ตำนานลูกหาบแห่งเอเวอเรสต์ : ถ้าไม่อยากตายจงจ่ายเงินจ้างชาว “เชอร์ปา”?

ตำนานลูกหาบแห่งเอเวอเรสต์ : ถ้าไม่อยากตายจงจ่ายเงินจ้างชาว “เชอร์ปา”?

ตำนานลูกหาบแห่งเอเวอเรสต์ : ถ้าไม่อยากตายจงจ่ายเงินจ้างชาว “เชอร์ปา”?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อหิมะบนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ละลายลงจากวิกฤติโลกร้อน มันแสดงให้มนุษย์ได้รับรู้อะไรหลายอย่าง … อย่างแรกคือโลกของเรากำลังจะเปลี่ยนไปจากภาวะนี้ และอย่างที่สองคือธรรมชาติคือสิ่งที่มนุษย์ต้องคิดให้ดีหากอยากจะท้าทายมัน

21 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่าทันทีที่แสงเเดนส่องลงยอดเอเวอร์เรสต์ อุณภูมิสูงขึ้นโดยเฉียบพลัน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่น้ำแข็งก้อนหนากำลังเริ่มละลายลงเรื่อยๆ จนเห็นเห็นสิ่งอื่นที่อยู่ใต้พื้นสีขาวนี้มาหลายปีและนั่นคือ "ศพของมนุษย์" กว่า 300 คนที่พยายามท้าทายมัจจุราชด้วยการเดินเท้าขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของโลก

ยอดเอเวอเรสต์คือที่ที่มนุษ์หลายคนดั้นด้นจะไป และการจะขึ้นไปได้นั้นนอกจากร่างกายที่ฟิตพร้อมแล้ว คุณยังต้องใช้เงินอีกราว 800,000 บาท แม้จะยากลำบากแต่พวกเขาก็คิดว่าขอแค่ได้ไปอยู่ในจุดนั้นสักครั้ง แม้แต่ชีวิตก็พร้อมจะแลก

ทว่าชีวิตของคุณจะปลอดภัยขึ้นหากคุณยอมจ่ายเงินสักก้อนให้กับชนเผ่าท้องถิ่นที่ชื่อว่า “เชอร์ปา” พวกเขารู้ทุกซอกทุกมุมและจะทำให้คุณเดินทางขึ้นไปและกลับมาแบบยังมีลมหายใจ

ชาวเชอร์ปาคือใคร? อะไรทำให้พวกเขาสามารถขึ้น-ลง เอเวอเรสต์ ได้ถึง 21 ครั้งทั้งๆ ที่คนธรรมดาแค่ครั้งเดียวก็เต็มกลืน?  ติดตามพรสวรรค์ของผู้หลบซ่อนอยู่หลังม่านประวัติศาสตร์ได้ที่นี่

ผู้หลบซ่อนอยู่หลังม่านประวัติศาสตร์

แรกเริ่มเดิมที ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ เป็นเพียงยอดเขาสูงชันที่ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ จนกระทั่ง เอ็ดมันด์ ฮิลลารี คนเลี้ยงผึ้งและนักผจญภัยชาวนิวซีแลนด์ที่ชื่นชอบการปีนเขาและพิชิตเขาที่มีชื่อว่าเรเปฮู ตั้งแต่อายุ 16 ปี  และด้วยธรรมชาติของผู้พิชิต เขาได้ยินเรื่องราวของเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลกที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใดก้าวไปสัมผัสมาก่อน จึงทำให้เขาเริ่มฝึกฝนและตั้งเป้าหมายที่จะพิชิตมันให้ได้

mt._everest_from_gokyo_ri_nov

ก่อนหน้านี้ไม่ใช่ไม่มีใครรู้จักยอดเขาแห่งนี้  มีคณะนักปีนเขาทั่วโลก 7 คณะพยายามจะไปให้ถึงยอดเขาไร้ชื่อเรียกแห่งนี้มาเเล้วถึง 7 คณะ แต่ก็ล้มเหลวกลางทาง เพราะแต่ละคนหมดแรงและแพ้ให้กับวิสัยทัศน์อันเลวร้าย เอ็ดมันด์ ใช้เวลากว่า 2 ปี เฝ้าสังเกตุการณ์จากความล้มเหลวของคนกลุ่มเเล้วกลุ่มเล่า ก่อนที่เขาจะคิดว่ามีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมันด้วยตนเองเเล้ว

ความเชื่อของคนตะวันตกในเวลานั้นต่างกับชาวท้องถิ่นหรือชาวตะวันออกอย่างสิ้นเชิง กลุ่มฝรั่งหัวทองคิดเสมอว่าหากไปถึงจุดนั้นได้ เขาจะเป็นผู้พิสูจน์ขีดจำกัดของมนุษย์ว่าแท้จริงเเล้วมีศักยภาพขนาดไหน ขณะที่กลุ่มเจ้าถิ่นซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับเทือกเขาแห่งนี้มาตั้งแต่โบราณการณ์คิดว่ามันคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า และมันชัดเจนเหลือเกินว่า เอ็ดมันด์ ต้องการไปถึงยอดเขาด้วยเหตุผลข้อใด

การก้าวข้ามขีดจำกัดของ เอ็ดมันด์ บรรลุจุดประสงค์ ในเวลา 11.30 น. ของเวลาเช้าวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1953  นี่คือความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ชาวตะวันตกทำได้ ชื่อเสียงและความสุดยอดของ เอ็ดมันด์ ถูกกล่าวถึงไปทั่วโลกด้วยความภาคภูมิใจของชาวตะวันตก พวกเขายกย่องว่าเขาคือมนุษย์คนแรกที่ทำสำเร็จ  ข่าวเดินทางขจรไกลไปถึงลอนดอน จนถึงขั้นที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 จึงทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินให้กับ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี กลายเป็น เซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี เลยทีเดียว

edmund-hillary-tenzing-norgay

อย่างไรก็ตามความสำเร็จและความยิ่งใหญ่อย่างน้อย 50% ของภารกิจนี้มาจากบุรุษผู้แทบไม่เคยถูกกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์  น้อยคนนักจะรู้ว่า เซอร์ เอ็ดมันด์ ไม่ได้เป็นผู้พิชิตแต่เพียงผู้เดียว ผู้พิชิตยอดเขาครั้งประวัติศาสตร์รอบนี้นั้นมี 2 คน และ 1 ในนั้นคือชาย เนปาล ที่ชื่อว่า  เทนซิง นอร์เก้ คอยเดินนำหน้าและชี้ทางบอกเหตุเขาในทุกๆก้าวของภารกิจ และ เทนซิง นอร์เก้ คนนี้คือชนเผ่าท้องถิ่นที่เรียกว่าชาว "เชอร์ปา" กลุ่มคนที่อยู่กินกับเทือกเขาแห่งนี้มาเป็นพันๆ ปี

เชอร์ปาคือใคร?

ชาวเชอร์ปา คือกลุ่มคนท้องถิ่นที่ทำมาหากินกับยอดเขาของพระเจ้ามาตั้งแต่โบราณกาลโดยอพยพจากทิเบตมายังเนปาล พวกเขาเป็นหนึ่งในหลักกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ภูเขาส่วนใหญ่ของประเทศเนปาล และที่แน่ๆ คือ ก่อนหน้านี้การปีนเขาเอเวอร์เรสต์นั้นเป็นแค่งานอดิเรกของพวกเขาเท่านั้นเอง

nepal-trust-2

งานประจำของชาวเชอร์ปาแต่เก่าก่อนคือการเลี้ยงจามรี (วัวท้องถิ่น) เพราะจามรีเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าต่อผู้คนที่อาศัย จามรีช่วยขนของบรรทุกของในระยะทางไกลๆ และเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกจริตกับวิถีชีวิตของชาว เชอร์ปา เป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นฐานตามบริเวณเขาหิมาลัยอยู่บ่อยๆ  อีกทั้งน้ำนม, โปรตีน, ขน, กีบ, มูล, กระดูก, ผิว และหาง ของจามรี ล้วนแต่ผูกพันธ์กับชาวเชอร์ปามายาวนาน

การเลี้ยงสัตว์ยังคงดำเนินมาถึงทุกวันนี้ ทว่าระหว่างทางเกิดมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ทีมนักสำรวจชาวอังกฤษเริ่มจ้างชาวเชอร์ปาให้เป็นผู้นำทางขึ้นไปสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นเวลาหลายปีแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งสุดท้าย เทนซิง นอร์เก้ พิชิตยอดเขาพร้อมกับ เซอร์ เอ็ดมันด์ นั่นแหละ เหล่านักปีนเขาชื่นชมและยกย่องว่าชาว เชอร์ปา มีทักษะ,กำลัง และประสบการณ์ในการปีนป่ายสูงกว่าใครและเรียกพวกเขาว่าราชาแห่งหิมาลายัน  

เทนซิง นอร์เก้ เป็นเหมือนร็อคสตาร์ของชาว เชอร์ปา และการที่วีรบุรุษของพวกเขาพิชิตยอดเขาได้ ชาวเชอร์ปา จึงรู้สึกว่ากิจวัตรที่พวกเขาทำในทุกๆ วัน ส่งผ่านกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น ก็น่าจะทำให้พวกเขาสามารถเป็น "ลูกหาบ" ให้กับเหล่าผู้อยากลองของกับเทือกเขาแห่งพระเจ้าสำหรับพวกเขาได้เหมือนกัน  

sherpa

เมื่ออุปสงค์ตรงกับอุปทาน เหล่านักปีนเขาจึงหันมาใช้บริการชาว เชอร์ปา ในฐานะไกด์นำทางและลูกหาบมากขึ้นเรื่อยๆ  กระแสเงินสดจากต่างเเดนหลั่งไหลมายังหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยเหล่าผู้เชี่ยวชาญตามสายเลือดและธรรมชาติ และเมื่อมีเงิน พวกเขาก็ยิ่งนำเอาความเชื่อในการพิชิตยอดเขาสูงของชาวตะวันตกมาประยุกต์ใส่กับความเชื่อเดิมของพวกเขา นั่นคือพวกเขาจะต้องก้าวข้ามขีดจำกัดยิ่งกว่านายจ้างเพราะต้องแบกของสารพัดสารเพ อีกทั้งการไปถึงยอดยังเป็นเหมือนการเข้าใกล้พระเจ้าของพวกเขาด้วย นี่คือการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวอย่างแท้จริง

การฝึกฝนร่างกายเเบบสมัยใหม่ทำให้ชาวเซอร์ปาสามารถทำตัวเองขนของหนักยิ่งกว่าเดิมได้ นั่นหมายถึงการได้เงินที่เยอะขึ้น แต่ถึงแม้จะได้เงินเยอะอย่างไรพวกเขาไม่อาจหลงลืมรากเหง้าและความเชื่อของบรรพบุรุษได้นั่นคือความเชื่อที่ว่า  "พระเจ้าต้องได้รับการเคารพ"

151110132902-sherpas-xtreme-e

จอน คราเกอร์ ชาวตะวันตกผู้เคยไปถึงยอดเขาเล่าถึงการเดิมทางร่วมกับชาว เชอร์ปา ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เชื่อในเรื่องของลางสังหรณ์ พวกเขาจะวิตกกังวลมากหากมีใครไม่เคารพพระเจ้าของพวกเขา ดังนั้นก่อนขึ้นเขาทุกคนจะต้องเข้าพิธีสวดมนต์และถวายเครื่องเซ่นไหว้แก่เทพเจ้าก่อน นอกจากนี้หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะเดินทางชาว เชอร์ปา จะมั่นใจว่ามันมีเหตุผลมาจากของเซ่นไหว้ไม่เพียงพอ

ศาสตร์จากตะวันตกและศิลป์จากตะวันออกทำให้ชาว เชอร์ปา กลายเป็นทีมงานคุณภาพสำหรับนักปีนเขา และพวกเขาคือชื่อแรกที่ใครก็ตามที่คิดจะขึ้นไปข้างบนนั้นต้องยอมจ่ายให้เพื่อเพิ่มโอกาสการพิชิตเป้าหมายที่วางไว้

หรือคุณคือยอดมนุษย์?

หน้าที่ของไกด์และลูกหาบชาวเชอร์ปานั้นมีทั้งแบกหามสัมภาระ ถากถางและบุกเบิกเตรียมเส้นทางให้นักปีนเขาชาวต่างชาติที่เป็นต่างชาติ  ดังนั้นงานของพวกเขาจึงเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก ความเสี่ยงนี้จะลดเปอร์เซ็นต์การผิดพลาดได้ย่อมต้องมาพร้อมกับความพิเศษทางกายภาพที่ไม่มีมนุษย์กลุ่มใดในโลกทำได้ และการศึกษาของชาวอเมริกันในปี 1976 ค้นพบว่าพวกเขาไม่ต่างกับมนุษย์ดัดแปลงหรือยอดมนุษย์เลยแม้แต่น้อย

151030162629-sherpas-b2-exlar
โดยทั่วไปแล้วเมื่อมนุษย์เราขึ้นสู่พื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ ร่างกายจะไม่สามารถปรับตัวได้เนื่องจากมีออกซิเจนน้อยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้นคือจะมีอาการ ปวดหัว, เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ และที่สุดเเล้วร่างกายจะฟอกอากาศไม่ทันจนเสียชีวิตในที่สุด นี่คือสิ่งที่เกิดกับคนปกติ เเต่ ชาวเชอร์ปา ไม่ใช่แบบนั้น

งานวิจัยพบว่าร่างกายนั้นยิ่งขึ้นสู่ที่สูงและมีอากาศน้อยพวกเขาจะสามารถดัดแปลงร่างกายตัวเองได้ด้วยการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนน้อยลง และกลับกันกลายเป็นว่าพวกเขาผลิตไนตริกออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จนทำให้หัวใจและปอดสามารถทำงานได้เต็มที่แม้มีอ็อกซิเจนต่ำก็ตาม

ความสามารถพิเศษนี้สามารถสร้างกันได้ เพียงแต่มันต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน มีมนุษย์เพียง 6% ทั้งโลกที่สามารถปีนขึ้นสู่ยอดเขาโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนเสริม และชาวเชอร์ปาคือหนึ่งในนั้น

เดนนี่ เลเว็ตต์ ผู้ก่อตั้งสมาคม Xtreme Everest เล่าถึงความรู้สึกในฐานะคนธรรมดาที่พยายามจะขึ้นสู่ยอดเขาโดยไม่ใช้ออกซิเจนว่ามันเป็นหายนะอย่างแท้จริง ถ้าร่างกายไม่แน่พออย่าได้ริลองดีเป็นอันขาด ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงจากน้ำทะเล 8800 เมตรโดยประมาณ แต่สำหรับ เลเว็ตต์ แค่ 3,500 เมตร เขาก็เเทบจะร่วงเเล้ว

"เมื่อไปถึงจุดนั้น คุณจะรู้สึกกระอักกระอ่วนหมือนกับว่าเมาค้าง แต่ชาวเชอร์ปานั้นต่างออกไป พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากระยะนั้นเลย ... หากเปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพ ชาวเชอร์ปา คือรถรุ่นที่ประหยัดน้ำมัน พวกเขาทำงานได้หนักขึ้น ในภาวะที่ออกซิเจนน้อยลงอะไรแบบนั้นเลย" เลเว็ตต์ ว่าไว้เช่นนั้นในงาน World Extreme Medicine Expo ที่ลอนดอนเมื่อปี 2016

sherpas-01_custom-e78d8a43766
นอกจากระดับการประหยัดพลังงานเเล้ว เชอร์ปา ยังมีพลังแฝงอีกอย่างหนึ่งซ่อนอยู่นั่นคือความเร็วในการสูบฉีดเลือด การไหลเวียนเลือดของชาวเชอร์ปาเร็วกว่าอาสาสมัครที่เข้ารับการทดสอบ นั่นจึงทำให้พวกเขาสามารถส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่ายกายได้ดีขึ้น โดยการทดลองนี้เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของมหาวิทยาลัย โคเวนทรี่ และ วอร์วิคเชียร์    

ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าความเชี่ยวชาญนั้นไม่อาจฝึกฝนกันง่ายๆ ชาวเชอร์ปาส่งต่อพันธุกรรมเพื่อเป็นราชาแห่งการไต่ขึ้นที่สูงกันมาอย่างยาวนาน จนทำให้ร่างกายของพวกเขาทนทานและเเข็งแกร่งสำหรับภารกิจที่แสนยากเย็นนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ คามิ ริตา ชายชาวเชอร์ปาวัย 48 ปี เป็นเจ้าของสถิติพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์มากที่สุดในโลก … เขาทำไปแล้วถึง 21 ครั้งและเขาหวังว่าจะไปถึงครั้งที่ 25 เลยทีเดียว

สุดยอดใช่ไหมล่ะ? ... แต่ยังก่อน โลกนี้มี 2 ด้านเสมอ เพียงแต่ว่าโลกมักจะชอบเล่าถึงแต่คนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น ซึ่งเรื่องราวของชาว เชอร์ปา ก็เช่นกัน

อะไรคือโลกแห่งความจริง?

สิ่งที่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์มาและคำยกย่องตามหน้าสื่อต่างๆ ต่อชาว เชอร์ปา ทำให้พวกเขาถูกเรียกไปในทิศทางของคนเหนือคน มันฟังดูเหมือนว่าการปีนสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นเป็นเหมือนการเดินเล่นในสวนหลังบ้าน ทว่าความจริงแล้ว พวกเขาก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ เหมือนกับเราๆ นี่แหละที่เจ็บได้ ตายเป็น และมีความกลัวในเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดไม่ต่างกัน

sherpas-group
ไม่ค่อยมีใครพูดถึงชาว เชอร์ปา ที่ล้มตายระหว่างทางหรือถูกทิ้งให้ตายบนภูเขาแห่งนี้ในขณะที่พวกเขากำลังทำงานหนักให้เหล่าลูกค้ามากนัก ทว่า 1 ใน 3 ของชาวเชอร์ปาที่ทำหน้าที่เป็นลูกหาบนั้นเจอจุดจบคือ "เสียชีวิต"

มีเรื่องราวสยดสยองในอดีตมากมายเกิดขึ้นกับลูกหาบผู้ชำนาญทาง ในยุคแรกๆ ของการพิชิตราวปี 1939 หนังสือ"Tigers of the Snow" ของ โจนาธาน นีล เล่าว่าชาวเชอร์ปา ถูกกลุ่มนักปีนเขานาซีทิ้งให้ตายระหว่างทางหลังจากเกิดพายุ ลูกค้าเหล่านี้มองชาว เชอร์ปา เป็นเพียงสัมภาระที่ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ พวกเขาหนีขณะที่ลูกหาบแบกของมากมายพะรุงพะรังที่สุดเเล้วก็ไม่รอด

ชาวเชอร์ปา นั้นไม่อาจการันตีชีวิตลูกค้าได้ แต่พวกเขาก็พร้อมจะเสี่ยงตัวเองเพื่อให้เหล่าผู้ว่าจ้างมีความปลอดภัยมากที่สุด พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบและสุจริตต่องานที่ทำและเงินที่ได้มา บางครั้งแม้ลูกค้าจะป่วยหนักกระทันหัน ลูกหาบชาวเชอร์ปา ก็พร้อมจะเสี่ยงชีวิตแบกลงมาด้านล่าง และแน่นอนบางครั้งโชคไม่ดีก็เป็นพวกเขาเองที่ต้องตายไปพร้อมๆ กับภารกิจที่ไม่ลุล่วง

sherpa-describe-why-they-retu
นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมตำแหน่งลูกหาบและผู้นำทางของ ชาวเชอร์ปา จึงมีรายได้สูงถึง 7,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 200,000 ถึง 300,000 บาท) ต่อครั้งขึ้นอยู่กับฝีมือและความเชี่ยวชาญของผู้นำทางแต่ละคน

หากคุณไม่อยากจ้างก็ย่อมได้ เพราะมีเคยมีตำนานนักปีนเขาคนหนึ่งชื่อว่า ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ ที่เป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่ ยอดเขาเอเวอเรสต์ เพียงลำพัง โดยไม่ใช้ ถังออกซิเจนสำรองและไม่มีชาวเชอร์ปาเป็นลูกหาบ ทว่านั่นก็แค่คนที่อยู่ในจำนวนระดับ 0.1% เท่านั้นที่ทำได้ ถ้าคุณไม่มั่นใจพอๆ กับ เมสเนอร์  ชาวเชอร์ปาคือการลงทุนที่คุ้มค่าเป็นอย่างมาก

messner
ทุกอย่างล้วนมีราคา ... ชาวเชอร์ปา รับเงินมาและพร้อมลุยแบบแลกมาด้วยเกียรติและชีวิต ไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะถูกเรียกว่า "คิง"

แม้จะต้องทำงานหนักแบกหามสารพัด แต่พวกเขาก็คือข้อพิสูจน์ที่ว่า "ไม่มีงานไหนต่ำหากกระทำด้วยใจสูง" 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ตำนานลูกหาบแห่งเอเวอเรสต์ : ถ้าไม่อยากตายจงจ่ายเงินจ้างชาว “เชอร์ปา”?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook