ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนจบ)

ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนจบ)

ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนจบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


ดูน้ำโตนจากตาด... ที่ตาดโตน

     น้ำตกตาดโตน อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติตาดโตน เรียกชื่อตามลักษณะของน้ำตกและภูมิประเทศรอบข้าง ด้านบนของน้ำตกเป็นลานหินกว้างซึ่งเรียกว่า “ตาด” ส่วน “โตน” คืออาการกระโดดหรือกระโจนทิ้งตัวลงมา ตาดโตนก็คือกระแสน้ำที่ไหลผ่านตาดแล้วโตนลงมาสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ตามภาษาถิ่นอีสาน สั้นๆ ซื่อๆ ไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก หรือหากมีผู้รู้ท่านใดสามารถขยายความได้มากกว่านี้ ก็บอกกล่าวเพิ่มเติมได้นะครับ

 
     ลานหินด้านบนน้ำตกกว้างประมาณ 50 เมตร ยาวไปตามลำน้ำประมาณ 300 เมตร ทำให้น้ำไหลลาดมาตามลานหิน มีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้เป็นจุดๆ สายน้ำจะไหลมาตกที่หน้าผามีความสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 50 เมตร ในฤดูกาลปกติที่สภาพอากาศไม่ผิดเพี้ยน ฝนไม่ทิ้งระยะ (ช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน) จะมีน้ำมากจนเต็มหน้าผา นักท่องเที่ยวนิยมลงไปเล่นเพราะน้ำไม่ลึก ส่วนในช่วงอื่นก็มีคนไปท่องเที่ยวไม่น้อยเช่นกัน

      อุทยานแห่งชาติตาดโตน  ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 23 ของประเทศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2523 ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศใต้ ครอบคลุมพื้นที่ ต.นาฝาย – นาเสียว – ห้วยต้อนและท่าหินโงม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยปะทาว ลำน้ำสำคัญของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีหล่อเลี้ยงชุมชุนภาคอีสานอีกหลายจังหวัด

 
      เนื่องจากน้ำตกตาดโตนเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ห่างจากชุมชนมากนัก ประกอบกับทางอุทยานฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบๆ น้ำตก รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ ตามแนวทางการจัดการน้ำตกเพื่อการท่องเที่ยวของกรมอุทยานฯ เช่น แบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็นเขตพักผ่อน เขตธรรมชาติ เขตบริการรวม ฯลฯ อย่างชัดเจน จัดทำป้ายเตือน พร้อมระบบเตือนภัย กู้ภัย ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณน้ำตก เป็นต้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวพากันไปเที่ยวพักผ่อน เล่นน้ำตกกันอยู่ไม่ได้ขาด ซึ่งทางอุทยานฯ มีข้อแนะนำในการไปเที่ยวน้ำตกมาให้เล็กน้อย

      - ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างเที่ยวน้ำตก เพราะนอกจากจะทำให้มึนเมาเสี่ยงต่อการจมน้ำ หรือพลัดตกจากน้ำตกแล้ว บางครั้งเศษแก้วเศษขวดที่ทำแตกไว้ยังเป็นอันตรายต่อผู้อื่นและธรรมชาติอีกด้วย
      - ควรเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น ด้วยการไม่ส่งเสียง หรือกระทำการอันอาจจะรบกวนต่อผู้อื่นและธรรมชาติ
      - ไม่ทิ้งขยะในทุกๆ บริเวณ ไม่ว่าจะเป็นหุบเหว ซอกหิน ในสายน้ำ และทุกหนแห่ง ยกเว้นที่ทิ้งขยะที่ได้จัดไว้ให้เท่านั้น
      - ช่วยกันเก็บขยะออกจากแหล่งธรรมชาติ เป็นการตอบแทนให้กับธรรมชาติ เพื่อให้แหล่งธรรมชาติงดงามน่าชมตลอดไป
      - ปฏิบัติตามกฎระเบียบของแหล่งธรรมชาตินั้นๆ เช่น กฎระเบียบอุทยานแห่งชาติ หรือกฎข้อบังคับของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น
      - ควรให้การเดินทางเข้าไปสัมผัสธรรมชาติของท่านเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่าที่สุด ฯลฯ

 

      นอกจากน้ำตกตาดโตน  ในพื้นที่ของอุทยานฯ ยังมีสถานที่และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอีกเช่น ศาลปู่ด้วง – ย่าดี ตั้งอยู่ใกล้ๆ บริเวณน้ำตกตาดโตน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวชัยภูมิให้ความเคารพศรัทธา กราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล, จุดชมวิวภูโค้ง, น้ำตกตาดฟ้า, น้ำตกผาเอียง, น้ำตกตาดบง, น้ำตกผาสองชั้น ฯลฯ

      จากน้ำตกตาดโตน พวกผมได้มีโอกาสเดินทางไปที่น้ำตกตาดฟ้า ห่างออกไปราว 19 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายแก่งหินขวางลำน้ำ บริเวณน้ำตกเป็นลานหินลาดชัน กว้างประมาณ 15 - 20 เมตร ยาวโดยตลอดประมาณ 80 - 90 เมตร มีความลาดชันประมาณ 30 องศา ในฤดูฝนผู้ที่เข้าไปเที่ยวน้ำตก สามารถที่จะเล่นลื่นไหลไปตามแผ่นหินได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน จนได้ชื่อเรียกว่า “สไลด์เดอร์ธรรมชาติ”

      ผมเคยใช้เส้นทางน้ำตกตาดฟ้าเดินขึ้นไปยังภูโค้ง ครั้งนั้นเป็นช่วงหน้าแล้ง ลานน้ำตกที่ลาดเอียงไม่ต่างอะไรกับทางเดินขึ้นเขา ที่เทคอนกรีตไว้อย่างดี เหยียบย่ำไปทางไหนก็มีเสียงกรอบแกรบของใบไม้แห้ง ซึ่งหล่นร่วงปกคลุมทั่วพื้นที่ มีแอ่งเล็กๆ สองสามแอ่ง ที่มีน้ำเปียกอยู่ก้นแอ่ง ต้องเรียกอย่างนั้นจริงๆ เพราะน้ำแห้งเกือบหมดแต่หินยังเปียกอยู่นั่นเอง  ครั้งนี้เป็นช่วงฝนหวังว่าคงได้เห็นน้ำตกเต็มตา แต่ก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง น้ำไม่มากอย่างที่คิด เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บอกกับเราว่า ฝนทิ้งช่วงหลายวันแล้ว น้ำจึงไม่ค่อยมี

      “แต่สำหรับคนที่ไม่เคยมาเห็นในสภาพที่ผมเคยพบ ก็คงจะบอกว่าน้ำไม่มีเลย”

      ยืนจินตนาการกันอยู่สักพัก สายตาสาวใหญ่วัยทองในกลุ่ม พลันเหลือบไปเห็นไอ้หนุ่มน้อยคนหนึ่ง กำลังเล่นสไลด์เดอร์ลงมาจากด้านบนให้ชมเป็นบุญตา ด้วยลีลาขั้นเทพ มีนอนหมุนตัวติ้วๆ ลงมาอีกต่างหาก ถามไถ่ได้ความว่า บ้านอยู่ไม่ไกลเลยได้มาเล่นอยู่บ่อยๆ จึงถูกพวกเราร้องขอให้สไลด์ไถก้นลงมาด้วยท่าพื้นฐานธรรมดาอยู่หลายเที่ยว กว่าจะเป็นที่พึงพอใจของท่านผู้ชม สันนิษฐานว่าก้นกบคงระบมอยู่ไม่น้อย พวกเราเปิดหมวกจึงเรี่ยไรเงินค่าขนมกับยาแก้อักเสบ เป็นรางวัลในความสามารถให้นิดหน่อย แต่ก็ได้ไปหลายร้อย

      น้ำตกตาดฟ้า อยู่ทางทิศตะวันออกของเขตอุทยาน ฯ ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 23 กิโลเมตร ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ประมาณ 19 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงบ้านไทรงามแล้ว แยกซ้ายมือไปตามถนนลาดยางถึงบ้านนาวัง แยกขวามือบริเวณโรงเรียนบ้านนาวังเข้าไปเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร ถึงบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ตน.3 (ตาดฟ้า) ปัจจุบันเปิดให้บริการบ้านพัก 4 หลัง สถานที่กางเต็นท์ ห้องประชุม และร้านอาหาร เป็นต้น

      คนชัยภูมิถือว่าโชคดี มีสถานที่พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่ห่างจากเมืองมากนัก ผมเคยมาถึงที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน แต่นั่นก็ล่วงมากว่าสิบปีเห็นจะได้ แม้ความทรงจำจะขาดหายไปบ้าง แต่เมื่อได้กลับมาอีกครั้ง ก็ยังรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดตา อุทยานแห่งชาติทุกแห่งก็ดูจะเป็นเหมือนกัน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น เราคนไทยพากันไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติกันเถอะครับ เพราะนอกจากจะเป็นที่พักผ่อนชมธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ดีเยี่ยม  เข้าไปดูรายระเอียดต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศโดยตรงได้ที่  www.dnp.go.th

     การเดินทาง จากกรุงเทพมหานคร ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1(พหลโยธิน) แยกขวาเข้า ถ.มิตรภาพที่จังหวัดสระบุรี แยกซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 201 บริเวณทางต่างระดับสีคิ้ว ผ่านอำเภอสีคิ้ว อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เข้าสู่อำเภอจัตุรัส ถึง จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทาง 330 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2051 (ชัยภูมิ - น้ำตกตาดโตน) ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งหมอชิต (สายกรุงเทพ ฯ – จังหวัดชัยภูมิ) ระยะทางประมาณ 330 กิโลเมตร แล้วต่อรถโดยสาร สายชัยภูมิ - ท่าหินโงม ลงรถที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติตาดโตน แล้วเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

“ผาหำหด” ในวันที่ดอกกระเจียวเริ่มเหี่ยว
“เสียวมั๊ยพี่”
      ผมถูกถามหลังจากผ่านความเสียวที่ตนเองเป็นฝ่ายเลือก บริเวณชะง่อนหินริมผา ซึ่งถูกตั้งชื่อสื่อถึงความหวาดเสียวได้โดยไม่ต้องจินตนาการว่า “ผาหำหด” แม้ด้านล่างจะเป็นห้วงรักเหวลึก หากตกลงไปเรียกเจ้าหน้าที่ เข้าเก็บกู้และห่อกลับบ้านกันได้เลย แต่ทิวทัศน์ด้านหน้าซึ่งมองเห็นอำเภอภักดีชุมพลทั้งเมือง และแนวเทือกเขาพญาฝ่อ รอยต่อของจังหวัดชัยภูมิและเพชรบูรณ์ ช่วยลดทอนความขาดกลัวไปได้อยู่มากโข

“ ก็เสียวเอาการอยู่ ”
     ผมตอบไปอย่างนั้น แต่ไม่ต้องถามต่อนะว่า ทุกสิ่งยังอยู่ครบทุกกระเบียดนิ้วหรือเปล่า เพราะผมยังสุขสบายดี เพียงเกิดอาการเสียวชั่วขณะจิตเท่านั้นจริงๆ (ฮา) แต่สาวใหญ่วัยทองซึ่งไปนั่งด้วยเช่นกัน เธอพูดเพียงว่า “ถ้าไม่ก้มลงไปมอง ก็ไม่ค่อยเสียว”

     ผาหำหด เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยแนวสันเขาบริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า “แนวผาพ่อเมือง” เป็นแนวหน้าผาหินทรายยาวราว 3 กิโลเมตร บนสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตก มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 – 908 เมตร มีจุดชมวิวเด่นๆ อยู่ 4 จุดคือ ผาอาทิตย์อัสดง ผาสวนสวรรค์ ผาเพลินใจ และผาหำหด ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติไทรทอง ยังมีกิจกรรมปีนผาและโรยตัวลงหน้าผาในชื่อ “ประลองความกล้า ท้าความเสียว เที่ยวพิชิตหน้าผา” บริเวณนี้อีกด้วย

    

     ชื่อผาหำหด มีมาแต่ครั้งที่คุณมานิตย์ เพชรล้ำ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ขึ้นไปตรวจสภาพป่าบนเทือกเขาพังเหยด้านตะวันตก แล้วไปพบชะง่อนหินแห่งนี้เข้าโดยบังเอิญ จึงทดลองไปยืนชมวิวเล่นๆ เมื่อวินิจฉัยปฏิกิริยาอาการระหว่างยืน จึงเรียกชื่อนี้มาตั้งแต่บัดนั้น และเป็นจุดขายที่ผู้คนกล่าวถึงได้ไม่แพ้ดอกกระเจียวเลยทีเดียว อาจฟังดูน่าเกลียด และเป็นคำไม่สุภาพสำหรับใครหลายคน แต่มันก็เป็นภาษาพื้นเมืองถิ่นอีสานที่ใช้กันมาเนิ่นนาน... อย่าคิดมากกันเลย ถ้าจะเรียกให้ไพเราะเสนาะหูเป็น “ผาอวัยวะเพศชายหายเข้าไปยังจุดเริ่มต้นเป็นบางส่วน” มันก็ฟังดูเยิ่นเย้อกระไรอยู่นะครับ

    


    อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 77 ของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอหนองบัวระเหว – เทพสถิต – ภักดีชุมพล และหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ประมาณ 199,375 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงาน และอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ในช่วงต้นฤดูฝนนอกจากจะเขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แล้ว ที่นี่ยังมี “ดอกกระเจียว” ที่ผลิบานงดงามเต็มท้องทุ่ง ซึ่งมีทั้งหมด 5 ทุ่ง ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี ดอกกระเจียวเปรียบเสมือนดัชนีบอกฤดูกาล เพราะเมื่อใดที่ดอกกระเจียวเริ่มแทงดอกออกช่อ นั่นแสดงว่าฤดูฝนได้มาเยือนแล้ว






    
     กระเจียว, ปทุมมา หรือทิวลิปสยาม เป็นไม้หัวล้มลุก มีล้ำต้นใต้ดินแบบเหง้า อยู่ในสกุลขมิ้นของวงศ์ขิง ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 70 ชนิด โดยมีอยู่ในประเทศไทยราว 30 ชนิด พืชในสกุลนี้มีลำต้นเทียมซึ่งเกิดจากการอัดตัวกันของกาบใบ กระเจียวชนิดต่างๆ มักพักตัวอยู่ใต้ดินในฤดูหนาวและฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูฝนจึงเริ่มผลิใบและออกดอก บางพันธุ์มีดอกผุดขึ้นมาก่อนใบ ซึ่งประเภทนี้มักรับประทานได้ มากกว่าพันธุ์ที่ขึ้นพร้อมกันทั้งดอกและใบ กระเจียวป่าพันธุ์ดั้งเดิมแถบชัยภูมิ ส่วนใหญ่มีกลีบสีชมพูคล้ายกลีบบัวหลวง มีลายสีไล่เรียงกันตั้งแต่ชมพูเข้ม ชมพูอ่อนจนถึงสีขาว ปลายกลีบมักมีสีขาวอมน้ำตาลแต้มอยู่เป็นรอยขนาดใหญ่  กลีบดอกสีสวยนี้ความจริงคือ กลีบรองดอก ส่วนดอกจริงมีขนาดเล็กคล้ายดอกกล้วยไม้ โคนดอกเชื่อมต่อกันเป็นหลอด ดอกจะเกิดในกลีบรองดอกสีขาวช่วงล่างซึ่งเป็นรูปโค้งเป็นช่อง โดยธรรมชาติจะบานในช่วงเช้าและสลดเฉาในช่วงเย็น    

     ดอกกระเจียวภาพในบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรทอง จะเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บัวสวรรค์” ซึ่งกินไม่ได้ เอาแต่เท่ห์อย่างเดียว นอกจากนั้นยังมี “ดอกเทพอัปสร” กระเจียวสีขาวสะอาด ซึ่งมีขนาดดอกที่เล็ก ไม่ชูดอกให้เห็นชัดเท่าบัวสวรรค์สีชมพู จึงเป็นเหตุให้ดอกสีขาวไม่ค่อยโดดเด่น เป็นลูกนอกสมรสที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง โดยจะพบมากบริเวณทุ่งที่ 2

      ข้อแนะนำในการเดินชมทุ่งบัวสวรรค์ คือควรเดินตามเส้นทางที่ทางอุทยาน ฯ จัดไว้ให้ ไม่ควรเดินเข้าถ่ายภาพในท้องทุ่งแบบใกล้ชิดเกินเหตุ ประดุจดั่งว่าจะเปรียบเทียบความงามระหว่างใบหน้าของตนเองกับดอกกระเจียว ว่ากลีบตีนกาใครจะเยอะกว่ากัน เพราะจะไปเหยียบต้นและดอกจนได้รับความเสียหายได้  แต่ก็มีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ออกนอกลู่นอกทางเสมอ แม้จะมีเจ้าหน้าประจำอยู่ตามทุ่งทั้ง 5 แห่งแล้วก็ตาม


      ทุ่งบัวสวรรค์อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร ทางอุทยาน ฯ ร่วมกับชุมชมในพื้นที่ ได้จัดรถขับเคลื่อนสี่ล้อไว้บริการให้แก่นักท่องเที่ยว โดยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยาน ฯ

      
      อุทยานแห่งชาติไทรทอง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 70 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอหนองบัวระเหว ประมาณ 37 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 สายชัยภูมิ - นครสวรรค์ จะมีทางแยกขวามือเข้าไปน้ำตกไทรทองอีก 7 กิโลเมตร


      พวกเราไปถึงทุ่งบัวสวรรค์ในตอนท้ายฤดูกาล แต่ความงามสีชมพูและขาว ยังมีให้เห็นอยู่แม้จะไม่หนาแน่นเหมือนช่วงฝนแรก แต่ยังไงเสียคงมีโอกาสได้เห็นอีกเป็นแน่ เพราะเธอมาทุกหน้าฝนอยู่แล้วนี่นา ต้นไม้และดอกไม้ซึ่งอยู่ถูกที่ถูกทาง ดูเข้ากันได้ดีในบรรยากาศธรรมชาติแบบนี้  ไม่เหมือนในคอนโดฯ อันเป็นนิวาสถานที่ผมพักอาศัย ซึ่งปลูกต้นปีบไว้เป็นทิวแถวริมทางคอนกรีต เวลาดอกร่วง ใครจอดรถไว้ในรัศมีของการร่วงหล่น ... ก็ยินดีด้วย ดอกไหนที่โดนเหยียบจนแบน หากหลุดรอดสายตาและไม้กวาดทางมะพร้าวของพนักงานดูแลความสะอาดไปได้ ก็ไม่ต่างอะไรจากคางคกที่โดนรถทับจนซากแห้งแบนติดถนนอยู่อย่างนั้น... เวรกรรม

บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ

โดย ธนิสร หลักชัย

ขอขอบคุณอีกครั้ง
- งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  โทร. 1672 เว็บไซต์ :  www.tourismthailand.org 
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา
  โทร. 0 4421 3666, 0 4421 3030 เว็บไซต์ :  www.tourismthailand.org/nakhonratchasima

ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย

 

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook