วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน

วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า วิสาขปุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน ๖) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้

วันวิสาขบูชา

ประสูติ ๑. เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า

วันวิสาขบูชา

ตรัสรู้ ๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี

การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...

ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ๑. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ๒. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ ๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป

วันวิสาขบูชา

ปรินิพพาน ๓. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีปของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลดเสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก

ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น

วันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ที่มีต่อปวงมนุษย์และสรรพสัตว์อันหาที่สุดมิได้

การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ

พุทธกิจ ๕ ประการ ๑. ตอนเช้า เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ คือเสด็จไปโปรดจริง เพราะทรงพิจารณาเห็นตอนจวนสว่างแล้ว ว่าวันนี้มีใครบ้างที่ควรไปโปรดทรงสนทนา หรือแสดงธรรมให้ละความเห็นผิดบ้าง เป็นต้น ๒. ตอนบ่าย ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนที่มาเฝ้า ณ ที่ประทับ ซึ่งปรากฏว่าไม่วาพระองค์จะประทับอยู่ที่ใด ประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่าตลอดถึง ผู้ปกครอง นครแคว้นจะชวนกันมาเฝ้าเพื่อสดับตับพระธรรมเทศนาทุกวันมิได้ขาด ๓. ตอนเย็น ทรงเเสดงโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลที่อยู่ประจำ ณ สถานที่นั้นบางวันก็มีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบด้วยเป็นจำนวนมาก ๔. ตอนเที่ยงคืน ทรงแก้ปัญหาหรือตอบปัญหาเทวดา หมายถึง เทพพวกต่างๆ หรือกษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพ ผู้สงสัยในปัญญาและปัญหาธรรม ๕. ตอนเช้ามืด จนสว่าง ทรงพิจารณาสัตว์โลกที่มีอุปนิสัยที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดได้ แล้วเสด็จไปโปรดโดยการไปบิณฑบาตดังกล่าวแล้วในข้อ ๑

โดยนัยดังกล่าวมานี้พระพุทธองค์ทรงมีเวลาว่างอยู่เพียงเล็กน้อย ตอนเช้าหลังเสวยอาหารเช้าแล้ว แต่ก็เป็นเวลาที่ต้องทรงต้อนรับอาคันตุกะ ผู้มาเยือนอยู่เนืองๆ เสวยน้อย บรรทมน้อย แต่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจมาก ตลอดเวลา ๔๕ พรรษานั้นเอง ประชาชนชาวโลกระลึกถึงพระคุณของพระองค์ดังกล่าวมาโดยย่อนี้ จึงถือเอาวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระองค์เป็นวันสำคัญ จัดพิธีวิสาขบูชาขึ้นในทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา

ธรรมเนียมการปฏิบัติในวันวิสาขบูชา เมื่อวันวิสาขบูชาเวียนมาถึงในรอบปี พุทธศาสนาชนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต (พระสงฆ์ สามเณร) หรือ ฆราวาส (ผู้ครองเรือน) ทั่วไป จะร่วมกันประกอบพิธีเป็นการพิเศษทำการสักการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณา พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นดวงประทีปโลก เมื่อวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงในวันเดียวกัน ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญวิสาขบูชา กลางเดือน ๖ ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา แบ่งออกเป็น ๓ พิธี คือ ๑.พิธีหลวง (พระราชพิธี) ๒.พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป) ๓.พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)

การประกอบพิธี และ บทสวดมนต์ในวันวิสาขบูชา ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการประกอบพิธีในวันมาฆบูชา ๑. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา ๓. ไปเวียนเทียน ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา ๔. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา ๕. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ออนไลน์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook