เยือนถิ่นช่างฝีมือ ชุมชนวัดบางไส้ไก่

เยือนถิ่นช่างฝีมือ ชุมชนวัดบางไส้ไก่

เยือนถิ่นช่างฝีมือ ชุมชนวัดบางไส้ไก่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เยือนถิ่นช่างฝีมือ ชุมชนวัดบางไส้ไก่

ขลุ่ยบ้านลาว ( ชุมชนวัดบางไส้ไก่ ) กล่าวกันว่าชาวลาวที่ชุมชนบางไส้ไก่นั้น บรรพบุรุษเดิมเป็นคนเวียงจันทร์ เมื่อถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยศึกของไทย พวกเขาได้นำความรู้ในการทำขลุ่ยและแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาด้วย เนื่องจากบริเวณที่ตั้งรกรากนั้นอยู่แถววัดบางไส้ไก่ จึงเรียกกันจนติดปากว่า "หมู่บ้านลาว"

คุณจรินทร์ กลิ่นบุปผา ประธานชุมชน ผู้ซึ่งเป็นชาวลาวรุ่นที่ 3 ได้สืบทอดวิชาการทำขลุ่ยต่อจากคุณปู่กล่าวว่า

"ไม้รวกที่ใช้ทำขลุ่ยต้องสั่งตัดจากหมู่บ้านท้ายพิกุล อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อได้ไม้มาแล้วจะนำมาตัดเป็นท่อนตามความยาวของของปล้องไม้ และนำไปตากแดด 15 - 20 วัน เพื่อให้เนื้อไม้แห้งสนิท แล้วจึงคัดขนาด เลือกประเภท ขัดเงา แล้วจึงเจาะรูขลุ่ยโดยใช้แคนเทียบเสียง ส่วนขั้นตอนทำลวดลายนั้นใช้ตะกั่วหลอมให้เหลว แล้วใช้ช้อนตักราดลงบนขลุ่ยเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายพิกุล ลายตอก เป็นต้น จากนั้นจึงแกะปากนกแก้วเพื่อตั้งเสียง ทำการดากขลุ่ยโดยการเหลาไม้สัก หรือไม้เนื้อแข็งอุดเข้าไปในรู เว้นช่องสำหรับให้ลมเป่าผ่าน ต้องทำให้ระหว่างปากขลุ่ยกับปากนกแก้วโค้งเป็นท้องช้าง เพื่อให้ได้เสียงที่ไพเราะ กังวาน แล้วจึงทดสอบดูว่าได้เสียงที่มาตรฐานหรือไม่"

ปัจจุบันมีครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำขลุ่ยประมาณ 20 หลังคาเรือน ด้วยคุณภาพและความมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ในอดีตของ "ขลุ่ยบ้านลาว" ลูกค้าส่วนใหญ่จึงนิยมมาสั่งทำขลุ่ยถึงในหมู่บ้าน นอกเหนือจากการส่งขายตามร้านจำหน่ายเครื่องดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง

 

บ้านศิลปไทย (ชุมชนวัดบางไส้ไก่) คุณสุข เพไพ และคุณเจริญ กิจราษฎร์ ประดิษฐ์หัวโขนและเครื่องละครมากว่า 20 ปี ผลงานส่วนใหญ่จะมีวางจำหน่ายที่นารายภัณฑ์ ศีกษาภัณฑ์ และร้านค้าในตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งอยู่ในบริเวณโครงการ 24 ซอย 2 การทำหัวโขนของบ้านศิลปไทยนั้นเริ่มจาก การนำดินมาปั้นเป็นหน้าหุ่น เช่น ทศกัณฑ์ พระพิฆเณศ ฯลฯ เมื่อได้แบบที่ต้องการแล้ว ก็นำหุ่นดินที่ได้มาหล่อเป็นหุ่นถาวร นำกระดาษสา หรือกระดาษถุงปูนซีเมนต์มาแปะ บนหุ่นด้วยแป้งข้าวเจ้า แล้วนำหุ่นที่แปะกระดาษเสร็จแล้วไปตากแดดประมาณ 1 - 2 วัน จากนั้นผ่าเอากระดาษออกจากหุ่น ตกแต่งรอยผ่า ปิดรอยให้สนิท แล้วตัดขอบกันหน้า กันตา ปั้นหน้า ปั้นชั้น ตีลายโดยเอาลายมาติดตามต้องการ เสร็จแล้วนำไปตากแดดให้แห้งประมาณ 1 วัน แล้วจึงลงสีพื้นเพื่อปิดทอง เขียนหน้า ตกแต่งและประดับพลอย จึงเป็นอันเสร็จเรียบร้อย ทั้งสองท่านได้รับการประกาศเกียรติคุณจาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคกลาง สาขาศิลปะ การช่างศิลปะ และการช่างฝีมือประจำปี 2535 และได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะไทยในปี 2539

343 หลังสถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จฯ ซ. อิสรภาพ 15 ถ. อิสรภาพ แขวงหิรัญรุจิ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 10600 โทร. 02 465 2880 รถเมล์ที่ผ่าน : 19, 40, 56, 57, 149 สามารถติดต่อแหล่งข้อมูลการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ได้ที่ กองการท่องเที่ยว สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 17/1  ถ.พระอาทิตย์   เขตพระนคร  กทม. 10200 www.bangkoktourist.com   e-mail : bkktourism@hotmail.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook