พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
[dsc00001.jpg] สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ที่เราอยากให้คุณไปชมกลางเมืองหลวง คุณค่าของอดีตที่ถ่ายทอดและเก็บไว้เพื่อคนรุ่นหลังยังคงครบถ้วนไม่จางหาย พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (King Prajadhipok Museum)

หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นกับชื่อสถานที่นี้กันมากนัก วันก่อนทีมงานวันว่างมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ถือได้ว่า มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้มา เลยนำภาพและเรื่องราวต่างๆมาเล่าสู่กันฟังน่าจะดี

เรานั่งรถเมล์ปรับอากาศสาย 39 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาลงต้นต้นถนนหลานหลวง ก่อนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ (จริงๆแล้วก็มีรถเมล์อีกหลายสายที่ผ่าน เช่น 2, 15, 25, 44, 47, 59, 60 ปอ.44 ปอ.59 ปอ.79 ปอ.511 และปอ.512 หรือถ้าอยากนั่งเรือก็ไปลงเรือโดยสารคลองแสนแสบแล้วก็มาขึ้นที่ท่าน้ำผ่านฟ้า) เดินหาไม่นานเราก็เจออาคาร 3 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมออกแนวนีโอคลาสสิค มีหอคอยยอดโดม ตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบกรีก-โรมัน ป้ายด้านหน้าเขียนชื่อเห็นเด่นชัดว่า พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์นิดนึงว่า พิพิธภัณฑ์นี้ เดิมเรียกว่า พิพิธภัณฑ์รัฐสภา อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เริ่มก่อสร้างในปลายรัชกาลที่ 5 ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปีจึงแล้วเสร็จ และเคยเปิดให้ห้างยอนแซมสันเช่าพื้นที่ ดำเนินธุรกิจขายผ้าฝรั่ง และตัดชุดสูทที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาเมื่อห้างดังกล่าวล้มเลิกกิจการ อาคารนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็นห้างสุธาดิลก ขายเครื่องก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ จนปี พ.ศ. 2476 กรมโยธาเทศบาลได้เช่าอาคาร ใช้เป็นที่ทำการกรม และกรมนี้ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น กรมโยธาธิการ

ย้อนกลับมาที่เวลาปัจจุบัน หลังจากยืนมองอาคารจนอิ่มเอมแล้ว เราก็เดินเข้าไปซื้อตั๋วข้างในกันตามธรรมเนียม ราคาคนละ 20 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร ผู้พิการไม่ต้องเสีย และในวันหยุดราชการทุกคนทุกวัยก็จะได้เข้าฟรี ที่นี่เขามีเจ้าหน้าที่ ไกด์ ประจำทุกวันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ เวลา 14.00 น. ด้วย ถ้าใครมาเป็นกลุ่มก็สามารถติดต่อได้ แต่เรามีเวลาไม่มาก ก็เลยฉายเดี่ยวเที่ยวกันเอง

ก่อนเข้าไป อย่าลืมถอดรองเท้าวางไว้ก่อน ถ้ากลัวหายก็มีช่อง ล็อคเกอร์ไว้ ภายในอาคารที่ทาสีครีม น้ำตาล และขาวนี้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนย้อนกลับไปในอดีตยังไงยังงั้น ก่อนที่เราจะเดินขึ้นบันไดไปชั้นบน ทุกคนก็จะพบกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวติดผนังไว้อยู่ อย่างเห็นเด่นเป็นสง่า น่าแปลกที่เรารู้สึกกลับสงบเงียบในใจได้ในสถานที่นี้ ทั้งๆที่เสียงยวดยานพาหนะ วิ่งกันขวักไขว่ข้างนอกมีมาให้ได้ยินเป็นระยะ

เราเข้าไปยังส่วนแรกของชั้น 2 ที่จัดแสดงถึงการสืบราชสันตติวงศ์ ของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากนั้น จึงเป็นส่วนของพระราชประวัติของรัชกาลที่ 7 ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษา ทรงผนวช ทรงอภิเษกสมรส และทรงรับราชการ จบตรงส่วนนี้ มีทางออกให้เราเดินขึ้นไปยังชั้น 3 ต่อ อันเป็นส่วนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ ที่สวยงามและทรงคุณค่า เดินไปเรื่อยๆจนถึงส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ด้านต่างๆของพระองค์ เช่น ทรงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ, การลูกเสือ, การสื่อสารคมนาคม, การทหาร, การศึกษา-ศาสนา เป็นต้น ทำให้บริเวณนี้เป็นส่วนที่มีพื้นที่กว้างที่สุดของชั้นเลยก็ว่าได้

ชื่นชมกับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงทำเพื่อประชาชนได้พอสมควร เราก็เดินไปยังส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับงานฉลองพระนคร 150 ปี เช่น การสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด และพระบรมมหาราชวัง เสร็จแล้วก็เข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หัวเลี้ยวหัวต่อจากการเปลี่ยนแปลง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย ดูแล้วก็รู้สึกว่า กว่าที่ประเทศไทยเราจะได้ประชาธิปไตยมานี้นั้น ต้องฝ่าฟันอุปสรรคกันมามากมายนัก และส่วนสุดท้ายของชั้นนี้ก็คือ ส่วนที่จัดแสดงเรื่องราวของการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ที่พระองค์ทรงพระราชทานอำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชน และเป็นการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม

เราเดินกลับลงมาที่ชั้น 2 อีกครั้งหนึ่ง เจอกับรูปแบบจำลองของศาลาเฉลิมกรุง ที่จัดแสดงไว้ให้เห็นถึงที่มาของโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ต่อมา เราก็เดินมาที่ส่วนจัดแสดงเครื่องราชภัณฑ์ และพระราชนิยมส่วนพระองค์ด้านต่างๆ อาทิ การดนตรี การกีฬา และส่วนสุดท้ายของห้องนิทรรศการถาวรนี้ ก็คือพระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี้ด้วย เราสังเกตเห็นว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ตรงางห้องส่วนนี้ และเมื่อมองไปด้านหลังก็จะตรงกับ ตำแหน่งพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 พอดี ก่อนกลับลงมา มีสมุดเซ็นเยี่ยมวางไว้บนโต๊ะ ให้ผู้เข้าชมได้เขียนความรู้สึกมากมายอีกด้วย

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะงงว่า ทำไมเราต้องเดินขึ้นเดินลงชั้น 2 ชั้น 3 ตลอด อธิบายนิดนึงว่า ที่นี่ เขาจัดการเดินชมให้มีลักษณะเป็นรูปวงกลม เพื่อที่จะได้ชมสถานที่กันได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีลิฟต์สำหรับผู้พิการที่ต้องการเข้าเยี่ยมชมเพื่อความสะดวกอีกด้วย

เราออกมาข้างนอกอาคารทรงสวยได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 7 นั้น ก็ยังแจ่มชัดอยู่ในหัวเราอย่างมิรู้ลืม ลองหาเวลามาเยี่ยมชมกันดูสักครั้ง น่าจะเป็นสิ่งที่ดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณสักครั้งหนึ่ง

.....เรื่องโดย นายนก

[dsc00002.jpg]
[dsc00003.jpg] [dsc00010.jpg]
[dsc00011.jpg] [dsc00012.jpg]
[dsc00015.jpg] [dsc00016.jpg]
[dsc00018.jpg] [dsc00019.jpg]
[dsc00021.jpg] [dsc00022.jpg]
[dsc00023.jpg] [dsc00024.jpg]
[dsc00025.jpg] [dsc00026.jpg]
[dsc00032.jpg] [dsc00035.jpg]
[dsc00037.jpg] [dsc00038.jpg]
[dsc00041.jpg] [dsc00048.jpg]
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook