รวมพลคนรักไดโนเสาร์ ตะลุยโลกล้านปี สัมผัสอารยธรรมแดนอีสาน

รวมพลคนรักไดโนเสาร์ ตะลุยโลกล้านปี สัมผัสอารยธรรมแดนอีสาน

รวมพลคนรักไดโนเสาร์ ตะลุยโลกล้านปี สัมผัสอารยธรรมแดนอีสาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อรุณสวัสดิ์ยามเช้าจ๊ะ...คำทักทายที่คุ้นเคย บรรยากาศบริเวณด้านหน้าประตูสีทองทางเข้าตึกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ คงไม่เงียบเหงา เพื่อนพ้องน้องพี่หน้าตาดีกันทุกคน มีน้ำจิตแบ่งปันน้ำใจมอบรอยยิ้มพิมพ์ใจ สร้างมิตรภาพที่ดีให้ซึ่งกันและกันนั่งมองดูนัยน์ตาเป็นประกาย น้ำเสียงร่าเริงแจ่มใส ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะครอบครัวมีความสุขกับกิจกรรม

ในครั้งนี้มีผู้ใหญ่ใจดี คุณพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นายเกรียงจิตร มิตรยอดวงศ์ บรรณาธิการอำนวยการฝ่ายกิจกรรมนิตยสาร PHOTOTECH และ แทรเวล ไลน์ พร้อมพันธมิตรโดย บัตรเครดิตท่องเที่ยว ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดกิจกรรมฉลองวาระครบรอบ 52 ปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ในภูมิภาคภาคอีสาน ประจำปี 2555 ภายใต้แนวความคิด "อีสาน แหล่งการเรียนรู้ อู่อารยธรรม" และ เที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน ในโครงการ "พาลูกไปเรียนรู้ สู่อารยธรรมอีสาน" ตอน รวมพลคนรักไดโนเสาร์ ปี3 เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของภาคอีสาน ตามเส้นทาง กรุงเทพฯ - โคราช - ขอนแก่น - กาฬสินธุ์ โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนและครอบครัว นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศแหล่งท่องเที่ยวของภาคอีสาน ในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนและรับรู้เรื่องราวการท่องเที่ยวเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ อารยธรรม และธรณีวิทยาที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค และการประกวดภาพถ่ายชิงถ้วยเกียรติยศจาก ททท.

หลังจากจบพิธีเปิดงานแล้ว นำขบวนรถโดยตำรวจ กองปราบปรามฯ ออกเดินทางมุ่งหน้าไปประตูสู่ดินแดนอารยธรรมอีสาน นครราชสีมา ภาพบรรยากาศเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นต้นไม้น้อยใหญ่ ตะวันท่อแสงแดดอันแรงกล้า กระทบพื้นน้ำสีเขียวดูงามตาลำตะคอง หยุดพักผ่อนใต้ร่มเงาไม้ ณ "สวนน้าชาติ" กับทัศนียภาพสวยงามเหนือเขื่อนลำตะคอง บริเวณใกล้ๆมีศูนย์สารสนเทศ ลิปตพัลลภ ที่พักริมทางลำตะคอง ภายในจัดแสดง "ซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน" บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และตัวอย่างจากแหล่งอื่นๆของประเทศไทย ได้รับการศึกษา วิจัยและอนุรักษ์ไว้ใน "ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาค้นคว้า อนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียนติ" ซึ่งจัดตั้งและก่อสร้างโดยกรมทรัพยากรธรณี และ"ผลิตภัณฑ์จากดินเผาเมืองโคราช" โดยศูนย์พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

เก็บภาพบรรยากาศพักกายให้หายเหนื่อยมาถึง อำเภอสีคิ้ว บนถนนมิตรภาพ มองเห็น วัดหลวงพ่อโต วิหารสีขาวสะอาดตา ให้ลวดลายสีทองโดดเด่นเป็นสง่างาม ภูมิทัศน์โดยรอบตกแต่งสวนสวยร่มรื่นไม้ดอกร่มเย็นไม้ประดับ ถึงแดดจะร้อนแต่บรรยากาศกลับเย็นสบายๆ ได้เวลาอาหารกลางวันที่โรงทานมีของดีอย่างหนึ่งมาแนะนำรับรองว่าลองแล้วจะติดใจจนต้องแวะทุกครั้งที่ผ่านมาของดีที่ว่านี้ก็คือ "ลาดหน้าชาววัง" เส้นใหญ่ ใส่ผักคะน้า มองดูผ่านๆหน้าตาธรรมดา แต่เมื่อลิ้นได้สัมผัสชิมรสชาติไม่ธรรมดากลมกล่อมอร่อยจริงๆ คนกินมีความสุข คนทำยิ้มแย้มแจ่มใส อิ่มกายสบายใจก้าวเดินไปอิ่มบุญที่วิหารหลวงปู่โต บริเวณด้านหน้าพบ น้ำพุพญานาค หันหลังโยนเหรียญเข้าพานแล้วท่านจะโชคดี...รวย"กราบสักการะขอพร องศ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พุทธศาสนิกชนมีใจศรัทธา นับถือ เคารพ บูชา คาถาศักดิ์สิทธิ์ชินบัญชร ซึ่งถือกันว่าเป็นคาถาที่ตกทอดมาจากลังกา เป็นสิริมงคลแก่ผู้สวดภาวนา นอกจากรูปหล่อทองเหลืององค์ใหญ่ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรังสี) ยังมีรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงคล้ายหุ่นขี้ผึ้ง มีเส้นผมเหมือนจริงมากอีกองค์หนึ่ง


ห่างจากตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาถึง "อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย" ซึ่งเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีอายุราว 1,000 ปีมาแล้ว คำว่า "พิมาย" อาจมาจากคำเดียวกันคำว่า "วิมายะ" ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรที่กรอบประตูห้องกลางด้านทิศตะวันออกของประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ ระบุชื่อ "กมรเตงชคตวิมาย" และกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพสำคัญชื่อ "กมรเตงชคตเสนาบดี ไตรโลกยวิชัย" ดังนั้นเมืองพิมาย จึงเชื่อได้ว่าเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่เดิมในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณที่มีการพัฒนาของชุมชนและสังคมมาตามลำดับ ตลอดเส้นทางเดินในเมืองพิมายมีโบราณสถานที่สำคัญ "พลับพลาเปลื้องเครื่อง" ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในอาคารแบ่งออกเป็นสองห้องเป็นที่พักในการเดินทาง และเตรียมพระองศ์ของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง ยามเสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ร่วมสมัยเดียวกับปราสาทพิมาย แผ่นหินทางเดินอย่างดีนำพามาพบ

"สะพานนาคราช" บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้ สร้างด้วยหินทรายมีลักษณะเป็นลานยกพื้นสูงผังเป็นรูปกากบาท ตามคติความเชื่อ ในการก่อสร้างปราสาทของศาสนาฮินดู เป็นทางที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ราวสะพานโดยรอบสลักเป็นลำตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานรูปนาค เจ็ดเศียร เป็นศิลปกรรมแบบนครวัด สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางสู่ศาสนสถาน


"ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว" ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วอยู่ในแนวตรงกันทั้งหมด 4 ด้าน คือ ทิศเหนือและทิศใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อยผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนเข้าสู่โลกสวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า ผ่านซุ้มประตูมองตรงไปมาถึง

"ชาลาทางเดิน" ก่อสร้างด้วยหินทรายเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของกำแพงชั้นนอก กับซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบ ปราสาทประธาน ลักษณะยกพื้นเป็นขอบทางเดินขึ้นลงได้โดยรอบ จึงทำให้เกิดช่องว่างเป็นรูปเหลี่ยมผืนผ้า จำนวนสี่ช่อง มองดูแล้วมีลักษณะเป็นแผนผังรูปกากบาท ก้าวเดินไปผ่าน

"ซุ้มประตูและระเบียงคด" ลักษณะเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาวางซ้อนกันเป็นรูปโค้ง ประทุนเรือ ผนังด้านในเจาะเป็นช่องหน้าต่าง ส่วนผนังด้านนอกทำเป็นช่องหน้าต่างประดับด้วยลูกกรงหินทรายสลัก เรียกว่า "ลูกมะหวด" หลักฐานสำคัญที่พบบริเวณซุ้มประตูภายใน ระเบียงคด ด้านทิศใต้ทางทิศตะวันออก คือ จารึกภาษาเขมรเป็นอักษรขอมโบราณ ระบุชื่อ "กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย" เมื่อก้าวเดินผ่านซุ้มประตูและระเบียงคดมาถึงในบริเวณนี้ด้านหน้าปรางค์ประธานถือได้ว่าเป็นจุดชมวิวถ่ายภาพที่สวยงามอีกมุมมองหนึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญ

"ปรางค์หินแดง" ก่อสร้างด้วยหินทรายแดง สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านหน้าขวาของปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ส่วนฐานต่อเนื่องกับหอพราหมณ์ ประตูทางเข้าก่อเป็นมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลังหินทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหาภารตะ ตอนกรรณะล่าหมูป่า ส่วนกรอบประตูด้านอื่นคงเหลือร่องรอยเฉพาะเสาประดับกรอบประตูศิลปะแบบเขมรประดับอยู่

 

"ปรางค์พรหมทัต" ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ด้านซ้ายหน้าของปราสาทประธานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสประตูทำเป็นมุขยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ ภายในองค์ปรางค์พบประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิสลักด้วยหินทราย สันนิษฐานว่าเป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านมักเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ปัจจุบันประติมากรรมนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย "ปรางค์ประธาน" เป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ มณฑปและเรื่อนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ

เดินทางเข้าพักโรงแรมริมปาวรับประทานอาหารเย็น พร้อมชมภาพทิวทัศน์แหล่งท่องเที่ยวชุดพิเศษและการแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพแก่เยาวชน โดย อาจารย์ธวัช มะลิลา ที่ปรึกษาสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ เพื่อเปิดมุมมองวิธีคิด สร้างสรรค์งานถ่ายภาพให้ก่อเกิดเป็นพื้นฐานอย่างมั่นคงลงสู่จิตใจของเยาวชน

ตื่นนอนตอนเช้ามารับอรุณแสงแดดอุ่นๆด้วยสถานที่แหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยา วิชาการ ซากดึกดำบรรพ์ และเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์นี้ว่า "พิพิธภัณฑ์สิรินธร" (พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ภูกุ้มข้าว) เป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา ที่มีการจัดแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์ และแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในมุมมองต่างๆ ทั้งเชิงวิชาการ การอนุรักษ์ รวมไปถึงความสัมพันธ์ต่างๆซึ่งซากไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กรมทรัพยากรธรณีได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้น เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร เพื่อบริการและเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน และเป็นสถานที่ใช้ศึกษา ค้นคว้าของนักวิชาการจากทั่วโลก ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ได้รับวิชาถ่ายภาพจากอาจารย์มาแล้วถึงเวลาให้น้องๆเยาวชนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์งาน ชวนกันไปถ่ายภาพอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินบันเทิงใจ บริเวณเชิงเขาภูแฝก อ.นาคู มีกิจกรรมตามหารอยเท้าไดโนเสาร์กลางลำห้วย ณ วนอุทยานภูแฝก เป็นเขาลูกหนึ่งของเทือกเขาภูพาน มีสภาพผืนป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงห้วยฝา บริเวณใกล้ๆป้ายบอกระยะทางเดิน

มีไม้กลายเป็นหินซึ่งอายุของหินประมาณ 150 ล้านปี อยู่ในหมวดหินภูกระดึง เป็นพรรณไม้ในวงศ์ Potocarpaceae ก้าวเดินอยู่ใต้ร่มเงาไม้เพียง 200 เมตร พบรอยเท้าที่เห็นชัดที่สุด ขนาดใหญ่ของไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์เทอร์โรพอต มีอายุราว 140 ล้านปี เก็บภาพความประทับใจกันแล้วถึงเวลาเดินทางไปเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์ ไม้กลายเป็นหิน" แห่งแรกของประเทศไทย และมีความสมบูรณ์แบบติดอันอับหนึ่งในเจ็ดของโลก

เพื่อแสดงไม้กลายเป็นหินสำคัญของภาคอีสาน ซึ่งมีความโดดเด่นด้านขนาดใหญ่ และมีสีสันที่สวยงามตามธรรมชาติโดยแยกเป็นโซนพื้นที่ของไม้กลายเป็นหินมีลักษณะเด่นพิเศษ คือ ไม้กลายเป็นหินอัญมณี ไม้กลายเป็นหินวงศ์ปาล์ม และไม้กลายเป็นหินหลากหลายอายุ บริเวณโดยรอบออกแบบตกแต่งสวนสวยลานไม้กลายเป็นหินให้สัมผัสกันได้แบบใกล้ชิด ผ่านประตูทางเข้ามาถึงห้องเฉลิมพระเกียรติ : สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน
เพื่อแสดงภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้อความพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับความสำคัญของ "โบราณวัตถุ" ชมภาพของอนุสรณ์สถานไม้กลายเป็นหิน ร.6 รวมทั้งภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนพระทัยในนิทรรศการและติดตามโครงการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและจังหวัดนครราชสีมา บรรยากาศภายในมีห้องฉายวีดิโอแอนิเมชั่น ห้องจัดแสดงนิทรรศการไม้กลายเป็นหิน เดินผ่านอุโมงค์หินพบ "ภาพเขียนสียุคหินใหม่ ถ้ำเขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว"

มาถึงส่วนที่สองแสดงพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ คำว่า "ช้างดึกดำบรรพ์" หมายถึง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีงวงซึ่งอยู่ในอันดับ (Order) โปรบอสซิเดีย (Proboscidea) และพบในลักษณะของซากดึกดำบรรพ์ (Fossils) คำว่า "โปรบอสซิเดีย" มาจากภาษากรีก "Proboskis" หรือ "Proboscis" แปลว่า "งวง" ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ใช้ตั้งชื่ออันดับของสัตว์ ในกลุ่มนี้ ซึ่งอันดับของทั้งช้างปัจจุบัน และช้างดึกดำบรรพ์ หรือ อาจเรียกรวมกันว่า สัตว์งวงก็ได้บรรยากาศภายในพบกับฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ อายุประมาณ 16-0.01 ล้านปี ที่โคราชมี 9 สกุล จาก 42 สกุล ที่พบทั่วโลก มีทั้งช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม ทำความรู้จักกับบรรพบุรุษและวิวัฒนาการของช้าง ตื่นตากับหุ่นจำลองและโครงกระดูกช้างสี่งาขนาดเท่าของจริง รวมทั้งฟอสซิลสัตว์อื่นๆ

เดินผ่านอุโมงค์หินพบไดโนเสาร์กำลังคอยอยู่บริเวณทางเข้าไปในส่วนที่สามจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ตะลุยแดนไดโนเสาร์ ร่วมผจญภัยท่ามกลางการต่อสู้ของไดโนเสาร์ ในห้องฉายวีดิทัศน์ 360 องศา ตื่นเต้นกับหุ่นจำลองไดโนเสาร์ที่สามารถเคลื่อนไหวได้

จากวันแรกถึงวันสุดท้ายกิจกรรมที่ผ่านมาเข้ามา ช่วยส่งเสริมความรู้ พร้อมร่วมปลูกจิตสำนึกที่ดีให้น้องๆหนูๆ นำประสบการณ์พร้อมความตื่นเต้นที่ลืมไม่ลงไปเล่าให้เพื่อนๆฟังแบบไม่รู้เบื่อ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ www.tourismthailand.org , www.เที่ยวอีสาน.com

เรื่องและภาพ : วุฒิภัทร วิมุกตานนท์

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 288 ภาพ

อัลบั้มภาพ 288 ภาพ ของ รวมพลคนรักไดโนเสาร์ ตะลุยโลกล้านปี สัมผัสอารยธรรมแดนอีสาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook