สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง 48

สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง 48

สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง 48
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง

สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2548

ขบวนเรือประดับไฟฟ้า วันเสาร์ที่ 13 วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2548 (ช่วงเวลา 19.30 22.00 น. ของทุกวัน) บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร

จุดชมขบวนเรือตลอดเส้นทางสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณสะพานตากสิน ถึงสะพานกรุงธนฯ

จัดขบวนเรือหลักประกอบด้วย 3 Theme คือ - ขบวนเรือประเพณีลอยกระทง - ขบวนเรือสุขใจเที่ยวไทยสี่ภูมิภาค - ขบวนเรือแฟนตาซี

- พิธีเปิดงาน ณ ลานทัศนาภิรมย์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2548 เวลา 18.30 21.00 น. - สัมผัสบรรยากาศ "สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง" ชมขบวนเรือประดับไฟฟ้า บริเวณ หน้าราชนาวิกสภา กองทัพเรือ เวลา 18.30-21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2548 - กิจกรรมลอยกระทง ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548

สัตตนาวานฤมิต วิจิตรตระการตา 

     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอนำทุกท่าน สัมผัสความรื่นรมย์แห่งบรรยากาศริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา และชื่นชมความงดงาม อร่ามสายธารากับขบวนเรือประดับไฟฟ้า ที่จำลองบรรยากาศการจัดงานลอยกระทง จาก 6 พื้นที่หลักทางวัฒนธรรม ผสานความทันสมัยแห่งเทคโนโลยี รังสรรค์ภาพวิจิตรสู่สายตาของทุกท่าน ในค่ำคืนอันแสนพิเศษ ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2548 ตั้งแต่เวลา 19.30-22.00 น. ดังนี้

ลำที่ 1 กรุงเทพมหานคร จรัสเรืองเมืองแห่งวัฒนธรรม 

     ชมเรือประดับไฟฟ้า ตกแต่งด้วยแบบจำลองบุษบกที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งงานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ประดับประดาลำเรือด้วยดวงไฟรูปเหล่าเทวดาและนางฟ้า ที่กำลังโปรยดอกไม้ 

ลำที่ 2 งามล้ำราชธานี รัศมีเรือง เมืองอโยธยา

     จำลองภาพความงามของเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ อดีตราชธานี พระนครศรีอยุธยา แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวัฒนธรรมและสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลก ร่วมชื่นชมความอลังการของร่องรอยแห่งอดีตกาลที่ยังคงเรืองรองและตั้งตระหง่าน ณ ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา

ลำที่ 3 งามสง่าสุโขทัย เผาเทียนเล่นไฟแจ่มจ้า

     สัมผัสความตระการตาของบรรยากาศงานเผาเทียนเล่นไฟ งานประเพณียิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งได้คลี่คลายมาเป็น ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ในปัจจุบัน ชมความงามแห่งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยดินแดนแห่งมรดกโลก ด้วยเทคนิคอันทันสมัย บนเรือประดับไฟฟ้า

ลำที่ 4 เยือนเมืองตาก ล่องแม่ปิง งามยิ่งกระทงสาย 

     ชมความระยิบระยับแห่งสายธารแม่ปิง ในอ้อมกอดแห่งขุนเขา ด้วยบรรยากาศงานลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง ซึ่งจัดขึ้นเพียงแห่งเดียวที่จังหวัดตาก สัมผัสความงดงามแห่งผืนน้ำ ด้วยประกายวับวาวของแสงไฟในกะลามะพร้าว 

ลำที่ 5 พริบพราย ฉายนภา ม่านฟ้าเวียงพิงค์ 

     เต็มมอิ่มกับบรรยากาศของประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นคือการจุดประทีปโคมลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ตามความเชื่อที่ว่า เป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ ในบรรยากาศอันงดงาม ตามแบบล้านนา

ลำที่ 6 หลากสีสัน ส่องประกาย โคมฉาย เมืองสงขลา

     จำลองความตื่นตาตื่นใจของโคมไฟนานาชาติ หลายรูปแบบ หลากสีสัน ที่จัดแสดงใน งานเทศกาลโคมไฟนานาชาติ สีสันแห่งเมืองใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผนวกกันงานลอยกระทงร่วมสมัย และพบกับ นางเงือก ณ แหลมสมิหลา สัญลักษณ์ประจำเมืองในรูปแบบที่ประดับประดาด้วยโคมไฟหลากสี

ลำที่ 7 ลอยนาวา น้องสุขใจ เที่ยวเมืองไทย ชื่นอุรา 

     พบกับ น้องสุขใจ เชิญชวนท่องเที่ยวทั่วไทย สัญลักษณ์แห่งความสดใสและความรื่นรมย์ ที่จะมาร่วมเฉลิมฉลองและมอบความสุขให้กับทุกท่านใน เทศกาลสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง บนลำเรือประดับไฟฟ้า ในค่ำคืนที่แสนพิเศษ ณ แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้

ลำที่ 8 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

ชื่อเรือ : ความงามกาลเวลา  เป็นการนำเสนอความสวยงามของช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงเวลา เช้า-กลางคืน โดยใช้การประดับตกแต่งเรือด้วยสัญลักษณ์จากธรรมชาติให้สื่อถึงแต่ละช่วงเวลา โดยแต่ละช่วงเวลา ไฟที่ประดับจะสว่างขึ้น ค้างอยู่หมุนเวียนสลับกัน ตามลำดับ ดังนี้ ช่วงเช้า จัดแสดงเป็นผีเสื้อบิน ช่วงสาย จัดแสดงเป็นดอกไม้บาน ช่วงบ่าย จัดแสดงเป็นรุ้งกินน้ำ ช่วงเย็น จัดแสดงเป็นนกบิน ช่วงหัวค่ำ จัดแสดงเป็นนางฟ้า ช่วงดึก จัดแสดงเป็นดาวและพลุ คำบรรยาย จากเวลาอรุณรุ่งยามเช้า ตะวันสีทองทาบทองฟ้า สู่เวลาย่ำค่ำคืน สีสันแห่งบริบท แห่งช่วงเวลา ดวงตะวัน ดวงจันทร์และดวงดาวมีความงาม ตามแต่ละช่วงเวลาน่าชื่นชม เสริมให้ ภูมิสถานแหล่งท่องเที่ยวของไทยน่าชื่นชมอย่างยิ่ง

ลำที่ 9 มหาวิทยาลัยเซนต์ จอหน์ (Saint John's University)

ชื่อเรือ วันเพ็ญเดือนสิบสอง  เป็นการจำลองบรรยากาศงานวัด ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ค่ำคืนแห่งการลอยกระทง ซึ่งสะท้อนถึง ความสนุกสนานรื่นเริง การเฉลิมฉลองที่เป็นประเพณีทางสังคมที่อยู่กับสังคมไทยมานานนับศตวรรษ  การแสดงบนเรือ ประกอบด้วยบรรยากาศงานวัด ที่ใช้ชิงช้าสวรรค์จำลอง ประดับไฟหลากสีสันอย่างสว่างไสว วงล้อแห่งแสงไฟ ที่หมุนกระตุ้นความทรงจำที่สนุกสนานในอดีต / ม้าหมุนจำลอง ประดับไฟสวยงาม ให้เห็นรูปทรง จนถึงตัวการ์ตูนที่แขวนอยู่รอบด้าน / จอหนังกลางแปลง ที่มีการฉายภาพยนตร์อยู่ในส่วนท้ายของเรือ ทั้งหมดเป็นสื่อแสดงภาพบรรยากาศความรื่นเริง ในบริเวณงานวัดจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาเล่นเครื่องเล่น และพ่อค้าแม่ขายที่หาบของขาย 

ลำที่ 10 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ชื่อเรือ : Happiness on Earth ได้นำการแสดง ซึ่งมีแรงบันดาลใจจาก ธีม Happiness on Earth เป็นการแสดงโขน ในฉากสู้รบของตัวละครจากเรื่อง รามเกียรติ์ที่น่าตื่นเต้า เร้าใจ และแสดงถึงการมีน้ำใจนักกีฬา เป็นความสุขสูงสุดของมวลมนุษยชาติ โดยการตกแต่งและการแสดง ประกอบด้วย 1. ฉากคู่ประลองยุทธ ระหว่าง พญาครุฑ และพญานาค 2. ฉากหนุมานอมพลับพลา (ศาลา) มาดัดแปลง โดยให้หนุมาน เป็นตัวแสดงความรู้สึก มาแสดง อัปกิริยาอาการ เครียด ยิ้ม ร่าเริง ตามสถานการณ์การแข่งขันประลองยุทธ ระหว่าง พญาครุฑและพญานาค 3. ท้ายสุดของการประลองยุทธ์ เมื่อไม่สามารถเอาชนะกัน พญาครุฑ และพญานาค ได้แสดงไมตรีจิตต่อกัน โดยการมอบดอกไม้ให้กันและกัน 

ลำที่ 11 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

ชื่อเรือ : ทันสมัยอักษรไทย ได้นำเสนอการแสดงถึงวัฒนธรรม ในเชิงแฟนตาซี ที่มีความทันสมัย (modern) เป็นการแสดงตัวอักษรไทย  - โดยนำตัวอักษรประกอบกันเป็นลักษณะรูปทรงของอาคาร บ้านเรือน สะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นสังคมเมือง ที่ทันสมัยและความวุ่นวาย และความเป็นทุนนิยม - ซึ่งตัวอักษรเหล่านั้น ได้มาร้อยเรียงกันเป็นบท กลอน บรรยายถึงสถานที่ต่างๆ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา - การแสดงใช้การนำเสนอผ่านเทคนิคการเปิดและปิดไฟฟ้า ที่สื่อถึงการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ไม่ใช้เลย

ลำที่ 12 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ชื่อเรือ : ไอยราสโมสร (Iyara Party)  การตกแต่งได้ใช้ช้างสื่อ เนื่องจากช้างสามารถสื่อถึงความเป็นมิตรและความสุข และเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับคนไทยมาตั้งแต่อดีต จะเห็นได้จาก งานจิตรกรรมฝาฝนังในวัด (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์) ที่มีภาพช้างชุมนุม เนื่องจากช้างจะอยู่เป็นหมู่เหล่า กำลังแสดงอิริยาบถต่างๆ ที่สนุกสนานรื่นเริง และคนไทยได้ให้ความสำคัญของช้าง เช่น การใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติไทยในอดีต รวมทั้งได้มีการใช้ช้างเป็นสื่อความหมายในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น ในการถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2525 ด้วย การแสดงชุดนี้ได้แสดงถึง หมู่ช้างที่อยู่รวมกันสื่อถึงความจงรักภักดี หมู่ช้างที่ต่างมาคอยถวายการปรนนิบัติ เสริมสร้างบุญบารมี บ้างก็ถวายดอกบัว บ้างก็พ่นน้ำ แสดงอิริยาบถต่างๆ เช่นหมอบแสดงถึงความนอบน้อม ความขี้เล่นและความสุขของช้าง ช้างทั้งหมดพากันแซ่ซ้องถึงความสุขบนโลก (Happiness on Earth) ซึ่งถือเป็นการถวายพระพร แด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในโอกาสทรงขึ้นครองราชย์ครบ 60 ปี 

ลำที่ 13 มหาวิทยาลัยรังสิต

ชื่อเรือ : Unseen วรรณคดีไทย ได้จำลองฉากจากวรรณคดีเก่าแก่กว่า 200 ปีของไทย โดยมีตัวละครที่มาจากจินตนาการของกวีผู้ประพันธ์เรื่อง โดยนำวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณีตอนผีเสื้อสมุทรไล่ตามพระอภัยมณี มาตกแต่ง ตัวละครประกอบด้วย พระอภัยมณี ผีเสื้อสมุทร (นางยักษ์แห่งมหาสมุทร) และนางเงือก ของสนุทรภู่ กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ (UNESCO) ว่าเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ซึ่งตอนผีเสื้อสมุทรไล่ตามพระอภัยมณี ได้บรรยาย ถึงนางผีเสื้อสมุทรที่ว่ายน้ำมาถึง 3 วัน ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพื่อตามมาอ้อนวอนพระอภัยมณี (สวามี) ด้วยความอาทร ขณะที่พระอภัยฯ ก็ ขอให้นางเงือก และพ่อแม่ของนางเงือกซึ่งกำลังจะสิ้นแรงพาตนว่ายน้ำหนีนางผีเสื้อฯ เพราะเกิดความหวาดกลัวในตัวนางผีเสื้อฯ 

คำกลอนประกอบการแสดง ฝ่ายผีเสื้อสมุทรไม่หยุดหย่อน ครั้นลุยอ่อนอุตส่าห์ว่ายสายกระสินธุ์ กำลังน้อยถอยถดด้วยอดกิน เจียนจะสิ้นชีวาในสาคร ได้สามวันทันผัวกับลูกน้อย เห็นเลื่อนลอยลิบลิบยิ่งถีบถอน กระโจมโจนโผนโผชโลทร คลื่นกระฉ่อนฉาดฉานสะท้านมาฯ ฝ่ายเงือกน้ำกำลังก็สิ้นสุด ครั้งจะหยุดยักษ์ไล่ใกล้นักหนา เรียกลูกสาวคราวนี้พ่อจะมรณา เจ้าช่วยพาภูวไนยไปให้พ้น นางเงือกน้อยสร้อยเศร้าเข้ามาผลัด แบกกษัตริย์ว่ายเสือกเถลือกถลน กำลังสาวคราวด่วยด้วยจวนจน ออกกลางชลโบกหางผางผางไปฯ

สถานที่ชมขบวนเรือประดับไฟฟ้า  1.บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า 2.สวนสันติชัยปราการ 3.บริเวณสะพานพระราม 8 4.สถานีรถไฟบางกอกน้อย 5.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร 6.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร 7.วัดระฆังโฆษิตารามวรวิหาร

     และตามรอยบรรยากาศการประชุมเอเปค ณ ราชนาวิกสภา กองทัพเรือ "สัมผัสความยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมลุ่มน้ำ" ณ อาคารราชนาวิกสภา กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร รื่นรมย์ชมบรรยากาศ "สีสันแห่งสายน้ำ" ลิ้มรสอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เคยจัดเลี้ยงคณะผู้นำ APEC 2003 ตลอดจนชมความงดงามอลังการของพระบรมมหาราชวังและอาคารโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในยามค่ำคืน ตลอดเดือนพฤศจิกายน

ขอขอบคุณ และ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.loikrathong.net 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook