อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้ ห้องอาหารเสมือนบินจาก ครัวการบินไทย

อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้ ห้องอาหารเสมือนบินจาก ครัวการบินไทย

อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้ ห้องอาหารเสมือนบินจาก ครัวการบินไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ต้องสู้ตอนนี้ ช่วยบริษัทตอนนี้ อย่าลืมการบินไทย อย่าลืมพวกเรา” ปิแอร์ อองเดร์ เฮ้าส์ (Pierre Andre-Hauss) Executive Chef แห่ง ครัวการบินไทย กล่าวเป็นภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำถึงความมุ่งมั่นของฝ่าย ครัวการบินไทย ที่กำลังเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการหารายได้เข้าบริษัทในภาวะที่กำลังเผชิญวิกฤติหนักทั้งทางธุรกิจและภาพลักษณ์

thai-airway-20

หนึ่งในโปรเจกต์คือการปรับห้องอาหารพนักงานที่ การบินไทยสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อให้บริการลูกค้าทั่วไป โดยนำเสนอเมนูอาหารที่เคยเสิร์ฟอยู่บนเครื่องในที่นั่งชั้น First Class และ Business Class เพิ่มเติมด้วยเมนูพิเศษที่ปรุงสดจากเชฟนานาชาติของการบินไทยภายใต้สโลแกน อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้ เปิดให้บริการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เริ่มจากอาหารเช้าในช่วงเวลา 7.00 น. และเมนูหนักท้องเสิร์ฟตั้งแต่เวลา 9.00-14.00 น. เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กันยายน 2563

thai-airway2

ยังบินไม่ได้ แต่สามารถกินอาหารเหมือนอยู่บนเครื่องได้

ห้องอาหารพนักงานกลับมาคึกคักอีกครั้งภายหลังปิดไปร่วม 5 เดือนจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะพนักงานส่วนใหญ่ต้อง work from home รวมถึงการชะงักงันของกิจการบริษัทที่ต้องรอคำตัดสินของศาลล้มละลายกลาง เรื่องแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีนัดฟังคำสั่งในวันที่ 14 กันยายน 2563 แต่แล้วในช่วงที่สายการบินกำลังเผชิญวิกฤติ โปรเจกต์การปรับห้องอาหารพนักงานเป็นร้านอาหารก็เกิดขึ้น พร้อมกับบรรยากาศที่ทำให้คลายความคิดถึงการท่องเที่ยวเดินทาง

thai-airway-10
ไฮไลต์แรกของห้องอาหารซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร 2 ชั้น 2 คือการนำรถบันไดสำหรับขึ้นเครื่องบินมาทำเป็นทางเข้าห้องอาหาร ชวนให้คิดถึงบรรยากาศการเดินทางกับการบินไทย เมื่อเข้ามาภายในจะได้รับการต้อนรับจากนักบินและพนักงานต้อนรับในชุดเต็มยศ เสมือนกำลังก้าวเข้าสู่ห้องโดยสารบนเครื่องบินโดยมีแบ็คดร็อปให้ถ่ายรูปเป็นรูป Spinner Cone ที่อยู่ตรงกลางของใบพัดเครื่องยนต์หรือ Fan Blade

thai-airway6
กิมมิคอีกอย่างคือมี QR Code ให้สแกนเพื่อรับ E-Boarding Pass เป็นที่ระลึก (ขณะนี้รองรับเฉพาะระบบปฏิบัติการ iOS) โดยระบุว่าเป็นเที่ยวบิน TG8922 ซึ่ง 89 คือเลขที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ ส่วน 22 หมายถึง อาคาร 2 ชั้น 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องอาหารพนักงาน และจุดหมายปลายทางของ  E-Boarding Pass คือ HDQ หรือก็คือ สำนักงานใหญ่ของการบินไทย ส่วนวันเดินทางและเวลาขึ้นเครื่องเป็นวันและเวลาจริงตามที่ลูกค้าใช้บริการที่ห้องอาหาร

thai-airway3
“แรกเริ่มเราทดลองจัดเป็นงานแบบ Food Fair ชื่องาน อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 บริเวณโถงอาคาร 1 เป็นแบบ Take Away มีแค่ 10 โต๊ะ และประสบความสำเร็จมากจึงคิดว่าน่าจะมีพื้นที่รองรับลูกค้ามากกว่านี้ก็เลยขยายมาเป็นโปรเจกต์ที่ใช้พื้นที่แคนทีนของพนักงาน ซึ่งจัดวางที่นั่งได้กว่า 200 ที่นั่ง จัดบรรยากาศบางส่วนให้นึกถึงการเดินทางบนเครื่องบิน เอารถบันไดมาใช้ เอาเก้าอี้บนเครื่องบินมาตกแต่ง ฝ่ายช่างทำเฟอร์นิเจอร์จากชิ้นส่วนเครื่องยนต์และยางเครื่องบิน นักบิน แอร์และสจ๊วตก็อาสาสมัครมาช่วยต้อนรับลูกค้า ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันเพราะอยากให้คนไม่ลืมการบินไทย” วรางคณา ลือโรจนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายครัวการบินไทย กล่าว

thai-airway5Chef Signature Menu แบบ Box Set ขายเป็นแบบ Delivery

นอกจากเชฟปิแอร์ที่จะมาปรุงอาหารตะวันตกแบบสดใหม่ให้ทานเช่น พาสต้าคาโบนาร่า (129 บาท) และ โบโลเนสเนื้อสับ (129 บาท) ยังมีเชฟชาวไทย ญี่ปุ่น จอร์แดน อินเดีย และจีน ที่นำเสนอเมนูจากครัวการบินไทยอีก 10 กว่ารายการ อาทิ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย (55 บาท) เนื้อย่างจิ้มแจ่ว (220 บาท) ยากิโซบะซีฟู้ด (160 บาท)  ไก่ชาวามา (95 บาท) ซีซาร์สลัดทูน่า (99 บาท) และ บักกุ๊ดเต๋สไตล์สิงคโปร์พร้อมข้าว (180 บาท) รวมไปถึงของหวานเช่น ชีสเค้กมะม่วง และรวมมิตรขนมไทยที่พนักงานขายใช้กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าจนขายดีเทน้ำเทท่าว่า “ขนมไทยที่เสิร์ฟในชั้น First Class”

thai-airway13กัปตันสิทธิเดช เหมืองสิน และ วรางคณา ลือโรจนวงศ์

“เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 และบินไม่ได้ ทำอย่างไรถึงจะสร้างรายได้ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 เราเริ่มทำ Chef Signature Menu แบบ Box Set ขายเป็นแบบ Delivery เป็นการเปิดตัวให้คนรู้จักเชฟนานาชาติของเรา ซึ่งแต่เดิมเราไม่เคยมีพีอาร์ตรงนี้ เพราะเชฟนานาชาติของเราต้องดูแลเรื่องการจัดการอาหารสำหรับขึ้นเครื่องให้กว่า 60 สายการบิน ไม่ต่ำกว่าวันละ 80,000 ชุด แต่เมื่อเกิดวิกฤติและครัวเงียบ เหลือการผลิตเพียงแค่ไม่กี่พันชุดต่อวัน เราจึงคิดว่าต้องดึงเชฟออกมาให้คนรู้จัก และต่อยอดกลายเป็นโปรเจกต์ อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้” วรางคณา กล่าวถึงศักยภาพของครัวการบินไทยที่อยู่เบื้องหลังความอร่อยของอาหารบนเครื่องบินกว่า 60 สายการบิน

thai-airway15เชฟนานาชาติ ของครัวการบินไทย

เชฟปิแอร์เสริมว่า พาสต้าคาโบนาร่า เป็นเมนูที่ขายดีโดยจัดเตรียมไว้วันละประมาณ 300-350 กล่อง ส่วนเมนูอื่นอยู่ที่ประมาณ 200-300 กล่องต่อวัน และขายหมดทุกวันตั้งแต่เปิด Soft Opening มาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563

“ซอสพาสต้าของเราเข้มข้น ไม่เหลวใส เพราะเราไม่หวงเครื่อง ใส่เบคอนและชีสเยอะ รับรองเป็นสูตรที่คนไทยชอบแน่นอน เรามีทีมผลิตวัตถุดิบจากครัวที่สุวรรณภูมิและมาปรุงสดใหม่ที่นี่โดยใช้ทีมงาน 20 กว่าคน เราไม่รู้ว่าจะได้บินเมื่อไหร่ แต่เราต้องทำอะไรสักอย่างให้ทุกคนมีงานทำ เราบ้านเดียวกัน ใจเดียวกัน ต้องสู้ตอนนี้” เชฟปิแอร์ กล่าว

thai-airway12ปิแอร์ อองเดร์ เฮ้าส์ Executive Chef แห่งครัวการบินไทย

ในเบื้องต้นภาชนะที่เสิร์ฟยังเป็นแบบ Single-use หรือใช้แล้วทิ้ง โดยวรางคณากล่าวถึงเหตุผลว่า เพราะยังกังวลเรื่องสุขอนามัยในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่ แต่หากมั่นใจว่าสถานการณ์โรคระบาดบรรเทาลงจะมีการใช้ภาชนะอย่างอื่นแทน

“บริเวณชั้นลอยของห้องอาหารเราวางแผนไว้ว่าจะทำเป็นโซนวีไอพี และเสิร์ฟอาหารแบบเซตเมนู อาจจะเริ่มที่ราคา 700 บาทต่อคน พร้อมจับคู่เครื่องดื่ม”

thai-airway-11
จำลองบรรยากาศการเดินทางให้หายคิดถึง

เมื่อน่านฟ้าระหว่างประเทศยังไม่เปิดและผู้คนคิดถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยเฉพาะการเดินทางไปต่างประเทศ บริเวณหน้าต่างของห้องอาหารจึงได้นำที่นั่งของชั้น Economy เป็นเก้าอี้เฉดสีม่วง เหลือง และชมพู อันเป็นเอกลักษณ์ของการบินไทยจากเครื่องบินแบบ Airbus 330 ที่ปลดประจำการแล้วมาใช้ ให้ความรู้สึกย้อนไปถึงประสบการณ์การเดินทางบนเครื่อง นอกจากนี้ยังมีโมเดลของเครื่องบิน A-380 ที่สามารถมองทะลุเข้าไปข้างในเคบินที่มีความสมจริงทุกตารางนิ้วมาให้ลูกค้าได้เก็บภาพด้วย

จุดฮอตฮิตสำหรับถ่ายรูปคือโซนที่นำที่นั่งของชั้น First Class จากเครื่อง Boeing 747-400 และที่นั่งชั้น Business Class จากเครื่อง Airbus A330 มาให้ลูกค้าได้สนุกกับการทดลองนั่งและถ่ายรูป โดยมีกัปตันและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมาร่วมเฟรมด้วย

thai-airwayทางเข้าห้องอาหารเสมือนกำลังขึ้นเครื่องเตรียมออกเดินทาง

นอกจากนี้ทางฝ่ายช่างของการบินไทยยังได้ออกแบบโต๊ะข้างจากชิ้นส่วนเครื่องยนต์โดยมี QR Code ให้สแกนดูได้ว่าอะไหล่ชิ้นนี้เป็นส่วนไหนของเครื่องยนต์ และยังมีโต๊ะกลางทำจากยางเครื่องบิน Goodyear ที่นำมาจากเครื่องบินแบบ Airbus 300-600 ( AB6) ที่ถูกพ่นด้วยสีม่วงสดของการบินไทยและรายล้อมด้วยบีนแบคสีสันสดใส เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้จะนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายแก่ผู้สนใจต่อไป

thai-airway9
ความสนุกของการเดินทางยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในร้านยังมีการนำฉากประตูเครื่องบินจำลองที่ลูกเรือมักใช้เป็นพร็อพเวลามีงานเกษียณนักบินมาให้ลูกค้าได้ถ่ายรูป พร้อมกับกระเป๋าเดินทางยี่ห้อ Rimowa เรียกได้ว่าจัดเต็มสำหรับคนชอบถ่ายรูปและท่องเที่ยวเลยทีเดียว ไม่ต้องกลัวเหงาเพราะมีวงดนตรีจากพนักงานการบินไทยมาสลับกันเล่นช่วงเวลา 12.00-12.45 น.

thai-airway17ล้อเครื่องบินที่นำมาทำเป็นโต๊ะกลาง

“เราไม่ได้บินมา 5 เดือนทำให้กัปตันและลูกเรือคิดถึงผู้โดยสารมาก เมื่อทางฝ่ายครัวเปิดร้านอาหาร ทุกฝ่ายอยากช่วย ฝ่ายช่างทำเฟอร์นิเจอร์ส่วนพวกเรากัปตันและลูกเรืออาสามาคอยต้อนรับลูกค้า เฟอร์นิเจอร์ที่ฝ่ายช่างทำน่าสนใจมาก ผมยังสนใจอยากได้เลยเพราะชิ้นส่วนบางชิ้นของเครื่องยนต์ที่นำมาทำโต๊ะมีแค่ชิ้นเดียวจากเครื่องยนต์ราคาเป็นร้อยๆ ล้านบาท ยางเครื่องบินที่เอามาทำโต๊ะกลางก็เป็นยางหลักที่เครื่องบิน 1 ลำมีเพียงแค่ 8 ล้อ” กัปตันสิทธิเดช เหมืองสิน กล่าว

thai-airway19
อาหารบนเครื่องของการบินไทยไม่อร่อยจริงหรือ

ต่อคำวิจารณ์ที่ว่าอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องของการบินไทยไม่อร่อย วรางคณากล่าวว่าอยากให้มาลองชิมเมนูที่นี่ที่ปรุงสดใหม่

“อาหารที่เราจัดเตรียมสำหรับให้บริการบนเครื่องนั้นคำนึงถึงสุขอนามัยเป็นสำคัญ เราทำปริมาณเยอะและต้องควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซสเซียส เพื่อป้องกันเรื่องเชื้อโรคและแบคทีเรียในอาหาร อาหารจึงถูกปรุงสุกและทำให้เย็นในอุณหภูมิที่กำหนด ก่อนจะโหลดขึ้นเครื่อง และนำมาอุ่นอีกครั้งก่อนเสิร์ฟให้ผู้โดยสารรับประทาน อาจเป็นผลให้ความอร่อยลดลง อีกทั้งความกดอากาศก็มีส่วนในการรับรู้รสชาติ การบินในระดับความสูงเกิน 30,000 ฟุต หรือบินเกิน 6 ชั่วโมง ทำให้การรับรสชาติจืดลงด้วย เพราะฉะนั้นทำอย่างไรก็ไม่อร่อยเท่ากับอาหารปรุงสดใหม่แน่นอน โดยเฉพาะเมนูเส้น และของทอด” วรางคณากล่าว

เชฟปิแอร์เสริมว่าการทำอาหาร 1 สูตรให้ถูกปากทั้ง 1,000 คน นั้นคงเป็นไปไม่ได้ อาหารปรุงสดและอาหารที่เตรียมสำหรับบริการบนเครื่องบินย่อมต้องแตกต่างกัน

thai-airway14
“จากจุดผลิตที่ผ่านหลายขั้นตอนตั้งแต่ปรุงสุก ทำให้เย็นเพื่อป้องกันเชื้อโรค บรรจุลงกล่อง ขนส่งด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ และโหลดขึ้นเครื่องก่อนลูกเรือจะอุ่นเพื่อเสิร์ฟให้ผู้โดยสาร ระยะเวลาจากต้นทางคือห้องผลิตอาหารไปถึงผู้โดยสารต่างกันหลายชั่วโมง นอกจากความกดอากาศที่มีผลต่อรสชาติแล้ว สภาพร่างกายของผู้โดยสารก็มีส่วนด้วย บางคนเหนื่อยจนไม่อยากอาหาร หรือบางคนก็อยากพักผ่อนมากกว่าตื่นมากินอาหาร”

เชฟปิแอร์จึงอยากให้ลองเปิดใจโดยลองเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากครัวการบินไทยที่ห้องอาหารนี้ด้วยราคาเริ่มต้นจานละ 55 บาท จนถึง 220 บาท

thai-airway4
thai-airway8

บริเวณประตูทางออกยังมีโมเดลของเครื่องบินแบบ 787 Dreamliner และ 747-400 Queen of the Sky ให้ได้เก็บภาพก่อนออกจากห้องอาหารด้วย นอกจากนี้สำนักงานการบินไทย สาขาสีลม จะเปิดให้บริการอาหารแบบ Grab & Go พร้อมเครื่องดื่มจากบาริสต้าที่เป็นนักบินและลูกเรือโดยเริ่มให้บริการวันที่ 14 กันยายน 2563

Fact File

“อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้” โดย ครัวการบินไทย เปิดบริการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ โดยช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 7.00 น. มีบริการ ชา กาแฟ และเบเกอรี่ ส่วนอาหารนานาชาติให้บริการตั้งแต่เวลา 9.00-14.00 น.
ชั้น 2 อาคาร 2 ห้องอาหารพนักงาน การบินไทยสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทร Call Center 02-356-1111

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ อร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้ ห้องอาหารเสมือนบินจาก ครัวการบินไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook