ตะลุยเมือง 2 สมุทร เที่ยวท่องล่องเรือ ชิมเกลือก่อนใคร

ตะลุยเมือง 2 สมุทร เที่ยวท่องล่องเรือ ชิมเกลือก่อนใคร

ตะลุยเมือง 2 สมุทร เที่ยวท่องล่องเรือ ชิมเกลือก่อนใคร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในความทรงจำสมัยตอนเป็นเด็กเปิดประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆท่องเที่ยวไปเล่นน้ำทะเล บางครั้งน้ำทะเลก็เข้าปากลิ้นสัมผัสรสชาติน้ำทะเลให้ใจได้จดจำความรู้สึกนั้นไว้มาถึงทุกวันนี้จึงเข้าใจธรรมชาติของน้ำทะเลมี รสเค็ม เพราะ "เกลือ" คือ ส่วนประกอบของน้ำทะเลมี โซเดียมคลอไรด์ และ แมกนีเซียมคลอไรด์ ซึ่งมีอยู่ตามพื้นดินหินทั่วไปเมื่อฝนตกลงมาซะล้างสาร ดังกล่าว จากพื้นดินและหินไหลลงสู่แม่น้ำจนกระทั่งไหลไปรวมสะสมอยู่ในทะเล โดยไม่สามารถจะไหลถ่ายเทไปที่อื่นได้ ส่วนแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมา ทำให้น้ำทะเลระเหยกลายเป็นไอลอยขึ้นไปเป็นน้ำบริสุทธิ์ ทำให้น้ำในทะเลเข้มข้นมีความเค็มเพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งสามารถนำน้ำทะเลให้แห้งกลายเป็นเกลือนำมารับประทานได้ เกลือ เป็นสารอาหารธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และสัตว์ ร่างกายของมนุษย์ต้องการบริโภคเกลือประมาณ 5-10 กรัมต่อวัน เพื่อนำไปช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย ให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆทำงานอย่างปกติ


เกลือเรียกตามแหล่งที่มา มี 2 ประเภทได้แก่ เกลือที่ได้จากใต้ดินเรียกว่า "เกลือสินเธาว์" หรือ เกลือหิน คือ เกลือที่ได้จากดินเค็ม โดยการปล่อยน้ำลงไปละลายหินเกลือที่อยู่ใต้ดินแล้วจึงสูบน้ำกลับขึ้นมาตาก หรือ ต้มให้น้ำระเหยไป
ส่วนเกลือที่ได้จากน้ำทะเลเรียกว่า "เกลือสมุทร" เกิดจากกระบวนการผลิตแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่อาศัยหลักการหมุนเวียนน้ำในนาเกลือที่ต่างระดับกัน ผลึกเกลือจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนเดินน้ำทำงานสัมพันธ์กับ สายลม แสงแดดจนน้ำระเหยเหลือแต่ผลึกเกลือเม็ดสีขาวเกลือชนิดนี้จะมีสารไอโอดีนผสมอยู่ด้วยตามธรรมชาติ เกลือสมุทรมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี


วิถีแห่งเกลือสมุทร

เดินทางมาถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองฯ ตำบลโคกขาม ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร หรือ " ศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ " มีผู้ใหญ่ใจดีคุณเลอพงษ์ จั่นทอง สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำนาเกลือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการบริหารจัดการน้ำ โดยปกติแล้ว "ชาวนาข้าวชอบฝน ชาวนาเกลือชอบแดด" ฤดูการผลิตเกลือจะเริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน จนถึงเดือน พฤษภาคม หรือจนกว่าจะถึงฤดูฝน การทำนาเกลือสมุทรแบ่งพื้นที่ ทำนาเกลือประมาณ 30-40ไร่ กว้างประมาณ 1 เส้น ยาว 30-40 เส้น เรียกว่า 1 แถบ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวและดินเค็ม ระบบน้ำการทำนาเกลือมี "กังหันลม" เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง ในการทำนาเกลือสมุทร ทำจากไม้เนื้อแข็ง และไม้ไผ่ และมีลำแพนใช้สำหรับทำใบ เพื่อรองรับลม ให้เกิดการหมุน มีหน้าที่ หมุนเวียนน้ำ จากอีกอันหนึ่งไปสู่อีกอันหนึ่ง เพื่อให้น้ำเกิดความเข้าข้น จนสามารถตกผลึกเป็นเม็กเกลือสมุทร และ"ระหัดวิดน้ำ" เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการหมุนเวียนน้ำ จากซีกอันหนึ่ง ไปสู่พื้นที่อีกอันหนึ่ง เพื่อให้น้ำมีความเข้มข้นสูงขึ้น

จากนั้นการแบ่งพื้นที่เป็น 6 ส่วนดังนี้ ส่วนที่ 1 เรียกว่า "วังขังน้ำ" มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ มีลักษณะ เหมือนนาข้าวทั่วไป สามารถใช้เลี้ยงกุ้งและปลาเป็นผลพลอยได้อีกด้วย ส่วนที่2 เรียกว่า "นาประเทียบ" มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ สูบน้ำหรือไขน้ำมาจากวังขังน้ำ ทำคันดินกั้นเป็นกระทงแบบนาข้าวเนื้อที่แปลง (กระทง) ละประมาณ 1-2 ไร่ ใช้สำหรับตากน้ำทะเล ส่วนที่3 เรียกว่า "นาตาก" มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ นำน้ำจากนาประเทียบมาตากให้ความเข้มข้นมากขึ้น ส่วนที่4 เรียกว่า "นารองเชื้อ" มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ใช้เป็นที่เพาะเชื้อเกลือ ส่วนที่5 เรียกว่า "นาเชื้อ" มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ใช้เก็บน้ำเชื้อที่มีความเข้มข้นที่สามารถตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ และส่วนที่6 เรียกว่า "นาปลง" มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ (กระทง) ละประมาณ 1 ไร่ ใช้เป็นที่ให้น้ำทะเลตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ

 ชาวนาเกลือจะต้องตื่นแต่เช้าตรู่ พอฟ้าเริ่มสาง อาทิตย์ทอแสงสีทองอ่อน ๆ กระทบผิวน้ำทะเลในผืนนาเกลือจะถูกแดดและลมพัดให้แห้งจนได้ความเค็มประมาณ 20-25 ดีกรี เกิดเกสรเกลือ หรือ เกลือแรกเริ่มตกผลึก ชาวนาเกลือช้อนเก็บ "ดอกเกลือ" ซึ่งจะเป็นผงเล็กๆ ลอยจับตัวกันเป็นแพอยู่เหนือน้ำผืนนาเกลือ ก่อนที่แสงแดด และสายลมจะทำให้ดอกเกลือจมลงด้านล่าง ดอกเกลือ ที่ เก็บได้ในเวลาเช้าตรู่นี้จะมีไอโอดีนสูง มีสีขาว เมื่อกระทบแสงแดดเป็นประกายแวววาว รสชาติเค็มอมหวาน เป็นดอกเกลือที่สะอาด เพิ่งเกิดใหม่ๆ ไม่ได้สัมผัสกับพื้นดิน หรือตากลม ตากฝุ่นอยู่นาน มีแร่ธาตุต่างๆสูงมาก จึงมีคุณภาพสูง อีกทั้งเพราะมีปริมาณน้อย ราคาจึงแพง "ดอกเกลือ จึงเปรียบเสมือน อัญมณี" สมบัติล้ำค่าของชาวนาเกลือ

เมื่อน้ำทะเลตกผลึกเป็นเม็ดเกลือแล้วก็ถึงเวลา "การรื้อนา" เป็นการทำให้เกลือแตกออกจากกัน โดยการใช้ "อีรุณ" หรือ พลั่วซอย เพราะเกลือเมื่อตกผลึกจะรวมตัวเกาะกันแน่นมาก เกลือที่แตกออกจากกันแล้วก็จะทำ "การจัดแถว" เพื่อให้เป็นแถวยาวตามแนวของพื้นนาหลังจากชักแถวเกลือแล้ว ก็จะลอมเกลือให้เป็นลูก โดยใช้ "กะทาลอม" เมื่อลอมเกลือเสร็จแล้วก็จะปล่อยน้ำออก เพื่อให้เกลือแห้ง ทิ้งเอาไว้ 1 คืน รุ่งเช้าก็จะเก็บเกลือเข้ายุ้งฉาง ปัจจุบันใช้รถเข็นเกลือ เพื่อนำเกลือมาเก็บรักษาไว้ในยุ้งฉาง ที่มีความปลอดภัยจากฝน เพื่อรอการจำหน่ายให้พ่อค้า แม่ค้ามารับซื้อต่อไป หยุดเก็บภาพความประทับใจวิถีชีวิตชาวนาเกลือกันแล้ว เรายังคงมุ่งหน้า

เดินทางไปจังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลคลองโคลน ถึงบ้านคลองช่อง เปลี่ยนจากรถมาล่องเรือ ภาพบรรยากาศสองฝั่งคลองชมอาชีพทำประมงความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านคลองโคลน ชาวนามีกระท่อม ชาวบ้านคลองโคลนมี "กระเตง" เอาไว้เฝ้าดูแลฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่ แนวเสาไม้ที่ปักไว้ในน้ำทะเลถ้าสังเกตดีๆจะพบกิ่งไม้หลายๆอันวางเอาไว้เป็นกลุ่มๆ พอสอบถามจึงได้ความว่าเป็นที่ดักจับปลากดุกทะเล บริเวณไหนน้ำลดลงจนเห็นพื้นดินชาวบ้านนิยมมาถีบกระดานเก็บหอยแครง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ชีวิตอยู่กินกับธรรมชาติ กองทัพต้องเดินด้วยท้องถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ณ บ้านไม้ชายเลน บรรยากาศสบายๆร่มรื่นด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับบริการเป็นกันเอง หนึ่งในเมนูอาหารที่มองดูแล้วยังคงเคยชินกับแกงส้มกุ้งกับชะอมชุบไข่ทอด ลิ้นสัมผัสชิมรสชาติดูแล้ว กลมกล่อมอย่างที่ไม่เคยกลืนกินมาก่อน พอมองดูผักสีเขียวใกล้ๆ คือ ใบชะคาม ผักพื้นถิ่นขึ้นอยู่ตามธรรมชาตินำมาประกอบอาหารแล้วให้รสชาติดีและมีประโยชน์

บนถนนแห่งการเรียนรู้ทางหลวงชนบทหมายเลข 2021 ชมทัศนีย์ภาพความสวยงาม "วิถีแห่งเกลือสมุทร" ตลอดเส้นทาง มาถึงจังหวัดเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์แปรรูปทำเป็นสปาเกลือ ณ "กังหันทอง" มีกิจกรรมความงาม บำบัดและผ่อนคลายด้วยเกลือ นอกจากนี้พร้อมชมการสาธิตทำผลิตภัณฑ์จากเกลือ อาทิ เกลือขัดผิว เกลือแช่เท้า โลชั่นสมุนไพร สบู่เกลือ เป็นต้น

แสงทองตะวันยามเย็นกระทบผิวน้ำระยิบระยับ ภาพบรรยากาศนาเกลือเหมือนมีมนเสน่ห์ชวนให้ใครหลายคนหลงใหลดูงามตา สถานที่พัก i-Tara Resort "ต้นทางทราย ปลายทางเกลือ" เก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้วค่ำคืนนี้ เดินทางไปรับประทานอาหารเย็น ณ "ร้านทับทิมทอง" ต้องบอกไว้ก่อนว่ารสชาติอาหารแต่ละอย่างนั้นชัดเจนทำกันอย่างเต็มที่ไม่มีออมฝีมือ

 

สัมผัสทรายเม็ดแรก แห่งท้องทะเลอ่าวไทย

ตื่นนอนจากฝันหวานรับแสงอรุณยามเช้ากิจกรรมของวันนี้เริ่มต้นเดินทางไป "ท่าเรือคลองอีแอด" นั่งเรือผ่านป่าชายเลนออกสู่ทะเล"สัมผัสทรายเม็ดแรก แห่งท้องทะเลอ่าวไทย"

บริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโคลนและหาดทราย ดื่มน้ำดับกระหายจากความร้อนต่อไปเป็นกิจกรรมสนุกๆร่วมงาน "เปิดโลกทะเลโคน" เสียงเพลงในจังหวะที่มันเล้าใจถึงแม้ว่ากองเชียร์อายุรวมกันมากกว่าร้อยปีใส่ชุดสีหวานลายดอกไม้ ลีลาเต้นใส่กันแบบว่าอายุไม่เกี่ยวขอมันในอารมณ์ไว้ก่อน ส่วนเสื้อสีเขียวทางทีมงานผู้ใหญ่แป๊ะก็เต้นอย่างสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ เมื่อนักกีฬาพร้อมเริ่มกิจกรรมชมการแข่งขันชกมวยทะเลโคลน การแข่งขันถีบกระดานเก็บหอยแครง และมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย ได้รับความบันเทิงกันแล้วถึงเวลารับความรู้

เดินทางถึงแหลมผักเบี้ย เยี่ยมชม "โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เกิดขึ้นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยถึงปัญหาขยะและน้ำเสียในชุมชนและเมืองขนาดใหญ่ จึงทรงพระราชดำริให้ศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยีในการบำบัดของเสียด้านขยะและน้ำเสีย ภายในโครงการจะแสดงเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียและบำบัดขยะ และจัดอบรมความรู้ให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศน์และแหล่งท่องเที่ยวดูนกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้รับข้อมูลพิเศษถึงขนมหม้อแกงของดีเมืองเพชรที่ ถ.มาตยวงศ์ ใกล้สะพานเทศบาล เพชรบุรี ทางผู้จัดแนะนำ ร้าน "แม่ปิ่นขนมหม้อแกง" แวะซื้อของฝาก ขนมหม้อแกงเผือกมีเม็ดบัว ขนมฝอยทอง ขนมอลัว ทองม้วนไส้หมูหยอง ทองม้วนทิพย์ รสหวานน้ำตาลโตนด ขนมกลีบลำดวน ขนมผิงทรงเครื่อง ยังมีขนมอื่นๆอีกมายมายให้ได้เลือกซื้อกันจนเพลิน


จบแล้วสำหรับกิจกรรมทดสอบสินค้าการท่องเที่ยวเส้นทาง "เที่ยวท่อง ล่องเรือ ชิมเกลือก่อนใคร" ทำให้ใจรับรู้แล้วว่า "เกลือ" เค็มอย่างมีคุณค่าจะดีเพียงใด ถ้าชีวิตของคนเรา "รักษาความดี ให้เหมือน เกลือ รักษาความเค็ม" เอาไว้ให้คงอยู่เสมอ ความดีก็จะช่วยให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งดีๆตลอดไป

เรื่อง/ภาพ : วุฒิภัทร วิมุกตานนท์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม โทร.0 3475 2827-8

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)


อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ ตะลุยเมือง 2 สมุทร เที่ยวท่องล่องเรือ ชิมเกลือก่อนใคร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook