งาช้างดำ: สมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่าน

งาช้างดำ: สมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่าน

งาช้างดำ: สมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน หนึ่งในสิ่งที่ห้ามพลาดเข้าไปชม คือ “งาช้างดำ” ซึ่งเดิมเป็นสมบัติของเจ้าผู้ครองนครน่านที่รักษาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีลักษณะเป็นงาปลี (งาที่มีความยาวไม่มากนัก แต่มีวงรอบขนาดใหญ่) สีน้ำตาลเข้ม มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “กิ่งนี้หนัก 15000”

image2
image3
ขนาดของงาช้างดำเมืองน่าน มีความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนกว้างสุดได้ 47 เซนติเมตร มีโพรงตอนโคนลึก 14 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 14 กิโลกรัม จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า เป็นงาช้างตันที่ถูกถอดออกมาจากตัวช้าง โดยช้างเจ้าของงาน่าจะมีอายุประมาณ 60 ปี และสันนิษฐานว่าเป็นงาข้างซ้าย เพราะมีรอยเสียดสีกับงวงชัดเจน

image4

image5
เชื่อกันว่า พญาการเมืองเจ้าเมืองพลั่ว หรือปัว องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองเมืองในช่วงปี พ.ศ. 1896-1906) ได้ทำพิธีสาปแช่งให้งาช้างดำกิ่งนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว ต้องเก็บไว้ที่หอคำ หรือวังเจ้าผู้ครองนครเท่านั้น

เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านพระองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ. 2474 เจ้านายบุตรหลานจึงมอบงาช้างดำให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน (ส่วนฐานรูปครุฑที่แบกรับงาช้างนั้น ทำจากไม้สักทั้งท่อน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469)

image6

ปัจจุบัน งาช้างดำคู่บ้านคู่เมืองน่าน ได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน ซึ่งนับว่ายังเป็นไปตามเจตนาเดิม และไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากพิธีที่เคยสาปไว้ เพราะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านในอดีต คือ หอคำของเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ซึ่งเจ้านายบุตรหลานได้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน ในปี พ.ศ. 2475

ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2517 ก่อนที่จะประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2528

image7

ทั้งนี้ หลายปีก่อน ผู้มาเยือนอาจจดจำได้ว่า งาช้างดำ เก็บรักษาไว้ด้านในเป็นอย่างดีในตู้กระจกลักษณะที่ปิดทึบด้านหลัง แต่เมื่อมีการปรับปรุงใหม่ จึงได้ย้ายมาจัดแสดงตรงกลางอาคารหอคำ หรือโถงกลางชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสันนิษฐานว่า แท้จริงแล้วก็เป็นจุดที่เก็บรักษางาช้างดำมาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง โดยมีการสร้างตู้กระจกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี พร้อมเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาชมความงดงามวิจิตรของงาช้างคู่เมืองได้อย่างใกล้ชิด

image8
image9
พิพิธภัณฑสถานน่าน
ถ.ผากอง ต.ในเวียง อ.เมือง
เปิดบริการ วันพุธ-อาทิตย์ 9.00-16.00 น.
ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ งาช้างดำ: สมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook