รวมพลคนปีขาล

รวมพลคนปีขาล

รวมพลคนปีขาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวแพร่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว เชิญร่วมงาน “รวมพลคนปีขาล” จ.แพร่ ตลอดปี 2553




     จังหวัดแพร่ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน กำหนดจัดกิจกรรม “งานรวมพลคนปีขาล” ตลอดปี 2553  ดดยได้กำหนดให้ปี 2553 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวแพร่ 

 

    

     มีกิจกรรมการทองเที่ยวที่น่าสนใจตลอดทั้งปี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนักษัตรปีขาล(เสือ) โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้ประกอบการ ส่วนราชการ และภาคประชาชน เชิญชวนคนเกิดปีขาลและปีอื่นๆ เดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดแพร่ เพื่อสักการะพระธาตุช่อแฮ  ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาล ทั้งนี้เพื่อความเป้นสิริมงคล พร้อมรับสิทธิพิเศษต่างๆ ในการใช้บริการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ รับวัตถุมงคลที่ระลึก และร่วมลุ้นรับโชคต่างๆ มากมายตลอดทั้งปี 2553

 

      


   
     นายสมชัย  หทยตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า  การจัดงาน “รวมพลคนปีขาล” ปี 2553 ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย เริ่มด้วยการจัดงานกาชาดแป้ โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2552 – 3 มกราคม 2553  ณ สนามหลังสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดแพร่  พบกับกิจกรรมออกร้าน  มหกรรมอาหาร การแสดงดนตรีจากศิลปินต่างๆ กิจกรรมรับประทานขนมจีนฟรี  ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความอบอุ่นไมตรีจากการต้อนรับของชาวเมืองแพร่

 

 

 

 

 

   

    นอกจากนี้วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ได้จัดงานต้อนรับปีใหม่เชิญผู้เกิดปีขาล และปีอื่นๆ ได้มาไหว้พระธาตุประจำปีเกิด มาสักการะพระธาตุช่อแฮซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระเกศาธาตุ และพระข้อศอกซ้าย เพื่อความเป็นสิริมงคลเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย

 


 จังหวัดแพร่

หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้น้ำใจงาม

     เมืองแพร่ สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ คือ “พลนคร เมืองพล เมืองแพล” ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ.1470-1560 พระนางจามเทวีเข้าครอบครองแคว้นล้านนา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โกศัยนคร” หรือ “เวียงโกศัย” ซึ่งแปลว่า ผ้าแพร นับแต่นั้นมาก็มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมาโดยตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ (เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ 18) เป็นเจ้าหลวงกำกับด้วยข้าหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้โปรดเกล้าฯให้พระยาไชยบูรณ์ข้าหลวงคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2445 พวกเงี้ยวได้ก่อการกบฏขึ้น โดยยึดสถานีตำรวจ ศาลากลางจังหวัด ปล้นเงินคลัง และปล่อยนักโทษออกจากคุก พระยาไชยบูรณ์ถูกพวกเงี้ยว จับตัวและบังคับให้ยกเมืองให้ แต่พระยาไชยบูรณ์ไม่ยินยอมจึงถูกจับประหารชีวิต เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงเข้าปราบปรามพวกเงี้ยวจนราบคาบ เจ้าพิริยะชัยเทพวงศ์ เกรงพระราชอาญาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและถึงแก่พิราลัยลงในปี พ.ศ.2452 นับแต่นั้นมาก็ไม่มีเจ้าผู้ครองนครแพร่อีกเลย

สถานที่น่าสนใจ 
อำเภอเมือง

     ตัวเมืองแพร่นั้นมีขนาดเล็กทำให้วัดวาอารามและแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งไม่ห่างไกลกันมากนัก ถนนสายใหญ่มีไม่มาก ฉะนั้นผู้ที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานไม่ควรพลาดที่จะมาท่องเที่ยวเมืองนี้
 วัดพระธาตุช่อแฮ  ตำบลช่อแฮ ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ 9 กิโลเมตร (เส้นทางหลวงหมายเลข 1022) เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) โดยขุนลัวะอ้ายก๊อม พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดี ทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ  บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี โทร. 054-599209, 054-599073

ประวัติวัดพระธาตุช่อแฮ
    
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 8 กิโลเมตร ในบริเวณวัดเป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ เป็นหนึ่งใน พระธาตุประจำปีเกิดสิบสองราศี  คือพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ)  องค์พระธาตุช่อแฮ  มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ  11 เมตร ศิลปะแบบเชียงแสน

      ตามหนังสือตำนานพระเจ้าเลียบโลก  กล่าวว่าสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะแห่งนี้ และได้มอบพระเกศาให้กับ ขุนลั๊วะอ้ายก้อม ขุนลั๊วะอ้ายก้อม ได้นำพระเกศาบรรจุไว้ในผอบ แล้วนำไปประดิษฐานในถ้ำด้านทิศตะวันออกของดอยโกสิยะ พร้อมกับนำสิ่งของมีค่าบรรจุไว้ในถ้ำเพื่อบูชาพระเกศาธาตุ พระอินทร์ได้เนรมิตยนต์จักรผัดรักษาพระเกศาธาตุ แล้วใช้หินสามก้อน ก้อนหนึ่งมีขนาดใหญ่ 30 กำปิดปากถ้ำไว้  พระพุทธองค์ ทรงมีพระดำรัสว่า หลังจากที่ทรงปรินิพพานแล้ว ให้นำพระธาตุส่วนกระดูกข้อศอกซ้ายมาประดิษฐาน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

     ตามหนังสือประชุมตำนานพระธาตุ ภาค 1 กล่าวถึงการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระกระดูกข้อศอกซ้ายไว้ว่า มีพระอรหันต์ 7 องค์ เทวดา พร้อมด้วย เจ้าเมือง 5 พระองค์ ประกอบด้วย เจ้าเมืองละหึ่ง เจ้าเมืองละกอน เจ้าเมืองเวือง เจ้าเมืองกวางนอน และเจ้าเมืองวา ได้ให้คนขุดดินลงไปลึก 15 วา นำอิฐเงิน ก่อเป็นฐานได้ 12 ศอก (3วา) ต่อด้วยการก่ออิฐทอง 12 ศอก (3วา) แล้วสร้างแท่นทองคำ ประดับด้วยแก้ว 7 จำพวก สูง 7 ศอก พร้อมทั้งสร้างสิงห์ทองคำ 1 ตัว สูง 7 ศอก ตั้งบนแท่นที่สร้างไว้นั้น เสร็จแล้ว จึงนำเอาผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระข้อศอกซ้ายบรรจุไว้ในท้องสิงห์ทองคำตัวนั้น แล้วก่อเป็นอุโมงค์ กว้าง 7 วา แล้วนำเอาอิฐทอง ก่อล้อมรอบสิงห์ทองคำ สูง12 ศอก และ อิฐ เงิน ก่อปิดบริเวณหลังสิงห์ทองคำ  12 ศอก ห่างจากหลังสิงห์ทองคำ 1 ศอก จากนั้นนำหิน ก่อทับขึ้นมาอีก 7 ศอก แล้วใช้ดินถมจนเสมอแผ่นดิน พร้อมทั้ง ปลูกต้นรัง 1 ต้น ตรงกับบริเวณ หลังสิงห์ทองคำที่ฝังอยู่ใต้ดิน  เมื่อเสร็จแล้ว ก็ทำการสักการะบูชา แล้วแยกย้ายกลับบ้านเมืองของตน พระบรมสารีริกธาตุ ได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่ ประชาชนอยู่เป็นเนืองนิตย์ เป็นที่เคารพสักการของเจ้าเมืองพลนคร และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และได้ทำการสักการะด้วยช่อแฮ (ธงที่ทำจากผ้าแพร) จนปรากฏเป็นชื่อ ดอยโกสิยธชคบรรพต จนกลายเป็นชื่อเมืองแพร ตามคำทำนายแห่งพระพุทธเจ้า

     ด้านประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย   ระหว่างจุลศักราช  586-588 (พ.ศ.1879-1881) ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท)  ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน  7 คืน จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุช่อแฮ”  (คำว่า “แฮ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “แพร” แปลว่า ผ้าแพร) และในปีพ.ศ.2467 ครูบาศรีวิชัย ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง

วนอุทยานแพะเมืองผี
    
ตำบลน้ำชำ บนทางหลวงหมายเลข 101 สายแพร่-น่าน ไปประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1134  ตรง กม. ที่ 9 เข้าไปอีก 6 กิโลเมตร  แพะเมืองผีมีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เกิดจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นดิน และหินทรายถูกกัดเซาะตามธรรมชาติเป็นรูปร่างลักษณะต่าง ๆ เช่น ดอกเห็ด หน้าผา ดูแล้วแปลกตา ชื่อ แพะเมืองผี น่าจะมาจากภาษาพื้นเมือง แพะ แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า เมืองผี แปลว่า เงียบเหงา วังเวงอาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัว  สถานที่แห่งนี้ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524  โทร. 054-511162 ต่อ 140

หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง
     ถนนยันตรกิจโกศล บนทางหลวงหมายเลข 101 สายแพร่-น่าน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตเสื้อม่อฮ่อมที่มีชื่อเสียงของประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 054-522458, 054-534308





อ.สอง


แก่งเสือเต้น
 
    อยู่หน้าที่ทำการอุทยานฯ เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ชื่อของแก่งเสือเต้นนี้มีความเป็นมาจากลักษณะธรรมชาติของหินก้อนหนึ่งในแก่งนี้ ซึ่งมีลักษณะรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ บริเวณแก่งเสือเต้นมีหาดทรายอยู่ทั่วไป เหมาะแก่การกางเต็นท์เพื่อสัมผัสธรรมชาติที่งดงาม โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง เสียค่าพื้นที่คนละ 50 บาท/คืน กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การล่องแก่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องนำอุปกรณ์การล่องแก่งมาเอง

 

 

 







อำเภอเด่นชัย


    วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี หมู่ 9 ตำบลเด่นชัย  ห่างจากอำเภอเด่นชัย 3 กิโลเมตร สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ พิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ สร้างด้วยไม้สักทอง จากบ้านเรือนเก่าทั้งหมด 14 หลัง เป็นรูปทรงล้านนา ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุมีค่าของหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้มากมาย เช่นพระพุทธรูปต่าง ๆ  เครื่องเขิน  เครื่องดนตรีล้านนา อาวุธโบราณ รูปภาพเจ้านายฝ่ายเหนือ และภาพเหตุการณ์ โทร. 054-613876 

 

 


 การเดินทาง
     รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่าน จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเข้าสู่ตัวจังหวัดแพร่ รวมระยะทาง ประมาณ 551 กิโลเมตร
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟจากกรุงเทพฯไป อำเภอเด่นชัยทุกวัน จากนั้นต้องต่อรถประจำทางเข้าตัวเมืองแพร่ ซึ่งอยู่ห่างจากเด่นชัยประมาณ 20 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2220 4334, 0 2220 4444 หรือ www.railway.co.th

     รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดา และปรับอากาศบริการ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีเดินรถสายเหนือ หมอชิต 2 โทร. 0 2936 2852–66  บริษัท ขนส่ง จำกัด จังหวัดแพร่ โทร. 0 5451 1276 หรือ  www.transport.co.th

     บริษัทเดินรถเอกชนที่วิ่งบริการไปจังหวัดแพร่ ได้แก่ บริษัท เชิดชัย ทัวร์ โทร. 0 2936 0199, บริษัท แพร่ ทัวร์ โทร. 0 2936 3720 สาขาแพร่ โทร. 0 5451 1392 และ บริษัท สมบัติ ทัวร์ โทร. 0 2936 2495-99  สาขาแพร่ โทร. 0 5451 1421
 จากตัวจังหวัดแพร่มีรถประจำทางไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงราย นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น นครพนม ระยอง เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีเดินรถโดยสารประจำทางจังหวัดแพร่ ถนนยันตรกิจโกศล โทร. 0 5451 1800


  

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ รวมพลคนปีขาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook