แนะนำ 10 ประเทศน่าเที่ยว ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ

แนะนำ 10 ประเทศน่าเที่ยว ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ

แนะนำ 10 ประเทศน่าเที่ยว ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องน่ายินดีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ คือ การที่เมืองหลวงของบ้านเราได้มีโอกาสจัดงานเทศกาล Pride Month อย่างเป็นทางการเสียที หลังจากจัดที่ภูเก็ตต่อเนื่องมากว่า 16 ปี ซึ่งงานเทศกาล Pride Month คือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการจัดงานเฉลิมฉลองในหลาย ๆ เมืองทั่วโลก จุดประสงค์ก็เพื่อแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนให้สังคมยอมรับ “ความหลากหลายทางเพศ” เรื่องปกติธรรมดาที่เป็นความสวยงามของสังคมโลก

ก่อนที่กลุ่มคน LGBTQIAN+ จะได้จัดงานเฉลิมฉลองด้วยสีสันแบบสีรุ้งเช่นนี้ ในอดีตกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็เคยเผชิญกับช่วงยุคมืดมาแล้ว ของความภาคภูมิใจนี้แลกมากับการถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิดปกติ การถูกเหยียดหยาม ด้อยค่า ลดทอนความเป็นมนุษย์ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพบางอย่าง บนพื้นฐานว่าพวกเขา “ไม่เท่า” กับชายหญิงทั่วไป แต่ปัจจุบัน พวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคม แม้ว่าจะยังมีอีกหลายที่ในโลกที่ยังอันตรายต่อพวกเขาอยู่ก็ตาม

ด้วยความที่คนในชุมชน LGBTQIAN+ บนโลกนี้มีขนาดใหญ่มาก เมื่อถึงช่วงเทศกาลแบบนี้ หลายคนอาจจะอยากเดินทางไปร่วมเฉลิมฉลองกับเพื่อน ๆ ร่วมสังคม LGBTQIAN+ ที่เป็นสัญชาติอื่น รวมถึงการเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงเวลาปกติ ซึ่งมีจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจและปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มนี้อยู่หลายแห่ง

สำนักวิจัย Asher & Lyric โดยคู่รักแอชเชอร์และลิริค เฟอร์กุสสัน ได้จัดทำ LGBTQ+ Travel Safety Index 2022 ขึ้น ซึ่งเป็นการศึกษาสิทธิและข้อกฎหมายของประเทศต่าง ๆ จำนวน 203 ประเทศ เพื่อให้เป็น “ดัชนีความปลอดภัยในการเดินทางของคน LGBTQ+” จากนั้นก็นำมาจัดลำดับความปลอดภัยเป็นเกรดตั้งแต่ A (ปลอดภัยที่สุด) ไปจนถึง F (อันตรายที่สุด) โดยมีเกณฑ์การพิจารณาจากประเด็นต่าง ๆ 10 ประเด็น ได้แก่

  1. กฎหมายรองรับการแต่งงานในเพศเดียวกัน
  2. กฎหมายคุ้มครองแรงงานเรื่องเพศวิถีและเพศสภาพ
  3. กฎหมายที่คุ้มครองการเลือกปฏิบัติ
  4. อัตราการเกิดอาชญากรรมและความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  5. กฎหมายรับเลี้ยงดูแลบุตรบุญธรรม
  6. เหมาะแก่การอยู่อาศัยหรือไม่
  7. กฎหมายระบุอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ
  8. อัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมคนข้ามเพศ
  9. มีข้อห้ามเกี่ยวกับความสัมพันธ์เพศเดียวกันหรือไม่
  10. มีกฎหมายด้านศีลธรรมหรือการโฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านการรักเพศเดียวกันหรือไม่

สำหรับคน LGBTQIAN+ ที่กำลังวางแผนทริปต่อไปในต่างประเทศ นี่คือ 10 ประเทศที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการเดินทางของคนกลุ่ม LGBTQIAN+ ในปี 2022 ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อ LGBTQIAN+ มากที่สุดในโลก

อันดับ 10 ประเทศฝรั่งเศส (338 คะแนน)

กฎหมายรับรองสิทธิให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมายถูกบังคับใช้ในฝรั่งเศสในปี 2013 ซึ่งการอนุญาตดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งในประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ จังหวัด และดินแดนโพ้นทะเล นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่เป็นที่พูดถึงเมื่อช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา คือ สภาฝรั่งเศสลงมติเป็นเอกฉันท์ห้ามไม่ให้มีการบำบัดเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศของผู้รักเพศเดียวกัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิ์กลุ่มผู้รักเพศเดียวกัน ซึ่งหากเป็นการกระทำต่อเด็กหรือกลุ่มเปราะบาง โทษจะสูงขึ้นจากกลุ่มคนธรรมดาอีกต่างหาก

อันดับ 9 ประเทศสเปน (341 คะแนน)

สเปน เป็นประเทศที่สามในโลกที่นี่ออกกฎหมายอนุญาตให้การแต่งงานของเพศเดียวกันสามารถทำได้มาตั้งแต่ปี 2005 โดยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวคิดเสรีนิยมทางวัฒนธรรมและเป็นผู้นำด้านสิทธิ LGBTQIAN+ มากที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน และได้มีการออกกฎหมายอีกหลายฉบับที่รับรองความเสมอภาค และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

อันดับ 8 ประเทศนอร์เวย์ (343 คะแนน)

กฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ถูกบังคับใช้ในนอร์เวย์ในปี 2009 ปีเดียวกันกับสวีเดน อย่างไรก็ดี นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่ดึงดูดกลุ่มคน LGBTQIAN+ เป็นอย่างมาก เป็นผลมาจากการเป็นดินแดนที่มีเสรีทางเพศมากที่สุดในยุโรป กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของนอร์เวย์ค่อนข้างเปิดกว้าง ในปี 2020 รัฐบาลนอร์เวย์ยกระดับมาตรฐานการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย LGBTQIAN+ ที่ต้องการจะเดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศปลายทางในฐานะประเทศทางผ่าน ซึ่งเปิดรับราวปีละ 3,000 ราย และในปี 2017 ก็ได้รับยกย่องให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดใน 43 ประเทศยุโรปสำหรับพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ

อันดับ 7 ประเทศเบลเยียม (343 คะแนน)

หลังจากเนเธอร์แลนด์มีกฎหมายที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ในปี 2001 จากนั้นเพียง 2 ปี เบลเยียมก็เป็นอีกประเทศที่เห็นชอบด้วยกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ในปี 2003 โดยเบลเยียมถือเป็นอีกประเทศที่แสดงจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในสังคมอย่างชัดเจนมาโดยตลอด และเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของยุโรปในปี 2015 รองจากมอลตา

อันดับ 6 ประเทศสหราชอาณาจักร (347 คะแนน)

ลอนดอนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความหลากหลายทางเพศที่โดดเด่นที่สุดมาเป็นร้อยปี เริ่มมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ช่วงค.ศ. 1701-1800) ย้อนไปถึง Molly Houses ซึ่งเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของชาว LGBTQIAN+ ทำให้ลอนดอนกลายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และเป็นที่รู้จักของชาว LGBTQIAN+ มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่ากฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันจะเพิ่งบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2020 นี้เอง

อันดับ 5 ประเทศโปรตุเกส (358 คะแนน)

โปรตุเกสมีกฎหมายที่อนุญาตให้มีการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2010 และปัจจุบันโปรตุเกสก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกที่โดดเด่นในด้านการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของ LGBTQIAN+ มีชื่อเสียงในด้านเสรีนิยมทางเพศตั้งแต่การแต่งงานของคนเพศเดียวกันไปจนถึงอัตลักษณ์ทางเพศ (ที่ไม่จำเป็นต้องทำศัลยกรรม) จนทำให้โปรตุเกสก็ได้ขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั่วโลกสำหรับนักเดินทางที่มีความหลากหลายทางเพศร่วมกับแคนาดาและสวีเดน และถูกจัดให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQIAN+ มากที่สุดในโลกด้วย

อันดับ 4 ประเทศมอลตา (369 คะแนน)

มอลตาเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ 2 เกาะ ตั้งอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้ของยุโรป คนทั่วไปอาจไม่คุ้นหูประเทศนี้ด้วยซ้ำ แต่สำหรับกลุ่มคน LGBTQIAN+ มอลตาถูกยกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยและเป็นมิตรที่สุดในโลกสำหรับ LGBTQIAN+ เนื่องจากมอลตามักมีการโปรโมต Gay Travel อย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศของตัวเองเป็นดินแดนแห่งการท่องเที่ยวอันเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ แม้ว่ามอลตาจะเพิ่งมีกฎหมายที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ในปี 2017 เท่านั้นเอง

อันดับ 3 ประเทศเนเธอร์แลนด์ (374 คะแนน)

เนเธอร์แลนด์นับเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการออกกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี 2001 คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมมาอุปการะหรือจะอุ้มบุญก็ได้ คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิทางภาษีและมรดกเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังมีนโยบายที่ต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศของคนกลุ่ม LGBTQIAN+ เช่น การยกเลิกการใช้เพศและเพศสถานะในเอกสารที่ทางการออกให้ เช่น สูติบัตร บัตรประจำตัวประชาชน พาสปอร์ต และใบขับขี่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางกฎหมายของบุคคล ๆ นั้น

อันดับ 2 ประเทศสวีเดน (378 คะแนน)

ในปี 2009 กฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกบังคับใช้ในสวีเดน และสวีเดนก็เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรและมีความปลอดภัยกับกลุ่มคน LGBTQIAN+ มากที่สุดในปี 2019 ด้วย นั่นทำให้ รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น นักแสดงชาวไทย ได้ไปจดทะเบียนสมรสกับสามีชาวต่างชาติที่สวีเดน และเคยได้แชร์ประสบการณ์การจดทะเบียนสมรสอย่างเท่าเทียมที่นั่นด้วยผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมของที่สวีเดนนั้นทุกคนมีสิทธิที่จะจดเท่าเทียมกันหมด​ มากกว่าเรื่องเพศ คือการที่ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตและได้สิทธิทุกอย่างที่ควรจะได้รับในการเป็นมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างเท่าเทียมกัน ความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกลดค่า เพียงเพราะรสนิยมที่แตกต่างกัน

อันดับ 1 ประเทศแคนาดา (383 คะแนน)

ในปี 2022 แคนาดาถูกจัดให้เป็นประเทศที่เป็นมิตรและมีความปลอดภัยกับกลุ่มคน LGBTQIAN+ มากที่สุดในโลก โดยคะแนนรวมดัชนีความปลอดภัยเอาชนะสวีเดนมาได้ถึง 5 คะแนน โดยแคนาดาได้ผ่านกฎหมายสมรสที่รับรองสิทธิให้การสมรสกระทำได้ทั้งในบุคคลต่างเพศและบุคคลเพศเดียวกันในปี 2005 และสำหรับการจัดงานเทศกาล Pride Month นั้น แคนาดาก็ขึ้นชื่อเรื่องการต้อนรับกลุ่มคน LGBTQIAN+ อย่างเป็นมิตรที่สุดในโลก ด้วยนโยบายเสรีนิยมและทัศนคติที่ค่อนข้างต้อนรับผู้อพยพ แคนาดาจึงดึงดูดกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจากต่างประเทศมาเป็นเวลานาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook