ความคนึง ส่งถึง...ลำปาง

ความคนึง ส่งถึง...ลำปาง

ความคนึง ส่งถึง...ลำปาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เขลางค์นคร หรือนครลำปางได้ชื่อว่ามีวัดศิลปะพม่ามากที่สุดในประเทศไทย หากจะเล่าย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองลำปางอันอุดมไปด้วยป่าไม้สักจำนวนมหาศาล เป็นที่ต้องการของบริษัทค้าไม้ต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมดินแดนต่างๆรอบๆสยามประเทศอยู่ในขณะนั้น ได้เข้ามาทำสัมปทานค้าไม้จากราชสำนักสยามในเขตเมืองลำปางในครั้งนั้นบริษัทค้าไม้ขนาดใหญ่สัญชาติอังกฤษได้สัมปทานไป จึงเข้ามาพร้อมแรงงานชาวพม่าที่ซึ่งอยู่ในการคุมครองของนายจ้างชาวอังกฤษซึ่งชำนาญในการทำไม้

การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธรุกิจค้าไม้ของชาวพม่า ทำให้มีโอกาสสะสมทุนและกลายเป็นคหบดีที่ร่ำรวย ด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนาอันแรงกล้าของชาวพม่า จึงสร้างวัดขึ้นในถิ่นที่ตนเองทำธุรกิจไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา โดยจุดเด่นของวัดพม่าที่เห็นชัดคือ สร้างด้วยไม้และแกะสลักอย่างละเอียดงดงาม

วันนี้นวลจะพาไปสัมผัสกับความงดงามของศิลปะพม่าผ่านวัดวาอารามอันงดงาม ที่คนลำปางยังคงเก็บรักษาและทำนุบำรุงไว้อย่างดี นอกจากถาวรวัตถุที่เราเห็นแล้ว หลังจากที่พม่ากลับไปยังฝากอาหารหลากหลายชนิดไว้ให้เราได้ลิ้มรสจนกลายเป็นอาหารเหนือขึ้นชื่อไปแล้วมากมายครับ

002
003

“ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก”

เมื่อกล่าวถึง “ลำปาง” หลายคนนึกถึงดอยขุนตาลอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย หลายคนนึกไปถึงพระธาตุลำปางหลวงโบราณสถานเก่าแก่อันงดงามตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี แต่คงมีไม่มากนักที่นึกไปถึงวัดวาอารามที่สร้างขึ้นโดยอิทธิพลทางศิลปกรรมแบบพม่าซึ่งมีอยู่มากมายหลายวัด และแต่ละวัดก็ล้วนมีความวิจิตรงดงาม ตระการตาจนถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “หากจะชมวัดพม่าให้มาที่จังหวัดลำปาง”

ชาวพม่ามีคติที่ให้ความเคารพต่อธรรมชาติที่มีบุญคุณทุกอย่าง เมื่อตนมีอาชีพตัดไม้ โค่นต้นไม้ในป่า ย่อมต้องขอขมาต่อธรรมชาติหนทาง หนึ่งก็คือการสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ พร้อมกับอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในป่าปกป้องคุ้มครองตนเองมิให้มีภัย ดังนั้นเมื่อชาวพม่าที่เข้ามาอาศัยอยู่ ในลำปางจึงได้นำเอาศิลปกรรมแบบมัณฑเลย์เข้ามาด้วย ผู้ที่ร่ำรวยมาก ๆ ก็สร้างใหม่ทั้งวัดแต่คนที่ไม่ร่ำรวยมากนักก็ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดเดิมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ขึ้น

004

จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดลำปำง มีวัดที่สร้างโดยชาพม่าหรือมีรูปแบบทางศิลปกรรม ทั้งในด้ำนสถาปัตยกรรม การประดิษฐ์ตกแต่ง รวมไปถึงพุทธลักษณะของพระพุทธรูปจะเป็นแบบพม่า และในอดีตแม้แต่พระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษาอยู่ในวัดก็เป็นชาวพม่าที่ได้เดินทำงเข้ามำอยู่ในไทย สำหรับเรื่องราวความเป็นมาของการสร้างวัดพม่าในจังหวัดลำปาง นั้นเริ่มรู้จักการทำป่าไม้โดยเฉพาะไม้สักที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัดลำปาง

005

นวลเริ่มต้นทริปตามรอยความงดงามของวัฒนธรรมพม่าที่วัดศรีชุมครับ

006

วัดศรีชุม จองในวัดศรีชุมมีลักษณะอาคารแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองชั้น ถือว่าเป็นอาคารแบบพม่าที่สมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด แต่ว่าอาคารนี้ได้ถูกไฟไหม้ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 ทำให้งานศิลปกรรมที่มีคุณค่าถูกเพลิงเผาไหม้จนหมด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิม

007

007-1

จอง เป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูงหรืออาคาร 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นโครงสร้างปูนและอิฐ ใต้ถุนโล่งเพื่อใช้เป็นที่เก็บของ ส่วนชั้นบนเป็นโครงสร้างทำด้วยไม้ตั้งแต่ตัวอาคารจนถึงหลังคา จองวัดศรีชุมเป็นหลังคาทรงปราสาท มีลักษณะเป็นหลังคาซ้อนกันหลายชั้น เป็นสัญลักษณ์ของปราสาท หรือ หมายถึงเขาพระสุเมรุ อันเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล โดยซ้อนชั้นกันจำนวน7 ชั้น โดย บริเวณนี้จะเป็นส่วนประดิษฐานสิ่งที่สำคัญที่สุดในวัดคือพระประธาน นอกจากนี้จะมีการประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของอาคารโครงสร้างหลังคา เช่น หน้าบัน เชิงชาย ฯลฯด้วยไม้ฉลุ หรือแผ่นโลหะสังกะสีผสมดีบุก ที่ฉลุลายอย่างละเอียดและประณีตงดงามครับ

008

008-1

ภาพจิตรกรรมลงลักปิดทองที่เขียนขึ้นใหม่ภายในจองวัดศรีชุม ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และวิถีชิติของชาวลำปางในยุคที่อุสาหกรรมป่าไม้เฟื่องฟู

009

วัดศรีรองเมือง เป็นวัดพม่าอีกวัดหนึ่งในจังหวัดลำปางที่มีความงดงามมากลักษณะการก่อสร้างและการใช้งานคล้ายคลึงกับจองที่วัดศรีชุม แต่จะแตกต่างกันตรงส่วนหลังคา จองวัดศรีรองเมืองสร้างแบบไทใหญ่ทั้งหมด ไม่มีหลังคาทรงปราสาท เป็นอีกหนึ่งโลเคชั่นในการถ่ายละครพีเรียดทางเหนือบ่อยๆ ครับ

010
011

จองวัดศรีรองเมืองนี้เป็นอาคาร 2 ชั้น มีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ส่วนที่เป็นชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนบนทำด้วยไม้พระพุทธรูปประธานประดิษฐานอยู่ที่เรือนยอด ซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของอาคาร นอกจากนั้นยังสร้างห้องเจ้าอาวาสไว้ในด้านขวาและด้านซ้ายมือของห้องพระประธาน และมีพื้นที่ระเบียงขนาดยาวด้านหน้าห้องโถง ซึ่งมีการฉลุไม้เป็นลายเครือพันธุ์พฤกษาสร้างเป็นโก่งคิ้วไว้ด้านหน้าระเบียงนี้อีกด้วยนะครับ

012

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะแบบพม่าผสมศิลปะล้านนา องค์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง แวดล้อมด้วยเจดีย์อีกสิบเก้าองค์ รวมกันแล้วเป็นยี่สิบองค์ ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดเจดีย์ซาวหลัง ด้านหน้าของเจดีย์แต่ละองค์ทำเป็นซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ข้างใน

013

คำว่า“ซาว”ในภาษาเหนือ “ยี่สิบ” คำว่า “หลัง” แปลว่า “องค์”เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันตามจำนวนของพระเจดีย์ที่มียี่สิบองค์นั่นเอง ความเก่าเเก่ของเจดีย์มีการสันนิษฐาว่าสร้างมานานกว่าพันปีในราวยุคหริภุญไชยจากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องที่สร้างใน สมัยหริภุญไชยในบริเวณเจดีย์ครับ

014

นอกจากเราจะได้ชมความงดงามของศิลปะพม่าผสมล้านนาแล้วยังสามารถเข้าไปศักการะและชมความงามของพระเเสนแซ่ทองคำ พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างจากทองคำกว่า ๑๐๐ บาท สองสลึง และชมจิตรกรรมฝาผนังประวัติของวัดเจดีย์ซาว ด้านหลังของหมู่เจดีย์เป็นที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของเก่าด้วยนะครับ

015

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามเป็นวัดเก่าแก่ของลำปางมาตั้งแต่อดีตก่อนอิทธิพลศิลปกรรมของพม่าจะเข้ามา งานศิลปกรรมพม่าที่พบภายในวัดคือ มณฑปปราสาทแบบพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2452  ลักษณะอาคารเป็นหลังคาทรงปราสาทลดหลั่นกัน และย่อมุมตามลักษณะของแผนผัง มีทางเข้า 3 ทางคือ ทางด้านทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศเหนือเป็นผนังทึบชิดกับองค์เจดีย์ครับ

016

หลังคาสร้างเป็นซุ้มปราสาทซ้อนชั้นลดหลั่นกันเป็นมณฑปปราสาท ยอดบนสุดเป็นปลีและฉัตรแบบพม่า ไม่ว่าจะเป็นเพดาน จั่ว หน้าบัน และรวงผึ้งก็ตาม ล้วนประดับด้วยไม้แกะสลักและงานปั้นรักประดับกระจกสีแทบทั้งสิ้น ส่วนชั้นหลังคาถือเป็นงานช่างที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะแบบพม่า เป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองเป็นช่อฟ้า เชิงชาย และเมฆตั้งแบบพม่า ที่วิจิตรและงดงามอีกแห่งหนึ่งเลยครับ

017

มาถึงไฮไลท์ของการมาลำปางในครั้งนี้ของนวลครับ กับการมาชื่นชมความงดงามของอีกวัดพม่าที่ผสมผสานความงดงามของพม่าและตะวันตกไว้อย่างวิจิตรและงดงามยิ่งนัก นั้นคือวัดม่อนสัณฐาน หรือวัดม่อนปู่ยักษ์

018

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยอุโบสถแบบอิทธิพลตะวันตก ศาลาการเปรียญ และกุฏิไม้โบราณศิลปะพม่า ฝาผนังและ เสาไม้สักประดับลวดลาย ลงรักปิดทอง เพดานติดกระจกและมีเจดีย์ฝีมือช่างพม่า พระประทานลงรักปิดทอง

019

จิตรกรรมฝาผนังวัดม่อนสัณฐานเป็นฝีมือช่างพม่า เรื่องที่เขียนเป็นพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ นอกจากนี้ ยังเป็นทศชาติ ชาดก เรื่องมหาชนกและสุวรรณสาม เนมีราชมโหสถ ภูริทัต จันทกุมาร พรหมนารถ วิทูรบัณทิต เวสันดร และเตมีย์ ที่แปลกคือ เตมีย์ กลับเป็นภาพท้ายสุด จิตรกรรมฝาผนังที่นี่ เป็นงานสกุลช่างมัณทเลย์ ถือเป็นงานจิตรกรรมแบบสกุลช่างพม่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ

020

“ผ้าลุนตยาสายสัมพันธ์แห่งพม่าและล้านนาไท”

022

ผ้าลุนตยาเป็นชื่อเรียกย่อของคำว่า "ลุนตยาอะฉิก" ชาวพม่าออกเสียง "โลนตะหย่า" แปลว่า ร้อยกระสวย เนื่องจากเป็นผ้าทอเทคนิคพิเศษที่ต้องใช้กระสวยบรรจุเส้นไหมสีต่างๆ นับร้อยๆ กระสวย ส่วน "อะฉิก" แปลว่าลายคลื่น เรียกตามลวดลายลูกคลื่นที่ปรากฏบนผ้าทอ ว่ากันว่า ลายลูกคลื่นนี้ไม่ใช่สักแต่ว่าประดิษฐ์ขึ้นให้มีความงามพลิ้วไหวเท่านั้น แต่ยังซ่อนสัญลักษณ์คติจักรวาลทางพุทธศาสนาอีกด้วย

เหตุเพราะลายลูกคลื่นนี้ทำซ้อนขดตัวกันถึงเจ็ดชั้นไล่โทนสีกันไป หมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดที่ตั้งรายล้อมเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของโลก

ภูเขาทั้งเจ็ดลูกนับจากชั้นในสุดออกมา กอปรด้วย ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัสนะ เนมินธร วินันตะกะ อัสกัณณะ แต่ละช่วงภูเขาถูกคั่นด้วยมหานทีสีทันดร เกลียวคลื่นทะเลนี้ถ่ายทอดบนผืนผ้าด้วยลายโค้งมนตอนล่างรองรับเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเวลาทอช่างต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งด้วยเทคนิคการล้วงแบบพิเศษ เพราะไม่ใช่ลายเรขาคณิตเหมือนผ้าทอประเภทอื่นๆ

ลุนตยาอะฉิกเป็นผ้าซิ่นของชาวพม่าที่ใช้กันแพร่หลายในราชสำนักอังวะมัณฑะเลย์ อมรปุระ ย่างกุ้ง และเมืองตองคยีแถบรัฐฉาน ถือเป็นผ้านุ่งและผ้าโจงของกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญาที่ใช้สืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และเป็นหนึ่งในผืนผ้าไหมที่ยังคงได้รับความนิยมในหมู่ผู้หลงไหลในผ้าทอด้วยนะครับ

024

นอกจากวัดวาอารามที่งดงามแล้ว งานถาปัตยกรรมที่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าจดจำคือ บ้านเสานักบ้านเสานัก สร้างขึ้นโดยคหบดีพ่อค้าชื่อ “หม่องจันโอง” ซึ่งเป็นต้นตระกูลจันทรวิโรจน์ เป็นบ้านไม้สักโบราณ ศิลปะพม่าผสมล้านนา มีเสาเรือนมากถึง 116 ต้น ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า

025

บ้านเสานักผ่านวันเวลาแห่งอดีตกาลในฐานะของบ้านพักคหบดีของลำปาง กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาทินัดดามาตุเสด็จมา ประทับเสวยพระกระยาหาร และประทับพักผ่อนพระอริยาบถเมื่อครั้งเสด็จประพาสจังหวัดลำปาง และเมื่อปี 2522 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารและประทับ พักผ่อนพระอิริยาบถที่บ้านเสานักด้วยนะครับ

026

ปัจจุบันบ้านเสานัก จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง เก็บรวบรวมเครื่องใช้โบราณ รูปภาพภายในบริเวณ บ้านเสานักยังมีถุงข้าวเสาหลายและต้นสารภีอายุ 130 ปี

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 5422 – 7653, 0 – 5422 – 4636

027

ทำไมลำปางถึงมีช้าง ก็เพราะในการทำอุตสาหกรรมไม้สักนั้นจะใช้ช้างในการลากท่อไม้สักออกจากป่าครับ ถึงตอนนี้จะยกเลิกการทำไม้ และใช้ช้างลากจูงแล้ว ลำปางก็ยังมีน้องช้างให้เราได้เข้าไปสัมผัส และเรียนรู้ครับ

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เดิมคือศูนย์ฝึกลูกช้าง ตั้งอยู่ที่บ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อฝึกให้ลูกช้างเชื่อฟังคำสั่งและมีความชำนาญในการทำไม้ในป่า และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายปิดป่า ซึ่งทำให้ช้างต้องว่างงาน อีกทั้ง อ.อ.ป. ต้องดูแลช้างที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และพื้นที่คับแคบ จึงได้ย้ายลูกช้าง ช้างที่อายุน้อยและช้างที่มีสุขภาพแข็งแรง มาที่บ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เปลี่ยนชื่อจากศูนย์ฝึกลูกช้างมาเป็น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย มีกิจกรรมอนุรักษ์และบริบาลดูแลช้างอย่างครบวงจร มีโรงพยาบาลช้าง กิจกรรมท่องเที่ยวนันทนาการและการเรียนรู้เรื่องช้าง วิถีชีวิตของควาญช้างที่ผูกพันกับช้างและป่าไม้ โดยที่ศูนย์ฝึกลูกช้างเดิม ก็ดูแลช้างป่วย ช้างชรา ช้างพิการ เปรียบได้ว่าเป็นบ้านหลังสุดท้ายของช้างุไทย นับได้ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ดูแลช้างของคนไทยทุกคน หากท่านมีเวลาแวะมาเยี่ยม มาให้กำลังใจให้น้องช้าง กันได้นะครับ

028

การแสดงช้างอาบน้ำ จะมีวันละ 2 รอบ

รอบแรกเวลา 9.45 น. และ รอบบ่าย เวลา 13.15 น.

ช้างจะลงอาบน้ำอย่างพร้อมเพียงกัน หลังจากนั้นช้างทั้งหมดจะถือหางของแต่ละเชือกและเดินทางเข้าสู่ลานแสดง

การแสดงช้างอาบน้ำของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากนะครับ ใครที่อยากมาเล่นน้ำกับช้างเขามีบริการด้วย เพียง 500 บาทเท่านั้นครับ

การแสดงช้างใช้เวลาแสดงประมาณ 40 นาที

จุดเด่นของการแสดงช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้แก่การสาธิตการทำไม้ด้วยช้างซึ่งแพร่หลายในอดีตและถูกห้ามในปี พศ. 2532

นอกเหนือจากการแสดงความสามารถของช้างที่แล้ว การสาธิตการทำไม้ด้วยช้างยังเป็นการแสดงความสามารถของควาญช้างในการควบคุมช้างในการทำไม้อีกด้วย อาทิเช่น การใช้ภาษาในการควบคุม ซึ่งมีมากกว่า 35-40 คำ และการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นต้น

ด้านศิลปะ มีการแสดงความสามารถของช้างเช่น แสดงการวาดภาพ ได้แก่ ภาพตามจิตนาการ และ ภาพเหมือนจริง โดยช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยวาดภาพครั้งแรกในปี พศ 2540และ ระหว่างการแสดงของช้าง

การแสดงจะมีวันละ 3 รอบ แสดงทุกวัน ยกเว้น วันช้างไทย ( วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี )

รอบแรก 10.00 น

รอบที่ 2 11.00 น.

รอบที่ 3 13.30 น.

ผู้ใหญ่

ชาวไทย อัตราค่าเข้าชม 100.- บาท/คน

เด็ก (ความสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร)

ชาวไทย อัตราค่าเข้าชม 50.- บาท/คน ครับ

029

นครลำปางมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในฐานะของศูนย์กลางการค้าไม้สักภาคเหนือ โดยมีที่ตั้งอยู่บริเวณถนนตลาดเก่า (กาดกองต้า) ซึ่งมีอาคารพาณิชย์ ร้านค้า บ้านพักอาศัยของคหบดีในสมัยนั้นโดยมากแล้วเป็นชาวพม่าที่เข้ามาทำธุรกิจค้าไม้

030

ปัจจุบันกาดกองต้า เปิดให้เป็นถนนคนเดินเสาร์ อาทิตย์ เป็นแหล่งช็อปปิ้งยามเย็นของชาวลำปางและนักท่องเที่ยวครับ

031

เขาเล่าว่า “ เมืองมะละแหม่ง กับ กาดกองต้าบ้านเรา มีบรรยากาศ กลิ่นไอ คล้ายๆกัน โดยเฉพาะในรูปแบบของตึกแถว เชิงช่างฝีมือต่างๆที่ปรากฏ “

032

ขนมจีนน้ำเงี้ยว เป็นอาหารยอดนิยมของคนล้านนามานาน ประกอบด้วยเส้นขนมจีน, เลือดหมู, เนื้อหมู, มะเขือเทศ เป็นหลัก มีทั้งสูตรเชียงราย (ใส่ดอกงิ้ว) สูตรเชียงใหม่ (ใส่เต้าเจี๊ยว) สูตรลำปาง (ใส่ถั่วเน่า) สูตรแพร่ (เป็นแบบน้ำใส) เป็นต้น

033

เดิมที ขนมจีนไม่ได้ทานพร้อมกับน้ำเงี้ยว แต่เพิ่งนำประยุกต์มาทานพร้อมกันไม่นานมานี้ น้ำเงี้ยวเป็นอาหารของชาวเงี้ยวซึ่งเป็นกลุ่มไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาอพยพหนีการสู้รบกับรัฐบาลพม่า จึงเข้ามาอาศัยกระจายทั่วไปทุกจังหวัดภาคเหนือ แต่ที่เป็นชุมแหล่งใหญ่คือจังหวัดแพร่ เนื่องจากในยุคนั้นมีการสัมปทานพื้นที่การทำป่าไม้ให้กับบริษัทจากอังกฤษ แรงงานชาวเงี้ยวที่เข้ามาใช้แรงงานก็นำเอาอาหารชนิดนี้มาด้วย และยังคงทิ้งไว้เป็นมรดกกับคนลำปาง และคนล้านนาสืบมา ฮิ้วววววว ลำแต๊ๆเจ้า

034

ของกิ๋นบ้านเฮา ร้านอาหารเหนือที่อยากแนะนำให้มาทานครับ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และอร่อยใช้ได้เลยแหละ วันนี้นวลจะมาเล่าเรื่องอาหารพม่าที่ทิ้งไว้ให้เราคิดถึงกันครับ

น้ำพริกอ่อง

035

เมื่อก่อนนั้น ทางภาคเหนือยังไม่มีน้ำพริกอ่องนะครับ เรื่องมันมีอยู่ว่า เมื่อก่อนมีชาวพม่าชื่อ "นายอ่องหม่อง" อยากจะกินหนมเส้นน้ำเงี้ยว จึงทำการตำน้ำพริกเพื่อจะทำเป็นน้ำเงี้ยว กำลังเตรียมส่วนผสมคั่วพริกคั่วหอมกลิ่นหอมๆ กำลังได้ที่ ระหว่างนั้น ลูกนายอ่องหม่องก็ร้องไห้ เพราะหิวข้าว นายอ่องหม่องบอกให้ลูกเงียบก็ไม่เงียบซักที เอาแต่ร้องไห้ เพราะหิวข้าวมาก นายอ่องหม่องโมโห จึงตักน้ำพริกที่กำลังทำ ยังไม่เสร็จมาให้ลูกชายกิน แน่นอนครับรสชาติน้ำพริกตอนนั้น มันเผ็ดมาก นายอ่องหม่องเลยเก็บผักมากินกับน้ำพริก ปรากฏว่ารสชาติมันอร่อย รู้สึกติดใจ ลองเอาไปให้ชาวบ้านแถวนั้นกิน ก็ติดใจ เลยพากันเรียก "น้ำพริกปู่อ่อง" พอนานวันเข้า ก็เรียกเพี้ยนไป ให้สั้นลง เหลือเพียง “น้ำพริกอ่อง” จึงเรียกติดากกันมาเท่าทุกวันนี้แหละครับ...

แกงฮังเล

036

แน่นอนว่าอีกหนึ่งอาหารเหนือที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั้นก็คือ แกงฮังเล หรือ แกงฮินเล เป็นประเภทแกงรสชาติเค็ม และเปรี้ยว  เชื่อกันว่าแกงฮังเลเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่าในสมัยอดีต  คำว่า “ฮิน” ในภาษาพม่า หมายถึง แกง และ “เล” ในภาษาพม่า หมายถึง เนื้อสัตว์ ต่อมา แกงฮังเล ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้รสชาติถูกปากคนไทยจนเป็นที่นิยม  และกลายเป็นอาหารเหนือที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั้นแหละครับ...

วิถีชีวิตที่ถูกกลืนหาย แม้จะปรากฏบันทึก ตระกูลต่างๆที่สืบเนื่องมาในสมัยการค้าไม้รุ่งเรือง แต่วิถีชีวิต ความเป็นอยู่กลับถูกกลืนหายไปในนามคนลำปางไปแล้ว อาจปรากฏเหลือไว้ในรูปแบบอาหาร เช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวกั้นจิ๊น(ข้าวเงี้ยว) จากไทใหญ่ น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล จากพม่า ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ผ่านการคัดสรร-แลกเปลี่ยนมาแล้วครับ

มาลำปางครั้งนี้นวลเลือกพักที่ บ้านคำออน ครับ

037

"บ้านคำออน" เกสท์เฮาส์ เป็นบ้านไม้สักที่ก่อสร้างด้วยศิลปะแบบล้านนา ที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยก่อสร้างยุคเดียวกับบ้านเสานัก ตั้งอยู่ในชุมชนท่ามะโอ เมืองนครลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนโบราณที่มีบ้าน วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวครับ

040

การสร้างตัวด้วยการค้าขาย และการทำป่าไม้ร่วมกับชาวตะวันตก ทำให้ชาวพม่า-ไทใหญ่สะสมความมั่งคั่งจนเป็นคหบดีของลำปางได้อย่างมากหน้า หลายตา เมื่อมีทรัพย์สินมากพอประกอบกับความศรัทธาใพระพุทธศาสนา เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 –ศตวรรษที่ 25 ของลำปางเกิดวัดที่เป็นรูปแบบศิลปะพม่าขึ้นอย่างมากมาย แม้ปัจจุบันวัดเหล่านี้จะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่วัดเหล่านี้ก็ยังทรงความงดงามและคุณค่ามหาศาลในฐานะปูมหมายเหตุบอกเล่าเรื่องราวสำคัญของประวัติศาสตร์เมืองลำปาง ที่นวลอยากจะนำมาเล่าต่อให้กับแฟนจ๋าได้ฟังกันครับ แล้วแฟนจ่าจะคิอถึงลำปางในแบบที่นวลคิดถึง... “ความคะนึงส่งถึงลำปาง” 

อัลบั้มภาพ 41 ภาพ

อัลบั้มภาพ 41 ภาพ ของ ความคนึง ส่งถึง...ลำปาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook