วิหคหรรษา:ยามลมหนาวเยือนดอยอินทนนท์

วิหคหรรษา:ยามลมหนาวเยือนดอยอินทนนท์

วิหคหรรษา:ยามลมหนาวเยือนดอยอินทนนท์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

" พยากรณ์อากาศบอกว่า ได้ที่แล้ว ลมหนาวกำลังพัดเยือนถิ่นเหนือ อย่ากระนั้นเลย ไปหาน้องนกกันดีกว่า เอาเสื้อหนาวไปเที่ยวด้วย สงสารมันเกือบ 2 ปี แล้วที่ไม่ได้มา"

เย็นแล้วตอนมาถึง     ผู้คนไม่มากนัก ถนนขึ้นมาที่ทำการอุทยานราดยางใหม่เรียบแต้ ร้านอาหารก็ใหม่ ใหญ่และสะอาดสะอ้าน  เรารีบกางเต้นท์ที่ดงสน จนเสร็จแล้วไปหาข่าวที่ร้านลุงแดงกัน โลกแคบจริงๆ สำหรับนักดูนกเมื่อพบว่า มีคนคุ้นเคยนั่งอยู่ที่ร้าน มันอยู่ที่ Jeep Track เดินเข้าไปแค่ 5 ก้าวก็ถึง ถ้าจะดี กางบังไพรด้วยก็แล้วกัน นกจะออกแต่เช้าเลย

ข้อมูลและที่หมายชัดเจนแบบนี้ สุดยอด (Jeep Track เป็นเส้นทางดูนกอยู่บริเวณด่านสอง ตรงทางแยกที่จะไป อ.แม่แจ่ม ครับ) มันที่ว่านี้คือ Hill Blue Flycatcher หรือ นกจับแมลงคอน้ำตาลแดง ...

รุ่งเช้าที่ด่านสองหลังจอดรถ ก่อนเข้าที่หมาย ญาติก็บินมาทักทายเรา แม้น อีแพรด อีแพรด แม้น  แม่คุณทำให้นายแม้นสับสนว่า ตัวเองชื่ออะไรกันแน่ เจ้าตัวนี้ดูค่อนข้างคุ้นเคย เพราะญาติของมัน ... อีแพรดแถบอกดำ ... หลายตัวชอบมาเอะอะโวยวายในสวนที่บ้านเป็นประจำ ... อีแพรดคอขาว (White-throated Fantail) ... ตัวนี้ ดูสุภาพสมเป็นผู้ดีชาวเหนือมากกว่า

 เสร็จจากอีแพรด เราก็เข้า Jeep Track แม้น นกมาแล้ว เร็วๆ เสียงแบบนี้เป็นอะไรที่น่าฟังสุดๆ มือชี้เป้าสั่งการอย่างตื่นเต้น ไม่อยากเชื่อครับ ยังไม่ทันจะกางบังไพรเสร็จเลย มันก็กระโดดอย่างห้าวหาญออกมาจ้องดูว่า เราจะทำอะไรกัน

 เป็นการถ่ายรูปที่สนุกสนานในบรรยากาศหนาวเย็นอีกครั้งหนึ่ง เจ้านกน้อยบินมาให้ถ่ายเป็นระยะๆ ไกลบ้าง ใกล้บ้าง มืดบ้าง สว่างบ้าง นิ่งบ้าง ไม่นิ่งบ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย คนถ่ายก็ถ่ายไป ส่วนคนชี้เป้าเอร็ดอร่อยด้วยอาหารจานด่วนรองท้องสุดหรู ข้าวหลาม เนื้อเค็ม ตามด้วยนมกล่อง

  ฝรั่งเบลเยี่ยมนายหนึ่ง แอบย่องมาร่วมดู(ข้าวหลาม) และดมกลิ่น(เนื้อเค็ม) ด้วยอย่างเงียบๆ มันเป็นโอกาสในการดูนกที่เรามิได้คาดหมายมาก่อน คนถ่ายจึงออกอาการเกร็งถึงขั้นอั้นฉี่ได้อย่างเป็นสุข เพราะกลัวนกมาแล้วไม่ได้ถ่าย

 เจ้าตัวนี้ เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ หลายตัวจะบินมาหยุดที่นี่ก่อน แล้วลงไปเที่ยวกรุงเทพสักพักจากนั้นก็จะไปต่อ

นกตระกูลจับแมลงมีหลายชนิดครับ น่ารักดี ลองเปิดคู่มือนกดูสิครับ เจ้านกตัวนี้ ความเป็นมายิ่งใหญ่นะครับ เป็นนกระดับนานาชาติทีเดียว ชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้กันทั่วโลกของนกจับแมลงตัวนี้คือ Cyornis banyumas lekhakuni

   สังเกตอะไรไหมครับ ชื่อท้ายนะ ลองออกเสียงภาษาไทยดูสิครับ เลขะกุนิ ไง จริงแล้วก็คือ เลขะกุล ครับ คุ้นๆ นะครับ ใช่แล้ว นกตัวนี้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย

  ปกติแล้วในวงการด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาและค้นคว้าชนิดพืชและชนิดสัตว์ จะมีธรรมเนียมนิยมอยู่ประการหนึ่งครับ นั่นคือการตั้งชื่อสัตว์หรือพืชชนิดใหม่ โดยใช้ชื่อของบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัตว์หรือพืชนั้นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนับกันว่าเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลต่างๆ

 ดังกล่าวแล้วอย่างสูงสุด อีกทั้งยังทำให้ชื่อนั้นๆ คงปรากฏอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ต่อไปอีกเป็นเวลานาน หลังจากบุคคลผู้นั้นได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว (เพิ่มเติมความรู้ได้ที่ www.boonsongconservationthailand.com หรือหนังสือสารคดีประจำเดือนพฤศจิกายน 2550 หน้าปกเป็นรูปคุณหมอถือกล้องดูนก ครับ)

....พอสาย นกเริ่มทิ้งระยะการโผล่ออกมานานขึ้นเรื่อย เป็นอย่างลุงแดงว่า มันคงรำคาญเสียงรถยนต์ที่พานักท่องเที่ยวขึ้นลงยอดดอยตลอดเวลา จนกระทั่งเราตัดสินใจเลิกถ่าย(ข้าวหลามกับเนื้อเค็มหมด) และเดินออกจาก Jeep Track อย่างอารมณ์ดี ก่อนแยกกันฝรั่งยังยืนดูดนิ้วและพยักหน้าเพื่อยืนยันว่า เนื้อนะเค็มกำลังได้ที่

  ช่วงเย็น หลังจากวนจุดโน้นจุดนี้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เราก็มาแวะที่สำนักงานของการไฟฟ้าซึ่งอยู่ติดกับโครงการหลวงทางไปน้ำตกสิริภูมิ เพราะได้ข้อมูลบางอย่าง เหมือนมั้ยละ แม่คุณชี้ให้ดูบ่อน้ำใสๆ สี่เหลี่ยมผืนผ้า 3-4 บ่อ ในสำนักงานฯ

  ด้านหนึ่งของบ่อทำเป็นช่องกว้าง มีน้ำพุ่งแรงออกมาจากช่องตกลงไปยังด้านล่างเป็นสายคล้ายน้ำตกตามธรรมชาติ ส่วนด้านบนมีฝาตะแกรงเหล็กโปร่งปิดไว้ กันคนเข้าไปแอบจับหรือไม่ก็พลัดตก ซึ่งนอกจากจะเปียก หนาวและไม่ตายแล้ว ยังจะทำให้เสียของอีกด้วย ใต้ตะแกรงเหล็กของแต่ละบ่อ ฝูงปลาจำนวนหนึ่งกำลังว่ายสู้กับสายน้ำตกจำลอง

  เคยดูสารคดีธรรมชาติของฝรั่งที่ไปถ่ายแถวน้ำตก ในช่วงหน้าหนาว อากาศเย็นๆ แล้วมีปลากระโดดขึ้นมาโชว์ตัว โดยมีหมียักษ์ยืนแช่น้ำคอยท่าเพื่อตะปบมันมากินไหมครับ ตัวที่รอดก็จะว่ายทวนน้ำไปวางไข่ต่อไงละ

  นึกภาพออกไหม...เขาละครับปลาเทร้าท์ และที่ใต้ตะแกรงนี้คือปลาเรนโบว์เทร้า์ ซึ่งแม่ครัวของสำนักงานฯ ตะปบมา ให้เราศึกษาว่าเป็นอย่างไร .... อร่อยมากครับ อันนี้ต้องขออภัย เพื่อการเรียนรู้จริงๆ

 ทราบมาว่าปลาชนิดนี้ได้ถูกใช้เป็นเมนูพิเศษต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหลายครั้งแล้ว เป็นมื้อเย็นที่หรูหราทีเดียว 150 บาท คืนนี้ อากาศหนาว ฟ้าใส เดือนเกือบเต็มดวง....

รุ่งเช้า ลืมตาขึ้นมาก็เจอเด็กม้งมาขายของถึงหน้าเต้นท์ มาในสูตรเดิมคือตื้อให้ซื้อดอกไม้ หากไม่สำเร็จก็จะให้ฟรี ถ้าไม่รับอีก ก็จะได้ยินคำตัดพ้อว่า พี่เนี่ย ไม่รับน้ำใจหนูเลย ดูดู๋ เด็กน้อย เป้าหมายของเราเช้านี้คือยอดดอยอินทนนท์ ไม่ผิดหวังที่ตั้งใจมา ป้ายบอกอุณหภูมิที่ศูนย์บริการฯ ระบุว่า ต่ำสุดวัดตอน 06.00 น. คือ 5 องศา

ร้านกาแฟขายดีเป็นที่สุด รวมถึงบะหมี่สำเร็จรูปร้อนๆ หลากรส ข้าวเหนียวก็มี เราหมุนซ้าย หมุนขวา เพื่อหาที่วางสัมภาระหลายชิ้น ขณะที่นกรับแขกตัวแรกของยอดดอยโผล่ออกมารอนักท่องเที่ยวอย่างเอิกเกริก

ไม่เขินอายต่อสายตาและกล้องถ่ายรูป มันก้มหน้าก้มตาหาเศษขนมกินอย่างเดียว  นกกะรางหัวแดง (Chesnut-crowned Laughingthrush)...  นกชนิดนี้จะพบได้ที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ขึ้นไป เป็นนกประจำถิ่น พบได้ง่ายแถวๆ นี้แหละครับ

พอแดดเริ่มออก สิ่งที่ตั้งใจคอยก็แหย่หน้าโผล่มายั่ว จากนั้นมันก็ไป จังหวะของมันต้องนับเป็นวินาทีครับ มันเร็วมากจนถ่ายรูปไม่ค่อยจะทัน ต้องมุมานะหน่อย มันมุดเข้ามุดออกใต้พุ่มโคมญี่ปุ่นที่กระจายอยู่ทั่วเพื่อกินน้ำหวานอย่างปราดเปรียว

นายแม้นแบกกล้องและขาตั้งวิ่งตามจนเหนื่อย ยังจำได้ดีเมื่อครั้งเริ่มหัดดูนก ลุงแดงบอกว่านกตัวหนึ่งที่จะต้องเจอบนยอดดอย คือเจ้าตัวนี้แหละ นกกินปลีหางยาวเขียว (Green-tailed Sunbird) ผ่านไปหลายปี จนมาถึงวันนี้ เราถึงจับมันใส่กล้องจนได้ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสวยงามก็อยู่ที่นั่น

  กินปลีน้อยตัวนี้ พบได้ในระดับความสูง 1,500 เมตรขึ้นไป เป็นนกประจำถิ่น พบได้บ่อยก็ที่นี่แหละครับ เป็นนกรับแขกอีกตัวหนึ่ง ต้องตาไว วิ่งไว มือไวถ้าจะบันทึกภาพมัน และโดยเฉพาะถ้าแดดออกด้วยแล้ว จะเข้าใจได้ดีว่าทำไมถึงเรียกมันว่า Sunbird

 หลายจังหวะที่รอเจ้ากินปลี นายแม้นจะแวบไปหลังโรงครัวของศูนย์ฯ ตรงนี้มักจะมีนกให้ดูเสมอ แต่สาวๆ คงไม่ค่อยชอบ เพราะมีแต่เศษขยะ เศษอาหาร แถมกลิ่นแสนรัญจวนเร้าใจนายแม้นไปเพราะเห็นมัน และก็สำเร็จ

 มันคือ นกเอี้ยงถ้ำ (Blue Whistling-Thrush) ... นกที่ไม่นิยมเลี้ยงควายเฒ่า พบได้ตั้งแต่พื้นราบจนถึงยอดดอย เวลามันยืนหันมาประจันหน้านะครับ สง่างามมาก อกผาย ไหล่ผึ่ง หลังตึง ตัวโต ทะลึ่งดี อาวุโสสองคน เป็นสุขกับการถ่ายนกในการเดินทางหนนี้ แม้จะเป็นนกที่เรียกว่านกพื้นๆ ของที่นี่ แต่หนาวนี้ที่อินทนนท์ สบายใจจริงๆ ครับ

การเดินทาง : นายแม้นใช้เส้นทางกทม. ตาก เถิน แล้วแยกซ้ายเข้าเส้นทาง ลี้ บ้านโฮ่ง ครับ จากทางแยกไปสักประมาณ 10 กม. ถนนจะเริ่มคดเคี้ยวอีก 17.5 กม. ขับไปได้เรื่อยๆ ต้องระวังในจังหวะที่เลี้ยวมุมอับ เพราะอาจมีรถใหญ่สวนมา พ้นทางคดเคี้ยวจะเจอถนนดำอย่างดี ขับสบายครับเลนเดียว รถไม่แยะมาก เมื่อถึงบ้านโฮ่ง ให้ขับเลยตัวอำเภอไป 4-5 กม. จะมีทางแยกซ้ายมือไปท่าลี่ - จอมทอง ป้ายบอกชัดเจน ไปตามเส้นนี้ จะบรรจบกับเส้นเชียงใหม่ จอมทอง ให้เลี้ยวซ้ายไปอีกหน่อย แล้วจะเจอแยกขึ้นดอยอินทนนท์ทางขวา ... ขอให้สนุกครับ

เรื่อง/ภาพ...นายแม้นคนสวน หน้าหนาว ปี 50

 ออนไลน์วันที่ 14 ธันวาคม 2550

 

 เรื่องท่องเที่ยวจาก นายแม้น คนสวน และ แม่คุณ

วิหคหรรษา: เรื่องของแจ๋วแหวว วิหคหรรษา : กะเต็นน้อยเริงร่า วิหคหรรษา : นกพญาปากกว้างอกสีเงิน เขาน้ำค้าง - อุทยานแห่งขาติและอุโมงค์ประวัติศาสตร์   สวนห้อมแห่งทับลาน บันทึกนายแม้นคนสวนไปเที่ยวทุ่งหญ้าเขาแหลม

คลองอีเฒ่าแห่งเขาใหญ่

*** ส่งเรื่องท่องเที่ยวของคุณ + ภาพประกอบ  มาออนไลน์ ให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน ได้ที่  Email :

nukul@sanookonline.co.th

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook