เล่าเรื่องเมือง...ลับแลง หลง ลับ แล เลือน

เล่าเรื่องเมือง...ลับแลง หลง ลับ แล เลือน

เล่าเรื่องเมือง...ลับแลง หลง ลับ แล เลือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงเมืองลับแล อุตรดิตถ์ แล้วแฟนจ๋านึกถึงอะไร?

“ความลึกลับ… ตำนานเมืองแม่ม่าย… เมืองห้ามพูดโกหก… แล้วก็ทุเรียนหลงลับแล” นวลเชื่อว่าทุกคนก็คงจะตอบคล้ายกันอย่างนี้...

แต่เชื่อไหมครับ...ถ้าถามคนลับแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านลับแลงจริงๆนี่ เป็นคนละเรื่องเลยนะ...ข้อเท็จจริงที่เด่นชัดคือชาติพันธุ์ของชาวลับแลส่วนใหญ่เป็นชาวไท-ยวนที่อพยพมาจากล้านนา ลับแลงคือเมืองที่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง เป็นเมืองที่มีตัวตน ไม่ได้เกิดจากตำนานเล่าขาน...

วันนี้นวลจะพาแฟนจ๋าไปรู้จักลับแลง หรือลับแล เมืองที่มากล้นไปด้วยมนต์ขลัง ความลับที่แท้จริงของวิถีชีวิตและความเป็นมาของชาวลับแล ผ่านประวัติศาสตร์ที่กำลังเลือนหายไป

พาไปชมความเป็นมาในความเป็น ไทย-ยวน ลับแล เรือนไม้ไทยวน ผ้าซิ่นตีนจก อาหารพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวลับแล ที่ขาดไม่ได้คือพาฝ่าไอหมอกขึ้นดอยไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวสวนผลไม้ สวนทุเรียนหลง-หลินลับแล ที่มีรสชาติแสนอร่อย การใช้ชีวิตแอบอิงกับธรรมชาติที่เป็นเสน่ห์ของชาวลับแล ที่รับรองว่าแฟนจ๋าจะต้องหลงรักลับแลแน่นอนครับ

dsc00617

เมื่อพูดถึงเมืองลับแล อุตรดิตถ์ แล้วแฟนจ๋านึกถึงอะไร? 

“ความลึกลับ… ตำนานเมืองแม่ม่าย… เมืองห้ามพูดโกหก… แล้วก็ทุเรียนหลงลับแล”

นวลเชื่อว่าทุกคนก็คงจะตอบคล้ายกันอย่างนี้...

แต่เชื่อไหมครับ...ถ้าถามคนลับแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านลับแลงจริงๆนี่ เป็นคนละเรื่องเลยนะ...ข้อเท็จจริงที่เด่นชัดว่าชาติพันธุ์ของชาวลับแลส่วนใหญ่เป็นชาวไท-ยวนที่อพยพมาจากล้านนา ลับแลงคือเมืองที่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง เป็นเมืองที่มีตัวตน ไม่ได้เกิดจากตำนานแต่อย่างใด...

มาๆนวลจะเล่าให้ฟังครับ...

ราวปี พ.ศ. 2507 เมื่อคราวบูรณะแท่นพระเจ้ายอดคำทิพย์ พระครูธรรมเนตรโสภน อดีตเจ้าอาวาสวัดท้องลับแล พบคัมภีร์ใบลานซุกอยู่ในโพรงใต้ฐานพระ ท่านเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญจึงเอามาแปลจากอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยใส่ลงสมุด ในเอกสารว่าด้วยตำนานการสร้างพระพุทธรูปพระเจ้ายอดคำทิพย์ ตำนานได้อ้างอิงที่มาของเมืองลับแลไว้ โดยเฉพาะเรื่องที่เจ้ายี่กุมกาม เจ้าเมืองเชียงราย (ในเอกสารเขียน เจ้ายี่ความแก้ววงเมือง) ได้ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าไสลือไทแห่งกรุงสุโขทัย เพื่อยกทัพไปตีเชียงใหม่ของพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นพระอนุชา แต่ไม่สำเร็จ เจ้ายี่กุมกามจึงได้เทครัวหรือกวาดต้อนชาวเมืองเชียงราย ติดตามกองทัพสุโขทัยลงมาตั้งรกรากอยู่ที่เวียงสระหนองหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองลับแลในปัจจุบัน

อีกทั้งยังอ้างอิงถึงอีกเหตุการณ์ คือพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย ยกทัพจากเชียงใหม่เพื่อขับไล่กองทัพอยุธยาของพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ โดยกองทัพของพระเจ้าติโลกราชก็ได้มาพักพลที่เมืองแห่งนี้ และพบว่าผู้คนถิ่นนี้เป็นชาวไท-ยวนอยู่แล้ว หลังจากพระองค์สามารถขับไล่กองทัพอยุธยาออกไปแล้ว ก็ได้สถาปนาเวียงสระหนองหลวงเป็นเมืองลับแลงไชย และราชาภิเษกขึ้นเป็น "พระเจ้าติโลกมหาราชาฟ้าฮ่าม" ปฐมกษัตริย์แห่งลับแลงไชย คำว่า ‘ฟ้าฮ่าม’ มาจากเมื่อครั้งที่พระเจ้าติโลกราชเดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้ แล้วพบท้องฟ้ามีแสงสีแดงอร่าม (ฮ่าม) ในยามเย็น (แลง) ใกล้จะลับขอบฟ้าไป และนี่คือที่มาของคำว่า "ลับแลง"

dsc00298

ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน...ที่ตำนานท้องถิ่นถูกผูกเข้าไว้กับประวัติศาสตร์ของผู้คน เรารู้ตัวกันอีกที อนุสาวรีย์แม่ม่ายและป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนว่า ‘เขตห้ามพูดโกหก’ ก็ถูกสร้างอยู่ข้างซุ้มประตูทางเข้าอำเภอลับแลเรียบร้อยแล้ว...

dsc00239

นวลเองต้องขอชี้แจงก่อนว่า ทำไมต้องใช้คำว่า ‘ลับแลง’ ไม่ใช่ ‘ลับแล’ แม้คำว่าลับแลจะเป็นชื่อที่เป็นทางการของอำเภอนี้ก็ตาม...

คำว่า ‘ลับแล’ ซึ่งเป็นชื่ออันเป็นที่มาของตำนานหมู่บ้านลึกลับ(แล) ของพื้นที่นี้ น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ‘ลับแลง’ ซึ่งคำหลังเป็นคำพื้นเมือง ที่มีที่มาจากลักษณะทางภูมิประเทศของเมืองที่รายล้อมด้วยภูเขา เมื่อถึงเวลาที่พระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขา เมืองแห่งนี้จะถูกกลืนหายลับเข้าไปในเงามืดของยามแลงอย่างรวดเร็ว ลับแลงเป็นถิ่นกำเนิดของผืนป่าที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งปลูกทุเรียนและผลไม้ สร้างรายได้หลักของชาวชุมชนมาหลายต่อหลายรุ่น

dsc00232

วิถีชีวิตของชาวลับแล ทุกวันนี้ยังคงหลงเหลือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไท-ยวนอย่างชัดเจนทั้ง ภาษาพูด ผ้าซิ่นตีนจก การแต่งกาย วัดวาอาราม โบราณวัตถุ และโบราณสถาน

"กาด" หรือ "ตลาด" จะเป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางวัฒนธรรมที่จะยังคงหลงเหลือให้เราได้เข้ามาสัมผัสกับ นวลแวะที่ตลาดศรีนพมาศครับ

dsc00252

dsc00244

สิ่งแรกที่ยืนยันเลยคือการพูด "คำเมือง" หรือภาษาถิ่นภาคเหนือ ต้องบอกก่อนว่านวลเองก็เป็นคนเหนือ เป็นคนเชียงราย ซึ่งนวลสามารถใช้คำเมืองสื่อสารกับคนลับแลได้เลย เหมือนได้กลับบ้านอีกครั้ง ไม่ต้องพยายามพูดไทยให้มันปะแหล๊ดเลย 

อาหารคาวหวานพื้นถิ่น ของกิ๋นบ้านเฮามีมากมาย เลือกเอาเตอะนาย ยิ่งเห็นกองผักปั๋งละกึดเติงหาอุ้ย ตอนละอ่อนนวลชอบแกงผักปั๋งใส่จิ้นส้มของอุ้ยที่สุดเลย

ปัจจุบันชาวไทยวนในอำเภอลับแลส่วนใหญ่อยู่ในเขตตอนเหนือของอำเภอ และที่ตั้งตัวอำเภอ

ส่วนเขตทางใต้ของอำเภอลับแล ทางฝั่งทุ่งยั้งยังคงเป็นชุมชนภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณอยู่ 

ดังนั้นชาวลับแลจึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ทั้ง 2 วัฒนธรรม คือชุมชนภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณ และชุมชนภาษาถิ่นล้านนา มีภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย อาหารการกิน เป็นแบบล้านนา

dsc00408

ประวัติศาสตร์อันยาวนานและสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนไทยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นหรือเกิดมาจากวัด 

เรามาเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของเมืองลับแลง ที่วัดบรมธาตุทุ่งยั้งกันครับ 

วัดบรมธาตุทุ่งยั้งผูกพันธ์ยังไงกับลับแล...

หากสังเกตจะพบว่า วิหารในวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นศิลปะยุคอยุธยาที่ปนกับลักษณะวิหารแบบล้านนา ซึ่งปนกันได้สัดส่วนจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งกว่าจะเป็นวิหารหลวงแบบที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น ได้มีการบูรณะหลายต่อหลายครั้ง

วิหารหลวงเป็นวิหารขนาด 5 ห้อง หลังคามุมกระเบื้อง 3 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม้แกะสลักที่หน้าบันติดกระจก ลงรักปิดทอง มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชีศิลปะล้านนา ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อหลวงพ่อหลักเมืองว่าหลวงพ่อประธานเฒ่า เพดานวิหารหลวงเขียนสี ผนังของวิหารหลวงเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามแต่ปัจจุบันลบเลือนไป เป็นเรื่องพุทธประวัติตอนมารผจญ และเรื่องสังข์ทองครับ

dsc00411

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาลักษณะฐานขียงซ้อนกัน 3 ชั้นลดหลั่นกันไป ชั้นล่างก่อด้วยศิลาแลง ทั้ง 4 มุมมีเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆังอยู่ตรงกลาง เรือนธาตุของเจดีย์ทั้ง 4 ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ภายในซุ้มจรนำ 

dsc00598

มาต่อกันที่วิหารวัดดอนสักครับ สำหรับวิหารวัดดอนสักนั้นเป็นสถาปัตยกรรมเชียงแสนปนสุโขทัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

สิ่งที่น่าสนใจ คือ บานประตูวิหาร ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม

โดยบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท เป็นคู่บานประตูไม้จำหลักโบราณสมัยอยุธยาที่มีความสวยงามคู่หนึ่งเลยละครับ

dsc00641

เอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่อ้างอิงถึงชื่อเมืองลับแลกลับอยู่ใน ‘คู่มือตอบคำถามสำหรับฑูต’ ที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรียังประเทศฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยในเอกสารได้ระบุว่า เมืองลับแลเป็นเมืองรองเมืองหนึ่งในแคว้นพิชัย

แม้จะพบหลักฐานถึงการอ้างอิง ‘การมีอยู่’ ของผู้คนลับแล แต่ก็ยังไม่สามารถระบุ ‘ที่มา’ คนลับแลว่ามาจากไหนและมาได้อย่างไร...

กระทั่งล่าสุดเมื่อต้นปี 61 ได้มีการการขนย้ายคัมภีร์ใบลานและปั๊บสาที่ถูกทิ้งร้างอยู่ภายในโบสถ์กลางน้ำของวัดท้องลับแลแห่งนี้ออกมา และชักชวนศูนย์เอกสารเอกสารโบราณ มูลนิธิสืบสานล้านนา โดยพ่อครูมาลา คำจันทร์ ลงพื้นที่เพื่อสืบค้นคัมภีร์โบราณเหล่านี้ หนึ่งในเอกสารที่ค้นนั้นก็เผยข้อมูลที่ช่วย ‘จุดประกาย’ ที่มาของคนลับแลไปพร้อมกับมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองเล็กๆ เมืองนี้

dsc00636

“เราพบสมุดฝรั่ง (สมุดที่ใช้กันในปัจจุบัน) ที่มีการคัดลอกและแปล (จากตัวอักษรล้านนาเป็นตัวอักษรไทย) มาจากคัมภีร์โบราณอีกที สมุดนั้นบันทึกเนื้อหาของ ‘ตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์’ ระบุประวัติการสร้างพระพุทธรูปในวัดท้องลับแล ต้นฉบับเขียนโดยพระสุวรรณปัญญาญาณ เมื่อ พ.ศ. 2128 โดยในคำนำที่พระครูธรรมเนตรโสภณเขียนไว้ระบุว่าท่านพบต้นฉบับใบลานนี้เมื่อคราวบูรณะแท่นพระเจ้ายอดคำทิพย์ ราวปี พ.ศ. 2507 ใบลานซุกอยู่ในโพรงใต้ฐานพระ ท่านเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญจึงเอามาแปลจากอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยใส่ลงสมุด ซึ่งรูปแบบของการเขียนบันทึกของคนโบราณนั้น เขาจะเขียนบันทึกพื้นเพของยุคสมัยด้วย และหนังสือเล่มนี้ก็ได้ระบุถึงการสร้างเมืองลับแล ซึ่งเมื่อเทียบปีพุทธศักราชและจุลศักราชกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ก็สามารถยืนยันว่าความเชื่อถือได้” พ่อครูมาลา กล่าวให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Spark U LANNA

dsc_3195

นวลขอยกมาเล่าให้ฟังคร่าวๆดังนี้นะครับ

ราวปี พ.ศ. 2507 เมื่อคราวบูรณะแท่นพระเจ้ายอดคำทิพย์ พระครูธรรมเนตรโสภน อดีตเจ้าอาวาสวัดท้องลับแลแห่งนี้ พบคัมภีร์ใบลานซุกอยู่ในโพรงใต้ฐานพระ ท่านเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญจึงเอามาแปลจากอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยใส่ลงสมุด ในเอกสารว่าด้วยตำนานการสร้างพระพุทธรูปพระเจ้ายอดคำทิพย์ 

ตำนานได้อ้างอิงที่มาของเมืองลับแลไว้ โดยเฉพาะเรื่องที่เจ้ายี่กุมกาม เจ้าเมืองเชียงราย (ในเอกสารเขียน เจ้ายี่ความแก้ววงเมือง) ได้ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าไสลือไทแห่งกรุงสุโขทัย เพื่อยกทัพไปตีเชียงใหม่ของพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นพระอนุชา แต่ไม่สำเร็จ เจ้ายี่กุมกามจึงได้เทครัวหรือกวาดต้อนชาวเมืองเชียงราย ติดตามกองทัพสุโขทัยลงมาตั้งรกรากอยู่ที่เวียงสระหนองหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองลับแลในปัจจุบัน

อีกทั้งยังอ้างอิงถึงอีกเหตุการณ์ คือพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย ยกทัพจากเชียงใหม่เพื่อขับไล่กองทัพอยุธยาของพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ โดยกองทัพของพระเจ้าติโลกราชก็ได้มาพักพลที่เมืองแห่งนี้ และพบว่าผู้คนถิ่นนี้เป็นชาวไท-ยวนอยู่แล้ว หลังจากพระองค์สามารถขับไล่กองทัพอยุธยาออกไปแล้ว ก็ได้สถาปนาเวียงสระหนองหลวงเป็นเมืองลับแลงไชย และราชาภิเษกขึ้นเป็น "พระเจ้าติโลกมหาราชาฟ้าฮ่าม" ปฐมกษัตริย์แห่งลับแลงไชย คำว่า ‘ฟ้าฮ่าม’ มาจากเมื่อครั้งที่พระเจ้าติโลกราชเดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้ แล้วพบท้องฟ้ามีแสงสีแดงอร่าม (ฮ่าม) ในยามเย็น (แลง) ใกล้จะลับขอบฟ้าไป และนี่คือที่มาของคำว่า "ลับแลง"

dsc00662

เราไปกันต่อที่พิพิธภัณฑ์เรือนลับแลงโบราณ เลอ ลับแลง บ้านของดาบฟ้า ไชยลับแลง ผู้ที่ร่วมกับชุมชนจัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูอัตลักษณ์ไท-ยวนลับแลงขึ้น 

พิพิธภัณฑ์เรือนลับแลโบราณ ‘เลอลับแลง’ เป็นบ้านไม้โบราณ ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไท-ยวนลับแลง สมัยก่อน อนุรักษ์ไว้โดยพี่ดาบฟ้า ซึ่งก็คือเจ้าของคนปัจจุบัน ได้ทำการซื้อเรือนมาจากทายาทของพญาสิงห์แก้ว แล้วย้ายมาปลูกสร้างให้ได้ใกล้เคียงสภาพเดิมมากที่สุด เพื่อต้องการรือฟื้นอัตลักษณ์ไทยวนลับแลง

ประกอบด้วยเรือนสองหลัง คือ เรือนสิงห์แก้ว และเรือนเปง-จัน สำหรับเรือนสิงห์แก้ว เป็นเรือนไม้กาแลแบบลับแลงดั้งเดิม ที่นิยมกันในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา แบ่งพื้นที่ใช้สอยอออกเป็น ชานแดด เรือนนอน เรือนข้าว ครัวไฟ หอลม และชานน้ำ

เรือเปง-จัน เป็นเรือนสรไนแบบลับแลงโบราณ แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 5 ส่วน ชานแดด เรือนนอนหลัก เรือนนอนรอง หอลม และชานน้ำครับ

dsc00695

การทอผ้าซิ่นตีนจกของชาวลับแล มีมานานพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชาวเมืองลับแล การทอผ้าซิ่นตีนจกนั้นผู้หญิงชาวลับแลจะได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของการทอผ้าซิ่นตีนจกไว้ 

พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแลแห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าตีนจกไท-ยวนสู่คนรุ่นหลัง ซึ่งเกิดขึ้นจาก "ครูโจ" ลูกหลานชาวไทยวนเมืองลับแล 

dsc_3238
dsc_3292

ครูโจเล่าว่า เกิดในครอบครัวไท-ยวนแห่งเมืองเชียงแสน ที่ผู้หญิงทุกคนทอผ้าสืบต่อกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น แต่ด้วยตนเป็นผู้ชาย จึงถูกกันให้ออกห่าง แต่ด้วยความรักในความงดงามของลายผ้า เขาจึงอาสาช่วยแม่ย้อมไหมและเห็นแม่ทอผ้าบ่อยๆ เมื่อมีโอกาสและเงินเล็กน้อยครูโจก็มักเลือกซื้อผ้าเก่ามาเก็บไว้มากกว่าการใช้เงินจับจ่ายเหมือนวัยรุ่นทั่วๆไป

ในปี พ.ศ. 2545 ครูโจได้รวมกลุ่มทอผ้าบ้านคุ้มและบ้านนาทะเลขึ้น โดยตนเป็นผู้เลือกสีสันของเส้นไหมให้มีความหลากหลาย เน้นวัตถุดิบที่ดี ทั้งเส้นไหมและการย้อมสีเป็นธรรมชาติทั้งสิ้น ส่งต่อให้ช่างทอผู้มีฝีมือและจินตนาการได้แต่งแต้มความงดงามให้ผืนผ้าไหม โดยยังยึดถือลวดลายตีนจกและวิธีการทอตามแบบโบราณไว้อย่างไม่ตกหล่น ด้วยการใช้ขนเม่นในการจก รวมถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการต่อซิ่นด้วยเอวแดงขาว และ ‘หมายซิ่น’ หรือตำแหน่งของรอยต่อผ้าทอที่จะต้องไม่ต่อลายให้ชนกัน ด้วยคนสมัยโบราณมีความเชื่อว่าอาจมีการทำคุณไสยได้

การทอผ้าซิ่นตีนจกของสาวลับแลเป็นการสืบทอดภูมิปัญญา สอดแทรกคติความเชื่อ พิธีกรรม และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้วยจินตนาการของคนในอดีต ออกมาเป็นลายเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ลายนกคุ้ม ลายแปดขอ ลายหงส์ใหญ่ ลายนาค ลายเก็ดถะหวา (ดอกพุดซ้อน)

ใต้ถุนบ้านเป็นที่ตั้งของกี่ทอผ้า ซึ่งมีเอกลักษณ์ด้วยเป็นผืนผ้าชิ้นไม่กว้างนัก แสดงให้เห็นถึงความมานะพยายามของผู้จกเส้นไหมแต่ละเส้นแต่สีได้อย่างดงามโดยไม่มี ‘ตะกอ’ ตะกอ หรือเขาหูก คือเชือกที่ใช้ร้อยคล้องไหมยืน เพื่อแบ่งเส้นไหมเป็นหมวดหมู่ตามที่ต้องการ เมื่อยกตะกอขึ้น ก็จะดึงเส้นไหมยืนเปิดเป็นช่อง สามารถพุ่งกระสวยเข้าไปให้เส้นไหมพุ่งสานขัดกับเส้นไหมยืนได้ ทำให้การทอได้ลายตามที่ตั้งตะกอไว้ แต่ที่นี่กลับไม่ใช้ตะกอ ผู้ทอจึงต้องจำลายได้อย่างแม่นยำ ต้องใช้ฝีมือและความชำนาญอย่างสูงในการทอ สมกับที่ครูโจบอกว่าเขาไม่ได้ขายเพียงผ้าเท่านั้น แต่ขายจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ของความเป็นไท-ยวน และชาวลับแลอย่างแท้จริง

หากสนใจและต้องการเข้าชม ต้องโทร.นัดหมายล่วงหน้าที่ คุณจงจรูญ มะโนคำ (ครูโจ) โทร. 08 7198 7353 

dsc00741

อีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวนลับแล ที่นวลอยากให้มาชมคือ ม่อนลับแล ที่นี่มีทั้งผ้าทอพื้นเมือง ผ้าซื่นตีนจก จากฝืมือการทออย่างปราณีตงดงามของชาวลับแล ใครที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองหายาก หรือกำลังมองหาของฝากให้ญาติผู้ใหญ่ มีหลายสีสันให้เลือก รวมไปถึงเสื้อผ้าพื้นเมืองต่างๆ ผ้าพันคอ หรือย่ามสะพายก็มีนะครับ

dsc00740
dsc00751

“ม่อนลับแล” เป็นทั้งร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แม่ตา หรือคุณจิตรา ศิริกาญจนารักษ์ เจ้าของเล่าว่าเดิมที่นี่เป็นบ้านส่วนตัว แต่ด้วยความเป็นคนเมืองลับแลโดยสายเลือด จึงอยากปรับบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นสำหรับแขกผู้มาเยือน พร้อมๆ กับดื่มด่ำรสชาติอาหารพื้นเมืองด้วย

ม่อนลับแลแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันครับ

ส่วนแรกเรียกว่าเรือนทอผ้าลับแล จัดแสดงงานหัตถกรรมขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นตำนานผ้าทอลับแลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม้กวาดลับแลที่ทำจากดอกตองกง การสืบทอดการเขียนตัวอักษรล้านนาโดยผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน

ส่วนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เก็บรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ อันบ่งบอกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม โดยผลักดันชุมชนให้มาร่วมกันสร้างสรรค์ในวิถีของตัวเอง 

ในส่วนของพื้นที่ร้านอาหาร อย่างที่บอกว่า ที่นี่เน้นความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น เอกลักษณ์ของอาหารจึงไม่เหมือนที่ไหน

dsc_3519

นอกจากลับแลจะมีความน่าสนใจในเรื่องตามรอยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานของชาวไทยวนแล้ว ลับแลยังมีเอกลักษณ์ในด้านอาหารการกินที่ต่างไปจากที่อื่นๆเช่นกันครับ มาๆนวลจะพาไปกินของอร่อยเมืองลับแลกัน 

เฮือนข้าวพันผักหม่อนแก้ว

dsc00471
dsc00472

มาเมืองลับแลต้องลองอาหารท้องถิ่น หนึ่งในอาหารเด่นขึ้นชื่อ คือ ข้าวพันผัก ที่ลับแลมีร้านข้าวพันผักให้เห็นอยู่ทั่วทั้งเมืองอยู่ที่ว่าจะลองทานร้านไหน นวลลองทานที่ เฮือนข้าวพันผักหม่อนแก้ว ร้านข้าวพันผักร้านนี้อยู่ใกล้ๆกับร้านของทอดเจ๊นีย์ครับ เป็นข้าวพันผักเครื่องแน่นแบบต่างๆที่มีให้เลือกเพียบ ทั้ง ข้าวพันผักห่อไข่ บอกเลยรสชาติไม่ธรรมดา อาจทำให้หลงรักการทานข้าวพันผักไปเลยก็ได้นะครับ

เมนูเด่นคงไม่พ้นข้าวพันผักและหมี่พันผักแบบท้องถิ่นดั้งเดิม เช่น ข้าวพันผักธรรมดา ข้าวพันผักห่อไข่ ไข่ม้วน หมี่พัน

ถ้าไม่มาร้านเจ๊นีย์ของทอดลับแล ก็เหมือนมาไม่ถึงลับแลนะครับ 

dsc00507ร้านนี้เปิดขายมานานกว่า 3o ปีแล้ว มีสารพัดเมนูของทอด ที่คนรักสุขภาพเห็นแล้วอาจลำบากใจนิดนึง 555+ ทั้งกุ้งทอด ผักทอด เต้าหู้ทอด เปาะเปี๊ยะทอด ขนมปังหน้าหมูทอด แต่ๆๆ จะถือว่าผิดถ้าไม่ได้กินเมนูท็อปฮิตของร้าน คือ กระบองทอด หรือ หน่อไม้ทอดยัดไส้หมูสับ ราคาเพียงชิ้นละ 10 บาทเท่านั้นเอง เคล็ดลับความอร่อยนอกจากตัวหน่อไม้แล้ว ยังอยู่ที่น้ำจิ้มถั่ว สูตรพิเศษ มีรสเปรี้ยวนิดๆ หวานหน่อยๆ ลำขนาดเน่อ

ป้าหว่างหมี่พันลับแล


dsc00459

“หมี่พัน” เป็นอาหารพื้นเมืองดั้งเดิมของคนลับแล จะเอาเส้นหมี่ไปปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำตาล มะนาว พริกป่น อาจโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว แคปหมู หรือกากหมู แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปวางบนแผ่นข้าวแคบ และม้วนๆ เหมือนโรตีสายไหม การห่อแบบนี้ยังช่วยถนอมอาหารด้วยนะคะ เป็นภูมิปัญญาของคนลับแล

สำหรับคนที่ไม่รู้จักข้าวแคบ ข้าวแคบเป็นอาหารว่างอย่างหนึ่ง โดยการนำเอาแผ่นแป้งไปตากแดด และเอาไปทำให้สุกโดยปิ้งหรือทอด อาจโรยงาเพิ่มความหอมอร่อย

ม่อนลับแล 

dsc00747
dsc_3330

ร้านอาหารในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตกแต่งสไตล์ชาวล้านนาตามแบบฉบับของเมืองลับแล ท่ามกลางสวนร่มรื่น ภายในร้านตกแต่งเรียบหรู สะดวกสบาย มีมุมให้นั่งเล่นพักผ่อนหลายมุม ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในคุ้มของเจ้านางทางเหนือ ภายในร้านมีทั้ง zone ร้านกาแฟและร้านอาหาร รวมทั้งเป็นร้านจำหน่ายของฝากและสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง ผลไม้ตามฤดูกาล พื้นที่ของร้านแบ่งเป็น 3 โซน คือ บ้านของฝากลับแล ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้า ร้านกาแฟลาลีกาซึ่งอยู่ริมถนน และร้านอาหารซึ่งตั้งอยู่ด้านในสุด

เมนูแนะนำก็จะเป็นราชาเขียวหวานกุ้ง ที่นอกจากกุ้งที่ใส่จะตัวใหญ่แล้วยังใส่ทุเรียนลงไปด้วยเพิ่งเคยทานครั้งแรกคือ อร่อยมากตอนแรกนึกว่าจะเลี่ยน แต่ไม่เลย เนื้อทุเรียนที่ใส่กรอบกำลังดี เหมือนกำลังทานยอดมะพร้าวอ่อน น้ำพริกมะขาม และลาบเหนือ รสชาติโดยรวมของอาหารต้องเรียกว่าอร่อยทุกเมนู ปริมาณเยอะแถมราคาไม่แพงมาก เป็นอีกหนึ่งร้านที่ติดดาวให้สำหรับคนที่กำลังมองหาร้านอาหารอร่อย บรรยากาศดีต้องไม่พลาดเลยครับ

dsc00963

มาถึงลับแล...จะไม่พูดถึงอีกหนึ่งของดีเมืองลับแล อย่างทุเรียนหลงลับแล และทุเรียนหลินลับแลก็ไม่สิครับ แต่ถ้านวลจะพาไปเดินตลาดซื้อทุเรียนมากินเลยมันก็ธรรมดาไป พิเศษใส่ไข่แบบนวลก็ต้องพาบุกไปถึงสวนทุเรียนสิครับถึงจะเรียกว่ามาถึงลับแลแล้ว นวลประสานผ่านพี่นิดและพี่สิงห์เพื่อติดต่อทริปโปรแกรมเรียนรู้วิถีชาวสวนทุเรียนวันเดย์ทริป มาๆนวลจะเล่าให้ฟัง

dsc_3503

เราเริ่มต้นทริปกันแต่เช้าเลย หากสายๆจะขึ้นลำบากเพราะสวนทางกับรถขนทุเรียนนะ โดยได้มอไชด์คู่ใจของพี่สิงห์พานวลไปยังสวนทุเรียนที่อยู่บนเขาที่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 15กิโลครับ ทางค่อนข้างโหดพอสมควรครับ มีทริปกินทุเรียนชิวๆอยู่นะครับ เดี๋ยวนวลจะแปะรายละเอียดไว้ให้ท้ายริวิวนะครับ

วิถีชีวิตและอาชีพของชาวลับแลส่วนใหญ่ คือ การทำสวนผลไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพราะชาวลับแลทำสวนผลไม้ได้ทั้งในที่ราบและบนภูเขา ซึ่งทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อำเภอลับแลมีผลไม้ออกมาให้กินกันตลอดปี ทั้งลองกอง ลางสาด ทุเรียน และมังคุด ชาวลับแลปลูกทุเรียนกันบนภูเขาด้วยการใช้หนังสติ๊กยิงส่งเมล็ดทุเรียนพันธุ์ดีขึ้นไปตกบนภูเขา รอให้เมล็ดเจริญงอกเงย เติบโตตามธรรมชาติ เจ้าของสวนใส่ปุ๋ยบ้างตามวาระ

s__26640388

เล่าเรื่องทุเรียนลับแล

ทุเรียนที่ลับแล เป็นทุเรียนป่า มีความแข็งแรง อึด หากินเก่ง ผลผลิตดก แต่การซื้อขายราคาไม่ดี น่าจะนำทุเรียนยอดนิยมแห่งยุค อย่างชะนีและหมอนทองเข้าไปเปลี่ยนยอดให้ การดำเนินการเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะชาวบ้านไม่มีความเข้าใจ หลังเสียบยอดได้ ๔-๕ ปี ทุเรียนหมอนทองจากนนทบุรี ออกมาเป็นหมอนทองลับแล ถึงแม้รสชาติสู้นนทบุรีไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าทุเรียนพื้นเมืองหลายเท่าตัว

เมื่อปี ๒๕๒๐ มีการป่าวประกาศไปทั่วอำเภอลับแลว่า ใครมีทุเรียนดีให้นำมาประกวด ดูๆ ไปก็คล้ายกับประกวดนาวสาวไทย การประกวดครั้งนั้น มีชาวสวนส่งทุเรียนของตนเองเข้าประกวดหลายร้อยตัวอย่างทุเรียนชนะการประกวดครั้งนั้น คือทุเรียนของ นายลม นางหลง อุปละ มีการตั้งชื่อทุเรียนของนายลมและนางหลง ว่า “หลงลับแล”

ทุเรียนหลงลับแล จัดเป็นทุเรียนที่มีเชื้อทุเรียนป่า มีความแข็งแรง ข้อแตกต่างจากทุเรียนทั่วไป อยู่ตรงที่ เนื้อมากสีเหลืองสวย เมล็ดลีบต่อผลสูง ชื่อเดิมอีกชื่อหนึ่งของเขาคือ “อีเหลืองหัวห้วย” เนื้อละเอียด รสชาติหวาน น้ำหนักเฉลี่ย ๑.๕ กิโล กรัมต่อผล ผลทรงกลม

ส่วนทุเรียนหลินลับแล นายหลินได้ปลูกด้วยเมล็ดตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ผลมีน้ำหนัก ๑-๑.๘ กิโลกรัม ผลทรงกระบอก เนื้อละเอียดมาก สีเหลืองอ่อน เปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบมีมาก

dsc_3706

ลุงสิงห์เล่าให้ฟังว่า ทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแลถูกเรียกว่าเป็น “ทุเรียนเทวดาเลี้ยง” เพราะพื้นที่ของอำเภอลับแลส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชาวสวนจึงทำสวนผลไม้ทั้งในที่ราบและบนภูเขา ต้นที่ขึ้นบนภูเขานั้นยากทั้งการเดินทางและการเข้าไปดูแล จึงต้องปล่อยให้เติบโตไปตามธรรมชาติ อาศัยน้ำฝนและสภาพอากาศที่เป็นใจบ้างไม่เป็นใจบ้างช่วยบำรุง มีไฟป่าเกิดจนทำให้ต้นทุเรียนเสียหายบ้าง มีไปใส่ปุ๋ยบ้างตามวาระ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะปล่อยให้เติบโตและออกผลเอง จึงเป็นที่มาของชื่อทุเรียนเทวดาเลี้ยง

dsc_3749

ทุเรียนลับแล...แยกยังไง

ทุเรียนหลงลับแล และทุเรียนหลินลับแล เป็นทุเรียนกลิ่นอ่อน ลูกเล็ก หนักไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม

"หลงลับแล" ลูกกลม เนื้อสีเหลืองทอง เนื้อเนียน รสชาติหวาน เม็ดเล็ก 

"หลินลับแล" จะเป็นลูกทรงประบอกแบบมะเฟือง เนื้อเหนียว รสชาติหวานมัน เม็ดเล็กรีบ นะจ๊ะ

s__26640445

สำหรับแฟนจ๋าที่สนใจมาทำกิจกรรมแบบนวลสามารถติดต่อ พี่นิด ผู้ประสานงานทริปได้เลยนะครับ 
พี่นิด โทร 087-521-2432

s__26640430

มันอาจเป็นมื้อเที่ยงที่แสนธรรมดาที่ลุงสิงห์ห่อใส่ย่ามกะเปอะให้นวลไปกินที่สวนด้วย แต่คงอบอวลไปด้วยความสุข ความรู้ และแนวคิดต่างๆ

เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันมากมาย การสนทนาระหว่าง "เจ้าบ้าน" และ "ผู้มาเยือน" ระหว่างมื้อเที่ยงของเรา ทำให้นวลยิ่งตระหนักถึงการเที่ยวชุมชนที่แท้จริงคือ "เราต้องเคารพ และให้เกียรติในตัวบริบทของชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นๆ การเอาตัวเองลงไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จะทำให้เราได้เรียนรู้วิถีอย่างแท้จริง เราต้องไม่ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา แต่การท่องเที่ยวเป็นเพียงหนึ่งในบทบาทที่เขาได้ถ่ายทอดวิถีให้กับเรา"

dsc00972
dsc_3700

“ตลาดหัวดง” ต.แม่พูล เป็นสถานที่ที่คึกคักที่สุดในหน้าทุเรียนเช่นนี้ ตลาดหัวดงอยู่ใกล้กับเทศบาลตำบลหัวดง อำเภอลับแล เป็นแหล่งจำหน่ายทุเรียนหลง-หลินลับแลที่ใหญ่ที่สุดในลับแล มาที่นี่รับรองไม่มีผิดหวัง มีร้านขายทุเรียนให้เลือกหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นในตลาดที่มีบรรยากาศเหมือนตลาดนัดเปิดโล่ง หรือบริเวณด้านหน้าตลาดริมถนนที่เปิดร้านขายทุเรียนเป็นห้องๆ เรียงกันไป 

ราคาของทุเรียนที่นี่ก็จะเท่าๆ กัน ถ้าเป็นหลง-หลินลับแลเกรดเอลูกสวยๆ คัดมาอย่างดีราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-450 บาท เกรดรองลงมาก็ราวๆ 250-350 บาท นอกจากนั้นก็ยังมีทุเรียนพันธุ์อื่นที่ปลูกในลับแล เช่น หมอนทองลับแล ชะนีลับแล ราคาจะอยู่ที่ราวๆ กิโลกรัมละ 120-140 บาท

dsc00777

ก่อนกลับนวลแวะไปที่น้ำตกแม่พูล เป็นน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำ โดยการเทปูนให้น้ำไหลลดหลั่นจากบนเขาสูงลงมา ดูคล้ายน้ำตกธรรมชาติ สูงหลายชั้น สภาพโดยรอบนั้นมีความร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ครับ

dsc00928

สำหรับที่พักในลับแลครั้งนี้ของนวล นวลพักที่ลับแลเกสเฮ้าส์ เป็นที่พักที่น่ารักมาก เป็นบ้านไม้โบราณแบบออริจินัลเลยเป็นบ้านของพ่อค้าเก่า คุณเบนเจ้าของบ้านพักได้เช่าและใช้เวลาปรับปรุงไปเรื่อยๆ ใช้เวลาถึง3ปีกว่าจะทำเป็นเกสเฮ้าส์ ราคาที่พักก็น่ารักที่สุดในโลก ถูกจนตกใจ ราคาต่อ 2 คน 1,000บาทรวมอาหารเช้าแบบท้องถิ่น มีสบู่ ยาสีฟันให้ มีจักรยานให้ขี่เที่ยวฟรีๆด้วยนะครับ 

dsc_3202
dsc_3734

นวลเป็นแขกคืนที่ 135 ของพี่เบน เชื่อไหมครับว่าความอบอุ่น และการดูแลที่ดีของพี่เบนทำให้นวลประทัปใจมาก พอดีวันที่นวลเข้าพักน้ำประปาดันไม่ไหล พี่เบนต้องแบกน้ำมาให้เราอาบ แถมยังมีปาท่องโก๋น้ำเต้าหู้ และอาหารเช้าให้อีก ถ้ามีโอกาสไปลับแลอีกนวลจะไปพี่เบนอีกนะครับ

ติดต่อพี่เบนได้เลยนะครับรับรองประทัปใจแบบนวลแน่นวล

พี่เบน โทร 084-502-2361

พิกัด https://goo.gl/maps/Hfs2zF5bTHLopWMu7

ลับแลอาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางในใจ แต่ขอบอกว่าถ้าได้ลองไปสักครั้งแล้วอาจจะหลงรักในเสน่ห์ความเรียบง่าย น่ารัก และความเป็นกันเองของผู้คนที่นี่ก็ได้ครับ แล้วไปเที่ยวลับแลกันนะครับ

 

อัลบั้มภาพ 77 ภาพ

อัลบั้มภาพ 77 ภาพ ของ เล่าเรื่องเมือง...ลับแลง หลง ลับ แล เลือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook