สุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก

สุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก

สุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก

เมืองเก่าที่มีชีวิต

แน่ใจแล้วเหรอครับว่า จะอ่านจนจบ...

     หลายครั้งเหลือเกิ้นที่คนใกล้ตัวผมชอบปฏิเสธการร่วมเดินทางท่องเที่ยวด้วยคำว่า เราไม่ว่าง" , "ไม่มีเวลา (ทั้งที่ผมชวนล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3 เดือน) บ้างก็บอกว่า ไม่มีตังค์.... ทั้งที่ผมก็ไปแบบแบ็คแพ็ค กินง่ายนอนง่าย ไม่มีคำว่าหรู ไม่มีเหมารถเพราะเน้นเดินๆ โบกๆ หรือไม่ก็ปั่นจักรยาน  และในที่สุดหลายต่อหลายทริปลงเอยด้วยการไปคนเดียว

     ทริปนี้เป็นอีกทริปหนึ่งที่ค่อนข้างอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว แต่ทว่าเพลิดเพลินจำเริญใจ  จะว่าผจญภัยก็ไม่เชิง เพราะเป็นลักษณะท่องเที่ยวไปในเมืองเก่า เก่าแบบโบราณมากๆ เมืองเก่าในเมืองไทยของเราส่วนใหญ่เก่าแล้วเก่าเลย บางเมืองก็เก่าจนเป็นเมืองร้าง เป็นเมืองประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาความเป็นมา เพื่อให้รู้ถึงความเพียรพยามของบรรพบุรุษ แต่เมืองเก่าในทริปนี้แตกต่างจากเมืองเก่าเมืองอื่นตรงที่ ความเป็นเมืองเก่าที่ยังมีชีวิต

     แอร์เย็นในรถบัสปรับอากาศของบริษัทสมบัติทัวร์ทำให้หลับสบายเกือบตลอดทั้งคืน  คงเป็นเพราะเส้นทางคดโค้งในช่วงใกล้รุ่งสาง เลยทำให้ตื่นจากหลับใหล ผมคิดถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งจะต้องพบเจอต่อไปในตอนเช้าที่เมืองน่าน เมืองที่อยู่สุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก

สุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก , สามล้อถีบ

     ณ สถานี บขส. น่าน เสียงกระดิ่งดังกริ๋งๆๆ เป็นจังหวะช้าๆ พร้อมเสียงเรียกถาม สามล้อไหมครับ ชายวัยกลางคนเอ่ยถามในขณะที่ผมกำลังมะงุมมะงาหราอยู่กับกระเป่าสัมภาระสองใบ....เมืองนี้เขายังใช้สามล้อถีบกันอยู่หรือนี่? ผมนึกในใจ เพราะที่เมืองเก่าอย่างอยุธยาบ้านผม เขาเปลี่ยนไปใช้มอเตอร์ไซต์รับจ้างกันเกือบหมดแล้ว

ส่วนสามล้อถีบในตลาดต้องปรับตัวเปลี่ยนแนวไปรับคณะทัวร์นักท่องเที่ยวแถวๆ ย่านเมืองเก่า แทนการรับผู้โดยสารจากตลาดหรือคนที่พึ่งลงมาจากรถ บขส. ดูแล้วเป็นภาพวิถีชีวิตแบบเก่าๆ ที่หลายจังหวัดได้สูญหายไปแล้ว ผมไม่คิดมากเพราะมาเมืองน่านก็เพื่อจะเที่ยวชมเมืองเก่าอยู่แล้ว สัมภาระและร่างกายจึงขึ้นไปอยู่บนรถสามล้อถีบอย่างไม่ยากเย็น

     ไปโรงแรมน่านฟ้าครับลุง ผมบอกคุณลุงผู้เป็นสารถี คงเพราะสำเนียงภาคกลางแต่ดันรู้จักโรงแรมเก่าแก่กว่า 70 ปีใจกลางเมืองน่าน ลุงสารถีทำหน้างงนิดหน่อย แล้วก็ถีบขาวนไปข้างหน้าเหมือนเดินย่ำอยู่กับที่ แต่ทำให้ล้อทั้งสามเคลื่อนตัวไปอย่างเนิบๆ ท่ามกลางอากาศเย็นสดชื่นในยามรุ่งสาง

     เช้าตรู่อย่างนี้เมืองน่านเงียบมาก ผู้คนส่วนใหญ่คงกำลังยุ่งอยู่กับกิจวัตรประจำวัน  หลายคนคงเตรียมออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน  เข็มนาฬิกาของเมืองนี้หมุนไปอย่างช้าๆ ดูไม่มีใครรีบเร่งเหมือนคนกรุง  ถนนจาก บขส. พาเข้าสู่ใจกลางเมือง  ภาพวัดและบ้านเก่าหลายหลังผมคุ้นตา  ทำให้ผมหวนนึกถึงเหตุการณ์ เมื่อห้าหกปีที่ผ่านมา

     ในปีนั้น ผมกับลุงจิ๊บ ขับรถเช่าเข้ามาเก็บภาพที่จังหวัดน่าน ตอนนั้นไม่มีจีพีเอส จะมีก็แต่เพียงแผนที่ทางหลวงกับเข็มทิศที่ขยันชี้ไปทางทิศเหนือ ในวันนั้นเราตั้งใจจะไปกางเต้นท์นอนที่ผาชู้ อ.นาน้อย จ.น่าน เพื่อชมความสวยงามขของทะเลหมอกยามเช้า  แต่ก็มืดค่ำเสียก่อนขณะที่อยู่อำเภอเวียงสา (อำเภอเวียงสาห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 30 กม. เศษ) ก็บังเอิญได้เจอกับคุณสงกรานต์ เขื่อนธนะ หรือที่ต่อมาผมเรียกเขาสั้นๆ ว่า กานต์ และ นายคมสัน สองสหายหนุ่มผู้มีน้ำใจ ช่วยจัดแจงหาที่พักผ่อนให้ และแถมเป็นไกด์พาเที่ยวที่ผาชู้ในวันต่อไปให้ด้วย...นี่แหละครับ น้ำใจของคนต่างจังหวัด

     ทริปนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เดินทางมาสัมผัสจังหวัดน่าน พร้อมทั้งเก็บความประทับใจในธรรมชาติ และน้ำใจคนเมืองน่านกลับมา โดยทิ้งไว้เพียงคำขอบคุณไว้เท่านั้นเอง

     รถสามล้อถีบพาผมเข้าสู่ถนนสุมนเทวราช ถนนสายนี้เป็นถนนที่ตัดผ่านใจกลางเมืองน่าน ดูคล้ายว่าเป็นถนนสายเศรษฐกิจของจังหวัด แต่ก็ไม่มีรถวิ่งขวักไขว่มากนัก ถนนสายนี้มีธนาคาร ร้านค้าตึกแถวเรียกได้ว่า  อยากจะซื้อหาอะไรเพิ่มเติมก็มีหมด ทั้งยังมีร้านอาหารเช้าเจ้าอร่อยอย่าร้านต้มเลือดหมู เลิศรส ที่ขายมานานกว่า 30 ปี ผมมั่นใจว่าผมเลือกที่พักไม่ผิด เพราะโรงแรมน่านฟ้าตั้งอยู่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ แถมอยู่เยื้องๆ กับร้านอาหารเช้าที่ว่า หรือจะเดินไปตลาดตั้งจิตต์นุสรณ์  ก็อยู่ตรงข้ามพอดี ตลาดนี้เป็นตลาดเช้าของชาวเมืองน่าน มีอาหารสดอร่อยราคาถูก (เหมาะกับคนอย่างผม) อยู่มากมาย เรียกได้ว่าอยู่แถวนี้ไม่อดตายหละ

โรงแรมน่านฟ้า ในปัจจุบัน

     และแล้วคุณลุงก็ส่งผมลงตรงหน้าโรงแรมน่านฟ้า พร้อมรับเงินค่าเหนื่อยจากผมไป คุณลุงยิ้มตอบแล้วก้มศีรษะนิดนึง จนผมก้มตอบให้แทบไม่ทัน  ผมยังเดินคิดต่อไปว่า ค่าเหนื่อยที่ให้คุณลุงไปนั้นมันน้อยเกินไปหรือเปล่ากับสภาพเศรษฐกิจในวันนี้

ชั้นสองของโรงแรมน่านฟ้า

     โรงแรมน่านฟ้า ถึงจะเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่ให้บริการมากว่าเจ็ดสิบปี แต่ก็ยังคงสภาพเดิมไว้ได้อย่างดี  โรงแรมนี้สร้างจากไม้สักทั้งหลัง มีสามชั้น มีทั้งห้องแอร์และพัดลม ห้องพักรวมแล้วก็มี 14 ห้อง ชั้นสองมีระเบียงร่วมให้นั่งเล่นชมสาวๆ เมืองน่านขี่รถจักรยานมาซื้อของที่ตลาดได้อย่างน่าสดชื่น

โรงแรมน่านฟ้า สร้างจากไม้สักทั้งหลัง

     ผมมาเมืองน่านหลายครั้งถ้าไม่นอนที่ร้านอาหารเฮือนฮอมของนายกานต์เขาแล้วละก็ต้องมานอนที่น่านฟ้านี่แหละครับ เพราะรู้สึกคุ้นเคยดี  ถึงแม้ภายในจะดูเก่าสักหน่อย แต่หลายๆ มุมให้ความรู้สึกคลาสสิค  บางคราวที่นั่งเล่นอยู่ริมระเบียงก็พลันให้นึกถึงผู้คนในสมัยก่อน ในสมัยนั้นโรงแรมนี้คงจะดูหรูหราที่สุดในจังหวัดน่าน คงมีคนระดับเจ้านายมาพักผ่อนนั่งจิบกาแฟ หรือสูบบุหรี่พ่นควันโขมงอยู่ตรงนี้  ไม้พื้นยังแน่นเปรี๊ยะไม่มีรอยแยกชวนให้นึกชื่นชมคุณภาพไม้ในสมัยก่อน

นายเก่งหยวน แซ่ห่าน ชาวจีนไหหลำ ผู้ก่อตั้งโรงแรมน่านฟ้า

     บางเวลาระหว่างรอมิตรเมืองน่านอยู่ที่ชั้นล่าง ผมชอบไปยืนเกาะเคาน์เตอร์คุยกับป๋า (คุณสมนึก ราชสิงห์ ) ที่ทำหน้าที่ดูแลโรงแรมประวัติศาสตร์หลังนี้มาหลายปี  ป๋าเป็นคนคุยสนุกชอบเล่าเรื่องเก่าๆ เมืองน่านให้ฟัง

     ข้างเคาน์เตอร์มีภาพเก่าสองภาพที่ผมชอบมาก ภาพแรกเป็นภาพของนายเก่งหยวน แซ่ห่าน ชาวจีนไหหลำ ผู้ก่อตั้งโรงแรมน่านฟ้า ในชุดคาวน์บอยกำลังขี่ม้า ในสมัยนั้นนายเก่งหยวน แซ่ห่าน มาทำกิจการสัมปทานไม้ที่จังหวัดน่าน  การขี่ม้าทำงานหรือท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว

ข้าราชการ หรือคนชั้นเจ้านาย ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันที่ด้านโรงแรมน่านฟ้า

     ส่วนภาพล่างเป็นภาพของข้าราชการ หรือคนชั้นเจ้านาย ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันที่ด้านโรงแรม ภาพนี้ทำให้ผมรู้ว่าโครงสร้างของโรงแรมนี้ยังคงสภาพคลาสสิคดั้งเดิมไว้ได้เกือบไม่เปลี่ยนแปลง

     เก็บสัมภาระเข้าที่เข้าทางในห้องชั้นสอง  แล้วออกเที่ยวชมความสวยงามของเมืองน่านเมืองเก่า ที่ยังมีชีวิต ผมเริ่มเต้นด้วยการข้ามถนนสุมนเทวราช ไปกินต้มเลือดหมูร้านเลิศรส ก่อนที่จะออกท่องเที่ยวชมวัดเก่าในเมืองต่อไป

ร้านต้มเลือดหมูเลิศรส

     ร้านเลิศรส ช่วงเช้าจะมีลูกค้าค่อนข้างมาก จนต้องเปิดชั้นบนที่เป็นชั้นลอยเพิ่มขึ้นอีกชั้นเพื่อรองรับลูกค้า บริเวณหน้าร้านพ่อครัว แม่ครัวก็ดูวุ่นๆ อยู่กับการลวกไส้ ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว บ้างก็ตักโจ๊กควันกรุ่น อีกด้านก็มีขนมจีบร้อนๆ อยู่ในตู้กระจกน่าชิมลิ้มลอง ข้างฝาด้านหนึ่งของร้านมีภาพวัดเก่าของเมืองน่าน เช่น วัดภูมินทร์ ติดอยู่หลายภาพ...นึกในใจว่า ดีจัง ร้านนี้เขาสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วยแฮะ

ร้านต้มเลือดหมูเลิศรส

     ต้มเลือดหมูร้อนๆ กับข้าวสวย หมดไปอย่างเรียบง่ายไม่เชื่องช้า ตามด้วยน้ำชาอุ่นๆ ใส่น้ำแข็ง แต่ไม่ใช่ชาเย็นหรือเย็นชา เพียงเท่านี้ก็พร้อมออกไปเที่ยวต่อได้สบาย

     ผมเลือกที่จะเดินเที่ยวไปเรื่อยๆ มากกว่าการใช้พาหนะอื่น เพราะอย่างแรกตอนนี้ผมไม่มีรถสักคัน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ หรือว่าจักรยาน คงต้องพึ่งสองขาและรองเท้าคู่เก่าคู่นี้เดินเตาะแตะไปเรื่อย ประโยชน์ของการเดินจะทำให้เราคุ้นเคยกับเส้นทางได้ไว และยังสามารถเก็บภาพในบางมุมได้ มีเวลาสังเกตเรื่องราวรอบตัว สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นได้มากขึ้น ท้ายสุดยังเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย...(ตอนนี้กระแสโลกร้อนเริ่มลดลงไป สงสัยคงลืมกันหมดแว้ว...ว่าเมื่อปีที่แล้วเรารณรงค์และตื่นตัวกันมากพอสมควร)

     จากการที่เคยมาเมืองน่านหลายครั้ง ทำให้ผมคุ้นเคยกับเส้นทาง  จะว่าไปเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองน่านก็ไม่ยากเย็นอะไร สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในเมืองก็จะเป็นวัดเก่า ที่มีสถาปัตยกรรมงดงามตามแบบล้านนา  ล้วนตั้งอยู่กลางใจเมือง หรือที่ชาวเมืองน่านเรียกว่า บริเวณข่วงเมือง ทั้งยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน สถานที่เก็บโบราณวัตถุล้ำค่า และเรื่องราวความเป็นมาของเมืองน่านก็ตั้งอยู่บริเวณนั้นด้วย

พระพุทธมหาอุดมศักยมุณี  พระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ ที่หันหน้าออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ

     เดินไม่ทันเหนื่อย ดูร้านค้าขายของสองข้างทางมาเรื่อยๆ ก็มาถึงข่วงเมืองเข้าแล้ว สิ่งแรกที่เลือกทำคือการเข้าไปในวิหารวัดภูมินทร์เพื่อนมัสการ พระพุทธมหาอุดมศักยมุณี  พระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ ที่หันหน้าออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ โดยหันหลังชิดติดกัน  วิหารวัดภูมินทร์เป็นโบราณสถานคู่เมืองน่านมานาน ตามตำนานนั้นว่ากันว่าพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2139 หากหักลบกันถึงวันนี้แล้ววิหารหลังนี้ก็มีอายุถึง 413 ปี

จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์

     ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามแปลกตาอยู่รายรอบ จิตรกรรมฝาผนังที่วิหารหลังนี้แตกต่างจากที่อื่น ตรงที่ทั่วไปแล้วช่างจะวาดภาพเกี่ยวกับพุทธชาดก แต่ที่วิหารวัดภูมินทร์แห่งนี้กลับเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน บางภาพมีจารึกอักษรล้านนาเป็นคำพูดของตัวละครในภาพ คล้ายภาพในหนังสือการ์ตูน

จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์

     การได้มานั่งอยู่ภายในวิหารในช่วงเวลาที่เงียบสงบ  ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้นๆ ก็สามารถทำให้เรารู้สึกสดชื่นสบายใจได้อย่างน่าอัศจรรย์  ประตูทั้งสี่ทิศเปิดออกรับสายลมเย็นบริสุทธิ์พัดผ่านเข้ามา สายลมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยเห็น แต่กลับมีอนุภาพยิ่งใหญ่  ภาวะจิตใจของมนุษย์มักขึ้นอยู่กับสิ่งรอบตัว และสายลม

วัดภูมินทร์

     นอกจากศิลปะงดงามภายในวิหารแล้ว ภายนอกของวิหารหลังนี้ยังมีจุดเด่นตรงที่เป็นวิหารจตุรมุขแห่งเดียวในประเทศไทย (เขาว่ากันมาอย่างนั้น) แถมยังตั้งอยู่บนังพญานาค นับได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามล้ำค่าแบบหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

วัดภูมินทร์ พระพุทธมหาอุดมศักยมุณี  พระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ ที่หันหน้าออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ พระพุทธมหาอุดมศักยมุณี  พระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ ที่หันหน้าออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ

     จากความงดงามดังกล่าวทำให้รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 8 ถึงกับนำภาพวิหารวัดภูมินทร์ พิมพ์ลงไปในธนบัตรใบละ 1 บาทด้วย

     ถ่ายภาพจนเป็นที่พอใจแล้วก็ออกเดินต่อ จากวัดภูมินทร์ผมเดินผ่านบริเวณที่เป็นข่วงเมือง จากนั้นก็ข้ามถนน การข้ามถนนในเมืองน่านไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรมากนักเพราะรถน้อย ข้ามมาก็พบเจอวัดช้างควรวิหาร วัดนี้สังเกตง่ายเพราะมีเจดีย์สีทององค์ใหญ่ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ

ข้ามถนนสู่วัดช้างค้ำวรวิหาร

     วัดช้างค้ำวรวิหาร หรือเรียกสั้นๆว่าวัดช้างค้ำ มีความเก่าแก่มากกว่าวัดภูมินทร์  แต่เดิมเรียกว่า วัดหลวงกลางเวียง ตามตำนานตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวไว้ว่า ผู้ครองนครน่าน ชื่อพญาภูเข็ง เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช 768 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1949 มาถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป 603 ปีแล้ว (เก่ามากเลยนะครับเนี่ย)

วัดช้างค้ำวรวิหาร

     เมื่อเข้ามาถึงภายในวัด ผมได้เข้าไปในหอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสมัยสุโขทัย ที่มีความเก่าแก่องค์หนึ่ง คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 14 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1969 ทางวัดได้ดูแลพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนีไว้ได้เป็นอย่างดี

พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี วัดช้างค้ำวรวิหาร

     วัดช้างค้ำมีสถาปัตยกรรมโดยรวมเป็นแบบสมัยสุโขทัย จะเห็นได้จากเจดีย์สีทองอร่ามที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ โดยสร้างเป็นทรงลังกา คล้ายรูประฆัง รอบๆ ฐานพระเจดีย์ปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัวค้ำองค์เจดีย์ไว้ เหมือนกับที่วัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย น่าปลาบปลื้มใจกับชาวเมืองน่านเสียจริงครับ ที่มีสมบัติล้ำค่าอยู่ใกล้ตัว

วัดช้างค้ำวรวิหาร

     วัดเป็นเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเราได้ย่างกรายเข้าไปแล้วมักจะทำให้รู้สึกปลอดโปร่งสบายใจ ที่ผ่านมาผมเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เข้าวัดบ่อยนัก  วันนี้ผมกลับได้รับรู้ความรู้สึกนั้นได้อย่างประหลาดใจ  ยังมีวัดอีกมากมายในเมืองน่านที่มีความเก่าแก่และสวยงาม ผมคงต้องใช้เวลาอีกมากในการไปเยี่ยมชม

ภายในอุโบสถวัดช้างค้ำวรวิหาร
คุ้มเจ้าราชบุตรในปัจจุบัน

     จากวัดช้างค้ำผมเดินทะลุอกทางด้านหลัง ตามคำแนะนำของนายกานต์สหายเมืองน่าน บอกว่าด้านหลังของวัดช้างค้ำเป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าราชบุตร แค่ชื่อผมก็รู้สึกสนใจขึ้นมาแล้ว เพราะทำให้นึกถึงหนังไทยในสมัยก่อน

คุ้มเจ้าราชบุตร

     คุ้มเจ้าราชบุตร เมื่อแรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 สร้างขึ้นเพื่อเป็นเรือนหอของเจ้าน้อยมหาพรหม ณ น่าน (เจ้ามหาพรหมสุรธาดา)และเจ้าแม่ศรีโสภา ต่อมาเจ้าน้อยมหาพรหม ณ น่าน ท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 (องค์สุดท้าย) จึงยกคุ้มแห่งนี้ให้บุตรชาย เจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) เมื่อปี พ.ศ. 2484 และท่านได้ย้ายไปประทับที่หอคำ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านปัจจุบัน) รวมเป็นเวลา 38 ปี ที่เจ้าน้อยมหาพรหม ณ น่าน พำนักอยู่ที่คุ้มแห่งนี้

เจ้าสมปรารถนา สุริยา และคุณสถาพร สุริยา ผู้ดูแลคุ้มแห่งนี้

     จากนั้นเจ้าราชบุตร ได้ปรับปรุงซ่อมแซมขึ้นใหม่และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2485 ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คุ้มเจ้าราชบุตรได้คงสภาพเดิมมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าสมปรารถนา สุริยา และคุณสถาพร สุริยา เป็นผู้ดูแลคุ้มแห่งนี้

โคมไฟโบราณ

     คุ้มเจ้าราชบุตรในวันนี้อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมลงไปบ้าง เนื่องจากการปรับปรุงต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก และต้องใช้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญในศิลปะโบราณ ปัจจุบันภายในคุ้มเจ้าราชบุตร เจ้าสมปรารถนาได้เก็บรวบรวมของใช้เก่าๆ ไว้มากมาย อาทิ กูปช้าง (ที่นั่งบนหลังช้างสำหรับเจ้านาย) เครื่องเล่นแผ่นเสียง ทีวีเก่า โคมไฟ เครื่องกรองน้ำ ตู้เย็น ผ้าทอโบราณ รูปภาพเก่าๆ ของบุคคลสำคัญในตระกูล และภาพวิถีชีวิตของชาวน่านในสมัยก่อน และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนหาชมได้ยากในปัจจุบัน

กูปช้าง ที่นั่งบนหลังช้างสำหรับเจ้านายในสมัยก่อน ของใช้เก่าๆภายในคุ้มเจ้าราชบุตร ภาพถ่ายบุคคลสำคัญภายในคุ้มเจ้าราชบุตร

     หากใครต้องการเข้าไปชม ก็ควรแจ้งความประสงค์ หรือติดต่อเจ้าสมปรารถนา ก่อนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 054 710 605 หรือ 089 970 4291 และในขณะนี้ยังไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ทั้งนี้จะมีตู้ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวบริจาคเงินเพื่อจะนำรายได้ไปบูรณะซ่อมแซมคุ้มประวัติศาาสตร์หลังนี้ให้คงอยู่ไว้คอยบอกเล่าความเป็นมาของเมืองน่านต่อไป

     อีกสถานที่หนึ่งก่อนที่ผมจะพักเที่ยง และอยู่ใกล้กับคุ้มเจ้าราชบุตรคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ที่นี่คือที่เก็บสมบัติล้ำค่าของเมืองน่านไว้มากมาย  และเป็นที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของดินแดนล้านนาตะวันออกได้อย่างเกือบครบถ้วนสมบูรณ์  ผมเองมาเมืองน่านหลายต่อหลายครั้งก็มีอันต้องเข้าไปเที่ยวชม เพราะต้องการไปสักการะพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2436 2461 โดยท่านเป็นผู้นำความเจริญรุ่งเรื่องมาสู่เมืองน่านในหลายๆ ด้านด้วยกัน ปัจจุบันมีรูปปั้นของท่านประดิษฐานยืนอยู่ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

     อาคารพิพิธภัณฑ์ มีลักษณะเป็นอาคารสองชั้น แต่เดิมเป็นหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ จนมาถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านาย บุตรหลานของท่านได้มอบหอคำหลังนี้ให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน และเมื่อปี พ.ศ. 2475 กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้น กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำไว้ใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านสืบมา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

    ที่สำคัญ ที่แห่งนี้เป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่าน ที่ไม่สามารถหาชมได้ที่ไหนอีก นั่นคือ งาช้างดำ

รูปปั้นพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ด้านหลัง)

     งาช้างดำ ชิ้นนี้ตั้งอยู่อย่างสง่าในห้องกระจก มีพญาครุฑยกแขนทั้งสองข้างแบกรับงาศักดิ์สิทธิ์ชิ้นนี้ไว้ งาช้างดำชิ้นนี้มีลักษณะเป็นงาปลี มีความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนที่ใหญ่ที่สุดได้ยาว 47 เซนติเมตร มีโพรงตอนโคนลึก 14 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท ทั้งยังมีจารึกอักษรล้านนาภาษาไทยว่า กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน หรือประมาณ 18 กิโลกรัม

     ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงานช้างสันนิษฐานว่า เป็นงาข้างซ้าย ส่วนความเป็นมานั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เรื่องราวของงาช้างดำนี้ ผมฟังมาจากผู้รู้หลายท่าน หลายตำนาน พอจะจดจำมาเล่าต่อได้ว่า

งาช้างดำ

     ตำนานแรกเล่าว่า ในสมัยพระเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน (ช่วง พ.ศ.2353-2368) มีพรานชาวเมืองน่านได้เข้าไปในป่าเพื่อล่าสัตว์ เมื่อเข้าไปถึงเขตแดนระหว่างเมืองเชียงตุง จึงได้พบซากช้างสีดำนอนตายอยู่ในลำห้วย และขณะนั้นพรานชาวเชียงตุงก็มาพบด้วยเช่นกัน พรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละข้าง และต่างคนก็ต่างนำไปถวายเจ้าเมืองของตน ต่อมาเจ้าเมืองเชียงตุง ได้ส่งสารมาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า ตราบใดงาช้างดำคู่นี้ยังไม่สูญหาย ไป เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป

     และมีตำนานที่สองเล่าว่า เมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงอยู่หลายเดือน ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อนมาก โหรเมืองเชียงตุงจึงทูลเจ้าเมืองว่า เป็นเพราะเมืองเชียงตุงมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกออกจากกัน  จากนั้นเจ้าเมืองเชียงตุงจึงนำงาช้างดำข้างหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่าน และกระทำสัตย์สาบานว่าจะเป็นมิตรกันตลอดกาล

     หากเราได้พินิจทั้งสองตำนานแล้ว จะพบเรื่องราวที่คล้ายกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ ความเป็นมิตรที่ดีต่อกันมาช้านานระหว่างเมืองน่าน กับ เมืองเชียงตุง ซึ่งมีความสัมพันธุ์กันดุจเป็นพี่ญาติสนิท

     แต่จะอย่างไรก็ตาม ความสำคัญของงาช้างดำนี้เชื่อกันว่า พญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 6 ได้กระทำพิธีสาปแช่งเอาไว้ว่า ขอให้งาช้างดำนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป หากผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ต้องไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครเท่านั้น

     จากนั้นเป็นต้นมางาช้างดำจึงเป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมือง และถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางจิตใจแก่ชาวเมืองน่านเป็นอย่างมาก

ไอสครีมป้านิ่ม อร่อยมากๆ ถ้วยละ 25 บาท

     ใกล้ถึงเวลาเที่ยงแล้ว ผมลัดเลาะออกจากพิพิธภัณฑ์ ไปร้านเฮือนฮอมด้วยเส้นทางที่คุ้นเคย ร้านนี้อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ นายกานต์มิตรสหายชาวน่านเขาทำกับข้าวไว้รอคนพลัดถิ่นอย่างผมอยู่ที่นั่น 

     ร้านเฮือนฮอมเป็นร้านอาหารไทยร้านหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำให้ไปชิมกัน เมนูเด่นก็จะมีขนมจีนน้ำยา น้ำพริกหนุ่ม และอาหารไทยตามสั่งทั่วไป ผมมักจะฝากท้องอยู่ที่ร้านนี้เสมอ หลังจากอิ่มหน่ำแล้วก็ไปแอบงีบบนม้านั่งตัวยาวที่อยู่หลังร้านบ่อยๆ (ดูมีคุณสมบัติเข้าข่ายเป็นคนขยันนาดู) วันนี้ก็คงเช่นเดียวกัน

หอศิลป์ริมน่าน

     เอาไว้บ่ายๆ ตื่นขึ้นมาค่อยขอยืมรถนายกานต์ไปเที่ยวหอศิลป์ริมน่าน  ที่นั่นบรรยากาศดีและมีภาพวาดสวยๆ จากฝีมือของคุณวินัย ปราบริปู แสดงนิทรรศการอยู่มากมาย แล้วกลับเข้ามานมัสการพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีเถาะ (คนที่ไม่ได้เกิดปีเถาะก็ไปไหว้ได้นะครับ) ที่อยู่อีกฝั่งของเมืองน่าน หรือฝั่งที่เป็นเมืองน่านดั้งเดิมจะดีกว่า....

      ตอนนี้ผมขอหลับตา แล้วนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ของเมืองน่านเมื่อสักห้าสิบหกสิบปีที่ผ่านมาก่อนนะครับ ที่นี่คงจะสวยงามคลาสสิค สมกับเป็นเมืองเก่าที่ยังคงมีชีวิตงดงามในแบบ  เมืองที่อยู่สุดขอบฟ้าล้านนาตะวันออก ของเมืองไทยเรา.

นุ บางบ่อ...เรื่อง และ ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552

 

     ขอแสดงความยินกับชาวจังหวัดน่าน ที่ จังหวัดน่านได้รับการประกาศ จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ให้พื้นที่ใจเมืองน่าน และเวียงพระธาตุแช่แห้ง เป็นเขตเมืองเก่าน่าน และเป็นเมืองโบราณแห่งที่ 2 รองจากเกาะรัตน์โกสินทร์ และทั้งยังได้เปิดด่านห้วยโก๋นเป็นด่านสากลในข้ามไปสู่เมืองไชยบุรี และเมืองหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

 

ภาพเพิ่มเติม แต่เขียนเรื่องให้อ่านไม่ไหว...(ง่วงนอนครับ)

วัดพระธาตุเขาน้อย วัดพระธาตุเขาน้อย วัดพระธาตุแช่แห้ง
วัดพระธาตุแช่แห้ง บันไดนาค วัดพระธาตุแช่แห้ง
หอศิลป์ริมน่าน การแข่งเรือในลำน้ำน่าน โรงเรียนน่านคริสเตียน

 

ขอขอบคุณ ผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล และการเดินทาง

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน
ร้านอาหารเฮือนฮอม  www. nantouring.com   โทร. 0-5475-1122
สายการบินพีบีแอร์    www.pbair.com    โทร. 02 326 8000
และทุกๆ รอยยิ้มของชาวจังหวัดน่าน

การเดินทางสู่ จ.น่าน     
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 มาจนถึงจังหวัดพิษณุโลกและใช้ทางหลวงหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง      สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต 2) มีรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดน่านทุกวัน ติดต่อ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 0 2936 2852-66 www.transport.co.th และมีบริษัทเอกชนที่บริการเดินรถไปจังหวัดน่าน ติดต่อ สมบัติทัวร์ โทร. 0 2936 2495-6 และ 0 5471 0122 เชิดชัยทัวร์ โทร. 0 5471 0362, 0 2936 0199

เครื่องบิน      บริษัท พีบีแอร์ บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-น่าน สำรองที่นั่ง โทร. 02 326 8000 www.pbair.com

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ล่องแก่งน้ำว้า
การเตรียมตัวไปล่องแก่ง
เรื่องท่องเที่ยวผจญภัยอีกมากมาย 
ล่องแก่งล้านนาในแดนว้าเดือด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook