ห้วยขาแข้ง แหล่งเรียนรู้ใหม่-อนุรักษ์มรดกโลก

ห้วยขาแข้ง แหล่งเรียนรู้ใหม่-อนุรักษ์มรดกโลก

ห้วยขาแข้ง แหล่งเรียนรู้ใหม่-อนุรักษ์มรดกโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระอาทิตย์ดวงกลมสีส้ม กำลังเปล่งแสงเรื่อๆ เหนือกิ่งก้านหงิกงอ ให้เห็นเป็นเส้นสายลวดลายแปลกตา เนื่องจากเพราะในฤดูร้อนแบบนี้ ป่าเต็งรังที่เบื้องหน้าทิ้งใบให้ร่วงพรูลงดิน ลดการคายน้ำ กลิ่นหอมแรงของดอกของต้นแดง หน้าบ้านพักนักวิจัยริมห้วยทับเสลา โชยมาในฆานปราสาท นี่เป็นเช้าอันสงบเรียบง่ายอีกวันหนึ่งของผืนป่าที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นมรดกทางธรรมชาติของไทย มรดกทางธรรมชาติของโลก "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" แต่เมื่อหันไปมองบริเวณลานต้นสัก ที่ใช้สำหรับกางเต็นท์ ปูผ้าใบนอนดูดาว วันนี้กลับเต็มไปด้วยเต็นท์โปร่งเป็นวงโค้งภายในมีเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติอยู่หลากหลาย ล้อมรอบเต็นท์ใหญ่ที่ตั้งเก้าอี้ไว้หลายสิบตัว หันหน้าไปยังอาคารสีน้ำตาล ที่บัดนี้ได้รับการติดตั้งนิทรรศการสื่อความหมาย เกี่ยวกับผืนป่าใหญ่ ป่ามรดกโลก เพราะวันนี้จะเป็นวันพิเศษอีกวันหนึ่ง เป็นวันเปิดใช้อาคารนิทรรศการมรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ที่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาระบบสื่อความหมายต่างๆ โดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ.

เช้าของเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 จึงดูพลุกพล่านวุ่นวายไปด้วยทั้งคนและทั้งรถ รถบัสคันใหญ่จอดอยู่ไกลๆ ส่งนักเรียนนับร้อยคนจากโรงเรียนต่างๆ รอบๆ เขตฯ ทั้งจาก อ. หนองฉาง อ. ลานสัก ของ จ.อุทัยธานี และที่อื่นๆ เต็นท์รอบๆ นั้นประกอบไปด้วยนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ เริ่มจากโครงการ รวมใจภักดิ์ รักษ์มรดกไทย มรดกโลก ของ ปตท. สผ. บอร์ดความรู้เกี่ยวกับสัตวป่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรอยเท้าสัตว์ ชนิดของพืชพันธุ์ การส่งสัญญาณ cctv มาจากโป่งสัตว์ที่เกิดจากโครงการปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์ ซุ้มขององค์กรต่างๆ ที่ร่วมสนับสนุนงานในป่าห้วยขาแข้ง สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก ได้นำเสนอเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเป็นผู้ร่วมสนับสนุนให้พนักงานป่าไม้ได้เรียนรู้ในการสำรวจ ตรวจตราผืนป่าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ จีพีเอส การบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิตอล นอกจากจะตระเวณไพรเพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ ตัดไม้แล้ว ยังเป็นผู้ช่วยสนับสนุนในการวิจัยสัตว์ป่าต่างๆ อีกด้วย

ข้างๆ กันนั้นเป็นพื้นที่ของ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ที่นำเสนอเรื่องโพรงรังนกเงือกคอแดง การติดตามการหากินของนกเงือกชนิดต่างๆ ในเขตป่ามรดกโลก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่สนับสนุนงานในด้านต่างๆ รวมไปถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ที่ขณะนี้โดดเด่นในด้านการวิจัยเสือโคร่ง ทั้งยังได้นำ "คาเมรา แทรป" กล้องดักถ่ายสัตว์ป่ามาให้ชม รวมถึงภาพถ่ายของเสือหลายสิบตัว รวมไปถึงช้าง หมี สมเสร็จ แมวดาว หมูป่า และอื่นๆ ที่กล้องสามารถถ่ายได้มาให้ได้ศึกษาเรียนรู้กันอีกจุดหนึ่งที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากกว่าใครๆ เป็นพื้นที่แต้มศิลป์ลายเสือ ที่ให้นักเรียนระบายสีลายเสือโคร่งในเสื้อขาว ง่ายๆ แต่ดึงดูดเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

ไม่ไกลกันเป็นห้องนิทรรศการ ซึ่งภายในจัดแสดงถึงความสำคัญของมรดกโลกในพื่นที่ต่างๆ ของโลก แล้วจึงเข้าสู่ตัวนิทรรศการ ภายในแบ่งเป็นโซนต่างๆ นำเสนอคุณค่าของทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งต้นน้ำหลายสาย ที่ส่งไปหล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่ต่างๆ หลายจังหวัด จัดแสดงพื้นที่ป่าอันหลากหลาย โดยจัดทำเป็นโมเดลของป่า ตั้งแต่ป่าริมลำห้วย ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และอื่นๆ ให้เข้าใจง่ายๆ รวมไปถึงความหลากหลายของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นควายป่า ที่เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนและมีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สัตว์ป่าหายากอื่นๆ เช่น กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง ช้าง สมเสร็จ นกเงือกคอแดง เก้งหม้อ นกยูง นกหัวขวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำเสนอในเชิงการจัดการผืนป่ามรดกโลกโดยสนับสนุนการเรียนรู้ และการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในด้านต่างๆ เป็นการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ ที่เจ้าหน้าที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลการพบสัตว์ป่า พันธุ์ไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านงานวิจัยและอนุรักษ์ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนให้ร่วมกันดูแลผืนป่าต่อไปในอนาคต


อาคารนิทรรศการหลังนี้ทาง ปตท. สผ. ยังได้มีการสนับสนุนทางด้านไฟฟ้าแสงสว่าง เนื่องจากการนำเสนอนิทรรศการนั้นต้องใช้ไฟฟ้า จึงได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยแผงโซลาเซลล์ที่สามาถผลิตไฟฟ้าขนาด ๑๐ กิโลวัตต์ ที่นอกจากจะสนับสนุนไฟฟ้าในนิทรรศการแล้ว ยังใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการของหน่วยงานลาดตระเวณอีกด้วย ในการจัดการระบบต่างๆ นี้ ล้วนอยู่ในบริเวณโซนพื้นที่ด้านนอกของป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ตั้งใจไว้ว่าจะให้บริเวณตั้งแต่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ด่านหน้าในทางเข้าของเขตฯ เป็นพื้นที่ต้อนรับและให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาศึกษาธรรมชาติในป่าแห่งนี้

สำหรับผู้ที่สนใจจะเดินทางเข้าไปเที่ยวชมธรรมชาติในผืนป่าห้วยขาแข้งนั้น ควรเข้าใจว่าผืนป่าแห่งนี้เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ทางด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และอื่นๆ ซึ่งในการไปเฝ้าชมสัตว์ป่าในหอดูสัตว์นั้น อาจมีโอกาสพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด แต่นั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้เข้าไปศึกษาด้วย เพราะสัตว์ป่ามีสัญชาตญาณในการระวังตัวสูง หากจะเข้าไปในพื้นที่ควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะสม สีสันไม่โดดเด่นสะดุดตามากนัก และที่สำคัญคือต้องไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย เพราะจะทำให้สัตว์ป่าแตกตื่นหนีไปได้

ในแต่ละฤดูกาล ป่าจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่นในฤดูฝน ป่าผลิใบเขียวขจีชุ่มชื้น ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย ป่าเริ่มเปลี่ยนสี ก่อนทิ้งใบไปเมื่อฤดูร้อนเข้ามาเยือน การเข้ามาศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ จึงต้องพร้อมเตรียมใจเปิดกว้าง และเปิดประสาทรับรู้ในด้านต่างๆ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการดมกลิ่น ตาดู หูฟังเสียงต่างๆ และเมื่อนั้น ก็จะได้รับของขวัญจากธรรมชาติกลับคืนมาแน่นอน

เรื่อง/ภาพ : อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง

 

อัพเดตเรื่องท่องเที่ยวสนุกๆ มากมาย (คลิก)

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ห้วยขาแข้ง แหล่งเรียนรู้ใหม่-อนุรักษ์มรดกโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook