10 ข้อควรรู้ในการถ่ายภาพอาหาร

10 ข้อควรรู้ในการถ่ายภาพอาหาร

10 ข้อควรรู้ในการถ่ายภาพอาหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 องค์ประกอบของอาหารในจานหรือการจัดจานในการถ่ายภาพ หรือที่เรียกว่า Stylish ผู้จัด food  stylist จะต้องจัดอาหารให้ดูน่ารับประทานและสวยงาม ภาพถ่ายอาหารที่สวย งามนั้นไม่ได้อยู่ที่เทคนิคการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว

 แต่จะต้องดูที่การจัดองค์ประกอบ และรูปแบบในการจัดวางอาหารลงบนจานของอาหารแต่ละประเภท และควรมีความรู้ความเข้าใจในการทำอาหารชนิดนั้นๆ อยู่บ้างพอสังเขป และองค์ประกอบต่างๆ อันได้แก่ 

1. สีของอาหารชนิดนั้นๆ และการเลือกใช้สีของภาชนะให้เหมาะสม ถ้าเลือกไม่ถูก หรือที่ง่ายที่สุด คือการใช้ภาชนะสีขาว สีอ่อน ๆ 

2. การเลือกสีพื้น background ให้เหมาะสม ไม่ควรเลือกสีที่ดูหม่นหมองมอมแมม โดยพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ควรเลือกสีพื้นอ่อนสว่าง เช่น สีขาว สีฟ้า สีเขียวอ่อน สีชมพู สีส้มอ่อน เป็นต้น

 

 

สีเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสะอาดตา ทำให้อาหารโดดเด่นน่ารับประทานและน่าสนใจขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้สีเข้มขรึมไม่ได้ แต่ควรระมัดระวังในการเลือกใช้ ควรเลือกสีพื้นที่จับคู่ของอาหารและภาชนะได้อย่างเหมาะสม


 3. การจัดวางอาหารลงภาชนะในการถ่ายภาพ เราไม่เทอาหารลงในจานหรือชามในทีเดียว ควรนำจานหรือภาชนะที่ต้องการใช้ในการถ่ายภาพวางในฉาก scene นั้น เพื่อทำการประกอบภาพตั้งกล้อง หรือ ประกอบมุมกล้อง จัดวาง composition วาง props ให้เรียบร้อยรวมถึงการจัดแสง หรือกำหนดทิศทางแสง (ในกรณีที่ใช้แสงธรรมชาติ) ให้เรียบร้อยพร้อมถ่ายภาพก่อน

เพราะถ้าทำอาหารมาวางเลยจะต้องเสียเวลาในการจัดมุมกล้อง วาง props จัดแสง อาหารก็จะไม่สดใหม่ ใบผักที่ใช้โรยหน้าอาจเหี่ยวเฉา ดูไม่น่ารับประทาน

4. การจัดวางอาหารมีหลายรูปแบบ ถ้าผู้จัดไม่ได้เป็น chef ทำอาหารที่ผ่านหลักสูตรการทำอาหารจากสถาบันต่างๆ มาก่อน ก็ต้องทำการเรียนรู้วิธีการต่างๆ

เพื่อจัดวางอาหารให้ดูสวยงามเสียก่อน การจัดวางอาหารลงบนภาชนะไม่ว่าจะเป็นจาน ชามหรือภาชนะใดๆ ก็ตามไม่จำเป็นว่าจะต้องรับประทานได้เสมอไป

 

เพราะเราจัดเพื่อใช้ในการถ่ายภาพโฆษณาหรือทำเมนูอาหาร ดังนั้น ส่วนผสม วัตถุดิบต่างๆ อาจไม่สุกจริงก็ได้เพื่อความสดของอาหารและไม่เหี่ยวดำหมอง เมื่อต้องใช้เวลาก่อนลั่นชัตเตอร์ ในบางครั้งการจัดจานอาหารเราจะต้องใช้วัสดุรองในจานหรือชามเพื่อหนุนให้อาหารสูงขึ้นหรือพูนขึ้น วัสดุนั้นอาจเป็นดินน้ำมันสีขาว

 หรือบางทีก็ใช้ก้อนหินสีขาวขนาดเล็กๆ ประมาณ 1-2 ซม. วางรองก้นชาม และใช้ไม้จิ้มฟันปลายแหลมปักลงบนกองหิน หรือ ดินน้ำมัน ที่ปลายอีกด้านหนึ่งก็เสียบชิ้นอาหาร เช่น ก้อนเนื้อไก่ ตัวกุ้ง ให้แต่ละอันสูงต่ำเป็นระดับต่างๆกัน อยู่ในองศาหรือตำแหน่งที่สวยงาม

นำภาชนะนั้นไปวางในฉากก่อนแล้วจึงใช้เหยือกหรือช้อนตักน้ำแกง น้ำซุป รินลงในภาชนะนั้น เพื่อไม่ให้เลอะขอบของจานหรือชาม ซึ่งถ้าทำข้างนอกแล้วยกไปวางจะทำให้เลอะเทอะที่ขอบชาม จะเช็ดยากมากๆ

5. ย้อนกลับไปเรื่องของการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพ เรื่องของแสงมีสองอย่าง คือ แสงที่เราจัดด้วยไฟแฟลช ในสตูดิโอ และแสงธรรมชาติ

โดยส่วนตัวแล้วการใช้แสงธรรมชาติ Ambient Ligุht หรือแสงหน้าต่าง Window Light เป็นแสงที่ถ่ายภาพอาหารได้สวยงามและง่ายที่สุด แต่ต้องเข้าใจเรื่องทิศทางของแสงให้ดี

 

การใช้แสงธรรมชาติ เลือกทิศทางที่กึ่งย้อนแสงเล็กน้อยอาจให้ตำแหน่งของแสงอยู่เฉียงทางซ้ายหรือทางขวาประมาณ 45-60  องศาของผู้ถ่าย แล้ววัดแสงในส่วนที่อยู่ในเงา Shadow ให้พอดี ไม่ต้องห่วงว่าส่วนที่ถูกแสงจะโอเวอร์ ให้ห่วงสาระสำคัญของภาพ

ถ้าส่วนสำคัญของภาพโอเวอร์ให้หรี่รูรับแสงลงหรือเพิ่มความเร็วหน้ากล้อง ส่วนที่โอเวอร์ก็จะลดลง แต่ในเงามืดก็จะมืดลงเช่นกันให้แก้ไขโดยใช้แผ่นสะท้อนแสงสีขาว สีเงิน หรือแผ่นกระจกเล็กๆ ส่วนมากผมจะใช้กระจกแผ่นเล็กๆ สะท้อนแสงเพิ่มความสว่างตามจุดต่างๆ ของภาพ อาจใช้แผ่นเดียวหรือหลายแผ่น

6. ข้อควรระวัง ไม่ควรวัดแสงของ Highlight และให้แสงใน Shadow เท่ากัน เพราะทิศทางของแสงจะหมดความหมายไป ภาพที่ได้มันจะแบนไม่สวยงาม

7. การใช้แสงไฟแฟลชในสตูดิโอเหมาะสมกับงานถ่ายภาพเมนูอาหารหรือภาพโฆษณา เพราะต้องใช้เวลามากในการถ่ายภาพ และถ้าใช้แสงธรรมชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและแต่ละช่วงเวลาแสงจะไม่เหมือนกันจึงต้องใช้ไฟแฟลชช่วย แต่การจดแสงด้วยไฟแฟลชนั้น จะต้องมีทักษะความรู้ในการใช้งานไฟแฟลชในสตูดิโอพอสมควร

 

 การกำหนดตำแหน่งของแสงก็อยู่ในทิศทางเดียวกับแสงธรรมชาติ คือทิศทางไฟหลัก กึ่งย้อนแสงซ้ายหรือขวาของผู้ถ่ายเช่นกัน แต่ไม่ควรย้อนแสงโดยตรง

เพราะอาจทำให้เกิดการสะท้อนกลับในจานอาหารประเภทที่เป็นน้ำหรือชามซุป สะท้อนกลับเข้ากล้องเป็นสีขาวไม่เห็นรายละเอียดในชาม

8. การเพิ่มแสงในเงามืดเราจะใช้ไฟเพิ่มอีกแต่ในทิศตรงกันข้าม กับไฟหลัก เพื่อลดความเข้มของเงามืดที่ทอดลงที่พื้นหรือ เพิ่มความสว่างของอาหารในเงามืดให้มีรายละเอียดมากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำหนักของแสงไม่ให้เท่ากับแสงหลัก เพราะภาพที่ได้จะแบนเช่นกัน อาจใช้แผ่นสะท้อนแสง เช่น โฟมขาว กระจกเงาแผ่นเล็กๆ เพื่อช่วยทำให้แสงในเงามืดสว่างขึ้นได้เช่นกัน

9. การเลือกรูรับแสง หรือการกำหนดความลึกระยะชัด Deep of Field ที่ผมนิยมใช้ก็อยู่ประมาณ f 5.6-f 8  สำหรับกล้องเล็ก DSLR  หรือ f11.5 -16  สำหรับกล้อง Medium Format  เพราะถ้าใช้หน้ากล้องแคบมากๆ ทำให้มีความลึกระยะชัดมากขึ้นจริงแต่คุณภาพของความคมชัดจะด้อยลงและอาจทำให้เกิดความรู้สึกแข็งกระด้าง  
 

 10. เราควรมีวัตถุดิบ ที่เป็นของสดสำหรับใช้โรยหน้าอาหารอยู่ใกล้ๆ เช่น ใบผักชี ใบสะระแหน่ แช่น้ำเย็นใส่ถ้วยเอาไว้ใกล้ๆ เพราะผักเหล่านี้ค่อนข้างจะเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ

 และควรมีถ้วยน้ำมันพืชและพู่กันใช้สำหรับทาบนอาหารให้ดูเงางามและอาจช่วยให้สีสดขึ้น (ไม่ควรทาน้ำมันลงบนอาหารประเภททอดมากนัก เพราะดูแล้วจะไม่น่ารับประทาน ดูเสียสุขภาพ)

 ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานการถ่ายภาพอาหารในแบบของผม ซึ่งไม่ได้เป็นการให้คำแนะนำ หรือสอนสั่งแต่อย่างใด เป็นเพียงความคิดเห็น ผมพูดเสมอว่าสำหรับผมถ่ายภาพเพื่อหาเลี้ยงชีพไม่ได้เก่งและยินดีรับความคิดเห็นของทุกท่านเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันเสมอครับ ที่สำคัญต้องพยายามสรรหาภาพที่ท่านชอบจากนิตยสารต่างๆ

หรือจากอินเตอร์เน็ตแล้วพิจารณาภาพนั้นๆ ในเรื่องของการกำหนดทิศทางแสง การใช้สีประกอบกันเป็นองค์ประกอบ เพื่อเป็นแนวทางที่ใช้ในการฝึกฝนจนชำนาญ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อยขอบคุณครับ  

 

 

ข้อมูลจากนิตยสาร
i Photoplay
เดือนพฤษภาคม
 

 

 

 

 

 



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook