป็นใบยาประเภทบ่มไอร้อน สายพันธุ์ค็อกเกอร์ 347 มาจากอเมริกา ถ้าปลูกเป็นไร่ๆ ดูเผินๆ หน้าตาจะคล้ายๆ ผักตั้งโอ๋ (ก็แบบที่ใส่แกงจืดนั่นล่ะครับ) แต่ลักษณะเฉพาะของใบยาแห้งจะแตกต่างตรงที่ มีกลิ่นเหมือนกับน้ำผึ้ง เป็นลักษณะเด่น และสามารถผสมข้ามสายพันธุ์ได้


การเก็บเกี่ยวใบยาสูบ

เกษตรกรของเราได้บอกกล่าวว่า การปลูกใบยาสูบแบบนี้จะเริ่มจากการเพาะต้นกล้า เป็นเวลา 40 วัน แล้วปลูกในไร่ 60 วัน จึงเริ่มเก็บใบยาใบแรก แล้วจึงเก็บไปเรื่อย ๆ จนหมดต้น เก็บทุก 5-7 วัน ครั้งละ 3-4 ใบ แต่ละต้นเก็บใบได้ 7-8 ครั้ง ซึ่งจะปลูกได้ 2,200-2,500 ต้น ต่อไร่ เมื่อปลายและขอบใบเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง โดยใบยาจะเริ่มสุกแก่จากส่วนโคนต้นไปยอด เส้นกลางใบมีสีขาว ผิวใบหยาบ ขรุขระ มีจุดตกกระบางๆ ริมใบบางส่วนมีรอยย่น ปลายใบตก เนื้อใบยืดหยุ่น ไม่หักง่าย มียางน้อย ก้านใบทำมุมกับลำต้นกว้างขึ้น เปราะและหักจากลำต้นได้ง่าย โดยลักษณะใบจะอ่อนโค้งลงพื้น เวลาที่เหมาะสมในการเก็บ คือ เวลาเช้า เพราะเมื่อโดนแดดจัดๆ ใบยาจะสร้างสารเหนียวออกมา ทำให้เก็บยาก และนอกจากนี้ แสงแดดยังหลอกตาให้เห็นเป็นสีเหลืองได้อีกด้วย โดยใบยาสูบเวอร์จิเนียที่ดีควรมีสีเหลืองอมส้ม (เป็นภาพที่น่าดูทีเดียว)

 สำหรับการบ่มนั้น จะทำกันในโรงบ่มครับ (เวลาเรานั่งรถขึ้นทางเหนือแถบเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา เราจะเห็นโรงบ่มอิฐแดงๆ อยู่เรียงรายกับไร่ยาสูบใช่ไหมล่ะครับ? มันก็คือโรงบ่มที่ว่านี่แหละ) โดยจะเสียบด้วยไม้ไผ่แบนยาว ประมาณ 45 ซม. เสียบก้านใบยาที่มีขนาดและการสุกแก่ใกล้เคียงกันเป็นคู่ โดยให้หลังใบชนกัน แต่ละคู่ห่างกัน 2-3 เซนติเมตร การบ่มใบยาสูบเวอร์จิเนียใช้วิธีบ่มด้วยไอร้อน โดยการสร้างโรงบ่มที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ โรงบ่มแบบเก่าใช้อิฐมอญฉาบปูนซึ่งใช้อยู่ทั่วไปและถือเป็นแบบมาตรฐาน หรือใช้ผนังซีเมนต์บล็อก ในส่วนหลังคาใช้สังกะสี และมีราวไม้ซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีช่องระบายอากาศเป็นจั่วบนยอดหลังคาและเป็นช่องหน้าต่างที่ฐานของโรงบ่มมี 2 ประตู หน้าและหลัง บางโรงบ่มทำประตู 2 ชั้นสำหรับดูปรอทและมีหน้าต่างอยู่ประมาณกึ่งกลางของความสูงของโรงบ่มทั้ง 2 ข้าง สำหรับดูสีและความแห้งของใบ โดยอาจทำเป็นชั้น ชั้นในเป็นกระจก เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นครับ

 โรงบ่มใบยาเวอร์จิเนีย

ถ้าใช้การบ่มด้วยฟืน หรือถ่านลิกไนต์ จะมีเตาอยู่ด้านนอกส่วนหน้าของโรงบ่ม 2 เตา มีท่อเหล็กปลายยกระดับสำหรับส่งความร้อนไปทั่วโรงบ่ม ปลายท่อที่ผ่านออกมาด้านนอกจะยกขึ้นตั้งฉาก และโค้งลงสู่แนวระดับอีกครั้ง เพื่อระบายควัน ระยะเริ่มบ่ม คือ ระยะทำสี (สีเขียวเป็นสีเหลือง) ต้องเพิ่มอุณหภูมิทีละน้อยและรักษาความชื้นไว้ เพื่อไม่ให้ใบยาตายและมีสีตามต้องการ จากนั้นตรึงสี (สีเหลืองไม่เปลี่ยน) โดยเปิดช่องระบายอากาศ และเพิ่มอุณหภูมิให้สูง ตามด้วยการเพิ่มความร้อนระบายความชื้นออกทางช่องระบายด้านบน เปิดช่องระบายด้านล่างและบนทั้งหมด เพื่อทำให้ใบยาและก้านแห้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย อุณหภูมิในเตาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ภายในโรงบ่มใบยาเวอร์จิเนีย

นอกจากการบ่มใบยาสูบแบบเก่าแล้ว ที่น่าสนใจ คือ การที่โรงงานยาสูบสนับสนุนเงิน 160,000 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนเงิน 160,000 บาท และชาวไร่ออกเงินเองอีก 160,000 บาท รวมมูลค่า 480,000 บาท ในการสร้าง โรงบ่มแบบประหยัดพลังงาน ขึ้นมาใช้ โดยจะมีฉนวนกันความร้อนรอบผนังทั้งสี่ด้านและพัดลมดันไอร้อนภายในโรงบ่ม โรงบ่มแบบใหม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงบ่มได้ดี จึงสามารถบรรจุใบยาได้มากกว่าโรงบ่มแบบเก่า คือ โรงบ่มแบบเก่าสามารถบ่มใบยาสดได้ 3,000 กิโลกรัมต่อครั้ง เมื่อบ่มเสร็จแล้วจะได้ใบยาแห้ง 300 กิโลกรัม ส่วนโรงบ่มแบบใหม่สามารถบ่มได้มากถึง 8,000 กิโลกรัมต่อครั้ง เมื่อบ่มเสร็จแล้วจะได้ใบยาแห้ง 800 กิโลกรัม นับว่าคุ้มค่าและประหยัดพลังงานขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียวครับ นอกจากบ่มใบยาสูบแล้วโรงบ่มแบบใหม่สามารถนำไปอบหรือบ่มพืชผลทางการเกษตรอื่นๆได้อีก เช่น พริก ข้าวโพด ข้าว และลำไย เป็นต้น ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อยเลย กับการสร้างโรงบ่มแบบประหยัดพลังงานนี้


โรงบ่มแบบประหยัดพลังงาน

สำหรับใบยาที่บ่มเรียบร้อยได้ที่แล้ว ก็จะมีการนำมาคัดเป็นใบๆ เพื่อกำหนดชั้นมาตรฐานให้ถูกต้องสำหรับการซื้อขายแล้วรวมมัดใบยาชั้นเดียวกันเข้าด้วยกันเป็นกำๆ และมัดหัวกำด้วยใบยาอีกทีหนึ่ง นำใบยาชั้นเดียวกันมาอัดรวมเป็นห่อ โดยใช้เครื่องอัดใบยาซึ่งทำขึ้นโดยเฉพาะ ใบยาแต่ละห่อหนักประมาณ 60-70 กิโลกรัม แล้วห่อหุ้มด้วยกระสอบป่านพร้อมขายต่อให้กับโรงงานยาสูบต่อไปครับ

นอกจากการปลูกและบ่มยาสูบแล้ว ที่นี่ยังมี CSR อีกด้วยนะครับ โดยสำนักงานยาสูบจังหวัดแพร่มีการอบรมให้กับชาวไร่ปีละ 3 ครั้ง เริ่มที่การเพาะปลูกยาสูบ การบ่มยาสูบ แล้วจบที่การแจกกล้าไม้เพื่อปลูกทดแทนครับ โดยไม้ที่ปลูกก็จะเป็นไม้สักทองที่ชาวบ้านนำมาปลูกรวมกันที่ริมบึงน้ำ นอกจากนั้นแล้วยังมีการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในบริเวณที่มีต้นสาปเสือขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้อีกทางหนึ่งด้วยครับ

เห็นภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านที่เรียบง่ายแบบนี้แล้ว น่าชื่นชมจริงๆ นะครับ

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ใบยาเวอร์จิเนีย จ.แพร่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook