เสน่หา จำปาสัก ตอนแรก : ต้องมนต์จำปา ที่ปราสาทวัดภู

เสน่หา จำปาสัก ตอนแรก : ต้องมนต์จำปา ที่ปราสาทวัดภู

เสน่หา จำปาสัก ตอนแรก : ต้องมนต์จำปา ที่ปราสาทวัดภู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เสน่หา จำปาสัก (1) ตอน : ต้องมนต์จำปา ที่ปราสาทวัดภู
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 กรกฎาคม 2547 14:53 น.
ซุ้มต้นจำปาทางขึ้นสู่ปรางค์ประธานที่เมื่อเดินผ่านแล้วจะหอมเย็นชื่นใจ
...โอ้ดวงจำปา บุปผาเมืองลาว งามดังดวงดาว ซาวลาวปลื้มใจ เมื่อตกอยู่ใน แดนดินล้านช้าง ไม่รู้เป็นอะไร เวลาผู้จัดการท่องเที่ยวเดินทางข้ามโขงไปยังดินแดนสปป.ลาว คราใด ไอ้เจ้าอาการชอบร้องเพลง ดวงจำปา หนึ่งในเพลงที่สุดแสนจะคลาสสิคของชาวลาว เป็นต้องเกิดขึ้นเสมอในช่วงที่เรานึกอะไรไม่ค่อยออก ก็อย่างที่หลายๆคนรู้กันดีว่า ดวงจำปานั้น เป็นดอกไม้ประจำชาติลาว หรือที่บ้านเรารู้จักมาแต่ก่อนเก่าว่า ดอกลั่นทม ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น ดอกลีลาวดี เมื่อไม่นานมานี้ อันดวงจำปานี่ สำหรับ ผู้จัดการท่องเที่ยวแล้ว นับเป็นดอกไม้ที่เปี่ยมเสน่ห์ไม่น้อย เพราะนอกจากทรวดทรงสีสันของดอกจะดูสวยงามแล้ว ฟอร์มของต้น กิ่ง ก้าน ใบ ก็ดูเท่ไม่เบา และที่เราชอบมากๆก็เห็นจะเป็นกลิ่นที่หอมเนียน หอมเย็น หากเปรียบกับหญิงสาวแล้ว ก็ประมาณว่าดวงจำปาเธอเป็นหญิงงามที่แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นงามหยดย้อยหยาดเยิ้มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งดำกฤษณา แต่ก็เป็นหญิงงามที่เรียบร้อยนุ่มนวล ชายใดเห็นต้องอดไม่ได้ที่จะเหลียวมอง
ในปรางค์ประธานศิวลึงค์ถูกแทนที่ด้วยพระประธานและพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่เคารพของชาวพุทธทั่วไป
จะว่าไปแล้วอารมณ์หญิงงามในสไตล์ดวงจำปานี่ เราดูๆไปก็คล้ายๆกับ ลิ่มซีอิม ในเรื่อง ฤทธิ์มีดสั้น(ยุทธจักรนิยายชิ้นมาสเตอร์พีซของ โก้วเล้ง) สมัยช่วงที่เธอสาวๆ และยังไม่ตรอมใจกับ ลี้คิมฮวง(นี่เป็นความคิดส่วนตัวที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด) นั่นก็เป็นเรื่องของดวงจำปาที่ ผู้จัดการท่องเที่ยวนำไปเปรียบกับหญิงงาม แต่ว่าหากเป็นความงามแบบเพียวๆของมวลหมู่ดวงจำปาแล้วละก้อ ณ วันนี้เรายังไม่เคยเห็นดวงจำปาที่ไหนจะงดงามเทียบเท่ากับที่ ปราสาทวัดภู แห่งแขวงจำปาสัก เลย เหตุที่เราหลงใหลในความงามของมวลหมู่ดวงจำปาที่นี่ ก็เพราะว่าองค์ประกอบของความงามหลายๆสิ่ง หลายๆอย่าง มันใช่เลย ดวงจำปาที่วัดภูนี่ไม่ได้ขึ้นต้นเดียวโดดๆ แต่จะขึ้นเป็นคู่ไล่เรียงสเต็ปเป็นดังซุ้มต้นไม้ไปตามขั้นบันไดทางขึ้นตัวปราสาท โดยอายุของแต่ละต้นชาวบ้านแถวนั้นก็บอกว่า ปาไปร้อยกว่าปีแล้ว
ลวดลายสลักหินศิลปะขอมที่ยังคงปรากฏเด่นชัดบนทับหลังปรางค์ประธาน
ในวันใดที่ฟ้าใสดวงจำปาสีขาวใจกลางสีเหลือง ที่บานสะพรั่งบนกิ่งก้านที่แผ่สลาย ก็จะมองเห็นโดดเด่นท่ามกลางฟ้าสีครามดูงดงามเหลือคณา ส่วนวันใดที่ฟ้าหม่น ดวงจำปาที่นี่ก็หาได้หม่นตาม แต่ทว่าก็ยังคงงามอย่างนุ่มนวลส่งกลิ่นหอมเย็นอยู่ไม่ได้ขาด แม้กระทั่งดอกที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นก็ตาม นอกเหนือไปจากความงามอันสุดแสนจะคลาสสิคแล้ว ดวงจำปาที่ปราสาทวัดภูก็ยังดูขรึมขลังไม่น้อย ที่ดูขลังก็ไม่ใช่ว่าต้นจำปาที่นี่จะให้เลข ให้ลาภอะไรหรอก แต่ว่ามวลหมู่ต้นจำปาที่นี่ เป็นต้นจำปาที่ขึ้นเคียงคู่กับปราสาทวัดภู ที่เป็นสถาปัตยกรรมขอมอันยิ่งใหญ่หนึ่งเดียวในลาว มีอายุพันกว่าปี และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2545 ซึ่งนับเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของลาว ถัดมาจากหลวงพระบาง
รูปเคารพพญากรมทาที่ในแต่ละวันจะมาชาวลาวมาเคารพกราบไหว้มิได้ขาด
แม้ว่าปราสาทวัดภูอาจจะดูไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับปราสาทหินพนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพิมาย ในบ้านเรา แต่ว่าเรื่องราวความน่าสนใจของปราสาทหินวัดภูก็อยู่ที่ ศาสนาสถานแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นปราสาทก่อนที่จะแปรเปลี่ยนเป็นวัดในเวลาต่อมา ก่อนที่หลายๆคนจะงง ว่าตกลงจะเป็นปราสาทหรือเป็นวัดกันแน่ ผู้จัดการท่องเที่ยวขอเล่าคร่าวๆถึงความเป็นมาของปราสาทหินวัดภูจากข้อมูลที่ศึกษามาว่า ก่อนที่อาณาจักรขอมจะเรืองอำนาจแบบสุดขีดในยุคพระนคร ขอมได้แบ่งเป็น 2 อาณาจักร คือ เจนละบก(พื้นที่ตั้งแต่อุบลราชธานี บุรีรัมย์ จำปาสัก ไล่ไปจนถึงเขมร) และเจนละน้ำ (อยู่บริเวณเขมรตอนกลางกับตอนล่างในปัจจุบัน ) เจนละบกในยุคนั้น(ราว 1,300 ปีก่อน) มีปราสาทวัดภูเป็นศูนย์กลาง สมัยนั้นศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด มีอิทธิพลอย่างมากในดินแดนแถบนี้ ชาวขอมเมื่อสร้างศาสนสถาน ก็ได้สร้างศิวลึงค์ที่เปรียบดังตัวแทนขององค์ศิวเทพไว้ที่ใจกลางปรางค์ประธานให้เป็นที่เคารพสักการะ ในบริเวณภูเขาที่มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ หรือ ลึงค์บรรพต ซึ่งชาวลาวเรียกภูเขาลูกนี้ว่า ภูเกล้าเพราะชาวลาวมองแล้วเหมือนดังเกล้ามวยผมของผู้หญิง ครั้นสิ้นยุคของเจนละ ชาวลาวที่มาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ซึ่งนับถือพุทธก็ได้ปรับเปลี่ยนปราสาทขอมให้เป็นวัดในศาสนาพุทธ ศิวลึงค์ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพระประธาน พร้อมๆกับการเรียกขานชื่อเป็น ปราสาทวัดภู
ชาวลาวนิยมนำน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากภูเกล้าดื่มกินและล้างหน้าล้างตาเพราะเชื่อกันว่านี่คือน้ำศักดิ์สิทธิ์
กระนั้นร่องรอยความเป็นศิลปะขอมก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ไล่ไปตั้งแต่เมื่อเราเดินทางมาถึงก็จะเห็นบารายขนาดใหญ่ ถัดจากบารายก็จะผ่านร่องรอยของเสานางเรียง(ย้ำเหลือเพียงร่องรอย) จากนั้นก็จะเป็นปราสาทหลังใหญ่ 2 หลัง ที่แม้ว่าจะพุพังไปตามกาลเวลา แต่ร่องรอยของความงามในอดีตอย่างพวกลวดลายสลักหินต่างๆก็ยังคงมีให้เห็น ในรายละเอียดและความงาม เลยจากปราสาท 2 หลังออกไป ก็ถึงทางเดินขึ้นสู่ปราสาทประธานบนยอดเขา ที่เป็นบันไดหินสูงชันในแบบขอม โดยที่เชิงทางขึ้นบันไดช่วงที่มีซุ้มต้นจำปาที่เราชอบมากนั้น จะมีรูปเคารพของ พญากรมทา ซึ่งแม่เฒ่าที่ขายเครื่องสักการบูชาข้างๆรูปเคารพได้บอกว่า พญากรมทานี่แหละเป็นคนที่เปลี่ยนจากศาสนสถานแห่งนี้ปราสาทมาเป็นวัด ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวลาวแวะเวียนมาสักการะอยู่เสมอ(จริงเท็จประการใด ใครสงสัยคงต้องไปถามป้าเอาเอง) เมื่อเดินผ่านความงามและความหอมเย็นของซุ้มต้นจำปา สู่ปราสาทปรางค์ประธาน บนนั้นก็จะเป็นปราสาทเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยลวดลายแกะสลักศิลปะขอมที่แสดงถึงความเป็นฮินดูอยู่ครบครันไม่ว่าจะเป็น รูปนางอัปสร รูปทวารบาล รูปพระศิวะ รูปพระนารายณ์ รูปหน้ากาล แต่ว่าในสิ่งก่อสร้างที่เป็นฮินดูนั้น ณ วันนี้ก็มีวิถีแห่งความเป็นพุทธอยู่เต็มเปี่ยม สิ่งนี้ ผู้จัดการท่องเที่ยว ดูได้จากปราสาทปรางค์ประธาน ที่น่าจะเรียกว่าโบสถ์มากกว่า เพราะในนั้นมีพระพุทธรูปทั้งพระประธานและพระพุทธรูปองค์เล็กๆอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นที่กราบไหว้บูชาของทั้งคนลาว คนไทย และนักท่องเที่ยวที่นับถือศาสนาพุทธ
รูปสลักนางอัปสราที่ผนังด้านหนึ่งของปรางค์ประธาน
ส่วนที่ด้านข้างๆของปรางค์ประธานก็มีพระพุทธรูปขนาดเท่าคนประดิษฐานไว้ให้สักการบูชาอีกหนึ่งจุด และสิ่งที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวหลายๆคนมักจะมองข้ามไป ก็คือที่เชิงเขาด้านหลังทางฝั่งซ้ายของปรางค์ประธาน จะมีซอกหินที่มีน้ำธรรมชาติหยดติ๋งๆ ลงมาจากยอดภูเกล้าชาวลาวเขาถือกันว่านี่คือน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ใครได้ดื่มกินล้างหน้าล้างตา ก็จะเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต เรื่องนี้จะจริงหรือเท็จประการใด ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ว่าการที่เราเดินขึ้นไปบนปราสาทวัดภูเหนื่อยๆ เมื่อได้น้ำธรรมชาติเย็นๆล้างหน้าล้างตา มันก็ช่วยให้ร่างกายสดชื่นขั้นมามากโข นอกจากนี้ที่บนยอดเขาปรางค์ประธานนี่ก็ถือเป็นจุดชมวิวชั้นดี คือเมื่อมองย้อนทางเดินขึ้นลงไปก็จะเห็นบารายขนาดใหญ่ เห็นท้องทุ่งกว้าง เห็นคนเดินขึ้นเขา เห็นดวงจำปาที่ขึ้นเป็นซุ้มสวยงาม รวมถึงเห็นทิวทัศน์ส่วนหนึ่งของแขวงจำปาสัก ที่ไม่ใช่มีดีแค่ปราสาทวัดภูและมวลหมู่ดวงจำปาที่ขึ้นอย่างงดงามเท่านั้น แต่ว่าจำปาสักยังมีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวชม อย่าง มหานที สี่พันดอน ที่มีน้ำตก คอนพะเพ็ง น้ำตกใหญ่ที่ได้รับฉายาว่าเป็น ไนแองการ่าแห่งเอเชีย ที่ถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของจำปาสัก ซึ่งจะยิ่งใหญ่น่าเที่ยวชมขนาดไหนคงต้องมาติดตามกันต่อในตอนหน้า

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ปราสาทวัดภู ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว ที่ด้านหน้าของทางเข้าปราสาทวัดพูจะมีพิพิธภัณฑ์ภายในแสดงชิ้นส่วนประติมากรรมและสถาปัตยกรรมที่ขุดได้จากปราสาทวัดพู สำหรับการเดินทางสู่ปราสาทวัดพูจากเมืองไทย ข้ามชายแดนที่ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ข้ามไปด่านในสปป.ลาว จากนั้นเดินทางสู่เมืองปากเซประมาณ 50 กม.(ทางหมายเลข 13 ใต้) หากนั่งรถโดยสารค่ารถคนละ 5,000 กีบ( 1 บาท ประมาณ 250 กีบ) จากปากเซไปอีกประมาณ 30 กม. หรือ หลัก 30 ในภาษาลาว ก็จะมีทางแยกไปแพขนานยนต์ (คนลาวเรียกว่า บั๊ก) ข้ามระหว่างท่าบ้านม่วง-บ้านพระพีน ค่าข้ามคนละ 2,000 กีบ เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วก็จะถึงเมืองเก่าจำปาสัก จากจำปาสักไปอีกประมาณ 10 กม.ก็จะถึงยังปราสาทวัดภู หากนั่งรถโดยสารจากปากเซไปปราสาทวัดภูจะเสียค่ารถประมาณ 7,000 กีบ สำหรับค่าเข้าชมปราสาทวัดภูนั้นชาวต่างชาติ 5,000 กีบ(20 บาท) คนลาว 500 กีบ สอบถามรายละเอียดการเดินทางจากอุบลฯเข้าลาวได้ และสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในจำปาสักได้ที่ ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 โทร.0-4524-3770 สามารถติดต่อขอวีซ่าเข้าสปป.ลาวได้ที่สถานทูตลาว โดยต้องกรอกใบสมัครพร้อมติดรูป 2 ใบ ยื่นพร้อมกับหนังสือเดินทาง และต้องยื่นเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น หากไม่ทำวีซ่าก็สามารถไปทำบอร์เดอร์พาสที่ด่านชายแดนได้ แต่จะอยู่ในลาวได้เพียง 3 วัน 2 คืน สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานทูตลาว 0-2539-6667-8, 0-2539-7341

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook