แดนถิ่นคนดี เมืองนี้...นราธิวาส

แดนถิ่นคนดี เมืองนี้...นราธิวาส

แดนถิ่นคนดี เมืองนี้...นราธิวาส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แดนถิ่นคนดี เมืองนี้...นราธิวาส

โดย...นุ บางบ่อ

ด้วยเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใต้สุดเขตแดนไทย แสนห่างไกลด้วยระยะทาง ถึงแม้การคมนาคมในปัจจุบันค่อนข้างสะดวกสบายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ตาม ระยะทางที่ห่างไกลนี้ก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปท่องเที่ยวอยู่ดี

ในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เชิญชวนให้สื่อมวลชนจากแขนงต่างๆ เข้าร่วมการเดินทางไปสัมผัสเมืองนราธิวาส เมืองที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มีธรรมชาติน่าภิรมย์ เป็นหน้าด่านเศรษฐกิจระหว่ายไทย มาเลเซีย วัฒนธรรมไทย จีน อิสลาม สืบสานมานานถึงปัจจุบัน และเพื่อพิสูจน์ว่า แดนดินถิ่นนี้ยังเป็นเมืองของคนดี

จังหวัดนราธิวาส หรือ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เมืองนราฯ ในสมัยก่อนนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีชาวประมงอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำบางนรา ซึ่งติดกับชายทะเลอ่าวไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1 บ้านบางนราถูกจัดอยู่ในเขตการปกครองของเมืองสายบุรี และต่อมาถูกย้ายมาอยู่ในเขตการปกครองของเมืองระแงะ ในมณฑลปัตตานี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดการกบฏขึ้นใน 4 หัวเมืองปักษ์ใต้ โดยมีพระยาปัตตานี พระยาหนองจิก พระยายะลา พระยาระแงะ สมคบร่วมกัน พระยาสงขลาจึงยกกำลังมาปราบปรามโดยมีพระยายะหริ่งเป็นกำลังสำคัญ ช่วยทำการปราบปรามจนสำเร็จ ต่อมาพระยายะหริ่งจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองระแงะ สืบต่อเจ้าเมืองระแงะคนเดิมที่หลบหนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจากบ้านระแงะมาตั้งใหม่ที่บ้านตันหยงมัส หรือ อำเภอระแงะในปัจจุบัน ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกการปกครองแบบเก่าขณะเดียวกันกับบ้านบางนรา ได้มีการขยายตัวเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ในช่วงนี้จึงได้ย้ายที่ว่าการจากเมืองระแงะมาตั้งที่บ้านมะนาลอ และในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2458 รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านบางนรา และได้พระราชทานชื่อว่า นราธิวาส อันมีความหมายว่า ที่อยู่ของคนดี นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นอกจากเป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานแล้ว จังหวัดนราธิวาาสยังประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่มากมายหลายแห่ง ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยทิวเขาตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำบางนารา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำตากใบ แม่น้ำสุไหงโก-ลก และชายฝั่งทะเลในด้านทิศตะวันออกมีชายหาดที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน

เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย และในสมัยก่อนเคยเป็นเมืองท่าการค้าขายกับต่างประเทศ จังหวัดนราธิวาสจึงเป็นที่พำนักอาศัยของผู้คนหลายหลายเชื้อชาติ ซึ่งก่อกำเนิดวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายในเวลาต่อมา

จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ทริปนี้ผม และสื่อมวลชนคนอื่นๆ ได้รับความอนุเคราะห์จาก ททท. (ส่วนกลาง) และเจ้าหน้าที่ ททท.ภาคใต้ เขต 3 ในการเดินทางไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนไปถึงเรื่องอาหารการกิน และสถานที่พัก ตลอดระยะเวลา 3 วัน ผมและคนอื่นๆ จึงได้ท่องเที่ยวไปได้หลายต่อหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งนั้นก็มีความน่าสนใจต่างๆ กัน ดังเช่น...

หมู่บ้านทอน เป็นแหล่งผลิตของฝากของเมืองนราฯ ตั้งอยู่ห่างตัวเมือง 16 กม. ตามเส้นทางสายนราธิวาส บ้านทอน มีการผลิตสินค้าหัตถกรรมเช่น การสานเสื่อกระจูด ตระกร้า การทำเรือกอและจำลอง นับเป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญ และความละเอียดอ่อน เป็นหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชมหมู่บ้านหนึ่ง
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล (พระพุทธอุทยานเขากง) เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ประทับนั่งกลางแจ้ง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ครับ เป็นพุทธศิลป์สกุลช่างอินเดียตอนใต้ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสดสีทองทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 24 เมตร นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถแบบช้างหมอบ ถวายดอกบัวและพระเจดีย์ศรีมหามายา รูปทรงระฆัง ภายในโปร่ง บนยอดสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยครับ
ด่านสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโกลก เป็นอำเภอที่อยู่สุดเขตประเทศไทย เป็นจุดเชื่อมการค้าขาย และการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศไทย และมาเลเซีย นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปจับจ่ายซื้อสินค้าราคาถูกนานาชนิด ในตัวอำเภอสุไหงโก-ลก มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่อย่างครบครัน
วัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ใน อ.ตากใบ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2403 โดยสมัยนั้นพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุฒ) เป็นผู้ขอพื้นที่สร้างวัดจากสุลต่าน ผู้ปกครองรัฐกลันตัน และในช่วงเวลานั้นอังกฤษมีอำนาจเหนือดินแดนทางใต้ของไทย ทำให้มีการปักเขตแดนใหม่รุกล้ำเข้ามาในผืนแผ่นดินไทย แต่ฝ่ายไทยอ้างถึงการมีอยู่ของชุมชนชาวไทย โดยอาศัยวัดชลธาราสิงเหเป็นที่ตั้ง อังกฤษจึงยอมยกดินแดนแถบนี้ให้เป็นของไทยดังเดิม และใช้แม่น้ำโก-ลก เป็นเส้นแบ่งพรมแดนในเวลาต่อมา
ป่าพรุสิรินธร เป็นป่าดิบชื้นครอบคลุมพื้นที่กว่า 125,000 ไร่ ซึ่งนับว่าเป็นป่าพรุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งรวบรวมของระบบนิเวศ ป่าพรุไว้อย่างสมบูรณ์แบบ นักท่องเที่ยวสามารถเดินศึกษาธรรมชาติป่าพรุได้ตามเส้นทางที่เป็นสะพานไม้ ที่สร้างไว้อย่างมั่นคง และงดงามกลมกลืนกับธรรมชาติ ด้วยความยาวกว่า 1,200 เมตร ระหว่างทางจะพบเห็นระบบนิเวศที่หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ และหุ่นจำลองการสาธิตการทำแป้งสาคู ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการทำลายป่า
อ่าวมะนาว ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหาดทรายขาวสะอาดจรดแม่น้ำบางนรา มีเนินเขาเป็นจุดชมวิวที่งดงาม มีแนวสนเขียวตลอดชายหาด และมีโขดหินที่สวยงามมากทีเดียว สามารถเดินทางจากตัวเมืองนราธิวาสไปตามเส้นทางสายนราธิวาส-ตากใบ ประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถึง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ตั้งอยู่ห่างจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ประมาณ 2 กม. ภายในบริเวณแบ่งเป็นอาคารสำนักงาน แปลงสาธิต แปลงวิจัยทดสองพื้นที่ป่าพรุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้งขึ้น เพื่อปรับปรุง ศึกษา และทดสองวิจัยพื้นดินที่มีปัญหา เพื่อให้ประชาชนในแถบนั้นได้ใช้เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาการเกษตร ในพื้นที่ของตนเองต่อไป
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา บาลา มีพื้นที่ครอบคลุมผืนป่าบริเวณทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนธรรมชาติ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ประกอบไปด้วยผืนป่าสองส่วน คือ ป่าฮาลาในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และป่าบาลาในเขตอำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
สามารถได้กล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้ เป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งในเมืองไทย เป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก เช่น กระซู่ เซียมัง หรือ ชะนีดำใหญ่ นกเงือกหัวแรด นกชนหิน และพรรณไม้ป่าหายากนานาชนิด เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และศึกษาธรรมชาติ เช่น ดูนก ดูผีเสื้อ และการศึกษาพรรณไม้ต่างๆ
ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของเมืองนราฯ นั้นก็มีอยู่มากมายคล้ายกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ แต่ในวันที่ผมได้เดินทางไปนั้น ได้ตรงกับวันที่ทาง อำเภอสุไหงโก-ลก ได้จัดประเพณีการแห่เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะขึ้น ประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพสักการะ ต่อเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะที่คอยปกป้องรักษาให้บังเกิดความสงบสุข และเพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลให้แก่ตนเอง ภายในงานมีการจัดขบวนแห่หลากหลายขบวน

โดยส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในอำเภอสุไหงโก-ลก ขบวนแห่จะทำการแห่ไปตามถนนหนทางในตัวอำเภอ มีการจุดประทัด ตะโกนโห่ร้อง แต่ไม่มีการแสดงอภินิหารย์ หรือ การใช้ของมีคมทำร้ายร่างกายของตนเอง เหมือนดั่งประเพณีถือศีลกินเจของชาวภูเก็ต ประเพณีนี้ได้รับความสนใจทั้งชาวไทย และชาวมาเลเซีย ที่เคารพนับถือในองค์เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ นับเป็นประเพณีที่น่าสนใจมากอีกประเพณีหนึ่ง

สามวันในนราธิวาสผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมืองนี้เมืองนราฯ เมืองที่เป็นข่าวเรื่องความไม่สงบอยู่บ่อยๆ โดยส่วนตัวของผมแล้ว การมาเที่ยวเมืองนราฯ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้ว ก็ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าประทับใจเกิดขึ้น ตรงกันข้าม สองครั้งที่ได้มาผมได้สัมผัสกับรอยยิ้มสดใส จากพ่อค้า แม่ค้า ชาวบ้าน ชาวประมง เจ้าหน้าที่ต่างๆ ฯลฯ ที่ต่างให้การต้อนรับอย่างดีเสมอมา
ถึงแม้ระยะทางที่แสนไกล ภูมิประเทศที่ติดชายแดน นราธิวาส ยังคงเป็นจังหวัดๆ หนึ่งของประเทศไทยที่มีความน่าสนใจไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ลวดลายบนเรือกอและยังคงอ่อนช้อยงดงาม นกเขาชวายังคงส่งเสียงกังวาลไพเเราะ หนังตะลุง มโนราห์ สิละ ยังคงให้ความบันเทิง เอาไว้ให้ผมมานราฯ เป็นครั้งที่สามเมื่อไหร่ ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่า ผู้คนที่นี่เค้าใจดีกันถึงขนาดปลูกบ้านปลูกตึกให้นกอยู่กันเลยทีเดียว.....

" นุ บางบ่อ "

ขอขอบคุณ
การเดินทาง + ที่พัก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ และ สำนักงานภาคใต้ เขต 3

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook