งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี

งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี

งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี ครบรอบ 50 ปีวันทรงดนตรีที่จุฬาฯ

ข้อมูลจาก   www.chula.ac.th

กำหนดจัดงาน 20 กันยายน 2550 เวลา 18.00 21.00 น. ณ หอประชุมจุฬาฯ

      ...ดนตรีวงนี้เล่นอย่างกันเอง เลอะๆ เทอะๆ บางทีควรจะจบก็เล่นต่อไป บางทียังไม่ทันจบก็รีบจบ บางทีมีคนขอเพลงมา ไม่เคยได้ยินก็เปิดแผ่นเสียงให้ฟังก็เล่นกันไปได้ เล่นอย่างกันเอง อย่างที่นายแมนรัตน์ นายวงเขาพูดบ่อยๆว่า เป็นกันเองกับผู้ฟังดี วันนี้ขอให้นิสิตเป็นกันเอง...

       พระราชดำรัสข้างต้นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่นิสิตจุฬาฯ ในการทรงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาสสวนอัมพร เป็นวันซึ่งได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นิสิตจุฬาฯ เข้าเฝ้าฯถวายความจงรักภักดีและถวายชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เล็ก คือ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ วันนั้นโปรดเกล้าฯให้แสดงดนตรีเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. ในครั้งนั้นนิสิตได้บริจาคสมทบทุนอานันทมหิดลเป็นเงิน 4,000 บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับหัวหน้าวงดนตรีสากล ส.จ.ม. ที่จะนำวงลายครามมาบรรเลงที่จุฬาฯ จากนั้นจึงมีการจัดงานวันทรงดนตรีเรื่อยมา

       ตั้งแต่ปี 2501 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปทรงดนตรีที่หอประชุมจุฬาฯ รวม 15 ครั้ง ทุกครั้งจะพระราชทานพระราชดำรัสอย่างไม่เป็นทางการแต่ทรงคุณค่าต่อการเรียนและการปฏิบัติตน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชภารกิจมากขึ้นจึงทรงยุติการแสดงดนตรีส่วนพระองค์ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา

       เนื่องจากนิสิตจุฬาฯ ที่มีโอกาสเล่นดนตรีในวงลายครามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่เป็นประจำรำลึกถึงวันทรงดนตรีในอดีต จึงรวมตัวกันเล่นเพลงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นที่ศาลาพระเกี้ยว ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ร่วมมือกันจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีขึ้นที่หอประชุมจุฬาฯ ในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี จนถึงปัจจุบัน การแสดงดนตรีจะเริ่มจากวง C.U. Band ของนด้วยการแสดงของวงดนตรีนิสิตเก่าบรรเลงเพลงที่เคยร่วมแสดงในวงลายคราม และบทเพลงอื่นๆ ในตอนแรกนิสิตเข้าฟังไม่มากเท่าที่ควร แต่เมื่อกำหนดไว้แน่นอนว่าจะบรรเลงทุกปี จึงมีนิสิตและผู้ฟังจากภายนอกมาฟังเต็มหอประชุมทุกปี

       ในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2550 เวลา 18.00 21.00 น. ณ หอประชุมจุฬาฯ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตจุฬาฯ ครบรอบ 50 ปี และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา เพลินเพลงพระราชนิพนธ์อันไพเราะมากมายโดยวงดนตรี ซียู แบนด์วงดนตรีที่เก่า พร้อมนักร้องรับเชิญกิตติมศักดิ์ นอกจากนี้ยังมีการขับขานบทเพลงจากใจคนไทยทุกหมู่เหล่าที่แต่งขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรวมบทเพลงต่างๆจากผลงานการประพันธ์ของนิสิตเก่าจุฬาฯ

       ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมฟรี รวมทั้งเชิญร่วมบริจาคเงินสมทบทุนอานันทมหิดลและเชิญชมนิทรรศการ วันทรงดนตรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสารนิเทศ จุฬาฯ โทร. 0-2218-3364-5 สำนักงานนิสิตสัมพันธ์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-7045-6

นิสิตจุฬาฯ วงซี ยู แบนด์ กับงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี

     นิสิตจุฬาฯ สมาชิกวงดนตรีซียู แบนด์ เตรียมพร้อมเต็มที่สำหรับงาน วันที่ระลึกวันทรงดนตรี 20 กันยายนนี้ที่หอประชุมจุฬาฯ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวาระพิเศษครบรอบ 50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงดนตรีที่จุฬาฯ และเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา รวมทั้งเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ

       ภควัต วงศ์ไทย นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประธานชมรมดนตรีสากล (ซี ยู แบนด์) พรชนก กาญจนพังคะ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ประชาสัมพันธ์ชมรมฯ และฐิติ ตั้งอิทธิพลากร นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าวงดนตรีซียู แบนด์ เปิดเผยว่า งาน วันที่ระลึกวันทรงดนตรี จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จฯ มาทรงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตจุฬาฯ ในวันที่ 20 กันยายน ระหว่างปี 2501-2516 การแสดงในปีนี้จะมีการขับขานบทเพลงพระราชนิพนธ์ 12 เพลงแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปี 2489-2495 นำเสนอในรูปแบบเมดเล่ย์ อาทิ เพลง สายฝน แสงเทียน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ฯลฯ นำเสนอในรูปแบบเพลงแจ๊ส ขับร้องและบรรเลงในลักษณะวง big band ที่หาชมได้ยาก ประกอบด้วยนักดนตรีและเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ จำนวนมากซึ่งนักร้องนักดนตรีทุกคนต้องฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีบทเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพิเศษต่างๆ 6 เพลง ได้แก่ ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น สดุดีมหาราชา ล้นเกล้าเผ่าไทย ภูมิแผ่นดินนวมินทญจากก้อนดิน และ พ่อของแผ่นดิน ต่อจากนั้นจะเป็นการแสดงของวงดนตรีพี่เก่า (ICU) ซึ่งจะถ่ายทอดความไพเราะของบทเพลงที่มีชื่อเสียงจากผลงานการประพันธ์ของนิสิตเก่าจุฬาฯ เช่น สายทิพย์ สายชล ผู้ชนะสิบทิศ สุดเหงา พรหมลิขิต น้ำเซาะทราย ส้มตำ ฯลฯ

      สามนิสิตจุฬาฯ สมาชิกวงดนตรีซียู แบนด์ ได้กล่าวเชิญชวนนิสิตเก่าจุฬาฯ และผู้สนใจมาร่วมงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี 20 กันยายนนี้ 18.00-21.00 น. ที่หอประชุมจุฬาฯ รวมทั้งเชิญร่วมบริจาคเงินสมทบทุนอานันทมหิดล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook