ประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์จ.ตรัง ปี 53

ประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์จ.ตรัง ปี 53

ประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์จ.ตรัง ปี 53
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดตรัง จัดงานประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์จังหวัดตรัง ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 24-28 ตุลาคม 2553 ณ ลานเรือพระ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดตรังร่วมแรงร่วมใจกันจัดประดับตกแต่งเรือพระอย่างสวยงาม และพร้อมใจกันลากเรือพระในนามของวัดเข้าร่วมงานประเพณี ณ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง และมีกิจกรรมอีกมากมายให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส อาทิ

- สัมผัสความสวยงามทั้งในบรรยากาศกลางวันและยามค่ำคืนของเรือพระกว่า 60 เรือพระ
- ร่วมลากพระ และ ทำบุญเรือพระ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและสะสมบุญ
- ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ การแสดงดนตรี ของนักเรียนนักศึกษา การแสดงมหรสพ
- เลือกซื้อสินค้า OTOP และ ของดีของฝากเมืองตรัง
- เชียร์การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน กว่า 10 ชนิด เช่น ซัดต้ม กินต้ม เตะปี๊บไกล วิ่งกระสอบชาย-หญิง วิ่งสามขา ชักเย่อ ขูดมะพร้าว

งานประเพณี "ลากพระ งานชักพระ หรืองานแห่พระ" เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ ที่สืบทอดมายาวนานแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดตรังนั้น ในปีหนึ่งๆ จะจัดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งจะเป็นการลากพระบก นิยมจัดกันตามชุมชนตรังนาหรือบริเวณท้องทุ่งกว้างๆ ใกล้วัด สำหรับประเพณีลากพระครั้งที่ 2 ของจังหวัดตรัง จะจัดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งมีการเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่า เนื่องจากวันนี้ จะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จกลับสู่มนุษย์โลกทางบันไดทิพย์ ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปมาแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ จนสืบทอดมาเป็นประเพณีลากพระในท้องถิ่นทางภาคใต้ สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับการลากพระก็คือ การทำต้ม หรือการนำข้าวเหนียวที่ผัดด้วยกะทิมาห่อด้วยใบพ้อ ซึ่งเป็นใบไม้ที่มีเฉพาะทางภาคใต้ จากนั้นจะทำเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนึ่งให้สุกนำมาผูกรวมเป็นพวง พวงละ 3-5 ลูก เพื่อเอามาไว้ใส่บาตร และใช้ประดับเรือพระ หรือเป็นอาหารระหว่างการละเล่นในประเพณีลากพระ ทั้งนี้ การลากพระ จะมีการอาราธนาพระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ หรือปางอุ้มบาตร ขึ้นมาประดิษฐานบนบุษบก หรือเรือพระ ที่แต่ละวัดก็จะหาช่างฝีมือที่มีความชำนาญ ช่วยกันตกแต่งให้สวยงาม เพื่อนำเข้าร่วมประกวดแข่งขัน ปัจจุบันเรือพระได้มีการดัดแปลงเป็นรถหรือล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกในการชักลากมาตามถนนหนทาง แล้วนิมนต์พระภิกษุในวัดนั้นๆ ขึ้นนั่งประจำเรือพระ จากนั้นก็จะมีการลากพระเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ชาวพุทธได้ออกมาร่วมกันทำบุญและถวายต้ม โดยจะมีพุทธศาสนิกชนและศิษย์วัดเดินตามมาด้วย พร้อมกับบรรเลงเครื่องดนตรี ประโคมไปตลอดทาง มีทั้งทับโพน กลอง ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง และฉาบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook