พระราชวัง พญาไท ตอน : ดุสิตธานี

พระราชวัง พญาไท ตอน : ดุสิตธานี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สร้างในสมัย : รัชกาลที่ 5 (โดยรัชกาลที่ 6) พระมหากษัตริย์ของไทยเราในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นั้น มีที่น่าสังเกตอยู่ประการหนึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินแต่ละองค์จะมีพระราชฐานประจำส่วนพระองค์กันมาตลอด นับตั้งแต่ พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง และก่อนที่จะถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระเชษฐารัชกาลที่ 6 ทรงมีแนวพระราชดำริที่จะปรับประเทศ ให้เป็นประชาธิปไตยมาก่อนแล้ว โดยทรงโปรดให้สร้างเมืองจำลองขึ้นก่อนในที่ดินแปลงหนึ่งที่เป็นที่ โรงนาพญาไท ซึ่งเป็นโรงนาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อแปลงนานี้ ไว้ทดลองปลูกพืช และ ต่อมาที่นานี้ก็กลายเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แทนเมื่อถึงคราวที่รัชกาลที่ 6 ทรงสืบราชสมบัติต่อนั้น พระองค์ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาจากสหราชอาณาจักร อันเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาก่อนหน้านั้นหลายร้อยปีแล้ว เมื่อเสด็จกลับสู่พระนคร และ สืบราชสมบัติต่อนั้น พระองค์จึงนำแนวคิดที่จะปรับประเทศเข้าสู่ระบอบประชาชนเป็นใหญ่นี้ โดยตั้งเมืองจำลองที่โรงนาพญาไท โดยที่พระองค์นั้นทรงแบ่งที่ดินออกเป็นส่วนๆ ตามประเภทของอาคารเช่น จัดตั้งโรงเรียน กรมทหาร โรงพยาบาล ฯลฯ รวมทั้งทรงจัดให้มีการปกครองตามแบบนครรัฐ ที่มีพรรคการเมือง 2 พรรค และ ทดลองให้มีการเลือกตั้งขึ้น เพื่อทดลองการปกครองในอาณาบริเวณนี้ดูเสียก่อน ด้วยการแนะวิธีการปกครองส่วนท้องถิ่นให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ และ ข้าราชบริพาร ในส่วนของที่ประทับส่วนพระองค์ ในราชอาณาเขตพญาไทนี้ แรกเริ่มเดิมทีนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นหลังหนึ่งก่อนในปี พ.ศ.2452 เพื่อใช้เป็นที่ประทับเมื่อคราวแปรพระราชฐาน ต่อมาพระที่นั่งพญาไทนี้ก็ตกเป็นของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถจวบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต และ หลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างหมู่พระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ เพื่อใช้รองรับเป็นสถานที่ประจำ ส่วนพระองค์ ก็ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งนี้มาตลอดพระชนม์ชีพ ปัจจุบันพระราชวังพญาไท ตกเป็นของกองเสนารักษ์ทหารบก และ ทางกองทัพบกก็ได้ปรับพื้นที่บางส่วนเสียใหม่ให้เป็นโรงพยาบาล โดยที่กองทัพบกเอง ก็พยายามที่จะคงกลุ่มพระที่นั่ง เอาไว้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แก่ประชาชนได้เข้าชมกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

สิริลักษณ์ จินตนะดิลกกุล

LEISURE TEAM ท่านผู้อ่านมีคำแนะนำหรือติชมหรือคุยกับ LEISURE TEAMได้ที่ leisure@th.mweb.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook