แม่แจ่ม มนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิต

แม่แจ่ม มนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิต

แม่แจ่ม มนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฝนสุดท้ายที่พัดผ่านไป ได้นำไอหมอก และความหนาวเย็นลงมาห่มเมืองเหนืออีกครั้ง การเดินทางไปสัมผัสความงดงามของวิถีชีวิตในครั้งนี้ นวลเลือกที่จะเดินทางมายังแม่แจ่ม อำเภอเล็ก ๆ ของเชียงใหม่ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขา วิถีชีวิตของผู้คนที่ดำเนินไปแบบเรียบง่าย และความน่ารักเป็นมิตรของชาวแม่แจ่ม อีกทั้งยังมีงานหัตถกรรมอันงดงามอย่าง ผ้าซิ่นตีนจก ปิ่นแก้วจั๋น(ปิ่นแม่แจ่ม) ที่เป็นเอกลักษณ์ แล้วที่พลาดไม่ได้เลยคือการขึ้นไปสัมผัสความอลังการของนาขั้นบันได ที่บ้านป่าบงเปียง

001

“ปิ่นแก้วจั๋น ราชินีแห่งปิ่นล้านนา” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "ปิ่นแม่แจ่ม" ลักษณะโดดเด่นของปิ่น คือจะเป็นช่อลดหลั่นกันลงมา วิธีการทำปิ่นจะใช้ศิลปะการทำมือแบบดั้งเดิม หัวปิ่นบางครั้งจะประดับด้วยแก้วสีต่าง ๆ งดงามอ่อนช้อยมาก และมีที่แม่แจ่มเพียงแห่งเดียวครับ

002

"นาขั้นบันได บ้านป่าบงเปียง" 

003

"ข้าวคือชีวิตของคนปกาเกอะญอ เราให้ความสำคัญกับข้าวมากกว่าเงินทอง " นี่คงเป็นคำพูดสั้น ๆ แต่แฝงด้วยล้านความหมายที่ออกมาจากปากของชาวปกาเกอะญอบ้านป่าบงเปียง หมู่บ้านเล็ก ๆ ท่ามกลางหุบเขาของแม่แจ่ม

“ ประเพณีตานก๋วยสลากหลวง ”

004

“ ตานก๋วยสลาก ” เป็นภาษาของชาวล้านนา หากเป็นภาษาภาคกลางจะตรงกับคำว่า สลากภัต ประเพณีตานก๋วยสลากทางภาคเหนือนิยมจัดกันในช่วงเดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาและชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ว่างเว้นจากการทำงาน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุด

005

แม่แจ่ม มีวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่างๆ  ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความเอื้ออาทร น้ำใจไมตรีที่ดีงาม บนพื้นฐานของคุณธรรม และจริยธรรม เมืองแม่แจ่มในวันนี้อาจไม่ใช่เมืองปิดอีกต่อไป มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคโลกาภิวัตน์ แต่ยังคงรักษาความเป็นเสน่ห์ของคนแม่แจ่มที่มีรอยยิ้มอันงดงาม อบอุ่นด้วยน้ำใจ ไม่มีการแข่งขัน มีแต่ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภาพเช่นนี้อาจหาชมได้ไม่ง่ายนักในสังคมเมืองขนาดใหญ่ ทว่าเรากลับพบเห็น และสัมผัสได้อย่างง่ายดายในยามที่เราเดินทางมาเยือนเมืองในโอบล้อมของขุนเขานาม “แม่แจ่ม”

เรื่องเล่าจากเมืองแจ๋ม ที่เรียบเรียงโดยพระใบฏีกา วชิรญาโณ ตามตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ากับพระมหากิจจายนะ ได้จารึกผ่านมาทางที่ราบลุ่มน้ำแจ่ม (บริเวณวัดพระธาตุช่างเคิ่ง) ได้พบกับสิงห์สองพี่น้องกำลังต่อสู้กัน พระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดแล้วไต่ถามได้ความว่า สิงห์สองพี่น้องต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในพื้นที่นี้ เมื่อได้ความเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแบ่งพื้นที่การปกครองให้โดยถามพ่อค้าที่ผ่านมาทางนั้นว่าขุนน้ำกับสบน้ำครึ่งกันตรงไหน พ่อค้าบอกว่าตรงนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงเอาไม้ขีดเป็นรอยแล้วให้สิงห์ผู้พี่ปกครองเขตเหนือและสิงห์ผู้น้องปกครองเขตใต้

พระศาสดาได้ให้พระเกศาจำนวน 8 เส้น จึงได้สร้างสถูปบรรจุไว้ จากนั้นได้ทำการบูรณะจนกลายเป็นพระธาตุช่างเคิ่งและปั้นรูปพระกัจจายนะไว้ด้วย ต่อมารอยขีดที่พระพุทธเจ้าทรงขีดไว้นั้นกลายเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ชาวบ้านเรียกชื่อว่า ห้วยชั่งเคิ่ง ซึ่งมีความหมายว่า ลำน้ำแบ่งครึ่งที่ตรงนั้น กระทั่งต่อมามีการเรียกชื่อลำห้วยนี้เพี้ยนเป็น ห้วยช่างเคิ่ง

เช้าวันต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ มีย่าลัวะเฒ่าคนหนึ่ง นำปลาปิ้งครึ่งตัวมาใส่บาตร พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามกลับไปว่า ปลาอีกครึ่งไปมีไหน ย่าลัวะจึงตอบว่า เก็บไว้ให้หลาน เมื่อพระพุทธเจ้าได้ยินเช่นนั้นจึงรำพึงว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจ๋ม แต๊นอ”

ต่อมาดินแดนแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแจ๋ม” (คำว่า “แจ๋ม” เป็นภาษาลัวะ แปลว่า มีน้อยไม่เพียงพอ ต่อมาคนไตญวน มาอยู่จึงเรียกชื่อตามสำนวนไตว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็น “แม่แจ่ม” ถือเป็นชื่อมงคลให้เมืองนี้มีความรุ่งเรืองแจ่มใส

006

ปิ่นแก้วจั๋น บ้านพ่อกอนแก้ว อินต๊ะก๋อน ได้มีการทำปิ่นปักผมซึ่งปิ่นปักผมโบราณ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้คู่กับการแต่งกายของชาวล้านนามากว่า 700 ปี “ปิ่น” เป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่งของสตรีล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยส่วนมากสมัยก่อน ปิ่นจะเป็นเครื่องประดับสำหรับสตรีล้านนาชั้นสูง ซึ่งหัวปิ่นอาจทำด้วยพลอยสีแก้ว ทองเหลือง เงิน ทองคำ แล้วแต่ฐานะความเป็นอยู่ และนี่คือศิลปะภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ยังคงอยู่ เป็นตำนาน “ปิ่นแก้วจั๋น”

ปัจจุบันถึงพ่อกอนแก้ว จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่พ่อกอนแก้วยังฝากงานศิลป์อันทรงคุณค่านี้ไว้กับคุณแม่บัวจันทร์ และคุณแม่บุปผา ลูกสาวของพ่อกอนแก้ว ที่มานั่งทำปิ่นที่บ้านของพ่อ สืบสานความงดงาม และอัตลักษณ์ในความเป็นปิ่นแม่แจ่มของพ่อต่อ 

007

การทำปิ่นแก้วจั๋น ใช้หลักการขึ้นรูปโดยการดัดแผ่นโลหะแล้วเชื่อมด้วยความร้อน โดยส่วนหัวปิ่นจะใช้แผ่นโลหะทองเหลืองที่มีความหนาประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มาตัดเป็นรูปวงกลมโดยมีการคำนวณขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมให้สัมพันธ์กับความสูงของหัวปิ่น แล้วแบ่งครึ่งเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนที่ตัดได้มีรูปทรงเป็นครึ่งวงกลมคล้ายกับพัดจากนั้นจึงใช้คีมดัดม้วนแผ่นครึ่งวงกลมนี้เป็นรูปทรงกรวยโดยให้รอยต่อของแผ่นโลหะทองเหลืองชนกันให้สนิทที่สุด แล้วจึงนำไปเชื่อมรอยต่อด้วยการทาน้ำประสาน (น้ำประสานมีส่วนผสมของผงบอแรกซ์ ผงโลหะทองเหลือง และผง

โลหะเงิน ในปริมาณใกล้เคียงกัน โดยมีน้ำเปล่าเป็นตัวทำละลาย) ผนวกกับความร้อนจากตะเกียงน้ำมันก๊าด และ “ขาต๊ะ” หรือ “เตาฟู่” (อุปกรณ์สำหรับเชื่อม) การเชื่อมรอยต่อนี้จะนำชิ้นงาน (หัวปิ่น) วางคว่ำลงบน “ท่อนไม้สักสี่เหลี่ยม”หรือ “แผ่นรองเชื่อมชิ้นงาน” ที่มีขนาดหน้ากว้างประมาณ 4 นิ้ว หนาประมาณ 2 นิ้ว และยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งของไม้สักถากให้มีขนาดเล็กลงเพื่อทำเป็นมือจับ ท่อนไม้สักนี้ทำหน้าที่คล้ายกับกระดาษทนไฟ และที่รองชิ้นงานในคราวเดียวกัน

หลังจากเชื่อมรอยต่อแล้ว จะตกแต่งรอยต่อและรูปทรงให้สวยงามด้วยตะไบ

สำหรับการทำลวดลายที่หัวปิ่นนั้น จะนำหัวปิ่นวางหงายและเอียงแนบบนท่อนไม้ประดู่ที่มีรูปทรงคล้ายเขียง แล้วใช้สิ่วดุนผิวโลหะจากด้านในออกมาให้เป็นลายนูนคร่าวๆ (โครงลวดลาย) ลวดลายที่ได้จากการดุนนี้เป็นลายเส้นและลายนูนสลับกันเป็นชั้น จำนวน 3-5 ชั้น และเป็นลวดลายที่ยังไม่มีความประณีตมากนัก การเก็บรายละเอียดของลวดลายจะนำหัวปิ่นมาครอบที่ปลายด้านหนึ่ง

ของ “ไม้แม่พิมพ์สลักลวดลาย” ซึ่งปลายด้านหนึ่งของไม้แม่พิมพ์นี้กลึงให้เป็นมุมแหลมคล้ายกับหัวปิ่น จากนั้นจึงใช้สิ่วสลักลวดลายหรือเก็บรายละเอียดของลวดลายให้มีความประณีตอีกครั้ง

008

ปิ่นแก้วจั๋น นิยมทำจากโลหะ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ ทองเหลืองและเงิน แต่ส่วนใหญ่ทำจากทองเหลือง เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้คนส่วนใหญ่ ปิ่นแก้วจั๋นมีรูปทรงคล้ายเจดีย์ ภายในหัวปิ่นจะใส่ “ครั่ง” ไว้เพื่อให้หัวปิ่นทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ยุบตัว และครั่งยังเป็นตัวช่วยยึดชิ้นส่วนหัวปิ่นและฐานปิ่นให้ติดกันอีกด้วย ส่วนผิวด้านนอกมีลวดลายซ้อนกันเป็นชั้นจำนวน 3 ถึง 5 ชั้น ลวดลายเหล่านี้มีลักษณะคล้ายรูปดอกพิกุล รูปทรงโดยรวมของเจดีย์นี้หากพิจารณาในเรื่อง ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น ยอดแหลมของเจดีย์น่าจะเปรียบเสมือนการบูชา

พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งมงคลสูงสุด ส่วนจำนวนชั้นของเจดีย์ที่เริ่มต้นจากฐานขึ้นสู่ด้านบนนั้นน่าจะเปรียบเสมือนวัฏจักรของมนุษย์ที่มีจุดเริ่มต้น และสิ้นสุด สำหรับลวดลายที่ปรากฏโดยรอบตัวปิ่นนั้นน่าจะเปรียบเสมือนดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาล

009

แม่สุข คู่บุญของพ่อกอนแก้ว ในทุก ๆ วัน แม่สุขจะมานั่งข้าง ๆ พ่อกอนแก้วเวลาพ่อทำปิ่น โดยแม่จะนั่งปั่นฝ้ายไปด้วย แม้วันนี้จะไม่มีพ่อกอนแก้วนั่งอยู่ตรงนี้แล้ว แต่แม่อุ้ยสุขก็ยังคงมานั่งเป็นเพื่อนแม่จั๋น ลูกสาวสุดที่รักอยู่เหมือนเดิม

แม่อุ้ยเล่าว่า เมื่อก่อนเมืองแจ่มนั้นเดินทางลำบากมาก การจะเดินทางไปยังตลาดในตัวอำเภอจอมทองนั้น ต้องใช้เวลาเดินเท้าข้ามภูเขา และลำห้วยกว่า 3 วันจึงจะถึง

010

ริ้วรอยแห่งกาลเวลา และแววตาอันพล่ามัวของแม่อุ้ยสุข บ่งบอกถึงความงดงามของการเวลาที่ผ่านมาของบั่นปลายชีวิตผู้หญิงคนนึง ที่เป็นทั้งภรรยาอันเป็นที่รักของสามี แม่อันเป็นที่รักของลูก ๆ

011

“วัดป่าแดด” เดิมชื่อวัดใหม่เมืองแม่แจ่มหรือวัดเหนือ ซึ่งคู่กับวัดใต้คือ วัดยางหลวง วิหารวัดป่าแดดเป็นวิหารแบบล้านนาที่มีรายละเอียดของผังและหลังคาที่แตกต่างออกไป คือลักษณะเป็นอาคารที่มีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบยกเก็จ คือมีการลดขนาดความกว้างของช่วงเสา หลังคาสองตับสามชั้น ไม่มีมุขหน้าเป็นระเบียงโถงและไม่มีมุขหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนาที่ต่างจากแบบภาคกลาง

012

วิหารวัดป่าแดด เป็นวิหารแบบล้านนาที่มีรายละเอียดของผังและหลังคาที่แตกต่างออกไป คือลักษณะเป็นอาคารที่มีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบยกเก็จ คือมีการลดขนาดความกว้างของช่วงเสา หลังคาสองตับสามชั้น ไม่มีมุขหน้าเป็นระเบียงโถงและไม่มีมุขหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนาที่ต่างจากแบบภาคกลาง

013

จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด เป็นศิลปะที่มีชื่อความงดงามมากในเมืองแจ่ม อายุประมาณ 150 ปี เขียนโดยช่างแต้มชาวไตใหญ่ (ประเด็นนี้ยังเป็นที่สงสัย เพราะอักษรที่จารึกใต้ภาพเป็นอักษรล้านนาไม่ใช่อักษรไตใหญ่) ยังมีสภาพค่อนข้างดีเป็นภาพพุทธประวัติ เวสสันดรชาดก วิธูรบัณฑิต นิทานพื้นบ้านจันทคาธฯ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวแม่แจ่มเมื่อ 100 ปีก่อน ทั้งในด้านการประกอบอาชีพกสิกรรม และการแต่งกาย รวมทั้งเป็นภาพเรื่องราวของพุทธประวัติ และชาดกต่าง ๆ

014

แม่แจ่มถือได้ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีการทอผ้าซิ่นตีนจกกันมากที่สุด ผ้าทอของแม่แจ่มมีเอกลักษณ์ในการทอหรือจกในลักษณะการคว่ำลาย ทำให้ลวดลายที่ได้สวยงาม ประณีตเฉพาะแบบไม่เหมือนใคร ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มยังถือเป็นศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่นล้านนาที่สืบทอดเป็นมรดกทางวิถีชีวิต และวัฒนธรรม

การทอผ้าตีนจกถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของผู้คนแม่แจ่มอย่างชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่ที่ผู้หญิงแม่แจ่มเริ่มเรียนรู้วิธีการทอผ้าในวัยสาว จนกระทั่งถึงวัยแก่ชีวิตของพวกเขาก็ยังมีการทอผ้าอยู่เสมอ ที่เห็นได้ชัดคือเมื่อมีงานบุญสำคัญต่าง ๆ ชาวแม่แจ่มก็จะนำผ้าตีนจกที่ทอเก็บไว้ออกมานุ่งกัน

ผ้าตีนจกถือได้ว่าเป็นของสำคัญที่ลูกสะใภ้นำไปไหว้แม่สามีตอนแต่งงาน นอกจากนั้นผ้าตีนจกยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้หญิงชาวแม่แจ่มตั้งแต่เกิดจนตายเลยครับ

015

ผ้าจกนับเป็นศิลปะการสร้างลวดลายบนผ้าที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง ซึ่งผู้ทอสามารถสร้างจินตนาการ และแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้

ผ้าจกแม่แจ่มมีลักษณะเด่นในการสร้างผลงานของช่างผู้ทอ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งลายดั้งเดิม ซึ่งสามารถจัดแบ่งผ้าจกตาม ลักษณะลวดลายคร่าว ๆ ได้ดังนี้

1.ลวดลายอุดมคติ เป็นลวดลายที่สะท้อนความเชื่อในศาสนาออกมาเป็นรูปสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา พบลวดลายลักษณะนี้ในซิ่นตีนจกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ รูปโคม ขัน นํ้าต้น นาค หงส์สะเปา ที่ประกอบขึ้นเป็นซิ่นตีนจก นอกจากนี้ยังปรากฏ รูปขันดอก รูปหงส์ในผ้าป้าด (ผ้าพาดบ่า) หรือลายนาคในหน้าหมอน เป็นต้น

2.ลวดลายคนและสัตว์ ส่วนใหญ่พบในผ้าหลบสะลี (ผ้าปูที่นอน) ผ้าป้าด ได้แก่ รูปม้า ช้าง ไก่ ลา ลายเขี้ยวหมา ลายงูเตวตาง ลายฟันปลา และลายคน ในหน้าหมอนได้แก่ รูปปู กบ เป็นต้น

3.ลวดลายพรรณพฤกษา พบในหน้าหมอนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ลายดอกจันทร์ กุดผักแว่น เป็นต้น

4.ลวดลายเปรียบเทียบสิ่งของใกล้ตัว เช่น ลายกุดตาแสง กุดพ่อเฮือนเมา กุดกระแจ กุดขอเบ็ด

กุดสามเสา พบลวดลายเหล่านี้ในหน้าหมอน

ซิ่นตีนจกแม่แจ่มเป็นศิลปะหัตถกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมาแต่โบราณกาล อันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่าง ๆ ที่พุ่งสลับกันเป็นช่วง ๆ เพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่าง ๆ ขึ้นมาโดยใช้ขนเม่น โลหะ หรือไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือในการจก

016

ผ้าตีนจกยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้หญิงชาวแม่แจ่มตั้งแต่เกิดจนตายเลยครับ การเตรียมซิ่นตีนจกไว้นุ่งห่มหลังจากความตายเพื่อให้ดวงวิญญาณ ได้ไปสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์  สำหรับผู้หญิงแม่แจ่มมักจะทอผ้าตีนจกอย่างน้อย 3 ผืนในชีวิต

ผืนที่ 1 เพื่อใช้นุ่งห่อศพตอนเสียชีวิต และนำไปเผาพร้อมกับร่าง โดยเชื่อว่าผู้ตายได้สวมใส่ไปบูชายังพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ผืนที่ 2 ให้ลูกหลานนำไปถวายทาน ตอนทำบุญอุทิศส่วนกุศล เพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้นุ่งตีนจกไปสู่สวรรค์

ผืนที่ 3 จะให้ลูกหลานเก็บไว้ เพื่อเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันไป

017

เคยมีคนบอกไว้ว่า หากเราอยากสัมผัสวิถีชีวิต ของคนในท้องถิ่นจริง ๆ ให้มาเดินตลาดสด เราจะได้สัมผัสกับความงดงามที่แฝงในความธรรมดา รอยยิ้มที่แสนจริงใจ ชวนให้เราหลงใหล

018

ที่ตลาดเช้าแม่แจ่ม ซึ่งอยู่ด้านข้างที่ว่าการอำเภอ เปิดตั้งแต่ประมาณตี 3 ของทุกวัน จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากพื้นที่ข้างเคียงนำสินค้ามาวางขายบริเวณพื้นที่ถนนด้านหน้าตลาด มีทั้งของสด และของแห้ง ส่วนใหญ่เป็นของกินที่เก็บหามาได้จากไร่นา ของป่า เช่น ปลา กบ เขียด หมาก เนื้อ ทั้งสด และที่ย่างแล้วพร้อมกิน ผักผลไม้นานาชนิด ทั้งชาวแม่แจ่ม และนักท่องเที่ยวจะมาเลือกซื้อกลับบ้าน ตลาดเช้านี้จะติดตลาดอยู่จนถึงประมาณ 7 โมงเช้า หรือจนเมื่อมีรถวิ่งไปมามากขึ้นก็จะวาย เหลือเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าที่นั่งขายประจำภายในตลาดสดเท่านั้นครับ

019

การมาแม่แจ่มในครั้งนี้ของนวล นับว่าเป็นโชคดีของนวลจริง ๆ เลยครับ ที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอีกหนึ่งประเพณีอันงดงาม และหาชมได้ยากแล้วนั้นก็คือ ประเพณีตานก๋วยสลากหลวง

020

ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีของชาวล้านนา ในภาคเหนือของประเทศไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น กิ๋นก๋วยสลาก ตานข้าวสลาก กิ๋นข้าวสลาก หรือ กิ๋นสลาก

ลักษณะพิธีกรรมหรือรูปแบบตรงกับประเพณีถวายสลากภัตของภาคกลาง แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามความนิยมในท้องถิ่น

คำว่า”ตานก๋วยสลาก”ของชาวล้านนา ตรงกับคำว่า”สลากภัต” ในภาคกลาง ซึ่งเป็นภาษาบาลี และเป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎก “สลาก” หมายถึงวัตถุที่ใช้ในการเสี่ยงโชค รวมกับคำว่า “ภัต” หมายถึง อาหาร ข้าว “สลากภัต” จึงหมายถึง อาหารที่ถวายพระโดยการจับสลากหรือเสี่ยงโชค แต่ในภาคเหนือได้หมายรวมเอาเครื่องไทยทานอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารด้วย

การที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” ก็เพราะว่าคนในดินแดนล้านนานิยมใช้ “ก๋วย” ที่เป็นภาชนะสานจากตอกไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายชะลอมของภาคกลาง นำมาใส่อาหารและเครื่องไทยทานต่างๆถวายพระภิกษุสามเณรนั่นเองครับ

021

“ตานก๋วยสลาก” เป็นชื่อเรียกวิธีถวายทานแก่พระภิกษุสามเณรวิธีหนึ่ง โดยการจับสลาก เพื่อแจกภัตตาหารหรือปัจจัยวัตถุที่ได้รับจากผู้มีจิตศรัทธาถวาย แต่ด้วยเหตุที่มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถถวายแก่พระภิกษุสามเณรได้ครบทุกรูป จึงต้องอาศัยวิธีการจับสลาก การถวายทานในลักษณะนี้ ถือเป็นหลักการหนึ่ง ที่จะต้องปฏิบัติตามพระวินัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางไว้ เพื่อสร้างจิตสำนึกในความเท่าเทียมกัน ของพระภิกษุสามเณร และสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์

เนื่องจากการถวายตานก๋วยสลากหรือสลากภัต จัดเป็นการถวายทานโดยไม่เจาะจงผู้รับ จึงนับเป็นสังฆทานประเภทหนึ่ง ที่มีอานิสงส์มาก เพราะถือว่าแม้จะตั้งสลากถวายกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จับสลากได้ แต่ก็เปรียบเสมือนกับการได้ถวายกับพระสงฆ์ทั้งหมดทุกรูป เพราะสลากที่ถวายให้พระภิกษุสามเณรจับนั้น พระภิกษุสามเณรทุกรูปในพระอารามนั้นมีสิทธิ์จับได้

ประเพณีตานก๋วยสลากหรือการถวายสลากภัต เป็นหลักการหนึ่งในพระวินัยที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางไว้ เพื่อสร้างจิตสำนึกในความเท่าเทียมกัน ของพระภิกษุสามเณร และสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์

022

ประเพณีตานก๋วยสลาก เชื่อกันว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน ตามตำนานกล่าวว่า นางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ ครั้นเมื่อได้สดับธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอจากเดิมที่เคยโหดร้าย ก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีแก่ผู้คนทั่วไป จนผู้คนทั้งหลายต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำข้าวปลาอาหารและสิ่งของสารพัดมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมากเกินความต้องการ นางยักษิณีจึงได้นำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วถวายให้พระภิกษุสามเณร จับสลาก ด้วยหลักอปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวายนั้น มีทั้งสิ่งของที่มีราคามากและมีราคาน้อย แตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีในครั้งนั้น จึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีการทำบุญถวายสลากภัตในพุทธศาสนาต่อมา

ในพระธรรมบทขุททกนิกายกล่าวว่า “พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกอรหันต์ของพระองค์คือ พระโกณฑธานเถระ ซึ่งเป็นผู้มีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง แม้พระพุทธเจ้าก็สู้ท่านไม่ได้ พระสาวกทั้งหลายมีความสงสัยว่า ทำไมท่านจึงโชคดีเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรับบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า โกณฑธานปรารถนาว่า ถ้าเลือกอะไร แข่งขันอะไร ขอให้ได้ที่หนึ่งเสมอ ดั้งนั้นในชาตินี้ โกณฑธานจึงเป็นคนโชคดี”

023

ก๋วยสลากที่จะถวายพระภิกษุสามเณร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.สลากน้อย หรือ ก๋วยเล็ก หรือ ก๋วยน้อย

เป็นก๋วยสลากขนาดย่อมหรือขนาดเล็ก สามารถหยิบยกได้ด้วยมือเดียว หรือสองมือ หรือด้วยคนคนเดียว จะมีเพียงก๋วยเดียว หรือหลายก๋วยก็ได้ โดยทั่วไปจะนิยมทำก๋วยเป็นจำนวนมาก สำหรับอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่เฉพาะแต่บุพการี ญาติ พี่น้อง เท่านั้น แต่สามารถรวมถึงมิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร แม่พระธรณี ผีปู่ย่า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่ตนเองนับถือ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ใช้งาน ที่เคยมีความผูกพันรักใคร่เอ็นดู หรือมีบุญคุณต่อกัน เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หรือ แม้แต่จะถวายเป็นทานอุทิศให้แก่ตนเองในภพภายหน้าก็ได้

2.สลากก๋วยใหญ่ หรือสลากโชค หรือ ก๋วยใหญ่

เป็นก๋วยสลากที่จัดทำขึ้นให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ สามารถบรรจุข้าวของเครื่องไทยทานนานาชนิดได้มากขึ้น สำหรับเจ้าภาพที่มีศรัทธาและฐานะดี อาจทำเป็นก๋วยโชคหรือสลากโชค ลักษณะเป็นต้นสลากขนาดใหญ่เล็ก ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เป็นเจ้าภาพ สามารถนำเอาข้าวของเครื่องใช้ปักหรือมัดไว้กับต้นสลากได้ เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม มีด พร้า ร่ม ผ้าซิ่นตีนจก เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่าง ๆ และธนบัตรปัจจัย ต้นสลากแบบนี้จะได้รับการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

024

เมื่อถึงวันงานตานสลาก ชาวบ้านจะนำก๋วยสลากและเส้นสลากไปที่วัดใกล้บ้านตนตั้งแต่เช้า แต่ละครอบครัวจะจับจองพื้นที่นั่งของตนตามจุดต่างๆ ของวัด ที่ได้เขียนนัดหมายไว้ในเส้นสลากแล้ว ยกเว้นพื้นที่ในพระวิหารและอุโบสถ พื้นที่ว่างของวัดจะถูกใช้อย่างเต็มที่ แน่นขนัดไปด้วยผู้คน เจ้าของสลากจะเขียนป้ายบอกบ้านเลขที่ของตนให้เห็นอย่างชัดเจน ส่วนฝ่ายชายจะนำเส้นสลากที่เขียนเตรียมไว้แล้ว ไปกองรวมกันไว้หน้าพระประธานในวิหารของวัด หรือศาลาวัด จากนั้นจะโปรยเส้นสลากของตนให้กระจายตัวออกไปเป็นพื้นที่กว้าง

025

สลากโชคหรือสลากก๋วยใหญ่ สิ่งของที่จะนำมาบรรจุในก๋วย เช่น ข้าวสาร เนื้อแห้ง ปลาแห้ง พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม พริกแห้ง เกลือ ถั่วเน่า กะปิ เกลือ น้ำปลา แหนมห่อใบตอง น้ำอ้อย ขนม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วบรรจุลงในก๋วยสลาก ที่กรุหรือรองด้วยใบตอง ใบหมากผู้หมากเมีย เรียกว่า “ตองจี๋กุ๊ก” ในอดีตบางครั้งจะสร้างเรือนหลังใหญ่หรือย่อมๆ ใส่ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยแกง ถ้วยชาม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งมีต้นกล้วย ต้นอ้อย ผูกติดไว้ กับเรือนด้วย ส่วน"ยอด" หรือธนบัตร

ก๋วยสลากทุกก๋วย ไม่ว่าจะเป็นสลากก๋วยเล็กหรือสลากก๋วยใหญ่ ต้องมี องค์ประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ “เส้นสลาก” ซึ่งทำจากใบลาน

026

ช่วงบ่ายของวันจะมีการแห่ครัวตาน การแห่ครัวตานนั้นจะจัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่หมู่บ้านนั้นมีงานเทศกาลสำคัญ เช่น งานตานสลากภัต งานฉลองโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือถาวรวัตถุที่เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน

027

การแห่ครัวตาน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านนำเอาสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค วัสดุอุปกรณ์ จตุปัจจัยไทยทาน ที่ช่วยกันคิดและทำขึ้นเป็นรูปแบบต่าง ๆ นำไปถวายวัดในหมู่บ้านของตนหรือหมู่บ้านใกล้เคียง รูปแบบของครัวตานมีหลายลักษณะตามแนวคิดของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น

028

ขบวนแห่ครัวทานมักจะมีสาวงามฟ้อนนำขบวนด้วย “ชาวเหนือถือว่าหากใครได้ฟ้อนนำครัวทานเข้าวัดแล้วจะได้อานิสงส์มาก เกิดไปในภายหน้าจะมีรูปร่างหน้าตางดงามยิ่งขึ้น”

029

การแห่ครัวตานเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการสร้างให้เกิดธรรมที่สำคัญ คือ

๑. คารวธรรม คือ เคารพต่อกันให้เกียรติกัน บ้านเขามีงานมาบอกเรา เราก็ไปร่วม เมื่อเรามีงานเราไปบอกเขา เขาก็มาร่วม และในการทำงานก็จะให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่า คนหนุ่ม คนสาว

๒. ปัญญาธรรม คือ การที่ทำครัวตานได้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อทำให้ ดีที่สุด

๓. สามัคคีธรรม คือ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในหมู่บ้าน เมื่อมีงานอะไรก็มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และมีน้ำใจให้แก่กันและกัน

030

เมื่อแห่ครัวตานเสร็จ พระภิกษุสามเณรจะ ประกอบศาสนพิธีสวดมนต์ พระภิกษุจะแสดงพระธรรมเทศนาอย่างน้อย 1 กัณฑ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการวัด หรือมัคทายกหรือ”แก่วัด” จะนำเส้นสลากทั้งหมดมารวมกัน และนับจำนวนเส้นสลาก จากนั้นจึงทำการประกาศให้กับคณะศรัทธาที่มาร่วมพิธีได้รับทราบ

031

จากนั้นจะทำการแบ่งเส้นสลากออกเป็น 3 กอง(มัด) ส่วนหนึ่งถวายเป็นของพระเจ้า คือ พระพุทธรูปประธาน ซึ่งหมายถึงเป็นของวัด อีก 2 ส่วนจะเฉลี่ยไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นๆ หรือที่จากวัดอื่นๆที่นิมนต์มาร่วมในงานนี้ เรียกว่า“หัววัดเติงกัน” โดยพระภิกษุจะได้จำนวนเส้นสลากมากกว่าสามเณร หากมีเศษเหลือจะถวายเป็นของพระเจ้าทั้งหมด

หลังจากพระภิกษุสามเณรได้รับถวายเส้นสลากแล้ว จะนำเส้นสลากนั้นออกตามหาเจ้าของ ตามบ้านเลขที่ และสถานที่นัดหมาย ที่เขียนไว้ในเส้นสลาก ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาสนุกสนาน โกลาหล เพราะบรรดาพระภิกษุสามเณรจะทำการ ”ออกสลาก” คือ เปล่งเสียงอ่านชื่อเส้นสลาก ขั้นตอนการถวายคล้ายๆ กับถวายสังฆทาน บางครอบครัวอาจเตรียมเขียนคำอ่านถวายอย่างไพเราะ เมื่อถวายของแล้วพระสงฆ์จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับที่มีชื่อในก๋วยสลาก เจ้าของก๋วยสลากจะต้องนั่งรอให้เส้นสลากของตนได้รับการสวดอุทิศส่วนกุศลจนครบจำนวนที่เตรียมมา จึงเป็นอันเสร็จพิธี

032

แม่แจ่ม นอกจากจะมีชาวไทยวนอาศัยอยู่แล้ว ยังมีชาวเป็นหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ อยู่ในหุบเขาซึ่งรายล้อมไปด้วยภูเขาสูงใหญ่ ไฮไลท์ของที่นี่คือนาข้าวขั้นบันไดที่สามารถมองเห็นได้ไกลสุดลูกหูลูกตา

033

บ้านป่าบงเปียง เป็นหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ อยู่ในหุบเขาซึ่งรายล้อมไปด้วยภูเขาสูงใหญ่ ไฮไลท์ของที่นี่คือนาข้าวขั้นบันไดที่สามารถมองเห็นได้ไกลสุดลูกหูลูกตา

การได้ลองใช้ชีวิตที่แสนธรรมดาและเรียบง่ายเช่นนี้ ยังค่อยๆ เผยให้เห็นถึงรายละเอียดของชีวิตที่เราเผลอทำหล่นหายโดยไม่รู้ตัว ชีวิตสโลไลฟ์ ที่นวลสามารถซึมซับได้จากที่นี่ทุกสิ่งอย่าง แม้กระทั่งลมหายใจและเสียงหัวใจของนวลเอง ธรรมชาติรอบกายที่คอยมาทักทาย เหมือนเราหมุนโลกให้ช้าลงเลย

035

วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอยังคงเรียบง่าย แม้การท่องเที่ยวจะเข้ามา แต่ก็ไม่ทำให้ชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนแปลงวิถีเดิมของตน

ในตำนานบอกว่า ต้นข้าวของคนปกาเกอะญอต้นสูงเท่าต้นกล้วย และเม็ดใหญ่เท่าฟักเขียว กระทั่งมีเศรษฐีกับแม่หม้ายได้ถกเถียงกันว่าเงินหรือข้าวที่สำคัญที่สุด โดยเศรษฐีเชื่อว่าเงินสำคัญที่สุด ส่วนแม่หม้ายเชื่อว่าข้าวสำคัญมากกว่า ด้วยความโมโหแม่หม้ายจึงทุบเมล็ดข้าวจนแตกกระจายไปทั่ว บางส่วนกระจายเข้าไปในถ้ำซึ่งถ้ำแห่งหนึ่งที่มีประตูที่สามารถเปิดอยู่

“ถ้ำมันเปิด และปิดได้ สิบวันถึงจะเปิดครั้งหนึ่ง และก็ไม่มีใครสามารถลงไปเก็บข้าวในหน้าผาได้ ก็มีแค่นกกระจิบตัวหนึ่งเท่านั้นก็สามารถลงไปเอาข้าวออกมาได้”

036

ในหนึ่งปีชาวบ้านป่าบงจะปลูกข้าวไร่เพียงหนึ่งครั้งคือช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยพวกเขาประเมินการปลูกจากจำนวนสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับบริโภคตลอดปี

ข้าวที่นี่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น เมล็ดมีลักษณะป้อมสั้นคล้ายข้าวญี่ปุ่น เเต่รสชาติอร่อยกว่าครับ

ปกาเกอะญอให้ความสำคัญกับข้าวในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของต้นข้าว ตั้งแต่การเตรียมนา ซึ่งต้องเตรียมให้พร้อมตั้งแต่เดือนมกราคม ด้วยการหาที่เหมาะ ๆ และดินดี ๆ ที่สำคัญ ต้องเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินรังนก และจะต้องหมุนเวียนกันปลูก เพราะที่นาเป็นของทุกคน

จากนั้นมีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ ปล่อยน้ำเข้านา เลี้ยงผีฝาย ระหว่างนั้นจะมีพิธีต้มเหล้าบือแซะคลีที่ใช้สำหรับพิธีมัดมือช่วงทำนา จากนั้นก็ลงแปลงไถนาเตรียมดิน หมักดิน ปั้นคันนา หว่านข้าว และเมื่อต้นข้าวงอกจากพื้นดินและโผล่พ้นน้ำ ก็จะมีพิธีมัดมือ เป็นเสมือนการขอบคุณเทวดาที่อำนวยพรอาหารมาให้ ขณะที่ปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโต ออกรวง จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้หนูหรือศัตรูมาทำลายต้นข้าว และเมื่อข้าวสุกเต็มที่เหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง ก็จะมีประเพณีเอามื้อ (ลงแขก) เกี่ยวข้าว เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวก็เป็นประเพณีกินข้าวใหม่ (เอาะบือไข่) และพิธีแซะพอโข่ หรือที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญข้าว เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองผูกข้อมือ ต้มเหล้า และเลี้ยงผี

039

ภาคเหนือ และภาคอีสาน จะมีอาหาร การกิน คล้าย ๆ  กัน ซึ่งหนึ่งใน อาหารพื้นเมืองที่เป็นที่นิยม และจะขาดเสียมิได้เลย คนเมืองหรือชาวเชียงใหม่ จะเรียกว่า ลาบ เช่น ลาบดิบ ลาบสุก หรือ ลาบคั่ว ส่วนทางภาคอีสาน จะเรียกว่า ลาบอีสาน เป็นต้น สำหรับ ลาบ สมัยก่อน แต่ยุคล้านนนา ชาวเชียงใหม่ ถือว่า ลาบ เป็นอาหารที่นิยมทำกินกันในโอกาสพิเศษหรืองานเลี้ยงหรือในเทศกาลต่าง ๆ ส่วนประกอบหลักของลาบ คือเนื้อหมูสด บางบ้านนิยม บริโภค วัว ควาย ก็ เรียกว่า ลาบวัว ลาบควาย เมื่อต้องการนำมาทำ ก็จะใช้เนื้อสด นำมาสับให้ละเอียดคลุกเคล้ากับเลือดสดและเครื่องในต้มหั่นซอย ปรุงด้วยเครื่องปรุงอันประกอบด้วยพริกแห้งเผา และเครื่องเทศต่างๆ ลาบกินกับผักสดนานาชนิด โดยเฉพาะประเภทสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมแรง และเรียกผักที่นำมากินกับลาบว่า “ผักกับลาบ” ปัจจุบัน นิยมรับประทานลาบหมู มากกว่าลาบวัว ลาบควาย ลาบที่ยังไม่สุก เรียกว่า ลาบดิบ ถ้าต้องการรับประทานแบบสุก ก็นำไปคั่วกับน้ำมันพืชเล็กน้อย หรือไม่ใส่น้ำมันก็ได้ตามชอบ เรียกว่า ลาบคั่ว

040

“พริกลาบ” (คนเหนือมักเรียกคำสั้น ๆ ) คือ การนําเครื่องเทศและพืชสมุนไพรต่างๆ  เช่น พริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ มะแขว่น มะแหลบ ดีปลี พริกไทย เม็ดผักชี มาหั่น สับ หรือบดตามความต้องการ แล้วนําไปทําให้แห้งหรือคั่ว ก่อนจะนำมาผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปคั่วรวมกันอีกครั้งให้สุก จะได้กลิ่นหอมและทำให้สามารถเก็บไว้ได้นาน บางครั้งถ้าคั่วโดยใส่น้ำมันลงไปเล็กน้อยก็จะได้รสชาติพริกลาบที่มีความเข้มข้นขึ้นหรือจะทานแบบดิบๆก็อร่อยเช่นกัน ซึ่งน้ำพริกลาบนั้นจะเป็นตัวช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อในการปรุงลาบของภาคเหนือ

ในขั้นตอนการทำน้ำพริกลาบนั้นหากใครไม่ชอบเผ็ดมากก็ให้ใช้พริกแห้งเม็ดใหญ่ครึ่งหนึ่ง และพริกขี้หนูแห้งครึ่งหนึ่ง หรืออาจจะแกะเอาเมล็ดด้านในออกบ้างก็ได้ น้ำพริกลาบชนิดนี้เป็นน้ำพริกลาบาบของทางภาคเหนือ  อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำพริกชนิดนี้ได้แก่ ยำไก่ ลาบหมู ลาบเนื้อ ยำกบ ยำหูหมู ฯลฯ

042

แม่แจ่ม มีวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่หลากหลาย ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความเอื้ออาทร น้ำใจไมตรีที่ดีงาม บนพื้นฐานของคุณธรรม และจริยธรรม เมืองแม่แจ่มในวันนี้อาจไม่ใช่เมืองปิดอีกต่อไป มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคโลกาภิวัตน์ แต่ยังคงรักษาความเป็นเสน่ห์ของคนแม่แจ่มที่มีรอยยิ้มอันงดงาม อบอุ่นด้วยน้ำใจ ไม่มีการแข่งขัน มีแต่ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภาพเช่นนี้อาจหาชมได้ไม่ง่ายนักในสังคมเมืองขนาดใหญ่ ทว่าเรากลับพบเห็น และสัมผัสได้อย่างง่ายดายในยามที่เราเดินทางมาเยือนเมืองในโอบล้อมของขุนเขานาม “แม่แจ่ม”

 

อัลบั้มภาพ 41 ภาพ

อัลบั้มภาพ 41 ภาพ ของ แม่แจ่ม มนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook