โอ้ ! อัศจรรย์เหลือเชื่อ..นี่หรืออินเดีย (ตอนที่ 1)

โอ้ ! อัศจรรย์เหลือเชื่อ..นี่หรืออินเดีย (ตอนที่ 1)

โอ้ ! อัศจรรย์เหลือเชื่อ..นี่หรืออินเดีย (ตอนที่ 1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอ้ ! อัศจรรย์เหลือเชื่อ.....นี่หรืออินเดีย (ตอนที่ 1) ( Incredible India ) ออนไลน์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550

คุณพ่อ  นิคม  วุฒิกานากร ... ผู้ร่วมเรียบเรียง ตรวจทานความถูกต้อง และข้อมูลเชิงพุทธโดยละเอียด 

ณัฐภณ  วุฒิกานากร  (เอ บ้านผางาม) ผู้เขียน / ภาพ

       พบกันอีกครั้งนะครับ กับผม ณัฐภณ วุฒิกานากร (เอ บ้านผางาม) ในการผจญภัยบทใหม่สู่ดินแดนภารตะ ที่คงความเก่าแก่ทางอารยธรรมมาแต่สมัยพุทธกาล  บทความที่แล้วของผมเล่าถึงการเดินทางกับคุณแม่บนเรือสำราญสุดหรู สู่ดินแดนอะลาสก้า พรมแดนธรรมชาติสุดท้าย   การเดินทางในครั้งนี้ของผมกับคุณพ่อ จึงแตกต่างโดยสิ้นเชิงครับ  เหมือนสูงสุดสู่สามัญ  ซึ่งเป็นการเดินทางไปในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ลี้ลับ และสร้างความตื่นตา ประทับใจไม่รู้ลืม  เปรียบเหมือนการเดินทางของจิตใจและความคิดไปพร้อมๆ กัน

      การเดินทางสู่อินเดียของผมในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สอง โดยตามรอยสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง อันสมควรแก่พุทธศาสนิกชนพึงจะได้มาจาริกสักครั้งหนึ่งในชีวิต   เพื่อให้ซึมซาบถึงเรื่องราวของพุทธประวัติ จากสถานที่จริง และความหมายของพระธรรมคำสั่งสอนครับ  

       แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีบทความ และรายการมากมาย ได้มาถ่ายทอดเรื่องราวของทัวร์สังเวชนียสถานแล้ว  ที่สำคัญ ขอออกตัวว่า ผมเองยังขาดความแตกฉานลึกซึ้งอย่างมาก  สำหรับผมแล้วอินเดีย เป็นสถานที่ที่ผมรู้สึกว่า  มีอะไรให้เรียนรู้ไม่รู้จบ   จึงขอเล่าเรื่องราวในฐานะของนักเดินทางคนหนึ่งที่ได้เดินทางมาพบเห็น

       ความงดงามข้างทางมากมายแฝงเร้นอยู่  ผู้คนรอบข้างยังยิ้ม และใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้   แม้ในความเป็นอยู่ที่แสนลำบากยากเข็ญ  ทำให้ผมนึกถึงคำของพระอาจารย์น้อยที่บอกไว้ว่า จงมองอินเดียในอย่างที่เขาเป็น  ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากให้เขาเป็น

       จากมุมมองของผม  อินเดีย เป็นประเทศที่มีสีสันและรสจัดจ้าน  ทั้งในแง่ของผู้คน วัฒนธรรม ศาสนา สถาปัตยกรรม และรสชาติอาหารและรสชาติชีวิต  จึงไม่น่าแปลกใจว่า  อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ผมประทับใจมากที่สุด   ทั้งๆ ที่หลายคน เมื่อจะมาอินเดีย   ต้องรู้สึกลำบากทั้งด้านอาหารการกิน  ที่พัก และความสะอาด (สุขา) อย่างแน่นอน  

      ขอยืนยันเลยครับว่า ไม่น่าห่วงอย่างที่คิด  ใครที่ชอบทานมังสวิรัติ ยิ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทานอาหารเพื่อสุขภาพอีกด้วย   มีคำเปรียบเปรยไว้น่าฟังเลยครับว่า  อินเดียเป็นประเทศที่  ผวาเมื่อรู้ว่าจะมา  แต่จะถวิลหาเมื่อลาจาก  

       การเดินทางของผม  มองกันดีๆ ใช้เวลาถึง 3 ปีทีเดียว ( ถ้ามองในแง่ของ  การเดินทางแห่งความคิดของผมนะครับ )  ซึ่งการมาทั้งสองครั้งของผม มันช่างให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก  รู้สึกได้ชัดเลยครับว่า  เมื่อเวลาผ่านไป  มันเปลี่ยนมุมมองของเราต่อสิ่งรอบข้างเดิมๆ ที่เราเคยเห็น    เหมือนกับเรามองย้อนไปเห็นตัวเราเมื่อ 3 ปีที่แล้ว  ยืนห่างจากเราออกไป  ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเราในตอนนี้เลย  

       ที่นี่เป็นที่เดียวที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนี้ครับ  เป็นเรื่องประหลาดและท้าทาย สำหรับผมมากครับ  เหมือนจะบอกกลายๆ กับผมตามคำสอนทางพุทธศาสนาว่า  สิ่งที่แน่นอนที่สุดในโลก ก็คือ ความไม่แน่นอน   ตัวเราเองมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ  หาอะไรยึดติดว่าเป็นตัวเราจริงๆ นั้นไม่ได้เลย   เอ้า!!!  ก็ให้มันรู้กันไปเลยดีกว่า  ว่าอะไรจะรอเราอยู่   ชีวิตนักเดินทางอย่างผม  ไม่ออกเดินทางสู่โลกกว้างก็ไม่รู้ จริงไหมครับ....

        งานนี้ผมใช้กล้องคู่ใจ เป็นเครื่องมือบันทึก เรื่องราวการเดินทางของผม โดยเน้นการถ่ายสไตล์ LOMO (Leninggradskoye Optiko Mechanichesckoye Obyedinenie) ครับ  ดูเป็นหลักการ  แต่แนวคิดง่ายๆ เลยครับ คือ คิดน้อย ถ่ายเยอะ  5555  นิยามจริงๆ คือ  ภาพที่ถ่ายโดยใช้สัญชาตญาณในการบันทึกภาพ หรือเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ  โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก  

    ใช้มุมแปลกๆ บ้าง  ถ่ายแบบไม่ได้ต้งใจ  ถ่ายให้ได้มากที่สุด ทุกสถานการณ์ ทุกมุมอง ทุกท่วงท่า  จะได้ภาพที่มีสีสันจัดจ้าน ดูดิบ และแปลกตา  (ขอบคุณคำนิยามจาก Inspiration Art : นิตยสาร Metro Life ครับ)  ข้อเสียของการถ่ายภาพแบบนี้ คือ เราต้องมีสมาธิจดจ่อกับรอบข้างตลอด  จะไม่ค่อยรู้สึกผ่อนคลาย  แต่บางครั้งก็ได้ภาพที่จะประทับในความทรงจำคุณตลอดไปทีเดียวครับ

 

พุทธคยา คิชฌกูช - พาราณสี        โปรแกรมการเดินทางของผมเริ่มต้นที่เมืองพุทธคยา  ดินแดนศรีมหาโพธิ์ ณ สถานที่ที่พุทธองค์ตรัสรู้  ซึ่งการได้มาเยือนครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเราได้มาก้มกราบหน้าพระพักตร์พุทธองค์ หน้าแท่นวัชรอาสน์  ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ แห่งนี้  ควรแก่การสำรวม และระลึกน้อมถึงคุณแห่งพระธรรมที่ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ จุดนี้ เมื่อเกือบ 2,600 ปีที่แล้ว   ได้มีโอกาสสวดมนต์ และนั่งสมาธิเพื่อความสงบของจิตใจ

       พอสมควรแก่เวลาก็ออกเดินทางสู่สถานที่ใกล้เคียงอีกหลายที่  เช่น  บ้านนางสุชาดา ที่ถวายข้าวมธุปายาส เป็นภัตตาหารก่อนที่พุทธองค์จะทรงลอยถาด ตั้งจิตอธิษฐานมุ่งสู่การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า , แม่น้ำเนรัญชรา ที่ทรงเสด็จข้ามสู่ศรีมหาโพธิ์ , ฯลฯ  ทำให้เราตระหนักได้ว่า  สถานที่ในพุทธประวัติเหล่านี้มีอยู่จริง  จริงขนาดเห็นภาพชัดเจนว่า  การมุ่งสู่การเป็นศาสดาเอกของพระพุทธองค์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

       สถานที่เหล่านี้ ยังคงความเป็นอาณาจักรที่ยังมีรูปแบบชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี  วรรณะ และ ความยากแค้น  เหมือนเมื่อครั้งที่สมัยพุทธกาลเป็นเช่นไรก็ยังคงสภาพนั้น    นอกจากเราจะเหมือนได้เดินทางข้ามย้อนเวลาไปเดินในแดนพุทธภูมิ  และคิดพิจารณาถึงตัวเราเปรียบกับสภาพความเป็นอยู่ โดยท่านที่มีความกังวลใจคิดว่าชีวิตเรามีเรื่องทุกข์และลำบากอยู่ก็จะหายไปโดยสิ้นเชิงเลย  ชีวิตลำบากของเรายังเทียบไม่ได้แม้แต่นิดเดียว   กับคนที่ยังกังวลกับการจะมีอาหารกินในวันต่อไปหรือไม่ 

        หญิงสาวที่ต้องตกอยู่ในกรอบประเพณีเข้มงวด  ชนชั้นที่ตกอยู่ในระบบวรรณะ  จึงต้องบอกกับทุกท่านเลยว่า  การเดินทางมาอินเดีย  มิใช่การเดินทางมาเพื่อความเพลิดเพลินแม้แต่น้อย   ท่านต้องมีศรัทธาและความตั้งใจ พร้อมที่จะปรับตัว และเรียนรู้กับสิ่งรอบข้าง  ขณะเดียวกันก็ เดินทางในความคิด ควบคู่กัน   พิจารณาชีวิตของท่านไปด้วย ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต  จึงจะเรียกได้ว่า เดินทางมาอินเดียอย่างแท้จริง

       อย่างที่บอกครับ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาหดหู่ ห่อเหี่ยวใจ  เพราะเราต้อง มองอินเดียในอย่างที่อินเดียเป็น มองเห็น พิจารณา  แล้วปล่อยวาง  เพราะตลอดการเดินทางก็มีความน่าสนใจมากมายให้ผมได้ติดตามในแต่ละวัน  เช่น ขบวนสิงสาราสัตว์ ตั้งแต่ ฝูงหมูป่าที่กำจัดสิ่งสกปรกตามถนน, นกยูงบินตัดอาทิตย์อัสดง, หมาจิ้งจอกที่วิ่งตัดหน้ารถบัสขณะออกจากวัดไทย, แมวป่าที่ออกมาจากหลังกองฟาง ขณะไปยิงน้องกระต่าย  ฯลฯ  

       ขนบธรรมเนียมที่น่าสนใจที่เราต้องยอมจำนนในเหตุผลของเขา  มีหลายเรื่องที่ทำให้ต้องมาคิดเปรียบเทียบกันกับประเทศเรา  เช่น แนวคิดเรื่องความพอเพียงที่เป็นรูปธรรม จะเห็นได้ชัดจากผู้คนที่ใช้ชีวิตเกษตรตามทาง  เขาจะใช้มูลวัวซึ่งเราเห็นว่าสกปรก  มาผสมเศษวัสดุแล้วแปะไว้ตามผนังบ้าน  เมื่อแห้ง  นำมาใช้ทำเป็นฟืนหุงอาหาร,ใช้ผิงไฟเมื่อหนาว, หักโยนเป็นปุ๋ยในไร่นา (ได้ผลดีซะด้วย),จำหน่ายให้เป็นรายได้แก่ครอบครัว และประโยชน์อื่นๆ อีกมาก

       ไปจนถึง เรื่องของรถบัสบางคันที่ถูกจี้ปล้น   บางครั้งโจรจะออกใบเสร็จให้คนขับ  เพื่อไปแจ้งเป็นค่าใช้จ่ายว่าถูกปล้นจริง  คนขับซึ่งเป็นวรรณะต่ำเหมือนกัน จะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ฯลฯ    แต่ที่ผมว่าเป็นสาระ และเป็นมงคลแก่ชีวิตที่สุด คือ การได้ฟังธรรมะจากพระวิทยากรที่นำเราตลอดเส้นทาง  นอกจากการนำเที่ยว  ก็จะสอดแทรกพุทธประวัติในเชิงลึกตามรายทางที่ผ่าน  รวมถึงเนื้อหาธรรมะในเชิงละเอียดน่าติดตาม   หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ  แต่เชื่อผมเถอะครับว่า  การที่เราได้ชะลอชีวิตเราให้ช้าลง  มีเวลา หยุดคิด หรือ หยุดที่จะคิด บ้าง   ช่วยสร้างความสงบให้กับเราอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะครับ 

       เช้าวันต่อมาจึงเดินทางสู่เขาคิชฌกูช  ยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า  มีถ้ำซึ่งเคยเป็นที่พำนักของอัครสาวกเบื้องขวา และเบื้องซ้าย คือ พระสารีบุตร ผู้เป็นเลิศทางปัญญา  และพระโมคคัลลานะ  ผู้เป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์   ผ่านช่องเขาที่พระเทวทัตกลิ้งหินประทุษร้ายพุทธองค์ ,ฯลฯ   การได้มาสักการะ ณ ที่นี่  ถือเป็นมงคลชีวิต และทำให้จิตใจได้สงบมากครับ  

       จากนั้นจึงออกเดินทางสู่ ตโปทานที แห่งหุบเขาเวภาระ ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำร้อนศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้เป็นสถานอาบน้ำกลางแจ้งสำหรับชาวฮินดู   สื่อให้เห็นถึงระบบวรรณะอย่างชัดเจนครับ  โดยต้นน้ำจะเป็นที่อาบน้ำของวรรณะสูง  ตั้งแต่  พราหมณ์  กษัตริย์  แพทย์ ศูทร  มีการแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน 

        และน่าสะท้อนใจ ก็คือ น้ำที่้อาบในวรรณะต่ำสุด มีสภาพไม่ต่างจากน้ำครำ (ดำปี๋ และเหม็น จริงๆครับ)   (เนื่องจากไม่สามารถถ่ายรูปมาได้ เพราะเป็นข้อห้ามของเขา  ต้องขออภัยครับ)  เขาก็ยังอาบได้และถือเป็นน้ำร้อนศักดิ์สิทธิ์    ซึ่งแนวคิดเรื่องวรรณะที่เข้มแข็งนี้   แม้ในสายตาคนภายนอกอาจจะเป็นเรื่องที่รับได้ยาก  แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการปกครองคนหมู่มากในอินเดียมาแต่โบราณกาล 

       คงไม่มีที่ไหนที่พิสูจน์ถึงความเชื่อมั่นอันยิ่งใหญ่ทางศาสนาฮินดูได้เท่ากับ  การอาบน้ำ และชำระร่าง(ศพ) ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสี    เชื่อกันว่าการกระทำเช่นนี้ จะช่วยชำระล้างบาปให้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ   รวมถึงพิธีการเผาศพที่ริมแม่น้ำคงคาจะใช้ไฟ จากวิหารศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่เคยดับมากว่าห้าพันปี   เป็นการยืนยันถึงศรัทธาทางศาสนาที่แน่วแน่ของชาวฮินดูครับ  

      ระหว่างทางเข้าเมือง  ไกด์ได้ชี้ให้เราดูรถคันข้างๆ กำลังจะไปแม่น้ำคงคา เพราะมีเครื่องสักการะบนหลังคารถห่อด้วยผ้าสีทองอร่าม  เมื่อผมกระหน่ำเก็บภาพไว้แล้ว  พิจารณาดูว่า ปลายห่อมันงอนๆ เหมือนปลายเท้าคน  เข้าใจไม่ผิดล่ะครับ นั่นคือศพที่เขากำลังจะไปเผาริมแม่น้ำนั่นเอง  ถ้าได้เห็นศพ  จะถือว่าเป็นโชคดีของเราครับ โอ้ว.. คุณพระช่วย.....เป็นบุญของผมจริงๆ    

        เมื่อเดินทางถึง    เราก็เริ่มโปรแกรม ล่องเรือชมแม่น้ำคงคายามอาทิตย์อัสดงที่งดงาม เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเผาศพริมฝั่งคงคา   เป็นบรรยากาศยามเย็นที่งดงามมากครับ   เมื่อถามถึงเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่มาพักที่ริมแม่น้ำก็ได้รับคำตอบที่กระจ่างชัดเลยครับ   มีโรงแรมเหมือนกัน  แต่เป็นที่พักสำหรับคนใกล้ฝั่ง  หรือ มรณังโฮเต็ล  โดยญาติๆ จะพาผู้เข้าพักลงมาอาบน้ำเช้าเย็น และเมื่อถึงเวลานั้น  จึงจะเข็นลงมาทำพิธีเผาทางด้านล่าง   เมื่อได้ทราบเหตุผล  เราทุกคนจึงพอใจแล้วที่ได้พักในโรงแรมเดิมในตัวเมือง

        มาถึงจุดประกอบพิธีเผา  ก็ได้เห็นภาพที่ครั้งหนึ่งในชีวิตไม่คาดว่าจะได้มาเห็นอีกครั้งจริงๆ  ต้องไปเห็นเองนะครับ เพราะห้ามถ่ายรูป และกล้องวีดีโอโดยเด็ดขาด  การเผาศพจะมีให้เห็นไปทั่วครับ  เย็นวันที่ผมเห็นมีอยู่ประมาณเกือบ 10 ศพครับ  แต่ละกองกำลังลุกไหม้ และเห็นร่างที่ถูกเผาลางๆ ไกลๆ  ว่ากันว่าขนาดของกองไฟขึ้นอยู่กับฟืน ซึ่งบ่งบอกฐานะของแต่ละบ้าน  กองไหนมอดเผาไม่หมดก็ต้องกวาดลงแม่น้ำ  ปล่อยให้ล่องลอยไปตามสายน้ำ  ซึ่งในสายตาผมจะกองเล็กกองใหญ่  ฐานะไหน  วรรณะไหน  สุดท้ายก็เหมือนกันทุกคน  ไม่สามารถยึดติด  เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ทั้งนั้น

     เป็นบทเรียนมรณานุสติ (การเรียนรู้ตั้งสติจากความตาย) ครั้งใหญ่ของชีวิตเลยครับ   คนเราจะมีอะไรให้จดจำหากไม่ใช่คุณความดีที่ทำกันในตอนนี้    ก่อนล่องเรือกลับ  พระอาจารย์ก็ให้ได้สวดมนต์เพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นในชีวิต  และได้ลอยกระทงใบตองแห้ง  พรมด้วยกลีบกุหลาบ และใช้สำลีชุบเนย จุดไฟแทนเทียน ( ต้นตำรับกระทงจริงๆ ครับ ) ซึ่งถือว่าไม่กระทบสิ่งแวดล้อม  ที่สำคัญได้ลอยกลางแม่น้ำคงคาจริงๆ   อิ่มในกุศลแห่งบุญ และสมควรแก่เวลา  จึงล่องเรือกลับฝั่ง 

      ขณะเดินทางกลับ  เราได้เดินผ่านบ้านของฑิฆัมพร (นุ่งลมห่มฟ้า หรือ ชีเปลือย)  ซึ่งไม่ได้มีรูปมาฝากทุกท่าน(อีกแล้ว)  เมื่อคิดเปรียบเทียบเรื่องนี้กับการปล่อยวาง    ผมว่าผมติดยึดไว้บ้าง (บางชิ้น)  จะเป็นการดีกว่าครับ

       แต่สิ่งที่ทำให้ผมแน่ใจว่าการปล่อยวางในชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย   กิเลสตัณหา มันช่างมีกลอุบายมาหลอกล่อเราให้หลงไหลกับสิ่งรอบข้างจริงๆ  ในช่วงเย็น  เมื่อพ้นจากแม่น้ำคงคา และบ้านฑิฆัมพร อาจจะทำให้เราคิดถึงเสื้อผ้าอย่างแรง   ทางคณะเลยพาเราไปจอดที่ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งจำหน่ายผ้าทุกชนิดที่ขึ้นชื่อของอินเดีย  ทั้งผ้ากาสี / ปาซมีน่า / ฯลฯ  

                สาวๆ หยิบผ้าพันคอแพรบางที่มีสีสันสุดสดใส และราคาย่อมเยาว์ มากองไว้เป็นภูเขา และเลือกซื้อกันอย่างบ้าคลั่ง  บางคนก็ทดลองใส่ส่าหรีแบบฉบับของอินเดีย  ยังมีพรมแคชเมียร์ ปลอกหมอน เสื้อกั๊ก และอีกหลายอย่างที่ผมเองก็อดไม่ได้ที่จะจับจ่ายมาด้วย กระทั้งผ้าพันคอกาสีสีสวย ที่ไม่คิดว่าน่าจะเหมาะกับผู้ชาย  ผมยังได้มาตั้ง 3 ผืนในราคาถูกเหลือเชื่อ  

 
     
 

                พูดถึงเรื่องราคา  หลายคนต้องสงสัยแน่นอนว่า  จะต้องต่อให้ได้ต่ำสุดเท่าไหร่  อะไรคือราคาที่แท้จริงที่เหมาะสม  ซึ่งคุณป้อม ไกด์ผู้รอบรู้ของเราได้ให้คำนิยามไว้เห็นภาพชัดเลยครับว่า  ราคา ก็มาจาก ราคะ หรือความพึงพอใจ ของทั้ง ผู้ซื้อ และ ผู้ขาย  ไม่มีความแน่นอนหรอกครับ   เรากับผู้ขายมีความพอใจตรงกันที่จุดไหน  นั่นแหละครับคือจุดพอดีที่สุด  และจุดหมายสุดท้ายก็คือ เมื่อเราไม่มีเงินเหลือพอที่จะคุยเรื่อง ราคา หรือ ราคะ กันได้อีกต่อไป

 โอ้ ! อัศจรรย์เหลือเชื่อ.....นี่หรืออินเดีย (ตอนจบ)

" เอ บ้านผางาม " 

 เรื่องท่องเที่ยวสนุกๆ จากคุณ เอ บ้านผางาม 7 วัน ตะลุยอลาสก้า...พรมแดนสุดท้ายแห่งโลกธรรมชาติ (ตอนจบ) 7 วัน ตะลุยอลาสก้า...พรมแดนสุดท้ายแห่งโลกธรรมชาติ (ตอนที่1) บ้านผางาม บ้านผางาม รีสอร์ท ภาคแรก (โรยตัวน้ำตกเวฬุวัน)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook