ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายครั้งที่ได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดที่มีการจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหลวงต่างๆ แต่กลับไม่เคยรู้รายละเอียดของโครงการนั้นๆ เลย ว่าได้ให้ประโยชน์กับชาวบ้านในพื้นที่นั้นอย่างไร ไปเป็นเพียงนักท่องเที่ยวเปล่าๆ คนหนึ่ง แต่แล้วแวบหนึ่งที่ทำให้เราเลือกที่จะกลับไปยังที่ที่เราเคยไป แต่ไปในฐานะนักท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องการรู้เรื่องราวทั้งหมดในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การเดินทางตามรอยพระราชาจึงเกิดขึ้น

จากที่เคยไปเที่ยวที่น้ำตกนางรอง และแวะเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อชมพระอาทิตย์ตกลงไปในเขื่อน ความสนุกและความสวยงามระหว่างสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติคิดว่าคงเพียงพอ ซึ่งในขณะนั้นเราเห็นป้ายบอกทางไปศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ก็คิดว่าคงไม่มีอะไร แต่พอได้ลองค้นหาที่มาที่ไปของศูนย์ฯ แห่งนี้ ว่าเป็นโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้ชีวิตพอเพียงให้เหมาะสมกับภูมิภาคที่ตัวเองอยู่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาคให้เราได้เรียนรู้ถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ระบบการใช้น้ำ ระบบป่าเปียก การปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ และแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยใช้หลักธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างบ้านดินทำ การทำไบโอดีเซล และอื่นๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ ท้ายสุดฉันก็ต้องกลับมาที่ จ.นครนายกอีกครั้ง และตั้งต้นการเดินทางตามรอยพระราชากันที่ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแห่งแรก

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก

การมาเที่ยวชมศูนย์ฯ แห่งนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย เว้นแต่ว่ามากันเป็นหมู่คณะ และต้องการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ได้จัดขึ้น ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเลิศ ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องราวของคำว่า "พอเพียง" และการใช้ทรัพยากรอย่างไรให้ได้ประโยชน์และรู้คุณค่ามากที่สุด การเดินเที่ยวชมที่แห่งนี้ เดินชมได้เป็นลักษณะคล้ายวงกลม โดยเริ่มจาก โซนภาคเหนือ ตื่นตาไปกับการปลูกไม้ไผ่ชนิดต่างๆ สองข้างทาง รวมทั้งความน่ารักของสะพานไม้ไผ่ บ้านที่สร้างจากไม้ไผ่ริมสระบัว และเครื่องเล่นที่ทำจากไม้ไผ่ ที่จัดแสดงแบบนี้ เป็นเพราะต้องการให้ได้รู้ว่าไม้ไผ่สามารถทำประโยชน์อะไรได้มากมาย รวมทั้งทำรางหยดน้ำ เพื่อใช้รดน้ำต้นไม้และรดดินแทนคนอีกด้วย เดินขึ้นไปตามภูเขาก้อนเล็กๆ เรียนรู้เรื่องภูเขาป่า การตะบันน้ำ คือ การที่ใช้น้ำอัดน้ำขึ้นที่สูงแทนการใช้เครื่องปั๊มน้ำ ระบบป่าเปียกกันไฟ ประโยชน์ของหญ้าแฝก และการทำฝายชะลอความชุ่มชื้น

เดินต่อไปยัง โซนภาคกลาง เรียนรู้เรื่องการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของตัวเองอย่างคุ้มค่า เรียนรู้การสร้างบ้านดิน และเรื่องสมุนไพรนานาชนิด แล้วก็เดินไปยัง โซนภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ชมธนาคารข้าว เรียนรู้เรื่องการสีข้าว การเลี้ยงปศุสัตว์ แอบเห็นวัวตัวเบ่อเริ่มอยู่ในคอกด้วย การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง จะได้ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี และได้เรียนรู้เรื่องการห่มดิน จากที่พื้นที่ที่ไม่มีดิน ต้องใช้วิธีห่มดิน เพื่อให้ได้ดินดีๆ กลับมาปลูกพืชผัก แต่จะทำอย่างไร อยากให้ไปเรียนรู้ด้วยตัวเองจะดีที่สุด

สุดท้ายไปยัง โซนภาคใต้ ไปดูการเผาถ่านที่ทำจากไม้ไผ่ การทำน้ำมันไบโอดีเซล และเรียนรู้โครงการแก้มลิง นอกจากนี้ตลอดภายในศูนย์ฯ ฉันเห็นว่าจะมีร่องน้ำขนาดใหญ่และเล็กตลอดเส้นทาง มีสระน้ำ มีแปลงเกษตรปลูกพืชผัก มีกังหันน้ำชัยพัฒนา มีการปลูกหญ้าแฝกในน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย จบการเดินเที่ยวชม ที่รับสาระความรู้และความเพลิดเพลินเดินอย่างไม่รู้เหนื่อยกันไป เดินชม ตาดู หูฟังและปากถามเจ้าหน้าที่ไม่ลดละ เพียงเพราะว่าสิ่งที่เราคิดว่า ‘เรารู้' กลายเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน นั่นเป็นเพราะความเคยชินกับโครงการต่างๆ หรือทฤษฎีต่างๆ แต่ไม่เคยปฏิบัติหรือมาสัมผัสจริง

ขอขอบคุณ
คุณปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ
คุณปรีชา หงอกสิมมา เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

การเดินทาง : จากแยกรังสิต ไปทาง อ.องครักษ์ มุ่งหน้าไปใช้เส้นนครนายก-น้ำตกนางรอง ผ่านวังตะไคร้ ก่อนถึงน้ำตกนางรอง 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล ตรงไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงวงเวียน (มีรูปปั้นช้าง) วนขวาข้ามสะพาน ถึงสี่แยกเลี้ยวขวาตรงไปอีก 200 เมตร ศูนย์ฯ จะอยู่ทางซ้ายมือ
ติดต่อเจ้าหน้าที่ : คุณอันธิกา สมโมสร โทร. 0 3738 4049, www.bhumirak.com

เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพ : กฤตภาส สุทธิกิตติบุตร

 

อัพเดตเรื่องท่องเที่ยวสนุกๆ มากมาย (คลิก)

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook