ปะการังฟอกขาวและการปิดให้บริการเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล

ปะการังฟอกขาวและการปิดให้บริการเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล

ปะการังฟอกขาวและการปิดให้บริการเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Thtravel201100301

ช่วงนี้หลายต่อหลายคนคงได้ยินข่าวการปิดฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Reef Bleaching) จนส่งผลไปถึงนักท่องเที่ยวที่หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะไปดำน้ำ ทั้งดำตื้นดำลึก ต้องเปลี่ยนแผนกันจ้าละหวั่น

แล้วเหตุใดปะการังจึงถูกฟอกขาว?
สาเหตุที่เจ้าปะการัง "เปลี้ยนไป๋" จากที่เคยมีสีสันสดสวยกลายมาเป็นสีขาวซีดเซียวไม่น่าชมนั้นมีอยู่หลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลบริเวณนั้นสูงขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวที่ปะการังต้องพึ่งพาอาศัยทั้งเรื่องการสังเคราะห์อาหารและสร้างสีสวยๆ นั้นถูกทำลาย จนมองเห็นถึงโครงสร้างของหินปูนสีขาวซีดๆ ภายใน ปะการังจึงหมดความสวยด้วยเวลาเพียงไม่นาน

ในส่วนของกิจกรรมมนุษย์ ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมมากกว่า เช่น การดำน้ำแล้วไปหักทำลายปะการัง การก่อสร้างแล้วทิ้งตะกอนของเสียลงน้ำทะเล แม้กระทั่งการว่ายน้ำขึ้นฝั่งในบางพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ที่นักท่องเที่ยวเหยียบๆ กัน บางคนนึกว่าเป็นโขดหิน แต่นั่นก็อาจเป็นปะการังด้วย

แล้วเจ้าปะการังจะมีโอกาสกลับมาสวยดังเดิมไหมนะ?
ปะการังที่เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวนั้น อาจกลับมามีสีสันสวยสดเหมือนเดิมได้หากอุณหภูมิน้ำทะเลลดจนเข้าสู่ภาวะปรกติ (ทะเลไทยอยู่ที่ประมาณ 29 องศาเซลเซียส) แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณนั้นๆ ยังไม่ลด จนเกิดการฟอกขาวอยู่เป็นระยะเวลานานๆ แล้ว ปะการังผู้น่าสงสารก็จะค่อยๆ ตายไป และกว่ามันจะฟื้นกลับคืนมาได้ก็กินเวลานานนับชั่วชีวิตคน และที่ฟื้นคืนกลับมาก็อาจไม่ใช่ปะการังชนิดเดิมก็เป็นได้

ไม่ต้องถึงกับเลิกดำน้ำ แต่ว่าต้องดำน้ำอย่างมีสติ!
ไม่ถึงกับว่ากลัวตัวเองจะเป็นผู้ร่วมสร้างผลกระทบต่อปะการัง จนต้องเลิกดำน้ำชมความงามใต้ท้องทะเล แต่ก็ไม่ใช่ไปดำน้ำเอามันเอาสนุกเพียงอย่างเดียว เราอาจจะต้องคิดถึงการไปเยี่ยมเยือนบ้านคนรู้จัก ดังนั้นต้องให้เกียรติเจ้าของบ้านกันหน่อย ซึ่งปะการังและฝูงปลาตัวเล็กตัวน้อยนั่นแหละคือเจ้าบ้าน เราจึงไม่ควรทำลายหรือทำให้บ้านของเขาต้องสกปรก หรือแอบ "จิ๊ก" ของในบ้านเขาติดมือกลับมาเป็นที่ระลึก

ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เราไม่ต้องรอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน เพียงแค่เริ่มที่ตัวเราก่อน ทำสิ่งที่เราทำได้ แล้วทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดีขึ้น เริ่มจากให้ธรรมชาติได้พักผ่อนบ้าง และคิดจะทำสิ่งใดก็ขอให้ตระหนักรู้อยู่เสมอว่าทุกสิ่งในโลกล้วนมีผลกระทบเกี่ยวเนื่องถึงกัน

ที่ไหนปิดฟื้นฟูบ้าง...อ่านทางนี้
พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ประกาศปิดการให้บริการนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของแนวปะการัง มีดังนี้

บริเวณเกาะเชือก อช. หาดเจ้าไหม จ. ตรัง
เกาะบุโหลนไม้ไผ่ อช. เภตรา จ. สตูล
บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง อช. ตะรุเตา จ. สตูล
บริเวณเกาะมะพร้าว อช. หมู่เกาะชุมพร จ. ชุมพร
บริเวณหินกลาง อช. นพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ. กระบี่
บริเวณอ่าวจาก อ่าวแม่ยาย อ่าวเต่า เกาะมังกร เกาะตอรินลา อช. หมู่เกาะสุรินทร์ จ. พังงา
บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และบริเวณอีส ออฟ อีเด็น อช. หมู่เกาะสิมิลัน จ. พังงา

หมายเหตุ : ขอขอบคุณภาพจากเอกสารรายงานเบื้องต้นผลกระทบจากการเกิดปะการังฟอกขาวปี 2553 โดย กลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน

เรื่อง : วีรวรรณ ภิญญรัตน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook