เปิดประตูสู่...ภูเก็ต ชมสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส

เปิดประตูสู่...ภูเก็ต ชมสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส

เปิดประตูสู่...ภูเก็ต ชมสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คำขวัญ : ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม

ภูเก็ต' ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ และหาดทราย น้ำทะเลสีฟ้าใส พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร ภูเก็ตแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้ ภาคใต้ของประเทศไทยเรื่องของอากาศได้ชื่อว่า ฝน 8 แดด 4 คือมีฤดูฝน 8 เดือน และฤดูร้อน 4 เดือน ไม่มีฤดูหนาว หากใครอยากไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ตและต้องการเห็นน้ำทะเลสีฟ้าใสก็ไม่ควรที่จะเดินทางไปในหน้าฝน ส่วนเสื้อผ้าที่จะนำติดตัวไปก็ต้องเตรียมให้เหมาะกับสภาพของอากาศด้วย และที่สำคัญทุกครั้งก่อนออกเดินทางอย่าลืมโทรเช็คกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องลม ฟ้า อากาศ ก่อนเป็นดีแน่ที่เบอร์โทร.1182

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดภูเก็ต

ประตูเมืองสู่ภูเก็ต (Phuket Gateway)

สร้างโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เนื่องในวโรกาสมหา-มงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2550 เพื่อให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ที่จังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาโดยทางรถยนต์ ผ่านสะพาน ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร เพื่อข้ามจากแผ่นดินใหญ่มายังเกาะภูเก็ต ประตูเมืองภูเก็ตก่อสร้างบนพื้นที่ 25 ไร่ ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง มีจุดเด่น คือ เสาประติมากรรมเรียงรายเป็นแนวยาว 29 ต้นที่มีการก่อสร้างขึ้น ตามแนวคิดว่า เลข 2 คือ ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีของชาวภูเก็ต ส่วนเลข 9 มีนัยถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของภูเก็ต ผ่านข้อมูลที่จารึกอยู่บนเสาศิลา 29 ต้น ซึ่งได้เรียงร้อยเรื่องราวต่างๆ ของภูเก็ต ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุก การทำเกษตรกรรม จนถึงยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ประติมากรรมเต่าทะเลกับไข่เต่าขนาดใหญ่ด้านหน้าอาคาร โดยฝีมือของศิลปินเอก ศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล ซึ่งเป็นงานศิลปที่เล่าเรื่องหาดไม้ขาว สถานที่วางไข่ของเต่ามะเฟืองซึ่งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต

นอกจากประตูเมืองภูเก็ตจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่แล้ว ยังมีศูนย์ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว มีห้องประชุมเล็ก และ mini theatre สำหรับแวะเยี่ยมชมวีดีทัศน์เกี่ยวกับภูเก็ต สารคดีท่องเที่ยว พร้อมหาซื้อของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ของภูเก็ต ผ้าบาติก ไข่มุก อาหารแปรรูป และชิ้นงานศิลปะต่างๆ เปิดบริการทุกวันเวลา 9.00 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โทร. 0-7621-1877, 0-7621-1866

ตึกโบราณสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส

นอกจากภูเก็ตจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติอันสวยงามแล้ว ยังมีอาคารรุ่นเก่าในตัวเมืองภูเก็ต ที่เป็นทั้งบ้านเรือน ร้านค้า สถานที่ราชการ ธนาคารและอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ อาคารปัจจุบันที่ทำการศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด ป้อมตำรวจตรงสี่แยกชาร์เตอร์ส่วนใหญ่เป็นตึกซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยเกือบร้อยปีมาแล้ว เมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่เริ่มเจริญใหม่ๆ ลักษณะของตัวอาคารมีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้าง หน้าต่าง ประตู เป็นไม้ฉลุลาย

ลักษณะสถาปัตยกรรมเหล่านี้ในยุคแรก มีอิทธิพลของจีนอยู่มาก การก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นตึกแถว 2 ชั้น หรือชั้นเดียว กำแพงหนา เพราะใช้ตัวกำแพงรับน้ำหนัก กระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องโค้งแบบจีน รูปทรงหลังคา ตลอดจนประตูหน้าต่างและส่วนต่างๆ ล้วนเป็นแบบจีนทั้งสิ้น สมัยต่อมาจึงเริ่มมีการผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบ "ชิโน-โปรตุกีส" (Chinois Postugess)

ปัจจุบันสามารถพบเห็นสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสได้ทั่วไปบริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราชและถนนกระบี่ ซึ่งถนนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ต และบอกเล่าวัฒนธรรมของเมืองภูเก็ตในอดีตได้เป็นอย่างดี

เมื่อเดินตรงตามถนนถลางไปเรื่อยๆ ประมาณกลางทางจะพบซอยแยกทางขวามือมีชื่อว่า "ซอยรมณีย์" เป็นซอยหอนางโลมสมัยก่อนแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ตามตัวอาคารได้มีการตกแต่งทาสีอาคารให้มีสีสันสวยสะดุดตานักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ความสวยสะดุดตานี้เองที่ทำให้ซอยนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในฉากหนัง ฉากละครหรือแม้แต่กระทั่งภาพยนตร์โฆษณา และที่นี่เค้าก็มีร้านกาแฟเก๋ๆ ร้านอาหารรสเด็ดและร้านขายผ้าพื้นเมืองไว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยวเช่นกัน

วัดพระทอง (วัดพระผุด)

อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 21 กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ถึงที่ว่าการอำเภอถลางทางด้านขวาจะมีทาง แยกเข้าวัดพระทอง วัดนี้มีพระพุทธรูปผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ เมื่อคราวศึกพระเจ้าปะดุง ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง" เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุข้าวของเครื่องใช้ของชาวภูเก็ต เช่น "จังซุ่ย" เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีน ที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคมสมัยนั้น พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 07.00 น. - 17.00 น.

วัดฉลอง (วัดไชยธาราราม)

อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กิโลเมตร ออกจาก ตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4021 ผ่านสามแยกบริเวณสนามกีฬาสุรกุล เลี้ยวซ้ายไปทางห้าแยกฉลอง วัดฉลองจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกฉลองประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของภูเก็ต มีรูปหล่อของหลวงพ่อแช่ม และหลวงพ่อช่วง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวภูเก็ต

หาดป่าตอง

ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนวิชิตสงคราม หรือทางหลวงหมายเลข 4020 ไป 9 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4029 ไปอีก 6 กิโลเมตร เป็นอ่าวที่มีความโค้งมาก หาดทรายงดงามเป็นแนวยาว 9 กิโลเมตร น้ำทะเลใสสะอาด เหมาะแก่การเล่นน้ำ บริเวณหาดมีที่พัก บริษัทนำเที่ยว ศูนย์การค้า แหล่งบันเทิง บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน

แหลมพรหมเทพ

เป็นจุดชมวิวที่สวยงามของภูเก็ต อยู่ห่างจากหาดราไวย์ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหลมที่อยู่ตอนใต้สุดของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเรียกว่าแหลมเจ้า จากริมหน้าผามีแนวต้นตาลลาดลงสู่ปลายแหลมที่เป็นโขดหิน สามารถเดินไปจนถึงปลายแหลมได้ มองเห็นน้ำทะเลสีเขียวมรกต และสามารถเห็นเกาะแก้วอยู่ด้านหน้าแหลม ทางขวาจะเห็นแนวหาดทรายของหาดในหาน แหลมพรหมเทพนับเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังมี "ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ" สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี มีขนาดความกว้างที่ฐาน 9 เมตร สูง 50 ฟุต และแสงไฟจากโคมไฟจะมองเห็นไกลถึง 39 กิโลเมตร ใช้เป็นเครื่องหมายในการเดินเรือเนื่องจากภูเก็ตถือเป็นศูนย์กลางเส้นทาง คมนาคมในทะเลอันดามันที่สำคัญ ภายในประภาคารมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวการสร้างประภาคาร การรักษาเวลามาตรฐาน การคำนวณ และแสดงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตก เรือหลวงจำลองพร้อมประวัติเรือแต่ละลำ จากบนยอดของประภาคารยังเป็นจุดชมทิวทัศน์บริเวณแหลมพรหมเทพโดยรอบ

อนุสาวรีย์วีรสตรี

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าเรือ ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 12 กิโลเมตร เป็นอนุสาวรีย์ที่ชาวภูเก็ตร่วมกันสร้างขึ้น เมื่อปี 2509 เพื่อเชิดชูเกียรติวีรสตรีผู้กล้าหาญแห่งเมืองถลาง

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ เปิดประตูสู่...ภูเก็ต ชมสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook