เที่ยวปราสาทหิน เยือนถิ่นนางอัปสรา

เที่ยวปราสาทหิน เยือนถิ่นนางอัปสรา

เที่ยวปราสาทหิน เยือนถิ่นนางอัปสรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลุยเขมร เที่ยวปราสาทหิน เยือนถิ่นนางอัปสรา

เม้าท์โดย.....ป้าอ้น

    นครวัด นครธม เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ฉันผู้รักการท่องเที่ยว และนิยมไปสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในโลก คิดตลอดมาว่าจะต้องไปให้ได้ อีกทั้งอยู่ใกล้กับประเทศเราเองด้วย อย่างไรก็ดี ตอนที่เพื่อนมาชวนไป ฉันก็คิดอยู่เป็นเดือนเหมือนกัน ด้วยวิตกจริตกับปัญหาส่วนตัวที่ปวดท้องฉี่บ่อย  และไม่แน่ใจว่าลูกระเบิดทั้งหลายที่ต่างฝ่ายต่างฝังไว้ดับฝ่ายตรงข้าม จะเก็บหมดหรือยัง มิใช่อะไรหรอก ฉัน กลัวจะตกเป็นข่าว "สาวใหญ่ ฉี่ไม่เลือกที่ เลยดับอนาถเพราะกับระเบิด " น่ะ แค่นี้คนอ่านข่าวคงทั้งขำ และสมเพชไปในตัว 

    อย่างไรก็ดี ฉันก็เดินทางไปเขมรจนได้ เพราะคนพาไปเขายืนยันว่า เส้นทางที่ไปนั้น เขาเคลียร์(ลูกระเบิด)แล้ว และถึงจะไปฉี่รดมันจริง มันคงไม่ระเบิดแน่ ด้วยว่าส่วนใหญ่ระเบิดที่ฝัง เขากะจะบอมบ์รถถัง ดังนั้น ทั้งน้ำหนัก และอัตราความแรงของฉี่ไม่ว่าของใคร ก็ไม่มีทางทำให้สลักมันทำงานได้ เฮ้อ !โล่งอก ไปก็ไป(วะ)

    ตอนเดินทางไปนั้นเป็นช่วงปลายเดือนตุลาคม และยังเป็นฤดูฝนอยู่ ดังนั้นนับตั้งแต่นั่งรถบัสถึงจังหวัดสระแก้ว สู่ชายแดนไทย-กัมพูชาที่ปอตเปต  เราจึงเจอฝนตกปรอยๆ ตลอดทาง เมื่อผ่านด่าน และพิธีการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว พวกเราก็เปลี่ยนมาขึ้นรถมินิบัสปรับอากาศขนาด 20 ที่นั่งของเขมรแทน ในรถนอกจากคนขับที่เป็นชาวเขมรแล้ว ก็ยังมีชาวเขมรอีกคน ซึ่งตอนแรกพวกเราคิดว่า เป็นผู้ช่วยคนขับ หรือ กระเป๋ารถ ที่ไหนได้ เมื่อรถแล่นๆ ไป เราถึงได้รู้ว่า ถ้าขาดตาคนนี้ เราคงไปไม่ถึงที่หมายแน่  เพราะเส้นทางจากปอตเปต-ศรีโสภณ-เสียมราฐ หรือที่รู้จักกันว่าเส้นทางหมายเลข 6 อันเป็นเส้นทางการเดินทางจากไทยไปเสียมราฐ ที่ใกล้ที่สุด  คือประมาณ 152 กม. เป็นทางลูกรังเกือบตลอด ดังนั้น แทนที่เราจะใช้เวลาประมาณแค่ 3-4 ชม. ก็น่าจะถึงที่หมาย เอาเข้าจริง แต่เมื่อเจอกับฝนที่ตกหนักระหว่างเดินทาง ถนนลูกรังที่ว่า ก็พร้อมใจกลายเป็นทะเลโคลน บางแห่งกลายเป็นสระน้ำขวางทาง หากไม่มีนายคนนี้ถลกกางเกงลงไปกำกับเส้นทาง เหมือนเข็มทิศนำร่องแล้ว  มีหวังรถต้องจอดรอ จนกว่าน้ำจะแห้งแน่ แถมบางแห่งก็มีรถบรรทุกตกหล่มนอนตะแคงคว่ำขวางทางอยู่ รถเราก็ต้องซอกซอนหาทางวิ่งผ่านไปให้ได้  เรียกว่าลุย(โคลน)เขมรจริงๆ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงต้องใช้เวลาถึง11 ชม. กว่าจะถึงเสียมราฐ (บางคนบอกว่าการที่เขมรเรียกเมืองนี้อีกอย่างว่าเมืองเสียมเรียบนั้น  สงสัยก็คงดูจากคนไทยที่เดินทางไปแบบเรานี่แหละคือ พอไปถึงที่หมาย เสียมซึ่งหมายถึงสยาม หรือไทยเรา ก็นอนราบเรียบ เพราะหมดแรงไปตามๆกัน) 

     วันแรกของการเดินทาง แม้จะทุลักทุเล แต่หลายคนก็บอกว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่น่าจดจำเหมือนกัน  เพราะถนนหนทางบางช่วงที่รัฐเอาหินมาถมนั้น  หินที่เขาเอามาจะไม่มีการบดให้เล็ก แต่จะโรยทั้งก้อนใหญ่ๆ แบบนั้น ปล่อยให้รถราที่วิ่งผ่านไปมาบดกันเอาเอง เพราะฉะนั้น คิดดูเอาเองละกันว่า ยางรถเขมรจะอึดเพียงใด  การที่ต้องนั่งรถอย่างทรหดอดทน คิดว่าหลายคนจะถอดใจ ปรากฏว่ามีบางคนบอกว่าจะมาใหม่ แต่ขอเปลี่ยนเป็นมาหน้าหนาวแทน เพราะถึงถนนจะแย่  แต่ก็คงไม่มีหลุมมีบ่อให้ต้องลุ้นระทึกว่าจะผ่านไปได้หรือไม่ และนี่ก็เป็นข้อคิดสำหรับท่านที่คิดจะไปเที่ยวนครวัด นครธม ว่า หากจะไปทางบก กรุณาอย่าไปหน้าฝนเด็ดขาด ยกเว้นท่านจะชอบผจญภัย หรือลุ้นเพื่อความมันส์ในอารมณ์ (กลัวแต่จะเป็นอารมณ์เสียซะมากกว่า) ถึงกระนั้น  ก็อย่าลืมพกขนมของขบเคี้ยวที่พอจะช่วยให้อิ่มไปด้วยก็ดี  พอหากเกิดปัญหา อย่างน้อยยังมีอาหารกักตุนไว้บ้าง เพราะตามทางบางจุดเป็นทุ่งนาไม่มีบ้านช่อง หรือร้านค้าให้แวะซื้อของกินแบบบ้านเรา ดังนั้น ห้องน้ำห้องส้วมจึงหายากไปด้วย

     นครวัด นครธม ที่เรามักได้ยินฝรั่งเรียกกันว่า อังกอร์วัด อังกอร์ธม (ANGKOR WAT ANGKOR THOM -อังกอร์ แปลว่าเมือง หรือ นคร) นี้ ในปัจจุบันก็คือ โบราณสถาน เช่นเดียวกับ ปราสาทหินพนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพิมาย บ้านเรานั่นเอง เพียงแต่ว่าโบราณสถานสองแห่งนี้ในอดีตคือ ปราสาทขอมโบราณ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถาน เนื่องจากอาณาจักรขอมโบราณที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรสมัยนั้น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ถือเทพสามองค์เป็นใหญ่คือ พระศิวะ หรือพระอิศวร (เทพผู้ทำลายโลก) พระนารายณ์หรือพระวิษณุ (เทพผู้พิทักษ์ปกป้องโลก)  และพระพรหม(เทพผู้สร้างโลก) ซึ่งอาจเรียกรวมกันอีกอย่างได้ว่า "ตรีมูรติ" 

     การสร้างปราสาทหินของกษัตริย์สมัยนั้น  จึงมิใช่เป็นการสร้างปราสาทราชวัง  เพื่อเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร  แต่เป็นการสร้างเทวาลัย เพื่อถวายแก่เทพองค์ใดองค์หนึ่งในสามพระองค์ ตามความเชื่อของกษัตริย์พระองค์นั้นๆ ถ้ากษัตริย์องค์ใดนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ก็จะสร้างปราสาทหินที่มีรูปปั้น หรือสัญลักษณ์ของพระศิวะ เช่น ศิวลึงค์ ไว้บูชา ซึ่งเรียกลัทธิที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุดนี้ว่า "ไศวะนิกาย" แต่หากนับถือพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุด ก็จะสร้างรูปพระนารายณ์ไว้แทน ซึ่งเรียกกันว่า"ไวษณพนิกาย" (อ่านว่า ไวสะนบนิกาย ) อย่างไรก็ดี อาณาจักรขอมโบราณในอดีต ซึ่งมีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ ก็ใช่ว่าจะนับถือเพียงศาสนาฮินดูเท่านั้น  บางยุคบางสมัยศาสนาพุทธ(ลัทธิมหายาน ที่นับถือพระโพธิสัตว์ - ซึ่งเชื่อว่าเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาปลดเปลื้องความทุกข์ให้ชาวโลก) ก็เข้ามาอิทธิพลเช่นกัน อย่างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็มีการสร้างปราสาทเป็นพุทธสถาน เช่น ปราสาทพระขรรค์ ที่ทรงสร้างถวายพระราชบิดาของพระองค์

     นครวัด นครธม ที่คนทั่วไปมักเรียกคู่กันเสมอ อาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นสถานที่แห่งเดียวกัน  ความจริงทั้งนครวัด  นครธมอยู่กันคนละที่ เพียงแต่ต่างก็อยู่ในเมืองเสียมราฐ อันเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศกัมพูชา ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยมาก  ที่เมืองเสียมราฐนี้มีปราสาทอยู่มากมายถึง 308  ปราสาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยกว่าปราสาทเท่านั้น (จากคำบอกเล่าของคุณขันติ ไกด์สาวท้องถิ่นที่พูดไทยได้ และมีความรู้เรื่องปราสาทหินดีมากเล่าให้ฟัง)  ปราสาทเหล่านี้หลายแห่งก็เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา และภัยสงคราม  แต่หลายแห่งก็ได้มีขุดค้น และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยชาวฝรั่งเศส  สมัยที่เขมรเป็นอาณานิคม แม้ปัจจุบันเขมรจะเป็นอิสระแล้ว แต่ก็ยังมีหน่วยงาน องค์กรต่างชาติหลายแห่งมาให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  ทำให้เมืองเสียมราฐเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สนใจอีกแห่งหนึ่งของโลก เพราะนอกจากจะมีนครวัด นครธม ปราสาทหินที่ลือชื่อแล้ว  ยังมีปราสาทหินที่น่าทึ่งแห่งอื่นๆ ให้ชมอีกด้วย ซึ่งหากจะเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมแล้ว สามารถเที่ยวได้เป็นอาทิตย์ๆ เลยทีเดียว 

    อีกทั้งยังมีโรงแรมดีๆ หลายระดับให้เลือก โรงแรมของคนไทยที่ไปสร้างไว้ก็มีหลายแห่ง ความที่เป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้เมืองนี้ใช้เงินดอลล่าร์เป็นส่วนใหญ่  เงินไทยก็ใช้ได้แต่ต้องเป็นธนบัตร (แบงค์ 20 50 100 500 และ1,000 )ใช้ได้หมด ไม่รับเหรียญ เงินสกุลของเขมรเองเรียกว่า "เรียล" อัตราแลก 1 บาทประมาณ 100 เรียล(ตอนที่ไป) เรื่องภาษาก็ไม่มีปัญหา หากไม่ติดต่อกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ร้านค้า โรงแรม เจ้าหน้าที่ประจำสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ฟังไทย  พูดไทย และอังกฤษได้ สื่อสารกันรู้เรื่อง ความปลอดภัยถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่ง (หากไม่ไปเที่ยวสุ่มสี่สุ่มห้า หรือในที่เปลี่ยวบางแห่ง รับรองไม่มีปัญหา)

    นครวัด สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 (ปีพ.ศ.1650-1720 ) ในหนังสือสารคดีเชิงท่องเที่ยวเรื่อง"นครวัด นครธม" ที่เขียนโดย ธีรภาพ โลหิตกุล ได้กล่าวไว้ว่า นครวัด ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณ แต่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกปัจจุบัน  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเขาแบ่งอายุไว้ว่า สิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์สมัยโบราณจะมีอายุตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสตกาลมาถึง 500ปีหลังคริสตกาล (ค.ศ. 500) ได้แก่  พีระมิดใหญ่ในอียิปต์ สวนลอยกรุงบาบิโลน ฯลฯ จากนั้นจึงจัดเป็นสมัยกลางได้แก่ กำแพงเมืองจีน หอเอนเมืองปิซ่า ฯลฯ ส่วนสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์สมัยปัจจุบัน จะมีอายุระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 20 มีอยู่ 7 แห่งคือปราสาทหินเมือง นครวัด ทัชมาฮาล พระราชวังแวร์ซายส์ ตึกเอ็มไพร์สเตท เขื่อนยักษ์ฮูเวอร์ สะพานโกลเด็นเกท และ เรือโดยสารควีนแมรี่ 

    ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวในหนังสือ "ถกเขมร" ว่า "....เราเดินดูปราสาทนครวัดอยู่หลายรอบ  ยิ่งดูไปก็ยิ่งเห็นอัศจรรย์ในการก่อสร้างอันมหึมา ที่ปราศจากเครื่องมือใดๆ นอกจากแรงงานคน หินแต่ละก้อนที่เอามาก่อปราสาทนั้น มิใช่เล็กๆ  ในสมัยปัจจุบันเห็นจะไม่มีใครนึกฝันที่จะใช้แรงงานคนยก หรือ แบกหาม  ลายสลักของภาพต่างๆ นั้น ก็ละเอียดเป็นที่สุดแล้ว  เมื่อปราสาทก่อสร้างเสร็จด้วยแรงคนนับหมื่นนับแสน ก็ต้องใช้ช่างฝีมือเป็นจำนวนนับพันเข้ามาแกะสลัก คิดดูแล้วเห็นเกินกำลังดันทางศิลปะ เกินศรัทธาและเกินฝันของมนุษย์ ที่จะสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างอันใหญ่หลวงนี้ขึ้นมาได้ด้วยกำลังแขน กำลังขา และด้านเครื่องมือเพียงง่ายๆ ตามแบบโบราณ..." 

 

    นี่คือความยิ่งใหญ่ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้พรรณนาไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว กล่าวกันว่า ปราสาทนครวัดนี้ มีเสาหินรวมกันถึง 1,800 ต้นแต่ละต้นหนักกว่า 10 ตันขึ้นไป ต้องใช้แรงงานคนก่อสร้างหลายแสนคน ใช้ช้างเพื่อลากหินถึง 4,000 เชือก วิศวกร 3,000 คน สถาปนิก 5,000 คน และช่างแกะสลักราว15,000 คน หินที่ขนมาสร้างนี้นำมาจากเขาพนมกุเลนที่ห่างไปราว 50 กิโลเมตร ใช้เวลาสร้างนานกว่า 40 ปี  

    เห็นจำนวนคน และเวลาสร้างแล้วหลายคนคงร้อง "โอ้โห" แม้ตัวเลขข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่คงต้องใช้แรงงานเป็นแสนๆ แน่นอน ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจถึงความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทหินแห่งนี้ และคงเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่า เหตุใดจึงเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เมื่อไปเห็นด้วยตาตนเอง ก็อดคิดไม่ได้ว่าสมัยพันปีก่อน เขาทำได้อย่างไรนะ สมัยนี้ถึงแม้เครื่องมือจะทันสมัยกว่า แต่.. แค่คิดก็ยากแล้ว 

    พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างนครวัดขึ้น นอกจากจะสร้างเพื่อเป็นเทวสถานตามความเชื่อทางคติพราหมณ์ที่ยกย่องกษัตริย์เสมือนดังเทพเจ้า ที่เรียกว่า "ลัทธิเทวราชา"  อันหมายถึงกษัตริย์คือ ตัวแทนของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ จึงต้องยกย่องโดยการสร้างเทวาลัยถวาย เพื่อให้เป็นที่ประทับของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์แล้ว  พระองค์ยังทรงสร้างเพื่อให้เป็นสุสานไว้พระศพของพระองค์เองอีกด้วย ดังนั้น ปราสาทนครวัดจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก 

    การที่มหาปราสาทนครวัดถูกเรียกว่า นครวัด แม้จะสร้างขึ้นเพื่อถวายพระวิษณุในศาสนาฮินดู ก็เพราะว่าในราวพุทธศตวรรษที่ 21  ในรัชสมัยของนักองค์จันทร์ได้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้บนระเบียงคต และบนปรางค์มากมาย เทวาลัยแห่งนี้จีงกลายมาเป็นวัดในพุทธศาสนา  และถูกเรียกว่า"นครวัด" ต่อมา 

    สิ่งที่นักท่องเที่ยวไปชมเมื่อไปเยือนนครวัด นอกจากจะเป็นความยิ่งใหญ่ของตัวปราสาทหินที่แค่ โคปุระ (ซุ้มประตูทางเข้าก็ใหญ่กว่าปราสาทหินพนมรุ้งทั้งหลังแล้ว)  ก็คือการไปชมภาพจำหลักหินตาม"ระเบียงคต" (ทางเดินที่มีผนังกั้น และมีหลังคาคลุมเหมือนห้องยาว ต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบปราสาทด้านใน) ที่จะสลักเป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น ภาพนรก-สวรรค์ ภาพมหากาพย์รามายณะ ภาพพระนารายณ์ทรงครุฑสู้กับกองทัพอสูร ภาพกองทัพพระเจ้าสุริยวรมันที่สอง และภาพ  "เสียมกุก" ซึ่งภาพนี้ มีผู้ตีความว่า หมายถึงกองทหารสยาม และก็วิเคราะห์ไปต่างๆ นานาทั้งด้านดี และไม่ดี เช่น บ้างก็ว่าเป็นทหารสยามที่ไปช่วยขอมรบ  บ้างก็ว่าดูแล้วเป็นทหารที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย คือมีการหันหน้าคุยกัน บ้างก็ว่าเป็นภาพทหารเกณฑ์รับจ้างชาวสยาม ฯลฯ

     ส่วนอีกภาพที่น่าพูดถึง เพราะจะไปปรากฏในปราสาทหินหลายแห่งคือ ภาพเทวดา และ อสูรกวนเกษียรสมุทร(ทะเลน้ำนม) หรือภาพ" กูรมาวตาร"  อันหมายถึงปางที่พระนารายณ์อวตารเป็นเต่า มีตำนานเล่าว่า สมัยหนึ่งเมื่อเทวดา และ อสูรต่อสู้กัน ฝ่ายเทวดาจะแพ้อยู่เรื่อย เนื่องจากต้องคำสาปจากฤษีตนหนึ่ง  จึงไปขอให้พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ช่วย พระองค์ก็ได้ทรงแนะนำให้ทำพิธี "กวนเกษียรสมุทร" เพื่อให้ได้น้ำทิพย์สำหรับเทวดาดื่มแล้วเป็นอมตะ  แต่การกวนเกษียรสมุทรต้องใช้เขาพระสุเมรุเป็นไม้กวน และใช้พญานาควาสุกรีเป็นเชือกพัน  ต้องดึงสองข้าง (คล้ายกับการปั่นไอศกรีม) เทวดาจึงออกอุบายให้อสูรช่วย  โดยหลอกว่าจะแบ่งน้ำอมฤตให้ อสูรจึงยอมมาช่วย เทวดาวางแผนให้อสูรฉุดทางหัวนาค ฝ่ายเทวดาฉุดหางนาค เมื่อกวนกันไปกวนกันมา  ปรากฏว่าพญานาควาสุกรีเกิดความร้อนจึงระบายด้วยการพ่นพิษออกมา พระศิวะกลัวพิษจะไปเผาผลาญโลกจึงกลืนพิษไว้ทั้งหมด กระทั่งพระศอไหม้เกรียม (ด้วยเหตุนี้ พระศิวะจึงมีพระศอหรือคอสีดำ) อย่างไรก็ดี การปั่น หรือกวนไปนานๆ ทำให้เขาพระสุเมรุเจาะลึกลงไปจนอาจจะทะลุโลกให้แตกสลายได้  พระนารายณ์จึงได้อวตาร(แปลง)เป็นเต่ามารองรับภูเขาไว้ ภาพนี้จึงได้เรียก"กูรมาวตาร" อีกอย่างหนึ่ง การกวนเกษียรสมุทรนี้ปรากฏว่าได้มีของ 10  อย่างผุดขึ้นมาด้วยนั่นคือ 1. โคสุรภี สารพัดนึก 2.วารุณี เทพีแห่งสุรา 3.ต้นปาริชาติ ที่ใครได้กลิ่นจะระลึกชาติได้ 4. พระจันทร์ 5.พิษร้ายให้พญานาคเสพชูกำลัง 6.ลักษมีเทวี ต่อมาเป็นชายาพระนารายณ์ 7.ม้าอุจไฉรพ 8.ช้างเอราวัณ 9.ธันวันตริ แพทยสวรรค์ และ10.เหล่านางอัปสร 35 ล้านองค์ (นางอัปสรแปลว่า"ผู้กระดิกในน้ำ หมายถึงผู้ที่เกิดจากการกวนน้ำ) ซึ่งที่เขมรนี้จะเรียกกันว่า "นางอัปสรา" ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็หมายถึงนางฟ้า หรือ เทพธิดานั่นเอง 

     นางอัปสรานี้จะเป็นภาพจำหลักอยู่ตามจุดต่างๆ ในปราสาทหินทุกแห่ง เสมือนหนึ่งบริวารผู้คอยรับใช้เทพเจ้า ในตัวปราสาทนครวัดก็มีนางอัปสราถึงพันกว่าองค์  แต่ละองค์ก็จะมีลีลาท่าทางต่างกันไป บ้างก็ยิ้มเห็นฟัน บ้างก็นุ่งขาสั้น บ้างก็อยู่ในท่าร่ายรำ ฯลฯ แต่ละองค์จะทรงท๊อปเลส(คือไม่ใส่เสื้อ) หลายองค์ถันจึงมันแพล่บ  เพราะถูกนักท่องเที่ยวลูบคลำ จะว่าไปแล้วนางอัปสราก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของปราสาทหินที่นี่ และด้วยเหตุนี้กระมัง นาฏศิลป์ของเขมรจึงมีการแสดงชุดนางอัปสราอยู่ด้วย ซึ่งดูสวยงามแปลกตาดี 

 

     ในส่วนของ "นครธม" หรือเมืองพระนครหลวง ที่มีความหมายว่า "เมืองใหญ่" เป็นเมืองหลวงของขอมโบราณมานับร้อยปี และตัว "นครธม" จะมิได้หมายถึงปราสาทเพียงปราสาทเดียวแบบนครวัด แต่จะประกอบด้วยปราสาทหินต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์หลายยุคหลายสมัย เช่น ปราสาทบายน  ปราสาทพระขรรค์ ปราสาทตาพรหม สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทพนมบาเค็ง สร้างในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ปราสาทบันทายศรีหรือบันทายสรี  สร้างในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน ปราสาทปักษีจำกรง สร้างสมัยพระเจ้าหรรษาวรมันที่ 2 เป็นต้น ซึ่งแต่ละปราสาทก็จะมีประวัติ และลักษณะเด่นเป็นเฉพาะเป็นของตน  อย่างปราสาทบายน อันเป็นศูนย์กลางของนครธม จะมียอดพระปรางค์จำนวน 54 ยอด  แต่ละยอดจะประดับด้วยพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  เมื่อนับรวมกันแล้วก็จะมีถึง 216 พระพักตร์  เดินไปตรงไหน ก็เหมือนหนึ่งมีพระพักตร์ของพระพุทธองค์คอยจับจ้อง ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  คงจะสร้างเพื่อเป็นเสมือนตัวแทนของพระองค์ที่คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรไปทั่ว ด้วยว่าพระอวโลกิเตศวร หมายถึงพระโพธิสัตว์ผู้เป็นใหญ่ในโลก  ที่ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา แทนที่จะเสด็จนิพพานไปก่อน กลับอยู่ช่วยเหลือพวกมนุษย์ให้พ้นทุกข์แล้วจึงจะเข้าถึงนิพพานภายหลัง  ที่ดูพิเศษของปราสาทนี้คือ สองข้างของสะพานที่ทอดข้ามคูเมือง ด้านซ้ายจะรูปเป็นเทวดา 54 องค์กำลังฉุดตัวนาค ส่วนด้านขวาก็เป็นยักษ์ 54 ตนกำลังฉุดนาคเช่นกัน  (คือกำลังช่วยกันการกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำทิพย์อย่างที่กล่าวมาแล้ว) 

     ส่วน  ปราสาทตาพรหม นั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างเป็นวัดในพุทธศาสนา เพื่อถวายพระมารดาของพระองค์  มีความแปลกตรงที่เป็นปราสาทที่มีรากไม้ใหญ่ชอนไช คลุมตัวปราสาทไว้ ไกด์บอกว่าต้นไม้ที่ขึ้นคลุมปราสาทไปทั่วนี้เรียกว่า "ต้นสะปง" หรือคนไทยเรียกว่า "ต้นสำโรง" ปราสาทแห่งนี้เป็น 1 ใน 102 แห่งของ"อโรคยาศาลา" หรือศาลาไร้โรคที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างไว้เพื่อรักษาผู้ป่วยหรือจะเรียกว่า สาธารณสุขโบราณ ก็ว่าได้

    สำหรับ  ปราสาทบันทายศรี หรือ บันทายสรี แม้จะเป็นปราสาทเล็กๆ ไม่ใหญ่นัก แต่มีความเด่นตรงที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพู และมีการแกะสลักที่ละเอียดมาก  ภาพที่เห็นเหมือนจะลอยออกจากหิน กล่าวกันว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ทรงสร้างเทวาลัยนี้เพื่ออุทิศแก่พระครูพรหมณ์ยัชญาวรหะ ที่เลี้ยงดูพระองค์มาแต่ยังเยาว์ แต่บางแห่งก็ว่าพระครูท่านนี้ขออนุญาตจากพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 สร้างเอง อย่างไรก็ดี  ปราสาทแห่งนี้ก็มาสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 และเป็นเทวสถานลัทธิไศวะนิกาย คือนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด เหนือกว่าพระวิษณุ หรือพระพรหม ทำให้ภาพสลักหินที่นี่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระศิวะและพระอุมา (ชายาพระศิวะ)เป็นส่วนใหญ่ และก็มีรูปนางอัปสราที่ว่ากันว่าสวยที่สุด ด้วยว่าเทพธิดาองค์นี้เธอชม้ายชายตาผิดไปจากนางอัปสราในที่อื่นๆ 

    มีข้อน่าสังเกตว่าแม้ขอมโบราณ จะนับถือศาสนาฮินดูที่นับถือเทพเจ้าสามองค์ดังกล่าวมาแล้ว แต่น่าแปลกที่ไม่ยักจะเห็นปราสาทใดสร้างถวายพระพรหมเลย  หรือว่าขอมโบราณเห็นว่าพระพรหมท่านเกิดจากสะดือพระนารายณ์ เลยดูด้อยกว่า ก็ไม่ทราบได้

    เป็นที่น่าเสียดายว่า พวกเราแม้จะมีโอกาสขึ้นไปยอดเขาพนมบาเค็ง ซึ่งเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์อัสดง(พระอาทิตย์ตก)ที่สวยที่สุดของที่เมืองนี้  และสามารถมองเห็นวิวของปราสาทนครวัดจากบนนี้ได้อย่างเต็มตา แต่พวกเราก็ขึ้นไปชมไม่ทัน เพราะมัวแต่ไปล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวบ้านที่ "โตนเลสาบ" (Tonlesap) หรือทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเขมร และเอเชีย (ถ้าดูแผนที่กัมพูชา เราจะเห็นรอยเว้าตรงกลางประเทศ นี่แหละคือ โตเลสาบ  ที่ว่ากันว่า เป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่สมบูรณ์ที่สุด และทำรายได้เลี้ยงคนกัมพูชาเกือบทั้งประเทศ นอกเหนือไปจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่เมืองเสียมราฐนี้

    สถานที่อีกแห่งที่พวกเราได้มีโอกาสไปชมคือ เขาพนมกุเลน (หรือเขาลิ้นจี่ สงสัยสมัยก่อนคงมีต้นลิ้นจี่แยะ) ที่นี่เรามาดูภาพแกะสลักนารายณ์บรรมทมสินธุ์ และศิวลึงค์ใต้ธารน้ำที่มีนับพันแท่งรวมทั้งรูปโยนีที่สลักอยู่บนลานหินแผ่ขนานไปตามลำธารตื้นๆ ความน่าทึ่งของที่นี่อยู่ที่การทำนบเปลี่ยนเส้นทางสายน้ำของคนสมัยก่อน จนเมื่อแกะสลักรูปศิวลึงค์นับเป็นพันๆ แท่งเกือบตลอดเส้นทางสายน้ำเสร็จแล้ว  จึงปล่อยให้ธารน้ำไหลผ่านศิวลึงค์ลงสู่ที่ราบเบื้องล่าง กลายเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์เหมือนแม่น้ำคงคาในอินเดีย หลายคนอาจจะสงสัยว่าไปแกะศิวลึงค์(อวัยวะเพศชาย-แทนองค์พระศิวะ)ในสายน้ำทำไม  ถามไกด์ดูก็ได้ความว่า เป็นความชาญฉลาดของกษัตริย์ขอมสมัยก่อน ที่โดยปกติแล้วการทำพิธีเพื่อให้ได้น้ำศักดิ์สิทธิ์ มักจะทำในปราสาท โดยพราหมณ์ จะตักน้ำรดแท่งศิวลึงค์ที่ตั้งบนแท่นโยนี  (แท่นหิน มีร่องตรงปลาย เปรียบเหมือนอวัยวะเพศหญิงแทนพระอุมา) โดยเป็นความเชื่อว่า เมื่อนำสัญลักษณ์ทั้งสองมาคู่กัน จะหมายถึงความอุดมสมบูรณ์  การที่ตักน้ำไปรดที่ศิวลึงค์ก็เสมือนรดผ่านร่างกายอันศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระศิวะเทพ เมื่อประกอบการร่ายมนตร์ของพราหมณ์  และน้ำไหลผ่านแท่นโยนีอันหมายถึงพระอุมาเทวี น้ำที่ได้จึงมีความเป็นสิริมงคลเอาไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือใช้ในการเกษตรก็ให้ผลดี แต่การทำพิธีดังกล่าว ก็คงได้น้ำศักดิ์สิทธิ์ไม่มาก หรือคงไม่เพียงพอ กษัตริย์ท่านจึงเกิดความคิดไปสลักแท่งศิวลึงค์บนลานหินกลางธารน้ำตกที่ไหลผ่านชุมชนซะเลย  เมื่อไปทำพิธีก็มีน้ำให้ประชาชนใช้อย่างเหลือเฟือ เพราะถือว่าน้ำที่ไหลผ่านศิวลึงค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว ซึ่งต้นธารน้ำตกที่นี่เรายังได้เห็นรูปสัญลักษณ์ "ตรีมูรติ"  ที่สลักเป็นนารายณ์บรรทมสินธุ์มีรูปพระพรหมออกมาจากนาภี (สะดือ)และแท่งศิวลึงค์แทนพระศิวะอยู่ในที่เดียวกันด้วย 

    สำหรับการไปเที่ยวเขมรนี้ ขอแนะนำว่า ไปกับทัวร์ดีที่สุด เพราะเขาจะอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้ทั้งที่พัก และอาหารการกิน ถ้าไปทางรถก็ถูกหน่อย  แต่หากคุณมีอายุ หรือ ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง โปรดไปทางเครื่องบินจะดีที่สุด เพราะมีสายการบินบินตรงจากไทยไปเสียมราฐเลย ที่นี่อาหารเรียกได้ว่าถูกปากคนไทย และหากินได้ไม่ลำบาก หากจะซื้อของ ก็แวะไปตลาดเก่าที่เป็นแหล่งช้อปปิ้งได้ มีของขายหลายอย่าง ราคาสินค้าก็แล้วแต่ ต่อรองกันได้ หากชอบเสื้อยืด  ควรดูด้วยว่าผลิตที่ไหน เพราะมีทั้ง made in Thailand และ made in Cambodia เขาจะมีเขียนอยู่ตรงสาบเสื้อด้านใน ชอบแบบไหนแล้วแต่เลือก เพราะเนื้อผ้าก็พอๆ กัน ราคาไม่แพง 

    สิ่งที่เราได้จากการเดินทางไปชมนครวัด นครธม ครั้งนี้ คงจะมิใช่เพียงความประทับใจที่ได้ไปเห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกที่ได้สัมผัสถึงความเพียรพยายามของมนุษย์ไม่ว่ายุคใดสมัยไหนก็สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อันเหลือเชื่อ และ ท้าทายกาลเวลาได้เสมอ  หากเขาเหล่านั้นมีความเชื่อ และ ศรัทธาที่มั่นคง

..................................................................

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook