ภูพระบาท ตามรอยโศกนาฏกรรมรักบนเพิงผาหิน

ภูพระบาท ตามรอยโศกนาฏกรรมรักบนเพิงผาหิน

ภูพระบาท ตามรอยโศกนาฏกรรมรักบนเพิงผาหิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาจเป็นธรรมดาที่ของธรรมดาอย่างลม น้ำ พัดพาซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งหินผาผุกร่อนแหว่งเว้ามีรูปร่างผิดธรรมดา และบางพื้นที่มนุษย์ก็ยังมาต่อเติมความผิดธรรมดานั้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง รวมถึงมีเรื่องเล่าผูกโยงกับสถานที่นั้นๆ ในภายหลัง


บนภูเขาลูกเล็กลูกหนึ่งทางตะวันออกของเทือกเขาภูพาน ในเขต อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี มีสถานที่ลักษณะดังว่า และเนื่องจากได้พบรอยพระพุทธบาท ณ ที่นั้นด้วย จึงเรียกว่า "ภูพระบาท" บนภูพระบาทมีทั้งภาพเขียนสีในหลืบหิน ใบเสมา หินแกะสลัก กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2524 ในบรรดาหลักฐานทั้งหลายที่ค้นพบ ภาพเขียนสีน่าจะเป็นของเก่าแก่ที่สุด นับอายุย้อนหลังได้ถึง 3,000-2,000 ปีก่อน ถ้านึกภาพย้อนไปถึงอดีตสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีอักษรใช้ ใครสักคนบนภูพระบาทอาจเริ่มผสมสี โดยใช้ดิน แร่ หรือยางไม้ ผสมกับน้ำ น้ำผึ้ง หรือน้ำคั้นจากพืชบางชนิด จนได้สีแดงสด แล้วเริ่มเขียนลวดลายสีแดงบนก้อนหิน ที่อาจเป็นการบันทึกเรื่องราวหรือลงรหัสบอกอะไรบางอย่างที่คนรุ่นปัจจุบันยังคงค้นหา หรือไม่อีกอย่าง ก้อนหินอาจเป็นเสมือนผืนผ้าใบให้เหล่าศิลปินโบราณมาร่วมแสดงความสุนทรีย์

นอกจากสีที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งทอดต่อกันมาแบบปากต่อปาก เล่าเรื่องตำนานพื้นบ้านอันสัมพันธ์กับหินรูปร่างแปลกที่พบทั่วภูพระบาท โดยไม่อาจระบุได้ว่าเล่ากันมาตั้งแต่เมื่อไร สิ่งที่ไม่รู้จุดเริ่มต้นอาจเป็น "อมตะ" อย่างน้อยมันก็ระบุจุดสิ้นสุดไม่ได้เพราะไม่มีจุดเริ่มต้นมาเปรียบเทียบ และ ณ จุดหนึ่งในความอมตะนั้น นางผู้มีกลิ่นกายหอมกรุ่นนามอุสา ได้ถือกำเนิดขึ้นจากดอกบัว...

ตำนานอุสา-บารส เป็นตำนานเล่าถึงสถานที่ต่างๆ บนภูพระบาท โดยเล่าว่า เมื่อนางอุสาเกิด ฤๅษีจันทารับนางอุสามาเลี้ยงไว้ แล้วกษัตริย์นามท้าวกงพานแห่งเมืองพาน ผู้เป็นลูกศิษย์ของฤๅษี ก็ได้ขอนางผู้เกิดจากดอกบัวนั้นมาเป็นธิดา ครั้นนางอุสาล่วงเข้าวัยสาว มีเจ้าชายจากหลายเมืองมาสู่ขอ ด้วยความหวงแหน ท้าวกงพานไม่ยินยอมยกให้ใคร แต่สร้างหอสูงให้นางอยู่อาศัย  วันหนึ่งขณะอาบน้ำ นางอุสาร้อยมาลัยเป็นรูปหงส์แล้วปล่อยลอยน้ำไปเพื่อเสี่ยงทายหาคู่ มาลัยของนางลอยไปถึงเมืองปะโคเวียงงัวที่มีท้าวบารสเป็นเจ้าชาย พระองค์เก็บมาลัยได้ก็ออกเดินทางตามหาเจ้าของ เมื่อพบกันทั้งสองก็เกิดความรักและลักลอบได้เสียกัน

เมื่อท้าวกงพานรู้เรื่องก็พิโรธหนัก แต่จะประหารท้าวบารสก็มิได้ ด้วยเกรงฤทธิ์พระบิดาของท้าวบารส ท้าวกงพานจึงคิดอุบายให้ท้าวบารสมาแข่งสร้างวัด โดยมีกำหนดเวลาตั้งแต่เช้าจนดาวประกายพรึกขึ้น ผู้ใดแพ้ต้องถูกตัดเศียร ฝ่ายท้าวบารสมีกำลังคนน้อย ย่อมเสียเปรียบฝ่ายท้าวกงพานที่มีกำลังคนมาก พี่เลี้ยงของนางอุสาจึงช่วยเสนอเล่ห์กล โดยให้ท้าวบารสนำโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้เพื่อลวงให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว ฝ่ายท้าวกงพานเมื่อเห็นโคมไฟก็หยุดสร้างวัดเพราะเข้าใจว่าดาวประกายพรึกขึ้นจริง ขณะฝ่ายท้าวบารสฉวยโอกาสนี้เร่งสร้างวัดจนเสร็จ ใครไปภูพระบาท ถ้าเห็นเพิงหินทรายใหญ่อยู่ตรงข้ามกัน นั่นละคือวัดพ่อตากับวัดลูกเขย เพิงหินที่พื้นผิวยังเห็นเป็นรอยขีดเหมือนเพิ่งถูกสกัดอย่างหยาบๆ คือวัดพ่อตา ส่วนเพิงหินที่ดูเหมือนอิฐก่อกั้นเป็นคูหาเรียบร้อยก็คือวัดลูกเขย เมื่อเวลาของการแข่งขันสิ้นสุด ท้าวกงพานเป็นผู้แพ้จึงถูกตัดเศียร แล้วท้าวบารสก็พานางอุสากลับเมืองปะโคเวียงงัว แต่การณ์กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรม...

ท้าวบารสมีชายาอยู่แล้ว นางอุสาจึงถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา ครั้งหนึ่งชายาของท้าวบารสสมคบคิดกับโหราจารย์ ทำนายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ ต้องแก้ด้วยการออกเดินป่าคนเดียว 1 ปี นางอุสาที่อยู่รอคอยสวามีที่เมืองนั้นเพียงลำพัง ทนต่อการถูกกลั่นแกล้งทำร้ายต่อไปไม่ไหว จึงหนีกลับเมืองพานและล้มเจ็บด้วยความตรอมใจ ท้าวบารสเมื่อกลับถึงเมือง ทราบข่าวนางอันเป็นที่รักหนีไป ก็รีบออกตามหา แต่กว่าจะถึงเมืองพาน นางอุสาก็สิ้นใจเสียแล้ว หลังฝังศพนางอุสา ท้าวบารสก็ตรอมใจตายตาม เหล่าบริวารฝังศพพระองค์ไว้เคียงข้างนางอุสาเป็นพยานแห่งความรัก... บนภูพระบาทจะเห็นแท่นหินขนาดใหญ่อยู่เคียงกัน แท่นหนึ่งนั้นคือหีบศพนางอุสา ส่วนอีกแท่นเป็นหีบศพท้าวบารส ตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับเพิงหินทรายต่างๆ ทั่วภูลูกน้อยนี้ ขณะเดียวกันเพิงหินทรายก็เล่าเรื่องราวของตัวมันเอง อันมีความสำคัญถึงขั้นมีชื่ออยู่ในบัญชีชั่วคราวที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างใบเสมาหินขนาดต่างๆ ที่ปักล้อมเพิงหินขนาดใหญ่ในพื้นที่ภูพระบาท เช่นที่หอนางอุสา กู่นางอุสานั้น เป็นการกำหนดเขตประกอบพิธีกรรม อีกทั้งพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายที่ถ้ำพระ และการสลักเพิงหินให้เป็นที่นั่งวิปัสสนา ก็แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทวารวดีที่เข้ามาในภูพระบาทราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 อีกมุมหนึ่งของถ้ำพระที่อาจต้องมุดเข้าไปสังเกตสักหน่อย เพราะส่วนที่เป็นเสมือนหลังคาของเพิงหินนี้เคยหักพังลงมาและกั้นบังลวดลายบางส่วนให้เห็นได้ไม่ถนัด ยังพบประติมากรรมที่น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นรูปบุคคลสวมผ้านุ่งตามแบบวัฒนธรรมเขมร เมื่อผ่านกาลเวลามาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23 ที่วัฒนธรรมล้านช้างจากลาวกำลังเจริญรุ่งเรือง พื้นที่ภูพระบาทก็ได้รับอิทธิพลด้วย โดยปรากฏเป็นรอยพระพุทธบาทบัวบกประดิษฐานในเจดีย์รูปทรงคล้ายพระธาตุพนมของ จ.นครพนม

เป็นเรื่องธรรมดาที่ของธรรมดาอย่างลม น้ำ พัดพาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแม้กระทั่งหินผาก็ยังผุกร่อน กลายเป็นของแหว่งเว้ารูปร่างผิดธรรมดา แต่ของไม่ธรรมดาเหล่านั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมีคนเห็นความสำคัญและช่วยกันรักษาเอาไว้

เรื่อง : วีรวรรณ ภิญญรัตน์ ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ภูพระบาท ตามรอยโศกนาฏกรรมรักบนเพิงผาหิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook