เขาหัวโล้น แห่ง อช.เขาแหลม

เขาหัวโล้น แห่ง อช.เขาแหลม

เขาหัวโล้น แห่ง อช.เขาแหลม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นุ บางบ่อ เรื่อง , กนกเพชร - นัฐวุฒิ ภาพ 7 - 9 มีนาคม 2546

สวัสดีเพื่อนสมาชิกทุกท่าน วันนี้พบกันอีกครั้งกับเที่ยวผจญภัยกับ นุ บางบ่อ ห่างหายกันไปค่อนข้างนานสักหน่อยนะครับคราวนี้ แต่ก็กลับมาด้วยสังขารที่สาหัสพอดูทีเดียว... เพื่อนๆ เชื่อเรื่องโชคชะตา หรือ ลางสังหรณ์กันบ้างไหม ?? ผมเองก็ไม่เคยคิดจะเชื่อมาก่อนเหมือนกัน... ใครเลยจะรู้ว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมาทีมงานสบายดอทคอม เกือบเสียชีวิตกันทั้งทีมในระหว่างการออกทริป !!!!

ลุงจิ๊บ และบอย สบาย และเพื่อนอีก 1 คน เกิดอุบัติเหตุ รถเก๋งคันที่ขับไป ซึ่งมีจุดหมายอยู่ที่ อ.บางสะพานน้อย ชนกับรถสิบล้อขนมะพร้าวเข้าอย่างจังที่ จ.ประจวบฯ โชคดีที่แค่บาดเจ็บกันมาเท่านั้น ส่วนรถเก๋งที่ขับไปค่อนข้างสาหัส ผมเองไม่ได้ไปกับเขา แต่ก็ต้องกระหายน้ำในระหว่างการเดินขึ้นเขาหัวโล้นอยู่หลายชั่วโมง ?!? แต่ตอนนี้พวกเราทั้งหมดก็กลับมาโดยสวัสดิภาพ และพร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในด้านท่องเที่ยว ให้เพื่อนๆ ได้สาระความรู้ความบันเทิงกันต่อไป...

เขาหัวโล้น แห่งอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ผมจะเดินขึ้นไปทำไม ? ก่อนวันที่ 8 มีนาคม ไม่กี่วัน คุณกนกเพชร (เพชร) และ คุณนัฐวุฒิ (จเด็ด) เพื่อนร่วมงานที่ Mweb แห่งนี้ได้ชักชวน และพรรณาถึงความงดงามแห่งทะเลสาบเหนือเขื่อนเขาแหลม จ.กาญจนบุรี ซึ่งผมเองพอจะเคยเห็นผ่านตาเมื่อเวลาเดินทางไป อ.สังขละบุรี ความสวยงามของธรรมชาติที่นั่น ทำให้ผมต้องจอดรถเพื่อถ่ายภาพ และนั่งทอดอารมณ์ทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ที่สองสหายมาชวนนั้นไม่ธรรมดาเสียแล้ว คราวนี้ไม่รถยนต์ที่ขับไปเองเพื่อความสะดวกในการไปจอดทอดอารมณ์ อยู่ข้างถนนและทะเลสาบ

นอกจากเรื่องรถแล้วเรายังต้องเดินเท้ากันอีกหลายชั่วโมง เพื่อขึ้นไปบนยอดเขาหัวโล้น ที่มีความสูงประมาณ 1,470 เมตร จากระดับน้ำทะเล ณ ยอดเขาหัวโล้นนี้ ทางอุทยานฯ เขาแหลม ยังไม่เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงยังไม่มีเส้นทางในการเดินขึ้นไป แต่ที่เราพยายามจะขึ้นไปก็เพื่อ ต้องการเก็บภาพทะเลสาบเขาแหลมที่กว้างใหญ่ อันประกอบไปด้วยเกาะแก่งต่างๆ มากมาย ในมุมสูงกว่าที่เคยจอดรถชมอยู่ข้างทาง และทุ่งหญ้าสีทองที่โอนอ่อนเอนตัวไปตามกระแสลมแรงบนยอดเขาที่ปราศจากต้นไม้ใหญ่ ดวงดาวยามค่ำคืนที่มืดมิดคงให้แสงสว่างเป็นประกายสดใสระยิบ อากาศที่หนาวเย็นยามดึกสงัด ทะเลหมอกยามเช้าที่เคลื่อนตัวไปตามซอกเขา และที่สำคัญการได้ท่องไปในธรรมชาติป่าเขา และการใช้ชีวิตเรียบง่ายให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่มนุษย์หลายคนมองข้าม นั่นคือ..เหตุผลของเรา

ก้าวแรก จากกรุงเทพฯ สู่เมืองกาญจน์ ค่อนข้างสะดวกสบายด้วยค่ารถคนละ 76 บาท สำหรับรถปรับอากาศชั้น 1 ของ บขส. จาก บขส. ในเมืองกาญจน์ เราเดินทางต่อด้วยรถตู้สาย กาญจน์ สังขละบุรี ค่ารถคนละ 118 บาท ด้วยผู้สารเต็มคันรถ และกระเป๋าสัมภาระทำให้เราไม่สามารถกระดุกกระดิกได้เป็นเวลากว่าสองชั่วโมง แต่ก็นับว่าเป็นการเดินทางที่สะดวกที่สุดในยามนี้ เพราะหากเรานั่งรถบัสคันใหญ่สายกาญจน์ สังขละบุรี คงจะใช้เวลาในการเดินทางที่มากกว่าแน่นอน

คืนนี้เรากางเต้นท์นอนกันที่อุทยานฯ บริเวณใกล้ห้องน้ำที่ทางอุทยานฯ จัดไว้ได้อย่างสะดวกและสะอาด ท่ามกลางความเงียบสงบมีเพียงเสียงสายน้ำจากลำธารฟังให้คลายเหงา และหายเหนื่อยจากการเดินทางมา เอนหลังลงบนพื้นเต้นท์ที่หน้าต่างเปิดโล่งให้ลมพัดเข้ามาอย่างเย็นสบาย เหนือยอดไม้มีดาวมากมาย เพียงเท่านี้ผมก็รู้สึกว่า คุ้มค่ากับการมาเยือน

วันที่ 8 มีนาคม เดินหน้าสู่เขาหัวโล้น ผม เพชร และเด็ด ได้พบกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ผมได้ส่งจดหมายขออนุญาต และขอความอนุเคราะห์ มาเมื่อหลายวันก่อน ในช่วงที่เรากำลังจัดการกับอาหารมื้อเช้าที่ร้านค้าสวัสดิการของทางอุทยานฯ พี่เชย และ พี่แอร์ ในชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้แบบเต็มยศ พร้อมพาเราเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ เราใช้เวลาไม่นานนักกับมื้อเช้า และพร้อมที่จะเดินทางสู่ยอดเขาหัวโล้น

รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อของทางอุทยานฯ พาเรามาส่งใกล้ๆ กับทางขึ้นสถานีเรดาห์ ซึ่งแยกมาจากถนนใหญ่บริเวณวัดถ้ำสุโข ต่อจากนี้พวกเราทั้งสาม และเจ้าหน้าที่นำทางอีกสอง ต้องพึ่งสองเท้าของตนเอง ในการพาร่างกายสู่ยอดเขาหัวโล้น เส้นทางที่เราใช้ในวันนี้พี่เชยบอกว่า เป็นทางลัด แต่จะค่อนข้างชันกว่าปกติ พี่เชย และพี่แอร์ เองก็ยังไม่เคยสำรวจเส้นทางนี้มาก่อน เอาละซิ....งานนี้มีเพียงแผนที่ และเข็มทิศ และวิทยุ ในการสื่อสาร เผื่อเกิดเหตุพลัดหลง ผมรู้สึกเหนื่อยมากตั้งแต่ประมาณ 200 เมตรแรก เส้นทางสายนี้ชันๆ มากจริงๆ ไม่มีทางเดินที่ราบนัก การเดินต้องก้มหน้าเพื่อถ่วงน้ำหนักให้ไปข้างหน้า ในช่วงแรกผมพยายามถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอ และดื่มน้ำเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อยิ่งเดินก็เหมือนยิ่งสูง ในป่าที่รกบางครั้งมือทั้งสองข้างต้องแหวกกิ่งไม้ที่ขวางหน้าเพื่อให้ขาเดินหน้าต่อไป

มื้อเที่ยงแสนอร่อย สามชั่วโมงผ่านไป เราเดินกันมาได้เกือบครึ่งทาง มื้อเที่ยงกลางป่ามื้อนี้จึงสุดแสนอร่อยโดยไม่ต้องปรุงแต่งมากนัก วันนี้เรามีเวลาค่อนข้างมาก การเดินในช่วงที่สองต่อไปไม่เร่งรีบมากนัก ยอดเขาหัวโล้นยังคงสูงเด่น คอยท่าไม่ไกลจากสายตา เราเริ่มวางแผนการเดินให้ช้าลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปตากแดด อยู่บนยอดเขาที่ไม่มีแมกไม้ให้ร่มเงา ผมอดคิดถึงค่ำคืนนี้ไม่ได้ว่า จะต้องผจญกับอากาศที่แสนหนาวเหน็บบนยอดเขาที่สูง 1,470 เมตร โดยไม่มีต้นไม้คอยบังลมให้เลยสักต้นเดียว

นอกจากเรื่องอากาศที่น่าเป็นห่วงแล้ว ยังมีเรื่องน้ำที่ดื่มกินอีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้น้ำที่เราได้เตรียมมาทั้งหมดรวมๆ กันแล้วเหลือเพียง 1 ลิตร กว่าๆ เห็นจะได้ ในกลางวันที่ร้อนละอุอย่างนี้เราต้องประหยัดการดื่มกินกัน ทั้งที่ทุกคนต่างกระหายด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ใช่ความไม่เตรียมพร้อมของพวกเราเสียทีเดียว เพราะก่อนมาเราได้หาข้อมูลแล้วว่าเส้นทางนี้มีธารน้ำไหลผ่านเป็นลำห้วยย่อมๆ อยู่ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี เราจึงไม่ได้เตรียมน้ำกันมากนัก เพราะเนื่องจากเกรงว่า จะมีน้ำหนักมากซึ่งเป็นภาระต่อการเดิน และอุปกรณ์การถ่ายภาพของแต่ละคนนั้น ก็ค่อนข้างมีน้ำหนักมากอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่โทษใครไม่ได้แม้แต่ธรรมชาติ ตอนนี้เราจึงใช้ทรัพยากรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งเราไม่อยากเสียพลังงานมากเกินความจำเป็น การหยุดพักบ่อยๆ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการประหยัดพลังงานจากร่างกาย และหน่วงเวลาให้เราถึงยอดเขาหัวโล้นในยามเย็นพอดี ซึ่งเราจะได้ไม่ต้องไปตากแดดบนยอดเขา....

ในที่สุด หลังจากที่เราอิงแอบแนบชิดกับต้นไม้ที่พอจะหาได้บนยอดเขาในช่วงก่อนที่จะไม่มีให้เราได้หลบร้อนเลย เราก็เตรียมตัวออกเดินทางกันต่อในช่วงสุดท้าย ที่เราจะต้องเดินไปบนสันเขาที่มีต้นหญ้าสีทองปกคลุมอยู่สูงท่วมหัว การเดินต้องค่อยๆ เดินด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุในช่วงสุดท้ายอย่างนี้ นั่นคือความยากลำบากอย่างที่สุด เพราะตอนนี้น้ำเราเกือบหมด และก็อยู่ห่างไกลจากพื้นราบมาก บางช่วงของเส้นทางเราต้องใช้วิธีปีนนป่าย ดึงต้นหญ้าคาพาตัวขึ้นไป ไม่มีคำพูดอะไรออกจากปากพวกเรานอกจากคำว่า เหนื่อย.... และ แฮกๆๆ...ถึง....หรือ ยัง.... แต่เราทั้งห้าคนก็ค่อนข้างมีกำลังใจ เพราะเมื่อหันหลังไปมองกับภาพที่อยู่เบื้องล่างแล้ว มันช่างคุ้มค่ากับการดั้นด้นเดินทางมาเสียจริงๆ

สายลมเย็นพัดมากระทบร่างที่ชุ่มห้วยเหงื่อ ขาทั้งสองข้างสั่นด้วยความอ่อนล้า ความเหน็ดเหนื่อยค่อยๆ หนีหายไป ความงดงามของธรรมชาติรอบตัวเริ่มเข้ามาแทนที่ ขณะนั้นเป็นเวลา 4 โมงเย็นเห็นจะได้ เราทุกคนได้เดินทางมาถึงเขาหัวโล้นได้สำเร็จ

บนยอดเขาหัวโล้นเป็นพื้นราบไม่กว้างมากนัก ดูคล้ายๆ กับเป็นลานจอดฮอลิคอปเตอร์ ที่สามารถจอดได้เพียงหนึ่งลำพอดิบพอดี เรากางเต้นท์กันตรงกลางลานราบนี้ สมอบกถูกปักลงให้ยึดมุมต่างๆ ของเต้นท์อย่างแน่นหนา กระแสลมบนยอดเขาพัดแรง และเปลี่ยนทิศทางบ่อย พี่เชย และพี่แอร์ กำลังหุงข้าวด้วยหม้อสนามและน้ำที่เหลืออยู่เพียงนิดหน่อย กองไฟและฟืนลุกโชนขึ้นมาด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่เกินความสามารถของผู้เจนป่า

Campermeal (แคมป์เปอร์มีล) อาหารสำหรับนักเดินทาง ถูกแกะออกมาผสมกับน้ำร้อน มื้อนี้เราได้กินต้มยำกุ้ง ไก่กระเทียมพริกไทย แกงเขียวหวานไก่ ไก่ผัดขิง ผัดกระเพรากุ้ง และกล้วยกรอบ เป็นของหวาน นับได้ว่าเป็นอาหารจานด่วนที่รวดเร็วกว่า Fast Food ตามห้างสรรพสินค้าด้วยซ้ำไป ผมอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ที่เป็นนักเดินทางได้ซื้อหาเก็บไว้ใช้ เพราะเป็นอาหารที่สะดวก ง่ายในการเตรียม มีรสอร่อย และคุณค่าตามโภชนาการเหมือนอาหารทั่วไป ที่สำคัญมีน้ำหนักเบามากและเก็บไว้ได้นาน โดยเฉลี่ยแล้ว Campermeal 1 ชุด เหมาะที่จะใช้กินกับข้าวสวยสำหรับ 1 คน และ 1 มื้อ ซึ่งประกอบไปด้วยอาหาร 3 อย่าง ลองเลือกซื้อหากันได้ตามใจชอบนะครับ ราคาก็อยู่ที่ชุดละ 75 บาท เท่านั้นเอง

หลังมื้อเย็นผ่านไป เป็นเวลาเดียวกับดวงตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้า เรารอเวลาที่แสงสีแดงค่อยๆ อ่อนสีลง และกำลังเลือนหายไปในเทือกเขาตะนาวศรี ทะเลสาบเขาแหลมยามนี้ช่างเงียบเหงา ดูสงบแต่ให้ความสดชื่นแก่เรายิ่งนัก ผมนั่งปล่อยใจให้ลอยไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งอาจจะถึงสังขละบุรี หรือข้ามแดนไปไกลกว่านั้น แสงไฟในตัว อ.สังขละบุรี สว่างไสว เพราะคืนนี้มีงานประจำปีที่วัดวังวิเวกการาม วัดที่หลวงพ่ออุตตมะจำพรรษาอยู่ คืนนี้ทั้งชาวไทย มอญ กระเหรี่ยง ต่างคงเที่ยวงานประจำปีกันอย่างสนุกสนานเป็นแน่ เราล้อมวงนั่งคุยกันถึงเรื่องการเดินทางที่ผ่านมา และคาดหวังถึงการเดินทางขากลับลงไปว่า เราคงจะโชคดีเจอลำห้วยที่ยังไม่แห้งขอดให้เราดับกระหายได้บ้าง

เราทั้งสามเข้านอนกันในเต้นท์ ส่วนเจ้าหน้าที่นำทาง พี่เชย และพี่แอร์ นอนนับดาวตากน้ำค้างอยู่ข้างนอกอย่างน่าเห็นใจ พวกเราเรียกให้เข้ามานอนด้วยกัน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างเกรงใจตลอด โชคดีที่พี่ทั้งสองพอมีถุงนอนและผ้าห่มติดมาด้วย ทำให้พอคลายหนาวได้บ้าง คืนนี้เราไม่เปิดหน้าต่างเต้นท์เพื่อชมดาว เพราะลมพัดผ่านมาแรงเหลือเกิน และผมคิดว่า ทุกให้ถึงวันพรุ่งนี้ไวๆ วันที่เราจะได้ชมทะเลหมอกบนยอดเขาหัวโล้นแห่งนี้ แต่สำหรับตอนนี้เราเหนื่อยล้ามากเกินกว่าที่จะนอนลืมตาต่อไปได้.....

" นุ บางบ่อ "

 

ข้อมูลเพิ่มเติม อุทยานแห่งชาติเขาแหลม

พืชพรรณ และสัตว์ป่า สภาพป่าประกอบไปด้วยป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ยาง ไม้แดง ไม้ประดู่ ตะเคียนทอง เต็ง รัง และไผ่ ต่างๆ

สัตว์ป่าที่พบในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีประมาณ 268 ชนิด โดยแยกเป็นประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 49 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 19 ชนิด สัตวืเลื้อยคลาน 13 ชนิด และนก 187 ชนิด สัตว์ที่พบได้แก่ กวาง เก้ง ค่าง ชะนี หมูป่า และ นกนานาชนิด

ในส่วนพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ นอกจากใช้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าและการเกษตรแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญ เช่น ปลาชะโด ปลายี่สก ปลาแรด และปลากระสูบ

การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว : จากตัว จ.กาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี ทองผาภูมิ) ก่อนถึง อ.ทองผาภูมิ ประมาณ 2 กม. แยกขวาไปทาง อ.สังขละบุรี ประมาณ 40 กม. จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลม รถโดยสารประจำทาง : จาก บขส.กาญจนบุรี ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 3 5 ชั่วโมง รถที่ผ่านอุทยานฯ ได้แก่

รถโดยสารประจำทาง กาญจนบุรี ทองผาภูมิ สังขละบุรี รถดดยสารปรับอากาศ กาญจนบุรี สังขละบุรี รถตู้ปรับอากาศ กาญจนบุรี สังขละบุรี (ค่ารถ 118 บาท)
สำรองที่พัก อุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีบ้านพักและเต้นท์ไว้บริการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ตู้ ปณ.15 ปท.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 71180 โทร.0 1216 8049 หรือ งานบริการบ้านพัก สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2579 5269 , 0 2579 7223 , 0 2579 5734 , 0 2561 4292 3 ต่อ 724 , 725

ขอขอบคุณ คุณสุเทพ เกตุเวชสุริยา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม คุณเจริญ ใจชน ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม คุณธีร์จุฑา ธิติกสิกิจ (พี่เชย) เจ้าหน้าที่นำทาง คุณธนภัทร ธิติกสิกิจ (พี่แอร์) เจ้าหน้าที่นำทาง คุณกัณฑ์ พักตร์พรหม ให้ข้อมูลเบื้องต้น

 

ทุกภาพสามารถคลิกให้เป็นภาพใหญ่ได้ครับ
ภาพซ้าย : รถของอุทยานฯ พาพวกเราไปส่งบริเวณทางแยกสถานีเรดาห์ จากนั้นเราต้องเดินขึ้นไปกันต่อ
ภาพขวา : ต่างคนก็ไม่เคยใช้เส้นทางนี้กันมาก่อน


ภาพซ้าย : ค่อยๆ หายไปในป่ากันทีละคน
ภาพขวา : เพชร กำลังดูนกที่ส่งเสียงร้องอยู่เหนือยอดไม้


ภาพซ้าย : ลำธารที่แห้งขอด ความหวังเริ่มเลือนหาย
ภาพขวา : มื้อเที่ยงแสนอร่อย ในเวลานี้ไม่มีเสียงพูดจากันมากนัก


ภาพซ้าย : ยอดเขาหัวโล้น จุดหมายปลายทางของเรา เห็นใกล้ๆ แค่นี้ แต่ต้องเดินผ่าทุ่งหญ้าสีทองอีกไกล
ภาพขวา : ค่อยๆ ปีนขึ้นไปทีละคน ตรงนี้เป็นจุดที่สูงชัน เหนื่อยไปตามๆ กัน


ภาพซ้าย : ยังๆ ไม่ใช่ยอดเขานี้นะ นี่เป็นเพียงเนินที่มาบังยอดเขาหัวโล้นเท่านั้น เพชร เดินนำหายเข้าไปในทุ่งหญ้าก่อนใคร
ภาพขวา : พักรอให้แดดร่มอีกหน่อย ภายใต้ร่มเงาสุดท้าย


ภาพซ้าย : มุมมองจากยอดเขาหัวโล้นประมาณ 4 โมงเย็น
ภาพขวา : ในที่สุดก็มาถึง


ภาพซ้าย : ความสำเร็จไม่เกินความพยายาม
ภาพขวา : ภาพนี้นายจเด็จ นั่งเหม่อ.....ถึงใครนะ...??? : )


ภาพซ้าย : บนลานราบยอดเขาหัวโล้น
ภาพขวา : เมื่อไหร่จะสุกซะทีนะ...หิวๆๆๆ


ภาพซ้าย : Campermeal อาหารที่สะดวก และพกพาไปได้ทุกที่
ภาพขวา : พี่เชย พี่แอร์ นอกจากนำทางในป่าเก่งแล้ว ยังหุงข้าวได้สวยอีกด้วย


ภาพซ้าย : ใกล้สุกแล้ว...พร้อมๆ กับน้ำที่หมดไป
ภาพขวา : ต้มยำกุ้ง ผัดกระเพรากุ้ง แกงเขียวหวานไก่ ไก่ผัดพริกขิง ใครเลยจะคิดว่าเป็นไปได้บนยอดเขาแห่งนี้


ภาพซ้าย : มื้อเย็นที่เรียบง่าย
ภาพขวา : นายจเด็จ ยืนรอเก็บแสงสุดท้ายของวัน


ภาพซ้าย : ทุกอย่างเป็นสีทอง วันนั้นเราประทับใจกันมากจริงๆ
ภาพขวา : เช้าตรู่ ท่ามกลางความเหน็บหนาว หินห้อนใหญ่สัญลักษณ์ของเขาหัวโล้น ถูกปกคลุมไปด้วยสายหมอก


ภาพซ้าย : ด้านตะวันออกของเขาหัวโล้น เราต้องเดินผ่าทุ่งหญ้าในขาลง งดงามไม่แพ้ด้านตะวันตกที่เราเดินขึ้นมา
ภาพขวา : ค่อยๆ เดินลง ขอบคุณต้นไม้ทุกต้นที่ให้เราได้ยึดเกาะไว้


ภาพซ้าย : รอย..ที่หมีได้ฉีกแล้วล้วงเอารังผึ้งไปกิน..รอยนี้ยังใหม่ๆ อยู่เลย ป่านนี้คงไปนั่งบ่นอยู่ที่ไหนสักแห่ง : )
ภาพขวา : ต้นไม้ใหญ่ ไม่แน่ใจว่าใช่ต้นตะเคียนหรือเปล่า

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook