อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คำขวัญประจำจังหวัด
เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน
ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์

"เมืองดอกบัวงาม"

ดอกบัวนอกจากจะเป็นดอกไม้ประจำ จ. อุบลราชธานีแล้ว ยังมีความเกี่ยวโยงกับชื่อบ้านนามเมืองด้วย

ปี  พ.ศ. 2311 เกิดความขัดแย้งในราชสำนักเวียงจันทน์ ระหว่างพระวอ พระตา กับเจ้าสิริบุญสารผู้ครองนครเวียงจันทน์  พระวอและพระตาจึงชักชวนชาวบ้านบางส่วนมาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่บริเวณหนองบัว ลุ่มภู (ปัจจุบันคือ จ. หนองบัวลำภู) และตั้งชื่อเมืองว่า "นครเขื่อนขันฑ์ กาบแก้วบัวบาน" แต่เจ้าสิริบุญสารยังตามมารุกรานอยู่เสมอ จึงย้ายมาตั้ง เมืองใหม่อีกคราที่ดอนมดแดง ริมแม่น้ำมูน เพื่อพึ่งอำนาจของผู้ครองนครจำปาสัก ก่อนจะเข้ามาสวามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

กระทั่งช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท้าวคำผง โอรสของพระตาได้ย้ายเมืองมาตั้งในบริเวณที่เรียกว่า ดงอู่ผึ้ง ฝั่งซ้ายของ แม่น้ำมูน ซึ่งก็คือที่ตั้ง จ. อุบลราชธานีในปัจจุบัน  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลกพระราชทานนามเมืองว่า "อุบลราชธานีศรีวนาลัย" และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำผงครองเมือง โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นพระประทุมวรราช สุริยวงศ์  นามเมืองและนามเจ้าเมืองล้วนมีความหมายถึงดอกบัว

อุบลราชธานี มีบัวสายเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด มีบัวหลวงปรากฏอยู่ในดวงตราประจำจังหวัด   ปัจจุบันที่ตั้งเมืองเดิมไม่ปรากฏแหล่งบัวแล้ว ทว่าแหล่งบัวขนาดใหญ่ทั้งตาม ธรรมชาติและที่ชาวบ้านปลูกอยู่ที่บ้านปากน้ำ ต. กุดลาด  อ. เมืองอุบลราชธานี


"แม่น้ำสองสี"

แม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูนไหลมาสบกันที่ จ. อุบลราชธานี  สายน้ำสองสายมีสีแตกต่างกัน ดังที่คนท้องถิ่นกล่าว "โขงสีปูน มูนสีคราม"

แม่ น้ำโขงไหลผ่าน อ. เขมราฐ อ. นาตาล อ. โพธิ์ไทร และ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี โดยไหลจากขุนเขาสูงชันเป็นระยะทางยาวไกล กระแส น้ำจึงเชี่ยวกรากและกัดเซาะหน้าดินกรวดหินมาด้วย สายน้ำโขงจึงมีสีขุ่นโคลนที่บางคนบอกว่าคล้ายสีปูน  ส่วนแม่น้ำมูนไหลผ่าน อุบลราชธานีที่ อ. วารินชำราบ อ. พิบูลมังสาหาร อ. สิรินธร และ อ. โขงเจียม  เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ เต็มไปด้วยแก่งหิน ซึ่งเป็นเหมือนฝาย ชะลอความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำ สายน้ำมูนจึงใส มองเห็นเป็นสีคราม

เมื่อ แม่น้ำโขงและแม่น้ำมูนไหลมาสบกันบริเวณดอนด่านปากมูน หลังวัดโขงเจียม อ. โขงเจียม จึงเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "แม่น้ำ สองสี" ช่วงที่เห็นความแตกต่างชัดเจนคือเดือน ธ.ค.-ก.พ. อันเป็นช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำทั้งสองสายลดต่ำลง


"มีปลาแซบหลาย  หาดทรายแก่งหิน"

แก่งหิน หาดทราย ฝูงปลา ล้วนเป็นสิ่งสร้างชื่อเสียงให้ จ. อุบลราชธานีเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ

แม่ น้ำโขงและแม่น้ำมูนเป็นแหล่งปลาน้ำจืดรสชาติดี  บริเวณริมฝั่งมีหาดทราย  เช่นหาดทรายวัดใต้ และชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ส่วนกลางลำน้ำมี เกาะแก่งที่บางแห่งมีความงามเลื่องชื่อ เช่น แก่งตะนะ ที่ อ. โขงเจียม แก่งสะพือ ที่ อ. พิบูลมังสาหาร ในลำน้ำมูน  สามพันโบก ที่ อ. โพธิ์ไทร ในลำน้ำโขง เป็นต้น

แก่งหิน หาดทราย ฝูง ปลา มีความเกี่ยวโยงเป็นระบบนิเวศที่น่าสนใจ ดังเช่นที่ อ. เขมราฐ และ อ.  โขงเจียม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลาแซบหลายนั้น เป็นบริเวณที่พบปลาน้ำจืด หลายชนิดในปริมาณมาก พื้นที่จะสมบูรณ์ด้วยป่าบุ่งป่าทามที่เป็นทั้งแหล่ง อาหารของปลาและที่วางไข่  นอกจากนี้ในลำน้ำยังเต็มไปด้วยเกาะแก่ง รวมถึงโบก  (หลุมลึกบนพื้นผิวหินที่เกิดจากกระแสน้ำกัดกร่อน) ซึ่งเป็นที่อาศัยวางไข่ ของปลาบางชนิด


"ถิ่นไทยนักปราชญ์"

คนอีสานมีคำกล่าวว่า "ถ้าอยากเป็นนักมวยให้ไปโคราช หากอยากเป็นนักปราชญ์ให้มาอุบลฯ"

คำกล่าวนี้มิได้เกินจริง เพราะเมืองอุบลเต็มไปด้วยนักปราชญ์ทั้งทางโลกและทางธรรม

ครู สลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงลูกทุ่งอัจฉริยะ  หมอลำคูณและหมอลำจอมศรี ครูเพลง หมอลำที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  หมอลำฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติปี 2536  อุส่าห์ จันทรวิจิต และ ประดับ ก้อนแก้ว ศิลปินช่างเทียนผู้ทำให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็น ที่รู้จัก  ดร. บำเพ็ญ ณ อุบล  ปรีชา พิณทอง ปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ ภาษา และวรรณกรรมท้องถิ่น  บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นชาวอุบลราชธานี

ส่วนทาง ธรรมนั้น ในยุคสร้างบ้านแปงเมือง ชาวพุทธทั้งชาวไทยและชาวลาวล้วนเคารพ ศรัทธาสำเร็จลุน พระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน  ในปัจจุบันพระอาจารย์ทั้งพระ อาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์ชา สุภัทโท ต่างมีนิวาสสถานเดิมอยู่ใน จ. อุบลราชธานี


“ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา”

"หลอม เทียน หลอมบุญ หลอมใจ" เป็นกุศโลบายที่หลอมรวมชาวอุบลราชธานีเพื่อช่วยกัน สืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ในอดีตชาว บ้านจะนำเทียนมาหลอมรวมกันเป็นเทียนเล่มใหญ่ตกแต่งด้วยกระดาษสีและเชือกนำไป ถวายวัด  ล่วงถึง พ.ศ. 2444 พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิ ประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ ทรงริเริ่มให้นำเทียนพรรษาของแต่ละวัดมาแห่ ประกวดกัน จนกลายเป็นขนบปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน

เทียนพรรษาเมืองอุบล มี 3 ลักษณะ คือ เทียนติดลายแบบดั้งเดิม เทียนลายดอก และเทียนแกะสลัก   เมื่อถึงช่วงออกพรรษา ชาวอุบลจะนำรถแห่เทียนพรรษาที่ตกแต่งอย่างสวยงามมา ประกวดกันบริเวณทุ่งศรีเมืองใน อ. เมือง

นอกจากนี้ศิลปกรรมอันเกี่ยว เนื่องกับศาสนาที่ปรากฏใน จ. อุบลราชธานี ดังเช่น จิตรกรรมฝาผนังในหอพระบาทและหอไตรที่วัดทุ่งศรีเมือง ธรรมาสน์สิงห์เทิน บุษบกที่วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ รางสรงน้ำทรงแกะสลักเป็นรูปพญานาค  กากะเยียหรือรางโค้งสำหรับรองรับใบลานเวลาพระสงฆ์เทศนา ที่จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ล้วนเป็นสิ่งยืนยันถึงความศรัทธาในพระ พุทธศาสนาของชาวอุบล


"ผาแต้มก่อนประวัติศาสาตร์"

ภาพเขียนสีบนผนังผาแต้มมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปี

ผา แต้มเป็นส่วนหนึ่งของเขาทาม ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มที่ อ. โขงเจียม มี ลักษณะเป็นเพิงผาสูง มีไหล่เขาเป็นทางเดินไปตามเพิงผายาวเหยียด จากเพิงผา มองเห็นลำน้ำโขงไหลคดเคี้ยวอยู่เบื้องล่างท่ามกลางป่าเขียวขจี  อ. ศรีศักร  วัลลิโภดม นักโบราณคดี สันนิษฐานว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมเลือกผาแต้มเป็นสถานที่ ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เช่นการขอฝนจากสิ่งเหนือธรรมชาติ จึงมีการ เขียนภาพสีรูปลักษณ์ต่างๆ จำนวนมากไว้บนผนังผา เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ภาพ เขียนสีที่ผาแต้มเขียนไปตามแนวยาวของผนังเป็นระยะทางเกือบ 1 กม. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม  กลุ่ม 1-ผาขาม เป็นภาพปลาขนาดใหญ่ ช้าง และโครงร่างของสัตว์สี่ เท้าที่พร่าเลือนไปมากแล้ว  กลุ่ม 2-ผาแต้ม เป็นภาพช้าง ปลาบึก ฝ่ามือ และ ภาพคล้ายเครื่องมือหาปลาที่เรียกว่าตุ้ม  กลุ่ม 3-ผาหมอนน้อย เป็นภาพการ เพาะปลูกและรูปเรขาคณิต  กลุ่ม 4-ผาหมอน เป็นภาพคล้ายคนนุ่งกระโปรงบานเท้าเอวและภาพการล่าสัตว์

 

ภาพประกอบจาก : www.photos.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook