ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนที่ 1)

ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนที่ 1)

ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนที่ 1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ไปชัยภูมิ ต้องไปดูดอกกระเจียวสิ”  ใครๆ มักพูดอย่างนี้เสมอ ดอกกระเจียวจึงเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงเมื่อพูดถึงเมืองนี้ แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องดอกกระเจียว(ซึ่งป่านนี้คงโรยไปหมดแล้ว) เราไปเที่ยวกันก่อนดีกว่า  


บ้านกุดโง้ง ... ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ อดีตของปัจจุบัน 
    บ้านกุดโง้ง ชุมชนเล็กๆ ที่ภูมิประเทศมีลักษณะคล้ายเกาะ เพราะถูกลำน้ำปะทาวรายล้อมบริเวณไว้ พื้นที่ราบส่วนใหญ่ใช้ทำนาเพาะปลูก ลักษณะคล้ายชุมชนในสมัยทวารวดี ซึ่งมักจะมีคูน้ำหรือใช้คูน้ำเป็นคันคูล้อมเมือง  มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีคือ “ใบเสมาหินทราย” ศิลปะทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 กระจายอยู่ทั่วบริเวณรอบหมู่บ้าน แต่เดิมใบเสมาเหล่านี้จะจมอยู่ในดินทั้งชิ้น หรือโผล่เฉพาะส่วนยอดพ้นดินขึ้นมาให้เห็น บางส่วนได้ขุดขึ้นมาเก็บรักษาไว้ บางส่วนก็ยังจมอยู่ในที่ดินและผืนนาของชาวบ้านในชุมชม


    “เห็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว” 
พี่สาวชาวนาคนหนึ่งบอก ระหว่างที่พวกเรากำลังให้ความสนใจกับใบเสมา ซึ่งอยู่ภายในผืนนาที่เธอกำลังตรวจตราความเรียบร้อยอยู่ “ข้างหลังนี่ก็มีนะ” เธอชี้ให้ดูหินที่โผล่พ้นดินด้านหลังพวกเรา ห่างไม่ถึง 2 ฟุต ซึ่งหากไม่สังเกตุให้ดีก็อาจคิดว่าเป็นเพียงหินทรายก้อนหนึ่ง แต่มันคือส่วนบนสุดของใบเสมาที่จมอยู่ในดินนั่นเอง 

   



    เสมา หรือ สีมา หมายถึง  เขตชุมนุมของสงฆ์หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้ สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้น จะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน สีมาแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ  “พัทธสีมา”  แปลว่า  “แดนที่ผูก”  ได้แก่   เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง  และ “อพัทธสีมา” แปลว่า “แดนที่ไม่ได้ผูก”  ได้แก่ เขตที่ทางราชการกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดโดยใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด ไม่ได้ทำหรือผูกขึ้นใหม่ 


    เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้ภิกษุสงฆ์ต้องทำอุโบสถ ปวารณาและสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาติโมกข์  ซึ่งทรงอนุญาตให้สวดในวันอุโบสถ 14 หรือ 15 ค่ำ โดยให้มีเขตที่มีเครื่องหมายเป็นที่ทราบกัน เขตนี้เรียกว่าสีมา และสีมาตามพระวินัยต้องมีความบริบูรณ์ตามที่กำหนดจึงจะใช้ได้ หากไม่เป็นตามที่กำหนดถือว่าเป็นสีมาบัติ การทำสังฆกรรมต่างๆ ภายในสีมาบัติ ถือเป็นโมฆะ   

    ข้อกำหนดของสีมาที่สมบรูณ์ คือต้องมีขนาดใหญ่พอที่พระสงฆ์ 21 รูป เข้าไปนั่งหัตถบาสได้ (หัตถบาส - ระยะห่างชั่วยื่นมือถึง)  หมายถึงการลงประชุมเพื่อทำสังฆกรรม ภิกษุแต่ละรูปจะต้องนั่งห่างไม่เกิน 1 ชั่วแขน หากเกินกว่านั้นเรียกว่า เสียหัตถบาส  และต้องไม่ใช้เขตที่กว้างเกิน 3 โยชน์  ในการกำหนดเขตสีมาต้องกำหนดด้วยเครื่องหมายที่เรียกว่า นิมิต ที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ 8 อย่าง  ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้  ต้นไม้  จอมปลวก ถนน (หนทาง) แม่น้ำ และน้ำ  การใช้นิมิตต่างๆ ดังกล่าว จะต้องมีตั้งแต่ 3 เขต หรือจุดกำหนดขึ้นไปจึงใช้ได้  อีกทั้งสามารถขีดเป็นแนวราบ เป็นวงได้ตลอด ก่อให้เกิดสัณฐานของวงสีมาเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม

    ใบเสมามีหลายลักษณะ ทั้งแบบเป็น แท่งหิน 4 เหลี่ยม และ 8 เหลี่ยม , แบบแผ่นหิน รวมถึงแบบแท่งหินหรือแผ่นหินที่มีรูปร่างไม่แน่นอน สำหรับการตกแต่งใบเสมา มักจำหลัก (แกะสลัก) ลายเรื่องราวในพุทธศาสนา ประวัติ ชาดก หรือรูปสถูปเจดีย์ตรงกลางใบเสมา ฯลฯ บริเวณส่วนฐาน บางครั้งก็จำหลักรูปกลีบบัวหรือลวดลายประดับต่างๆ เสมาที่พบที่บ้านกุดโง้ง เป็นหินทรายแดง ทั้งแบบแผ่นหินเรียบและแบบจำหลักลวดลาย ทั้งที่ไม่ใช่ภาพเล่าเรื่อง และลวดลายที่เป็นภาพเล่าเรื่องชาดก, พุทธประวัติ พระชาติต่างๆ ของพระพุทธเจ้า

   
    “จริงๆ แล้วที่จมอยู่ในดินยังมีอีก แต่ที่เห็นตั้งอยู่นี้ผมเจอตอนปรับไถที่ดิน” อาจารย์เสนาะ เที่ยงธรรม เจ้าของที่ดินผืนหนึ่งซึ่งมีใบเสมาตั้งเรียงรายอยู่หลายชิ้น บอกกับพวกเรา  ใบเสมาบ้างชิ้นที่มีการจำหลักลาย สันนิษฐานว่า อาจใช้ปักเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงลานศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเป็นรูปเคารพกราบไหว้ทำนองเดียวกับพระพุทธรูป มากกว่าจะใช้เป็นเครื่องกำหนดเขตสังฆกรรมเช่น ใบเสมาแผ่นที่ 1 ซึ่งสลักภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิ ถัดลงมาเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ใบเสมาแผ่นนี้พบอยู่ตรงกลางเนินดิน ที่มีใบเสมาแผ่นอื่นๆ ล้อมรอบ แสดงให้เห็นถึงการใช้ใบเสมาเป็นวัตถุรูปเคารพที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง

    ใบเสมาหินส่วนใหญ่ ได้นำมาเก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณวัดศรีปทุมคงคาวนาราม โดยมีการสร้างอาคารถาวร ข้างโรงเรียนบ้านกุดโง้งที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร

การเดินทาง
     จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปอีก 3 กิโลเมตรถึงบ้านกุดตุ้ม แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางสาย กุดตุ้ม-บุ่งคล้าไปอีก 4 กิโลเมตร



นมัสการขอพร “พระเจ้าองค์ตื้อ” ที่วัดศิลาอาสน์ (ภูพระ)
     โบราณวัตถุสถาน อันเป็นศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา พบหลักฐานว่า เริ่มมีขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงและสร้างพุทธเจดียสถานไว้หลายแห่ง แต่อินเดียสมัยนั้นมีข้อห้ามไม่ให้ทำรูปคนไว้สำหรับเคารพกราบไหว้ จึงไม่สามารถทำรูปพระพุทธองค์เป็นรูปมนุษย์ได้ เลยใช้วิธีการสร้างเป็นสัญลักษณ์อย่างอื่นขึ้นแทน เช่น ปางประทานปฐมเทศนา ก็ทำเป็นรูปธรรมจักรมีรูปกวางหมอบ อันหมายความว่า ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นต้น 

     ล่วงมาภายหลังพุทธศตวรรษที่ 6 เล็กน้อย จึงมีการสร้างรูปพระพุทธองค์เป็นรูปมนุษย์ขึ้น กาลเวลาที่ล่วงเลยสมัยพุทธกาลมาช้านาน ลักษณะพระพุทธรูปจึงออกมาในลักษณะที่ทำตามความคิดฝัน เพื่อเป็นพุทธานุสสติ ให้ระลึกถึงและน้อมใจปฏิบัติตามคำของสั่งสอนของพระพุทธองค์ มิใช่เพื่อต้องการทำให้เหมือนองค์พระพุทธเจ้า

     “สัทธา” หรือ “ศรัทธา” แปลว่า ความเชื่อ หมายถึงเชื่อด้วยปัญญา เชื่อด้วยเหตุผล
     “ตถาคตโพธิสัทธา” แปลว่า ความเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่า พุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้มีและดีจริง สามารถนำผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงสุข ตั้งแต่สุขธรรมดาในโลกจนถึงสุขอันยอดเยี่ยม เป็นหนทางให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้จริง ตถาคตโพธิสัทธา จึงเป็นเหตุให้มั่นใจในพระพุทธเจ้าและธรรมที่พระองค์สอน พร้อมปฏิบัติตามด้วยความมั่นใจ ปราศจากความลังเลสงสัย คนที่ไม่มีตถาคตโพธิสัทธาย่อมไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เมื่อปฏิเสธพระพุทธเจ้า ก็เป็นอันปฏิเสธทั้งธรรมที่ทรงสอน ทั้งกรรมและผลกรรม 

     เนินเขาเตี้ยๆ ในเขตบ้านนาไก่เซา ต.นาเสียว อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของภูแลนคา มีเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นเก่าสืบกันมาเป็นร้อยๆ ปีว่า มีคนมาพบสถานที่แห่งนี้ บริเวณผนังเพิงผาจำหลัก เป็นพระพุทธรูปขนาดต่างๆ รวม 9 องค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “เขาภูพระ” 

     


    พุทธรูปองค์ใหญ่จำหลักในลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา(ตัก) พระหัตถ์ซ้ายวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์ (แข้ง) เป็นลักษณะตรงข้ามกับปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต เรียกกันว่า “พระเจ้าองค์ตื้อ” มีพระพุทธรูปขนาดเล็กสูงประมาณ 7 นิ้ว ลักษณะเดียวกันอีก 1 องค์ จำหลักอยู่ที่ผนังหินด้านหน้าทางซ้ายมือของพระเจ้าองค์ตื้อ (ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็คงไม่เห็น) ใกล้ๆ กันมีพระพุทธรูปอีก 7 องค์ จำหลักรอบเสาหินทราย ประทับนั่งเรียงแถวปางสมาธิ 5 องค์ และปางเดียวกับพระเจ้าองค์ตื้ออีก 2 องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้มีพุทธลักษณะแบบสมัยอู่ทองหรือทวารวดี มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 –19  

     หากจินตนาการย้อนกลับไป ในท่ามกลางไพรป่ารกชัฎ ต้นทางในความพยามยามจำหลักพระพุทธรูปเหล่านี้ คงสืบเนื่องมาจากตถาคตโพธิสัทธาและพุทธานุสสติ ของผู้คนในสมัยนั้นเป็นแน่แท้ 

    
 


    กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขาภูพระเป็นโบราณวัตถุสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 เป็นต้นมา ภายหลังได้กำหนดขอบเขตที่ดินเป็นเขตโบราณสถานไว้ เพื่อป้องกันมิให้มีการทำลายโบราณสถาน ที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดด้วย ในปี พ.ศ.2483 พระวิบูลนิโรธกิจ อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ (พระครูเจริญนิโรธ เจ้าคณะจังหวัดขณะนั้น) ได้ขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ “ศิลาอาสน์” พร้อมแผ้วถางบริเวณ ในปีถัดมาได้สร้างกุฏิ เพื่อให้พระภิกษุอยู่จำพรรษามาตลอดจนทุกวันนี้ มีคำบอกเล่ากันมาว่า ณ บริเวณนี้ เคยเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอริยสงฆ์หลายรูป เช่น พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ฝั้น  หลวงปู่แหวน ฯลฯ เพราะแต่เดิมมีสภาพป่าทึบสงบเงียบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมยิ่ง



     

     ถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 และเทศกาลบุญเดือน 5 วันขึ้น 13-15 ค่ำ ของทุกปี จะมีงานนมัสการพระเจ้าองค์ตื้อ ชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่จากทั่วสารทิศ ต่างเดินทางมาเพื่อบูชาหรือแก้บน เพราะมักนิยมมาบนบานขอให้หายป่วยหรือขอบุตร โดยเฉพาะบุตรชาย อันเป็นความเชื่อของผู้คนที่นับถือในพระเจ้าองค์ตื้อ โดยจะจัดแต่งเครื่องบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน ของหวาน มานมัสการและปิดทองรูปแกะสลักบนผนังหิน จะมีผู้สูงอายุที่เรียกว่าแม่หมอ เป็นผู้นำประกอบพิธีขอพรและรำบวงสรวง ที่เรียกว่า “รำผีฟ้า” มีหมอแคนเป่าให้จังหวะ ด้วยมีความเชื่อว่า การบวงสรวงและรำผีฟ้าถวาย จะทำให้หายเจ็บป่วย อยู่เย็นเป็นสุข บางคนจัดเตรียมเครื่องนอน มาอยู่ที่วัดตลอดจนพิธีแล้วเสร็จ จึงเดินทางกลับบ้านก็มี

 











การเดินทาง 

     จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 201(ชัยภูมิ-ภูเขียว) 13 กิโลเมตร โดยประมาณ แล้วเลี้ยวซ้ายตามเส้นทาง นาเสียว – ห้วยซัน อีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงทางเข้าวัด

 

 




มอหินขาว... ประติมากรรมธรรมชาติ ผ่านกาลเวลา
     เสาหินขนาดใหญ่ทั้ง 5 ที่อยู่ตรงหน้าพวกเรา ดูแปลกตาและชวนพิศวง หากแต่วิชาธรณีวิทยา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี ได้เข้ามาสำรวจ ก็ทำหน้าที่เฉลยคำตอบ ถึงที่มาที่ไปพอสังเขปว่า

 




   “ประมาณ 175 – 195 ล้านปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณมอหินขาวมีการสะสมตัวของ ตะกอนทรายแป้งและดินเหนียว จากทางน้ำที่โค้งตวัดไปมา รวมถึงหนองบึงที่อยู่โดยรอบ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ตะกอนที่สะสมตัวได้เปลี่ยนเป็นทราย บวกกับทางเดินของแม่น้ำมาประสานสายรวมกัน ท่ามกลางสภาวะอากาศแบบแห้งแล้งกึ่งร้อนชื้น ตะกอนใหม่เข้ามาทับถมลงบนตะกอนทรายแป้งและดินเหนียวที่เกิดก่อน จากนั้นจึงเกิดการแข็งตัวกลายเป็นหิน 



    ต่อมาเกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ด้วยแรงบีบด้านข้างทำให้มีการคดโค้ง แตกหัก บวกกับการกัดเซาะจากธรรมชาติทั้งสายน้ำและกระแสลม จึงเกิดการผุพังทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เรื่อยๆ มา ทำให้เกิดลักษณะเสาหินและแท่งหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”

    

     ลักษณะภูมิประเทศที่เรียกว่า “มอ” (ภาษาถิ่นที่ใช้เรียกเนิน หรือเนินเขา ซึ่งไม่สูงมากนัก) สภาพแวดล้อมที่เคยเป็นป่าดงพงหญ้า ชาวบ้านได้เข้ามาแผ้วถางเพื่อทำไร่มันสำปะหลัง แต่ก็มิได้สนใจกับหินรูปร่างแปลกตาที่พบอยู่ทั่วบริเวณนี้นัก จนมาสังเกตว่า หลังฝนตกทุกครั้ง ก้อนหินจะมีแสงสะท้อนเป็นสีขาวมองเห็นแต่ไกล รวมไปถึงในทุกคืนวันพระข้างขึ้น ก็จะมีแสงสะท้อนสีขาวให้มองเห็นเช่นเดียวกัน ชาวบ้านย่านนั้นจึงเรียกกันว่า “มอหินขาว”




    ชื่อมอหินขาว ได้รับการบอกต่อ จนเริ่มมีคนแวะเวียนเข้ามาดูมอหินขาวอยู่เป็นระยะๆ ผู้นำชุมชนจึงได้ทำการสำรวจพื้นที่ แล้วเสนอเรื่องไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ.2545 กรมทรัพยากรธรณี ได้มาสำรวจ เรื่องราวของมอหินขาวจึงถูกไขความกระจ่าง และมีการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว จนถือเป็นหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทย และหนึ่งในโครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ :  www.1279thailand.com )

    มอหินขาวอยู่ในเขตบ้านวังคำแคน ต.ท่าหินโงม อ.เมือง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา พื้นที่ย่านนี้มีกลุ่มหินกระจายอยู่หลายกลุ่ม หินกลุ่มแรกซึ่งถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้า และที่มาของชื่อ มอหินขาว คือ “เสาหิน 5 ต้น” ลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่ แต่ละแท่งมีความกว้างประมาณ 4 – 5 เมตร สูงประมาณ 15 – 20 เมตร ตั้งเรียงกัน ชาวบ้านวังคำแคนเล่าว่า เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นสำนักสงฆ์ ในช่วงวันเพ็ญ มักเกิดปรากฎการณ์แปลกๆ คือ จะมีลูกไฟสีขาวขนาดใหญ่ ลอยพุ่งออกจากหินด้านทางทิศเหนือไปทางทิศใต้ให้เห็นอยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องที่ต่างเล่าขานต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ถ้าว่ากันตามหลักวิชาการ สีขาวที่สะท้อนออกมาจากหิน เกิดจากเกล็ดแก้วที่มีอยู่ในเนื้อหินทราย เมื่อต้องแสงจันทร์หรือแสงตะวัน ก็จะทอประกายระยิบระยับออกมาให้เห็น มอหินขาวซึ่งมีขนาดใหญ่ จึงทำให้ปริมาณเกล็ดแก้วมีมาก การสะท้อนแสงจึงมีมากเช่นกัน  

 
   ถัดมาไม่ไกลจากเสาหิน 5 ต้น เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ฯ มอหินขาว ซึ่งเป็นสถานที่กางเต็นท์ สำหรับผู้ที่ต้องการมานอนนับดาวยามค่ำคืน จากหน่วยพิทักษ์ฯ เราสามารถเดินทางต่อไปยังกลุ่มหินต่างๆ คือ สวนหินล้านปี,, หมู่หินเจดีย์ หินโขลงช้าง, ลานหินต้นไทร แต่ละที่จะมีหินรูปทรงแปลกตา ให้ได้จินตนาการกันไประหว่างเที่ยวชม ว่ามีรูปร่างเหมือนอะไรกันบ้าง ทั้งยังสามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำลำปะทาวอยู่ไกลลิบๆ เป็นทิวทัศน์ที่งดงามไม่แพ้ที่ไหน 

    จุดที่อยู่ปลายทางคือ จุดชมวิวผาหัวนาค  เป็นจุดชมวิวและชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงาม ห่างจากหน่วยฯ ไปราว  2.5 กิโลเมตร สูงจากน้ำทะเลประมาณ 1,008 เมตร เกิดจากการสังเกตของชาวบ้านด้านล่างที่มองขึ้นมา เห็นเป็นรูปร่างคล้ายหัวพญานาค 5 หัว ที่ด้านล่างยังพบถ้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำพญานาค ซึ่งเกิดจากความเชื่อของชาวอีสานด้วย

    มอหินขาวมีลานสำหรับกางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำไว้บริการ ส่วนเรื่องอาหารต้องเตรียมไปเอง ติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา โทร. 0 4481 0902 – 3  หรือต้องการนอนโฮมสเตย์ที่บ้านวังคำแคน ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่เจริญ เจสันเทียะ โทร. 08 7960 1853 (ราคา 300 บาท/คน/คืน พร้อมอาหาร) ทั้งยังมีบริการรถกระบะจากหมู่บ้านขึ้นไปมอหินขาวในช่วงหน้าฝน ซึ่งไม่สะดวกสำหรับรถขับเคลื่อนปกติไม่ใช่แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (ราคาประมาณ 500 บาท) ส่วนฤดูอื่นไม่มีปัญหาทั้งรถตู้รถเก๋ง 

 

   บ้านวังคำแคนมีรถสองแถวประจำทางจากตัวเมืองถึงหมู่บ้าน วันละ 1 เที่ยว รถออกจากตัวเมืองเวลา 13.30 น. หรือจะเหมารถจากตัวเมืองก็ได้ ราคาประมาณ 500 บาท (สิงหาคม 2552- ตัวเลขค่าใช้จ่ายเรื่องพาหนะ อาจเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมัน) 


การเดินทาง

    จากตัวจังหวัด ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2051 ถนนสายชัยภูมิ – ตาดโตน ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายก่อนถึงด่านของอุทยานแห่งชาติตาดโตน ตามถนนตาดโตน – ท่าหินโงม ไปอีก 12 กิโลเมตร แยกซ้ายตามถนนแจ้งเจริญ – โสกเชือก ราว 5.5 กิโลเมตร มีถนนลูกรังช่วงปลายทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านวังคำแคน จากนั้นเลี้ยวขวา ซึ่งเป็นทางลูกรังที่ชาวบ้านที่นี่ใช้เป็นเส้นทางสำหรับขนพืชไร่ ไปต่ออีกประมาณ 3.8 กิโลเมตร รวมระยะทาง 40 กิโลเมตรโดยประมาณ
โปรดติดตามตอนต่อไป...

บุญรักษา คุณพระคุ้มครอง เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ ...   

โดย ธนิสร หลักชัย


ขอขอบคุณ

งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ  กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โทร. 1672 เว็บไซต์ :  www.tourismthailand.org 
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา
โทร. 0 4421 3666, 0 4421 3030 เว็บไซต์ :  www.tourismthailand.org/nakhonratchasima

 

ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย
ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนจบ)
น้ำว้า...ท้ายลมหนาว
ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว
เจดีย์หินทราย วัดป่ากุง (บรมพุทโธเมืองไทย)
มิตรภาพ... สายน้ำ...และความสามัคคี (ที่ลำน้ำเข็ก)
งานประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด ประจำปี 2552
มิตรภาพเหนือระดับน้ำทะลที่ภูกระดึง
เนปาล..อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 1)
เนปาล…อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 2)
เนปาล…อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนจบ)
.
.
.

 

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ ชัยภูมิ... ไม่ได้มีแค่ “ดอกกระเจียว” (ตอนที่ 1)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook