อุทยานแห่งชาติปางสีดา

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

อุทยานแห่งชาติปางสีดา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"...อุทยานแห่งชาติปางสีดา..."

ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า มีสภาพธรรมชาติและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกแควมะค่า จุดชมวิว โขดหินตามลำน้ำที่มีลักษณะแปลกๆ มีเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือ 844 ตารางกิโลเมตร

เดิมบริเวณน้ำตกปางสีดา เป็นหน่วยงานหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะจัดป่าในบริเวณให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนใน ท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการรักษาป่าต้นน้ำลำธารและสภาพป่าโดยรอบ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกดำเนินการสำรวจและจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ชื่อว่า "วนอุทยานปางสีดา" เมื่อปี พ.ศ. 2521 อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดปราจีนบุรี มีนายเดชา พงษ์พานิช นักวิชาการป่าไม้ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยาน

ต่อมาได้มีการสำรวจพื้นที่โดยรอบที่มีเขตติดต่อกันปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และทิวทัศน์ที่สวยงาม สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเชาสูงชันสลับซับซ้อน มีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกนาโตร น้ำตกผาน้อย และยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางประกง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรรมในภาคตะวันออก สมควรดำเนินการให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือวนอุทยานปางสีดา ที่ กส 07008(ปด)/22 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2523 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดั้งเดิมไว้ เพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อการศึกษาค้นคว้าของประชาชนส่วนรวม ทั้งเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้พิจารณาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้เป็นการ เพียงพอ ต่อมาจึงได้โอนความรับผิดชอบมาให้กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้นำรายงานการสำรวจเบื้องต้นและข้อคิดเห็น เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน และป่าท่ากระบาก ในท้องที่ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ตำบลบ้านแก่ง ตำบลโคกปี่ฆ้อง ตำบลท่าแยก อำเภอสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และตำบลหนองน้ำใส ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 24 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 41 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งทอดยาวมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลานไปยังอุทยานแห่งชาติตาพระยาจรดประเทศกัมพูชา โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 - 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย เช่น ห้วยชมพู ห้วยสวนน้ำหอม ห้วยสาริกา ห้วยวังมืด และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง

ลักษณะภูมิอากาศ

มีสภาพภูมิอากาศเป็นแบบฝนเมืองร้อน อากาศแห้งแล้งและชุ่มชื้นสลับกัน ในฤดูมรสุมจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่าน ทำให้ลักษณะอากาศเป็นแบบชุ่มชื้น และมีฝนตลอดฤดูกาล แต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวจะมีอากาศแห้งแล้ง ฤดูร้อน เริ่มต้นแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ป่าประมาณร้อยละ 95 ประกอบไปด้วย

ป่าดิบชื้น พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ บริเวณพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1.000 เมตร ไม้ที่พบอยู่ทั่วไป ได้แก่ ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน กระบาก ยางปาย เคี่ยมคะนอง ทะโล้ จำปีป่า พะอง ก่อน้ำ ก่อเดือย ฯลฯ ไม้พุ่มมีหลายชนิด เช่น ส้มกุ้ง ข้าวสารหลวง ชะโอน คานหามเสือ เป็นต้น ส่วนบริเวณฝั่งลำธารจะมีพวก ลำพูป่า กระทุ่ม มหาสะดำ กูดพร้าว ละอองไฟฟ้า พืชอิงอาศัยที่พบโดยทั่วไปได้แก่ กระปอกเล็ก ชายผ้าสีดา กูดอ้อม เอื้องกุหลาบพวง และเอื้องปากเป็ด เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบขึ้นในบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบสูง จากระดับน้ำทะเล 100-400 เมตร ไม้ที่พบขึ้นอยู่ทั่วไป ได้แก่ ยางนา ยางแดง สะเดาปัก ตะเคียนทอง มะค่าโมง ตาเสือ หมากนางลิง ลาน ฯลฯ พืชชั้นล่าง เช่น พืชในสกุลขิงข่า กระเจียว และกล้วยป่า เป็นต้น

ป่าดิบเขา พบในบริเวณที่มีอากาศเย็นบนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ไม้ที่พบขึ้นอยู่ทั่วไป ได้แก่ พญาไม้ มะขามป้อมดง สนสามพันปี ก่อน้ำ ก่อด่าง กำลังเสือโคร่ง ฯลฯ พืชชั้นล่างเป็นพวกไม้พุ่มชนิดต่างๆ เช่น กาลังกาสาตัวผู้ กล้วยไม้ดิน หญ้าข้าวกล่ำ สามร้อยยอด เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ ชนิดของไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ มะค่าโมง ซ้อ ประดู่ ตะแบกใหญ่ ตีนนก สมอพิเภก กว้าว ฯลฯ พืชชั้นล่าง ได้แก่ ไผ่ป่า และหญ้าต่างๆ และ (5) ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง มะขามป้อม รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก และหญ้าคา

ด้วยสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และลักษณะภูมิประเทศทำให้ บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ป่า จึงมีสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก รวมทั้งนกไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไป สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เก้ง กวางป่า กระจง ชะนีมงกุฎ นากเล็กเล็บสั้น เม่นแผงคอใหญ่ ค้างคาวปีกขน ไก่ฟ้าพญาลอ นกยางเขียว นกพญาปากกว้างอกสีเงิน นกแต้วแล้วธรรมดา นกเด้าดิน ตะกอง กิ้งก่าบิน ตะกวด เขียดตาปาด เขียดทราย อึ่งแม่หนาว เป็นต้น บริเวณลำห้วยลำธารต่างๆ เช่น ห้วยน้ำเย็น ห้วยโสมง ห้วยพลับพลึง พบปลาชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลาสร้อยนกเขา ปลาชะโอน ปลาค้อ ปลากดเหลือง ปลาดัก ปลาแค้ขี้หมู ปลาดุก ปลาก้าง และปลากระทิงดำ เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยว

ด้านธรรมชาติที่สวยงาม

- จุดชมวิว กม.25

ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 25 กิโลเมตร ลักษณะเป็นหุบเขากว้างทิวทัศน์สวยงาม เหมาะสำหรับชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็น

- ทุ่งหญ้าบุตาปอด

เป็นทุ่งหญ้ากว้างลักษณะคล้ายกับทุ่งหญ้ามอสิงโตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นหมู่บ้านเก่า ต่อมาเมื่อมีการอพยพชาวบ้านออกไป จึงกลายเป็นทุ่งหญ้ารกร้าง และมีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัยหากินจำนวนมาก ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำหอดูสัตว์ไว้ด้วย มีทางเดินเข้าไปได้ 2 ทาง จากถนนภายในอุทยานแห่งชาติตรงกิโลเมตรที่ 3.5 และกิโลเมตรที่ 6 ทั้งสองทางใช้ระยะทางเท่ากัน คือ 2 กิโลเมตร จึงจะถึงทุ่งหญ้าบุตาปอด

- น้ำตกแควมะค่า

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติถึงหลักกิโลเมตรที่ 40 เดินเท้าต่ออีก 6 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในผืนป่าปางสีดา สายน้ำไหลตกลงมาตามลานผาหินสูงประมาณ 50 เมตร ในบริเวณใกล้กันมีน้ำตกรากไทรย้อย น้ำตกลานหินใหญ่ น้ำตกสวนหมั่นสวนทอง และน้ำตกม่านธารา

- น้ำตกทับเทวา

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 6 กิโลเมตร เดินเท้าเข้าไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร

- น้ำตกท่ากะบาก

อยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำท่ากะบาก ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 5 กิโลเมตร

- น้ำตกธารพลับพลึง

อยู่ห่างจากน้ำตกถ้ำค้างคาวประมาณ 500 เมตร

- น้ำตกปางสีดา

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 800 เมตร ไหลตกลงมาจากผาหิน 3 ชั้น สูงประมาณ 10 เมตร ช่วงฤดูฝนสายน้ำจะไหลแผ่เต็มลานน้ำตก งดงามมาก เบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำและลานหินกว้าง บรรยากาศร่มรื่นเหมาะสมสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ

- น้ำตกผาตะเคียน

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 2.4 กิโลเมตร สามารถเดินทางเท้าได้ 2 ทาง เหมาะสำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ น้ำตกไหลตกลงมาจากหน้าผาสูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ช่วงหน้าฝนสายน้ำไหลตกลงมาอย่างรุนแรงจนเกิดเสียงดังกึกก้องและละอองน้ำฟุ้ง กระจายไปทั่ว แต่ช่วงหน้าแล้งมีน้ำน้อยมาก น้ำตกผาตะเคียนเกิดจากลำธารสายเดียวกับน้ำตกปางสีดา โดยอยู่ขึ้นไปทางต้นน้ำ

- น้ำตกม่านธารา

อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 40 กิโลเมตร การเดินทางยังไม่สะดวก ต้องค้างแรมในป่าทึบ

- น้ำตกลานแก้ว

น้ำตกลานแก้ว เป็นน้ำตกที่สวยงามด้วยสายน้ำที่ไหลตกกระแทกกับแผ่นหินเบื้องล่าง จนน้ำแตกกระเซ็นไปทั่วราวกับเกล็ดแก้ว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติถึงหลักกิโลเมตรที่ 22 เดินเท้าต่ออีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนถึงน้ำตกลานแก้วจะผ่านน้ำตกถ้ำค้างคาว ที่เป็นสายน้ำไหลตกลงมาเป็นทางยาวลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง บริเวณใต้ผาน้ำตกเป็นถิ่นอาศัยของฝูงค้างคาว

- น้ำตกหน้าผาใหญ่

อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 2.4 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางขึ้นสู่หน้าผาใหญ่ร่มรื่นด้วยแมกไม้หนาทึบ อยู่ในลำธารสายเดียวกับน้ำตกปางสีดา ตกลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร กว้าง 20 เมตร ความรุนแรงของสายน้ำทำให้เกิดเสียงดังก้องและละอองน้ำฟุ้งกระจายทั่วบริเวณ ของสองข้างลำธาร

- ภูเขาเจดีย์

ลักษณะเป็นการรวมตัวของกลุ่มก้อนหิน มีรอยแตกคล้ายกับภูหินร่องกล้า สูงประมาณ 4 เมตร มีเส้นรอบวงประมาณ 25 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 40 กิโลเมตร

ด้านศึกษาธรรมชาติ

- เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกทับซุง

เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกทับซุง เป็นเส้นทางเดินเท้าห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ขึ้นไปตามเส้นทางสายความมั่นคงประมาณ 22 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางมีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เหมาะกับการเดินทางเพื่อศึกษาธรรมชาติ และปลายทางมีน้ำทับซุงสวยงามลดหลั่นเป็นชั้นๆ 2-3 ชั้น

- เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาตะเคียน

เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาตะเคียน เส้นทางแรกใช้เส้นทางน้ำตกปางสีดาแล้วเดินตามทางเลียบลำน้ำมาจนถึงตกผา ตะเคียน เส้นทางที่สองโดยทางเดินทางโดยรถยนต์มาถึงทางเข้าน้ำตกผาตะเคียนบริเวณบ้าน พักรับรอง (บ้านทับสีดา และบ้านสร้อยสีดา) แล้วเดินตามทางเท้า ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร โดยมีป้ายบอกระยะทางทุก ๆ 300 เมตร โดยระหว่างทางจะมีป้ายบอกชื่อพันธุ์ไม้ต่างๆ เพื่อเป็นความรู้ทางธรรมชาติวิทยา เส้นทางนี้จึงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เหมาะแก่การเป็นเส้นทางเดินศึกษา ธรรมชาติ

- เส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งกระทิง

เส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งกระทิง เป็นเส้นทางเดินเข้าไปที่ทุ่งหญ้าโป่งกระทิง ซึ่งมีแหล่งดินโป่งที่สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ใช้เป็นอาหารเสริมโดยเฉพาะกระทิง

ที่ตั้งและการเดินทาง

สถานที่ติดต่อ

อุทยานแห่งชาติปางสีดา
ตู้ ปณ.55 อ. เมืองสระแก้ว จ. สระแก้ว 27000
โทรศัพท์ 0 3755 6500 (VoIP), 0 3724 3775 โทรสาร 0 3724 3774 อีเมล pangsida@live.com

การเดินทาง

รถยนต์ : สายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ จากสถานีขนส่งหมอชิต ถึงตัวเมืองสระแก้ว ระยะทาง 256 กิโลเมตร จากนั้นนั่งรถจากอำเภอสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยสารรถประจำทางไปตามถนนเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) สายสระแก้ว-บ้านคลองน้ำเขียว ตามทางหลวงหมายเลข 3462 ระยะทาง 27 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

รถไฟ : สายตะวันออก กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เที่ยวแรกออกเวลา 06.00 น. เที่ยวสองออก 13.00 น. ถึงสถานีรถไฟสระแก้ว แล้วนั่งรถโดยสารจากอำเภอสระแก้วถึงที่ทำการอุทยานฯ ดังข้างบน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook