ศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลาเฉลิมกรุงมิใช่เป็นเพียงโรงภาพยนตร์โรงหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวพันกับความรุ่งเรืองของ กรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นตัวแทนความเฟื่องฟูของ วงการภาพยนตร์ ของประเทศในอดีตที่ผ่านมาด้วย

เมื่อจะมีการฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี เมื่อ พ.ศ.2475 ได้มีการประชุมหารือกันในคณะรัฐบาลเพื่อจัดสร้าง ถาวรวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถอำนวยสาธารณประโยชน์ เป็นที่ระลึกแห่งการ เฉลิมฉลอง ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระราชดำริ ให้จัดสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ กับ กรุงธนบุรี ให้มีความเจริญพัฒนาทัดเทียมกัน พร้อมทั้งได้สร้าง พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไว้ที่เชิงสะพานฝั่งพระนครด้วย เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระผู้ทรง ประดิษฐานกรุงเทพมหานคร และพระบรมราชวงศ์จักรี

ในโอกาสเดียวกันนั้น จากแนวพระราชดำริที่ทรงเห็นว่าสิ่งบันเทิงที่เฟื่องฟูมากที่สุดในโลกยุคนั้นก็คือ " ภาพยนตร์ " และแม้ว่าในเวลานั้นได้มีการสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นอย่างแพร่หลายแล้วในกรุงเทพฯ และทุกหัว เมืองก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีโรงภาพยนตร์ที่มีลักษณะสวยงามภูมิฐานเป็นสง่าราศีแก่เมืองได้ ประกอบกับความที่ทรง รอบรู้และเป็นนักนิยมภาพยนตร์ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงภาพยนตร์สำหรับฉายภาพยนตร์เสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งยังมีลักษณะภูมิฐานเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศได้ ในการนี้ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ได้พระราชทานนามของโรงมหรสพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ 150 ปี ว่า " ศาลาเฉลิมกรุง "

ที่ตั้งของศาลาเฉลิมกรุงนี้แต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินบริเวณระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนพาหุรัดช่วงหลังวังบูรพาภิรมย์ ระหว่างถนนบูรพาและถนน ตรีเพชร โดยวางแผนตัดถนนเป็นรูปกากบาทในพื้นที่ดินรูปสี่เหลี่ยมนี้ ด้วยว่าเดิมทรงพระราชดำริให้เป็นย่านการค้า แต่แนวพระราชดำรินี้ก็มิได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ คงปล่อย เป็นลานโล่งๆ ที่ตรงกลางมีถนนสองสายตัดกันเหลือไว้ ต่อมาผู้คนเรียกบริเวณนี้ว่า " สนามน้ำจืด " นอกจากบริเวณที่ตั้งของศาลาเฉลิมกรุงจะเป็นย่านธุรกิจ ที่สำคัญแล้ว ที่บริเวณนี้ยังเป็นแหล่งบันเทิงสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในสมัยนั้นอีกด้วย เพราะตลอดแนว ใกล้เคียงถนนเจริญกรุง ไปจรดสามแยก ( ต้นประดู่ ) เป็นแหล่งรวมโรงมหรสพที่สำคัญของยุคนั้น เช่น โรงภาพยนตร์นาครเขษม โรงภาพยนตร์พัฒนากร โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ ( ศาลาเฉลิมบุรี ) ฯลฯ อีกทั้งบริเวณฝั่งตรงข้ามของศาลาเฉลิมกรุงคือ ตลาดบำเพ็ญบุญ ก็เป็นแหล่งที่ผู้คนมาเที่ยวหาความสำราญกันคึกคัก ทั้งจากการรับประทานอาหารและชมมหรสพ การแสดงต่างๆ จากเหตุผลของความเหมาะสมดังกล่าว พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณนี้สำหรับสร้างศาลาเฉลิมกรุง อนึ่งทรงเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ เป็นเส้นทางเดียวกับที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย

การก่อสร้างอาคารศาลาเฉลิมกรุงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2473 โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง จากนั้นบริษัทบางกอกจึงเริ่มงานก่อสร้าง หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงออกแบบอาคารศาลาเฉลิมกรุงในรูปแบบสากลสมัย ( International Style หรือ Modern Style) หรือที่สถาปนิกรุ่นหลังเรียกว่า Contemporary Architecture ตัวอาคารมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง ตระหง่านมั่นคง ผึ่งผาย ตามแบบตะวันตก โครงสร้างของอาคารแข็งแรงมาก รับน้ำหนักได้ดีเยี่ยม ด้วยการใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็เปิดเนื้อที่กว้างขวางไว้ภายในโดยไม่มีเสามาบังตา ส่วนประกอบอื่น เช่น ผนัง ประตูบานพับ ยังเน้นถึงความปลอดภัยของผู้ที่เข้าไปชมภาพยนตร์เป็นสำคัญ

ในสมัยนั้นอาคารศาลาเฉลิมกรุงจัดได้ว่าเป็น อาคารที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียขณะนั้น มีความสวยงามเป็นที่น่า ตื่นเต้นและภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้มาสัมผัสชื่นชม สามารถจุผู้คนได้เป็นพันคน มีการออกแบบตกแต่งภายในอย่าง วิจิตรงดงามด้วยศิลปะไทยสอดผสานกับศิลปะตะวันตก มีระบบไฟแสงสีที่แปลกตาอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบ มีระบบปิด - เปิดม่านอัตโนมัติ เป็นโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ เครื่องปรับอากาศ นอกจากนั้นยังจัดฉายภาพยนตร์ชั้นดี โดยเฉพาะภาพยนตร์ต่างชาติเสียงในฟิล์ม โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงในยุคแรกเริ่มจึงเป็นที่ชุมนุม ของคนที่มีการศึกษาดี มีความรู้ภาษาต่างประเทศและ ผู้ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ

ครั้นต่อมาถึงยุคที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเสมือนหนึ่ง ศูนย์กลางของวงการบันเทิงอย่างแท้จริง จนนับว่าเป็นฮอลลีวูดเมืองไทย ก็ว่าได้ ศาลาเฉลิมกรุงเป็นศูนย์รวมของแหล่งอุตสาหกรรม ภาพยนตร์ไทย เป็นศูนย์รวมของผู้คนในวงการภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา ตัวประกอบ ทีมงาน นักพากย์ นักร้อง ช่างเขียนโปสเตอร์ ฯลฯ และเป็น สถาบันในการผลิต บุคลากรทางด้านการภาพยนตร์และละครของไทย ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเหมือน ประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จของบุคคลใน สายอาชีพนี้ ตลอดไปจนถึง บริษัทฉายหนังต่างๆ ที่มีกิจการอยู่ในละแวก ด้านหลังศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุง ถือว่าเป็นส่วนสำคัญและส่งเสริมให้พื้นที่โดยรอบพัฒนาตัวเองขึ้น จากการเป็นย่านธุรกิจการค้า สำคัญ สู่ความรุ่งเรืองในระดับที่เป็นศูนย์กลางความเจริญและความทัน สมัยของยุคนั้น จากเสาชิงช้าลงไปถึง ริมน้ำเจ้าพระยาและระเรื่อย ตลอดสองฝั่งถนนเจริญกรุงไปจนถึงสำเพ็ง และตลาดน้อย กลายเป็นแหล่งธุรกิจ นานาชนิด ความชื่นชมของประชาชน ที่มีต่อศาลาเฉลิมกรุง ไม่ได้มีแต่เพียงในระยะแรกเริ่มเท่านั้น หากยังดำรง ต่อมาอีกเนิ่นนานนับเป็นสิบๆ ปี ศาลาเฉลิมกรุงถือว่าเป็นแหล่งศูนย์กลาง ความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย จนเป็นประเพณีนิยมว่าคนหนุ่มสาว สมัยนั้น ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ต้องมาใช้ชีวิต ส่วนหนึ่งสัมผัสกับบรรยากาศ ของย่านนี้ ขนาดที่ว่าใครไม่รู่จักศาลาเฉลิมกรุงถือว่า " เชย " ที่สุดทีเดียว

ศาลาเฉลิมกรุงและย่านใกล้เคียงได้ซบเซาไปชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจาก วิวัฒนาการของสังคม กระแสทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของผู้คน แต่มาบัดนี้ก็ได้ถึงยุคฟื้นฟูให้ศาลาเฉลิมกรุงกลับมีชีวิตเป็น โรงภาพยนตร์ พระราชทานอีกครั้งหนึ่ง ด้วยอดีตที่ผูกพันกับหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้มข้น ผูกพันกับชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ผูกพันกับประวัติศาสตร์ของสังคมไทยใน กรุงเทพมหานครมาเป็นเวลานาน ศาลาเฉลิมกรุงจึงควรค่าแก่การ สนใจทะนุถนอมไว้เพื่อให้เป็นโรงภาพยนตร์พระราชทาน สมดังพระราชประสงค์สืบไป

ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงได้จัดรายการศาลาเพลง - ศาลาเฉลิมกรุงขึ้นเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง มาเป็นระยะเวลากว่า 9 ปี เพื่อเป็นการสืบสานผลงานคุณภาพของศิลปินระดับประเทศ โดยมี "วงดนตรีเฉลิมราชย์" และ อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร พร้อมด้วยศิลปินแห่งชาติและนักร้องชั้นนำ ของประเทศไทยนำเสนอแนวดนตรีหลากหลาย อาทิ เพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 , เพลงไทย สากลเพื่อเชิดชูผลงานของบรมครูเพลงศิลปินแห่งชาติหลายท่าน, เพลงไทยลูกทุ่งเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานเพลงลูกทุ่งไทย และเพลงสากล อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมโครงการประกวดร้องเพลง "ศาลาเฉลิมกรุง...สืบสานตำนานเพลง" ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ติดตามข่าวสารกิจกรรมของศาลาเฉลิมกรุงได้ที่ www.salachalermkrung.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ศาลาเฉลิมกรุง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook