วิสาขปุณณมี

วิสาขปุณณมี

วิสาขปุณณมี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิสาขปุณณมี

นิทรรศการแฟนตาซี สื่อธรรมะในรูปแบบใหม่

    ททท. ชูนิทรรศการ วิสาขปุณณมี นิทรรศการแฟนตาซี ภายใต้แนวคิด Conceptual Art มุ่งเน้นสื่อธรรมะในรูปแบบที่ง่าย ด้วยลูกเล่นหลากหลายตระการตา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ชูภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเข้าภาพ วันวิสาขบูชาโลก 6 - 12 พฤษภาคม นี้ ณ ท้องสนามหลวง

   นายสันติชัย เอื้อจงประสิทธิ์ รองผู้ว่าการฝ่ายสินค้าท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงแนวคิดการจัดนิทรรศการ วิสาขปุณณมี ว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกในปี 2548 - 2550 นั้น ถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก นอกเหนือไป จากการประชาสัมพันธ์ด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแล้ว ประเทศไทยในฐานะที่เป็นเมืองพุทธศาสนา ยังได้มีโอกาสนำเสนอถึงหลักธรรม และแก่นของหลักพุทธะที่ได้รับการจารึกมาอย่างยาวนานนับแต่ครั้งโบราณกาล และได้รับการเผยแผ่ให้แก่พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยให้ถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง

    การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อสายตาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงได้ถือเอาโอกาสอันดีนี้ จัดนิทรรศการ วิสาขปุณณมี ขึ้น ซึ่งถ้าหากจะกล่าวถึงทางด้านของการท่องเที่ยว นิทรรศการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจแห่งหนึ่งในระหว่างงานวันวิสาขบูชาโลก และด้วยสถานที่ตั้งของนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ก็สอดคล้องกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพมหานคร อันได้แก่ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปวัฒนธรรม และมีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ตลอดจนได้สัมผัสถึงศิลปะที่ได้รับการถ่ายทอดมาอย่างวิจิตรงดงามในสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว

อนึ่ง วัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการดังกล่าว ได้แก่ 1. เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย ในฐานะของเจ้าภาพการจัดงาน วันวิสาขบูชาโลก 2. เพื่อเป็นการนำเสนอถึงหลักธรรมคำสอนและแก่นของพระพุทธธรรม ให้แก่ผู้เข้าชม ทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไป และชาวต่างประเทศ 3. เพื่อเป็นการเผยแผ่ประชาสัมพันธ์พุทธประวัติ และสาระสำคัญของวันวิสาขบูชาในรูปแบบที่ทันสมัย และในระดับสากล

ทั้งนี้ รูปแบบของนิทรรศการ วิสาขปุณณมี นั้น เป็นนิทรรศการที่ได้รับการตกแต่งภายใต้รูปแบบที่แฟนตาซี มุ่งเน้นการนำเสนอแบบทันสมัย ไฮเทค โดยผ่านการนำเสนอภายใต้รูปแบบที่หลากหลาย อาทิ VDO Art , Installation Art , Media Art เป็นการนำเสนอให้ผู้ชมรู้สึกจับต้องได้ง่าย

แนวคิดหลักที่ใช้ในการตกแต่งนิทรรศการ จะเป็นในรูปแบบของความจริงเหนือโลกแบบชาวสยาม : งานสื่อสารเพื่อปัญญา เพื่อจิตวิญญาณร่วมสมัย ในรูปแบบของ Conceptual Contemporary Multimedia Arts ภายใต้บรรยากาศแบบ Spiritual นำสู่ความรู้สึกร่วมของความรู้ตื่นและเบิกบาน

นิทรรศการดังกล่าวจะเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ ของการผลิตสื่อสร้างสรรค์ทางพระพุทธ- ศาสนา โดยนำเสนอแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาด้วยภาษาที่ง่าย นำเสนอแนวคิดที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมนิทรรศการให้ติดตามเนื้อหาอย่างสนุกสนาน

เนื้อหาของนิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 6 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ สังสารวัฏ (Samsara) พระพุทธเจ้า 29 พระองค์ (The Chronicle of 29 Buddhas) สู่ประสูติกาลแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (On the Birth) พุทธะตรัสรู้ (The Enlightenment) จาริกธรรม 45 พรรษา (The 45 years of preaching) และนิพพาน (Nirvana)

การจัดแสดงจะแบ่งออกเป็น 9 ห้อง โดยเนื้อหาที่ใช้จะเป็น 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการเผยแผ่ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาชมและเกิดความประทับใจ ทั้งนี้ รูปลักษณ์ของการออกแบบ จะมุ่งเน้นถึง ความจริงเหนือโลกแบบชาวสยาม : งานสื่อสารเพื่อปัญญา เพื่อจิตวิญญาณร่วมสมัย ในรูปแบบของ Conceptual Contemporary Multimedia Arts ภายใต้บรรยากาศแบบ Spiritual นำความรู้สึกร่วมของ ความรู้ตื่นและเบิกบาน

แนวคิดในการออกแบบอาคารนิทรรศการ นั้น ได้มีการผสมผสานสัญลักษณ์สำคัญของพระพุทธศาสนา คือ ดอกบัวขาว เจดีย์ และแสงแห่งปัญญาเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างให้เกิดศรัทธาแก่อาคาร ความโค้งกลมของตัวอาคาร สื่อถึงปรัชญาอันสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ สังสารวัฏ และเน้นเจดีย์รูปทรงสมัยใหม่เพื่อความโดดเด่น ความสง่างาม และเพื่อสอดรับกับภูมิทัศน์ของพระบรมมหาราชวังด้านหลัง

รายละเอียดการจัดแสดงภายในห้องต่าง ๆ ประกอบด้วย ห้องที่ 1 ห้องเตรียมผู้ชม ประกอบด้วย เนื้อหา 3 ส่วนหลัก คือ 1. ความมหัศจรรย์ของวันวิสาขบูชา 2. แนวคิดหลักของนิทรรศการ และ 3. แผนผังรวมอาคารนิทรรศการ

ห้องที่ 2 ห้องสังสารวัฏ อันจะแสดงให้เห็นถึงสภาวะของชีวิตมนุษย์ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จบ อันเนื่องมาจากการก่อกรรม และกิเลสตัณหา โดยพระพุทธะ คือ พระผู้ตรัสรู้ ได้ชี้ทางในการข้ามพ้นไปสู่ภูมิแห่งสันติสุข คือ โลกุตระภูมิ อันเป็นการหลุดพ้นจากความเป็นทุกข์นิรันดร์ ทั้งนี้ การนำเสนอจะเป็นโถงฉายภาพจักรวาล และสังสารวัฏ โถงทรงกลมนี้ ตรงกลางฉายภาพ ความเป็นไปของจักรวาล บนจอภาพ 3 มิติ เสมือนจริง สร้างผลพิเศษในบรรยากาศ ด้วยการฉายภาพประกอบที่มีมุมมอง 360 องศา รอบตัวผู้ชม

ห้องที่ 3 อุโมงค์มายา ในส่วนนี้จะนำเสนอเนื้อหาหลัก คือ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา อันสะท้อนถึง สภาวธรรมอันเกิดขึ้นในทุกขณะและในทุกสรรพสิ่ง แต่เรามองไม่เห็นเพราะกิเลสอันก่ออวิชชาที่เข้ามาบดบัง ซึ่งเมื่อเราฝึกฝนจิต และขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงแล้ว จึงเกิดปัญญา และทำให้ตระหนักรับรู้ถึงสภาวธรรมนั้น ๆ ได้อย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง และด้วย สติ ที่ตั้งมั่น และ ปัญญา ที่ก่อเกิดขึ้น จะนำพาเราให้หลุดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ องเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยการนำเสนอของห้องอุโมงค์มายา จะเป็นอุโมงค์กระจกเงา เต็มไปด้วยภาพลวงตา ที่ผู้ชมต้องเดินผ่านด้วยสติ กระจกเงาคือ การส่องเห็นตนเอง ในอุโมงค์กระจกเงาจะเป็นการสร้างหลุมพรางมายา ทำให้เกิดความรู้สึกตระหนักฉับพลันระหว่างความจริงกับภาพลวง

หลักธรรมภายในห้องนี้ สื่อให้เห็นว่า ธรรมะที่แท้นั้น เป็นเรื่องของจิตใจ หาใช่เรื่องของวัตถุไม่แม้แต่พระพุทธองค์เองก็ยังตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม หรือ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ส่วนผู้ที่เห็นเพียงร่างกายของพระองค์หาใช่การเห็นไม่

ห้องที่ 4 พระพุทธเจ้า 29 พระองค์ อันสะท้อนถึงพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธะ และพระปัจเจกพุทธะ ซึ่งจะตรัสรู้ในช่วงกัลป์ต่าง ๆ โดยพระคัมภีร์ได้บันทึกถึงการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าไว้ 29 พระองค์ โดยองค์ที่ 29 นี้เป็นความเชื่อว่าจะอุบัติขึ้นในอนาคต คือ พระเมตเตยยะ หรือที่ประเทศไทยเราเรียกว่า พระเมตไตรย หรือ พระศรีอารยเมตไตรย แต่มักเรียกกันว่า พระศรีอารย์ โดยพระพุทธเจ้าทั้ง 29 พระองค์นี้ต่างก็ตรัสรู้ในสัจจะอันเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นสัจจะที่เป็นสากลนิรันดร์

เมื่อผู้เข้าชมเดินออกมาจากอุโมงค์มายา จะได้พบกับพระพุทธรูปใสตั้งตระหง่านงดงามอยู่กลางห้องรายล้อมด้วยพระฉายาลักษณ์พระพุทธะ 29 พระองค์ บนแผ่นวัสดุโปร่งใส โดยจะระบุรายละเอียดของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ภายใต้การออกแบบและจัดแสดงแนวร่วมสมัย

ห้องที่ 5 ห้องประสูติ ซึ่งจะจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวการประสูติของพระพุทธเจ้า โดยรูปแบบการจัดสถานที่ แบ่งออกเป็น ส่วนที่ 1 งานวิดีโอบนเพดาน ในลักษณะการผสมผสานภาพจิตรกรรมไทยร่วมสมัย และเทคนิคคอมพิวเตอร์ภายใต้บรรยากาศของสรวงสวรรค์ รายล้อมด้วยเทวดา นางฟ้า ร่ายรำไปมา เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการทูลเชิญพระพุทธองค์ลงมาอุบัติในโลมนุษย์ ส่วนที่ 2 ช่วงเวลาแห่งพระประสูติกาล นำเสนอเป็นชิ้นงานศิลปะกระดาษตัด จำลองบรรยากาศความงามของป่าลุมพินีวัน ผสมผสานวิดีโอสามมิติของพระพุทธเจ้าในการย่างก้าวบนดอกบัวงาม 7 ดอก พร้อมอาสภิวาจาเป็นเสียงประกอบ เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุดของโลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ม.อุ. 14/207/240 มจร.

ห้องที่ 6 ห้องตรัสรู้ ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวันแห่งการกำเนิดพระธรรม แสงสว่างนำพามนุษย์ออกจากสังสารวัฏ เป็นการหยั่งรู้อันประมาณมิได้ ครอบคลุมความรู้แจ้งแทงตลอดโลกธาตุ เป็นสัพพัญญู เนื้อหาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก ครอบคลุมทั้งโลกียธรรม และโลกุตตรธรรม คือ ขันธ์ห้า กรรม กำเนิดโลก กำเนิดสี่ และส่วนที่สอง คือหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า อริยสัจสี่ โดยนำเสนอผ่านวิดีโอเรื่องย่อ ได้แก่ ขันธ์ห้า ชีวิตมนุษย์เป็นเพียงองค์ประกอบของรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จึงไม่จีรัง ถาวร เสื่อมสลายตามกาลเวลา ความทุกข์และสุขของมนุษย์อยู่ที่การยึดติดกับตัวตนนี้มากน้อยเพียงไร กรรม ชีวิตมนุษย์เคลื่อนไหวไปตามกระแสกรรม ปัจจุบันคือผลผลิตของอดีต อนาคตคือผลลัพธ์ของปัจจุบัน การวนเวียนในวัฏฏะหรือการหลุดพ้นล้วนเกิดจากการกระทำของตน ที่มาของพุทธพจน์ที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

กำเนิดโลก เรื่องราวการกำเนิดโลกและวิวัฒนาการของมนุษย์จากคำกล่าวของพระพุทธเจ้าในอัคคัญญสูตร

กำเนิดสี่ ครรลองชีวิตในธรรมชาติที่พระพุทธองค์ทรงนำมาแสดงเทียบเคียงได้กับหลักการวิทยาศาสตร์สมัยสมัยใหม่ เช่น วิวัฒนาการมนุษย์ในครรภ์ รวมถึงจุดเริ่มต้นของสรรพชีวิตต่าง ๆ ในธรรมชาติ ซึ่งเรียกในภาษาทางธรรมว่า โยนิ คือ ประเภทการเกิดของสัตว์ มี 4 ประเภท ได้แก่ 1.สัตว์ผู้เกิดในครรภ์ 2.สัตว์ผู้เกิดในไข่ 3.สัตว์ผู้เกิดในเถ้าไคล(สิ่งสกปรก) 4.สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา สัตว์นรก

พุทธภาษิต ข้อเตือนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ ให้ดำเนินชีวิตสู่ศานติสุข

อริยสัจสี่ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค ซึ่งเป็นหลักความจริงของสรรพสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องกำหนดรู้ ละ ทำให้แจ้ง และพัฒนาให้เกิดขึ้น

    รูปแบบของการนำเสนอ จะเป็นการจำลองพื้นที่ใต้ต้นโพธิ์ ในห้วงเวลาแห่งการตรัสรู้ ในรูปแบบของงานสื่อผสม ด้วยประติมากรรมต้นโพธิ์เรืองรองสว่างไสว ล้อมรอบด้วยงาน Video Art ที่ปราศจากเสียง ฉายบนจอภาพทีวีประมาณ 45 จอ เพื่อแสดงถึงทศพลญาณ สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ อันประมาณมิได้ แต่ทรงเพียรสอนสั่งเวไนยสัตว์สู่การหลุดพ้นเท่านั้น อุปมาดัง ใบไม้ในกำมือเดียว ส่วนแรก เป็นการแสดงวิดีโอ 5 เรื่อง ๆ ละประมาณ 2 - 3 นาที ในเวลาเดียวกันบนจอทีวีทั้งหมด โดยจัดสลับเรื่องราวในแต่ละจอในพื้นที่เดียวกันให้แตกต่างกัน เมื่อสิ้นสุดเรื่องราวในส่วนแรก จอภาพทั้งหมดจะเปลี่ยนภาพเป็นภาพดอกบัวบาน พร้อมเสียงอภิสวาจา นายช่างเอ๋ย เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก ซี่โครงทุกซี่ของท่าน เราหักแล้ว ยอดเรือน เราก็รื้อแล้ว จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว ขุ.ธ.25/154/80 มจร. ต่อด้วยส่วนที่สอง เป็นการนำเสนอเรื่องอริยสัจสี่

ห้องที่ 7 จาริกธรรม 45 พรรษา โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างพระสัททธรรมให้เป็นปึกแผ่นจากปัญจวัคคีย์ ณ เมืองพาราณสี สู่พุทธบริษัท 4 ที่แผ่ไปทั่วชมพูทวีป ด้วยปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ และกรุณาธิคุณ เริ่มต้นพรรษา 1 ด้วยธัมมจักรกัปวัฒนสูตร และโอวาทปาติโมกข์ ไปสู่หลากหลายหลักธรรม ในหลากหลายสถานที่ เพื่อหลากหลายบุคคล ในหลากหลายสถานการณ์ โดยไปสิ้นสุดที่ความไม่ประมาท ในพรรษาสุดท้าย อันเป็นหลักธรรมใหญ่ที่ครอบคลุมทุกหลักธรรม โดยถ่ายทอดเรื่องราวและหลักธรรมสำคัญต่าง ๆ ในประวัติพระพุทธศาสนา ด้วยการผสมผสานงานกราฟฟิคสมัยใหม่ เข้ากับงานปั้นหุ่นจำลองอย่างเป็นเอกภาพ เปรียบเสมือนจิตรกรรมผนังโบสถ์ร่วมสมัย เพื่อแสดงถึงมรรคาสู่ความหลุดพ้น

พุทธกิจของแต่ละพรรษาโดยสังเขป ได้แก่ พรรษาที่ 1 ทางสายกลาง โอวาทปาฏิโมกข์ ปฏิจจสมุปบาท พรรษาที่ 3 กุศลกรรมบถ พรรษาที่ 4 ไตรลักษณ์ สติปัฏฐาน พรรษาที่ 9 สามัคคีธรรม พรรษาที่ 13 มงคล 38 ประการ พรรษาที่ 14 ความไม่ประมาท พรรษาที่ 18 สังคหวัตถุ 4 พรรษาที่ 44 ไตรสิกขา พรรษาที่ 45 อิทธิบาท 4

ห้องที่ 8 นิพพาน แสดงถึง การเข้าถึงความหลุดพ้น ด้วยการหยั่งเห็นถึงความไม่เที่ยงแท้แห่งสรรพสิ่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธองค์ทรงกล่าวเตือนว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท มหาปรินิพพานสูตร ที.ม 10/217/166 โดยนำเสนอในรูปลักษณ์ของภาพนูนต่ำของพระพักตร์พระพุทธองค์ ทรงหลับพระเนตรบนผนังรายล้อมด้วยงาน Installation ของดอกบัวเป็นพุทธบูชา และเป็นการแสดงถึงความไม่เที่ยงแท้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในบรรยากาศที่สงบนิ่ง พร้อมรับฟังเสียงอ่านมหาปรินิพพานสูตร อันเป็นปัจฉิมวาจาของพระพุทธองค์

ห้องสุดท้าย ห้องที่ 9 ห้องสติและไม่ประมาท จะนำเสนอภายใต้แนวคิดหลัก สติ และความไม่ประมาท ซึ่งเยบเรียงเนื้อหาให้เข้ากับการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ด้วยสำนวนภาษาที่ร่วมสมัย เตือนใจผู้ชมก่อนออกจากนิทรรศการ ในรูปลักษณ์การออกแบบ Typographic Art

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ วิสาขปุณณมี ได้ในระหว่างวันที่ 6 - 12 พฤษภาคม 2549 ณ บริเวณท้องสนามหลวง

............................................

คุณเกษลักษณ์ หาราชัย  โทร. 0 1919 8980 คุณยุพา สดแสงสุก โทร. 0 1371 0395 , 0 2682 9880

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook