"บ้านผาหมอน" วิถีข้าว วิถีชาวนา วิถีปกาเกอะญอ

"บ้านผาหมอน" วิถีข้าว วิถีชาวนา วิถีปกาเกอะญอ

"บ้านผาหมอน" วิถีข้าว วิถีชาวนา วิถีปกาเกอะญอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

" ข้าวคือชีวิตของคนปกาเกอะญอ เราให้ความสำคัญกับข้าวมากกว่าเงินทอง "

นี่คงเป็นคำพูดสั้นๆ แต่แฝงด้วยล้านความหมายที่ออกมาจากปากของชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอน หมู่บ้านเล็กๆท่ามกลางหุบเขาน้อยใหญ่ที่เรียงรายของดอยอินทนนท์ 

นาขั้นบันไดที่มีข้าวสีทองออกรวงงอกงามในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นผลผลิตแห่งน้ำพักน้ำแรงของคนที่นี่ ที่เขาเล่ากันว่าชาวปกาเกอะญอให้ความสำคัญกับการปลูกข้าว เรียกได้ว่า "วิถีข้าว และ การทำนา " ของชาวปกาเกอะญอนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาเลยก็ว่าได้

วันนี้นวลจะพาไปเรียนรู้การทำนาในแบบของชาวปกาเกอะญอกันครับ จะพาไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านผาหมอน ไปร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ไปทานข้าวดอย และอาหารพื้นเมืองของชาวปกาเกอะญอกันครับ
ตามนวลมาเลย

002

นาขั้นบันไดที่บ้านผาหมอน ต้นข้าวสีเหลืองทองที่กำลังรอการเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาในอีกไม่ช้า

“ดอกบัวตองบาน” อยู่ริมคันนาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่รู้กันว่า “ได้เวลาเกี่ยวข้าวเเล้ว”

004

หมู่บ้านผาหมอน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของดอยอินทนนท์ โดยจะอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) ประมาณ 7-10 กิโลเมตร เส้นทางจากถนนหลักเข้ามายังหมู่บ้านค่อนข้างชันและมีโค้งสลับซับซ้อน แนะนำให้ใช้รถกระบะจะดีที่สุด

เหตุผลที่เรียก "บ้านผาหมอน" ก็เพราะ ใกล้ ๆ ชุมชนมีภูเขาลูกย่อมๆ ลักษณะคล้ายหมอน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านผาหมอน” และด้วยความพิเศษของพื้นที่ที่อยู่บนต้นน้ำ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีต้นไม้น้อยใหญ่หลายขนาดที่สมบูรณ์ และก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน ชาวบ้านที่นี่ทำอาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลัก 

005

หมู่บ้านผาหมอน เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ อยู่ในหุบเขาซึ่งรายล้อมไปด้วยภูเขาสูงใหญ่ ไฮไลท์ของที่นี่คือนาข้าวขั้นบันไดที่สามารถมองเห็นได้ไกลสุดลูกหูลูกตา

006

การได้ลองใช้ชีวิตที่แสนธรรมดาและเรียบง่ายเช่นนี้ ยังค่อยๆ เผยให้เห็นถึงรายละเอียดของชีวิตที่เราเผลอทำหล่นหายโดยไม่รู้ตัว

ชีวิตสโลไลฟ์ ที่นวลสามารถซึมซับได้จากที่นี่ทุกสิ่งอย่าง แม้กระทั่งลมหายใจและเสียงหัวใจของนวลเอง ธรรมชาติรอบกายที่คอยมาทักทาย เหมือนเราหมุนโลกให้ช้าลงเลย

009

บ้านพักรับรองแขกบนบ้านผาหมอนใหม่ ทำให้ย้อนนึกขึ้นได้ว่า คำว่าโฮมสเตย์จำกัดอยู่ที่ตรงไหน เราต้องไปนอนกับเจ้าของบ้านไหม หรือมีที่พักแยกออกมาเพื่อที่จะไม่ไปรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งนวลคิดว่าการมีที่พักแยกออกมาเป็นสัดส่วนนี้แหละที่เหมาะกับการทดลองไปใช้ชีวิตแบบโฮมเสตย์ "เราและเจ้าบ้าน ไม่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของกันและกัน"

“เอาะแพะอ่าก๊ะหึ๊ หลึ๊แพะอ่าเลอโล”
“กินแค่พออิ่มท้องห่มแค่พออุ่นกาย”

010

วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอยังคงเรียบง่าย แม้การท่องเที่ยวจะเข้ามา แต่ก็ไม่ทำให้ชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนแปลงวิถีเดิมของตน

011

ชาวบ้านที่นี่ทำอาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลัก 
เป็นแหล่งปลูกข้าว กุหลาบ ดอกไม้เมืองหนาว เฟิร์น และพืชผักอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งขายยังร้านของโครงการหลวงและตลาดทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร 

012

รอยยิ้มบนใบหน้าที่อาบไปด้วยความสุข มีให้เห็นทุกครั้งที่นวลเดินผ่าน น้ำใจไมตรีของชาวผาหมอนที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นกันเอง เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งที่ทำให้นวลหลงรักที่นี่

013

หมูป่า หรือหมูดอยที่นี่ ไม่ได้ปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ แต่จะผูกไว้กับเสาเรือน เพื่อไม่ให้ไปทำลายพืชผักที่ชาวบ้านปลูกไว้ ตกเย็นมาจะมีใครพาน้องไปเดินเล่นไหมนะ เชือกจูงพร้อมขนาดนี้

013-2

"บ้านผาหมอน ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและจัดการชุมชน ก่อนที่การท่องเที่ยวจากภายนอกจะเข้ามาจัดการ จนชุมชนเสียหายหรือเกิดปัญหา"

การท่องเที่ยวของบ้านผาหมอน เริ่มจากการวิจัยการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่จัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุด ภายใต้การใช้ทรัพยากรชุมชน ภูมิปัญญาของท้องถิ่น นักวิจัยชาวบ้านเท่ไปเลย

คำแนะนำการเดินทาง
ถ้าเดินทางจากถนนสายเชียงใหม่-จอมทอง ประมาณ 65 กิโลเมตร เลี้ยวขวา กม 0 สามแยกแล้วตรงไปก่อนขึ้นดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านน้ำตกวชิรธาร บ้านหนองหล่ม มุ่งตรงสู่หมู่บ้านผาหมอน

สามารถสอบถามข้อมูลและการเดินทาง
บ้านผาหมอน ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ม. 8 ถ.จอมทอง-ดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ฝ่ายประสานงานและประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 081-166-4344
อีเมล์ : surasitd@hotmail.com 

014

ตำนานนกกระจิบผู้อาสาลงไปเอาเมล็ดข้าวที่หน้าผาผ่านบทเพลงจากเครื่องดนตรีพื้นเมืองมันทำให้นวลประทัปใจมาก มาๆจะเล่าให้ฟัง

ในตำนานบอกว่า ต้นข้าวของคนปกาเกอะญอต้นสูงเท่าต้นกล้วย และเม็ดใหญ่เท่าฟักเขียว กระทั่งมีเศรษฐีกับแม่หม้ายได้ถกเถียงกันว่าเงินหรือข้าวที่สำคัญที่สุด โดยเศรษฐีเชื่อว่าเงินสำคัญที่สุด ส่วนแม่หม้ายเชื่อว่าข้าวสำคัญมากกว่า ด้วยความโมโหแม่หม้ายจึงทุบเมล็ดข้าวจนแตกกระจายไปทั่ว บางส่วนกระจายเข้าไปในถ้ำซึ่งถ้ำแห่งหนึ่งที่มีประตูที่สามารถเปิดอยู่ 
“ถ้ำมันเปิด และปิดได้ สิบวันถึงจะเปิดครั้งหนึ่ง และก็ไม่มีใครสามารถลงไปเก็บข้าวในหน้าผาได้ ก็มีแค่นกกระจิบตัวหนึ่งเท่านั้นก็สามารถลงไปเอาข้าวออกมาได้” 

015

"มืดจนมองเห็นดาว" ในหมู่บ้านที่เงียบสงบ มีแต่เสียงลม และเสียงของจั๊กจั่น จิ้งหรีด เรไร คอยขับกล่อมไปพร้อมกับเสียง "เตหน่า" ผู้เฒ่าปกาเกอะญอเล่าว่า ในอดีตชายหนุ่มปกาเกอะญอจะต้องมีเตหน่าไว้ประจำกาย เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเกี้ยวพาราสี ชายหนุ่มกรีดนิ้วบนสายเตหน่าพร้อมขับขานลำนำเพลงอื่อธา เพื่อมัดใจหญิงสาว คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงว่า สมัยก่อนถ้าใครเล่นเตหน่าไม่เป็น ขับอื่อธาไม่ได้ คงจะครองโสดไปตลอดชีวิต 

016

 ช้าวันใหม่กับเสื้อเชก่อ (เสื้อทอมือปกาเกอะญอของผู้ชาย) ลักษณะเสื้อผู้ชายส่วนใหญ่จะใส่สีแดง แสดงถึง "ความอดทน" เพราะวันนี้นวลจะต้องไปลงแขกเกี่ยวข้าวกับพี่ๆชาวปกาเกอะญอกัน

017

ในหนึ่งปีชาวบ้านผาหมอนจะปลูกข้าวไร่เพียงหนึ่งครั้งคือช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยพวกเขาประเมินการปลูกจากจำนวนสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับบริโภคตลอดปี

ข้าวที่นี่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น เมล็ดมีลักษณะป้อมสั้นคล้ายข้าวญี่ปุ่น เเต่รสชาติอร่อยกว่าครับ

018

 ปกาเกอะญอให้ความสำคัญกับข้าวในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของต้นข้าว ตั้งแต่การเตรียมนา ซึ่งต้องเตรียมให้พร้อมตั้งแต่เดือนมกราคม ด้วยการหาที่เหมาะ ๆ และดินดี ๆ ทีสำคัญ ต้องเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินรังนก และจะต้องหมุนเวียนกันปลูก เพราะที่นาเป็นของทุกคน  

จากนั้นมีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ ปล่อยน้ำเข้านา เลี้ยงผีฝาย ระหว่างนั้นจะมีพิธีต้มเหล้าบือแซะคลีที่ใช้สำหรับพิธีมัดมือช่วงทำนา จากนั้นก็ลงแปลงไถนาเตรียมดิน หมักดิน ปั้นคันนา หว่านข้าว และเมื่อต้นข้าวงอกจากพื้นดินและโผล่พ้นน้ำ ก็จะมีพิธีมัดมือ เป็นเสมือนการขอบคุณเทวดาที่อำนวยพรอาหารมาให้ ขณะที่ปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโต ออกรวง จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้หนูหรือศัตรูมาทำลายต้นข้าว และเมื่อข้าวสุกเต็มที่เหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง ก็จะมีประเพณีเอามื้อ (ลงแขก) เกี่ยวข้าว เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวก็เป็นประเพณีกินข้าวใหม่ (เอาะบือไข่) และพิธีแซะพอโข่ หรือที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญข้าว เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองผูกข้อมือ ต้มเหล้า และเลี้ยงผี 

019

ชาวบ้านผาหมอนยังมีภูมิปัญญาในการเลือกเพาะปลูกพันธุ์ข้าวได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคของคนในชุมชน ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากข้าวเพื่อการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

020

หลังได้หัดเกี่ยวข้าวครั้งแรก จึงรู้ซึ้งว่าเป็นงานที่หนักเอาการเพราะต้องยืนตลอดเวลาขณะเดียวกันก็ต้องก้มหน้าออกเกี่ยวข้าว ยิ่งไม่มีหมวกคลุมหน้าเหมือนคนอื่นเขา ฝุ่นจากเศษเปลือกข้าวใบข้าว พากันคละคลุ้งเข้าตาเข้าจมูก ยิ่งในวันที่อากาศร้อนด้วยแล้วก็ยิ่งรู้สึกแสบหน้าคันหน้าไปหมด นวลเกี่ยวได้แค่ครึ่งแปลง ก็ต้องยอมยกธงขาวและหนีไปพัก

021

พันธุ์ข้าวของชาวผาหมอน
และข้าวที่คนผาหมอนนิยมกินก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น คนนิยม “บือพะโดะ” หรือข้าวเมล็ดใหญ่ ที่เอาพันธุ์มาจากบ้านแม่แดด เพราะเป็นข้าวสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ ปลูกแล้วผลผลิตดี รสชาติอร่อย และอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกคือ “บือโปะโหละ” หรือข้าวเมล็ดกลม เป็นข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของหมู่บ้าน มีกลิ่นหอม รสอร่อยเช่นกัน ที่สำคัญคือให้ผลผลิตจากการปลูกต่อหนึ่งรอบเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์อื่น ๆ 

022

การเตรียมตัวเพื่อมาสัมผัสวิถีชาวนาบ้านผาหมอน

- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน และข้อมูลทางธรรมชาติ
- อุปกรณ์เพื่อช่วยให้การท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น แว่นขยาย กล้องส่องทางไกล หรือกล้องถ่ายรูป
- รองเท้า ควรเป็นรองเท้าผ้าใบเวลาเดินป่า
- ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นเตรียมให้พร้อม เนื่องจากอาจหาไม่ได้ในชุมชน
- ที่สำคัญคือการเตรียมจิตใจให้พร้อมต่อการเรียนรู้วิถีชีวิตในแบบที่เราไม่คุ้นเคย

ข้อพึงปฏิบัติ

- ต้องให้ความเคารพ ไม่ลบหลู่ดูถูกกฎระเบียบประเพณีความเชื่อของหมู่บ้าน
- ต้องช่วยกันดูแลรักษา ไม่ทำลายสิ่งสาธารณะประโยชน์ในชุมชน
- ห้ามนำสิ่งเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน
- ห้ามประพฤติไปทางชู้สาว และกระทำอนาจาร
- ผู้ที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ท่องเที่ยว ต้องแต่งกายให้มิดชิด
- ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นในยามวิกาล
- ห้ามเล่นการพนันภายในหมู่บ้าน
- ห้ามก่อเรื่องทะเลาะวิวาท
- ต้องรักษาความสะอาด ทิ้งขยะในที่ทิ้ง ทั้งในบริเวณหมู่บ้านและพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งหมด
- ต้องติดต่อล่วงหน้ากับคณะกรรมการท่องเที่ยว  
- ในการศึกษาธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวบ้าน ต้องมีนักสื่อความหมายหรือไกด์ท้องถิ่นไปด้วยทุกครั้ง

023

ความเชื่อหนึ่งของชาวปกาเกอะญอคือ ข้าวที่เกี่ยวและมัดแล้วจะต้องฟาดให้หมดในครั้งเดียว ไม่อย่างนั้นจะถือเป็นเรื่องไม่มงคลสำหรับคนในครอบครัว

024

พอฟาดข้าวเสร็จก็ต้องนำข้าวมาตากและพัดข้าวเอาเศษฟาง และเมล็ดข้าวลีบออก

025

โรงสีของชุมชนที่จะนำข้าวของแต่ละบ้านมาสีที่นี่

026

ออกมาแล้วข้าวที่นวลเกี่ยวมา

ปกาเกอะญอมีคำกล่าวว่า…

“ข้าวหนึ่งรวงหลังเก็บเกี่ยว นำไปฟาด เเละนำไปสีแล้ว จะเหลือเข้าปากคนเราเฉลี่ยเเค่ ๓ เมล็ด”

เป็นถ้อยความที่ได้ฟังเเล้วรู้ซึ้งถึงคุณค่าของทั้งเมล็ดข้าวและแรงกายแรงใจของชาวไร่ชาวนา

027

แล้วข้าวที่นวลเกี่ยว ฟาด พัด สี ก็เตรียมพร้อมลงท้องแล้ว

เป็นมื้อที่กินแล้วอิ่มท้องไปจนถึงหัวใจ เมื่อกลับบางกอกก็คงไม่ลืมรสชาติข้าวที่นี่

รู้สึกขอบคุณชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอนที่ทำให้นวลได้สัมผัสวัฒนธรรมชุมชน เรียนรู้วิถีชาวนาอย่างแท้จริง

ปลายฝนต้นหนาวของปีหน้า ตั้งใจแล้วว่าจะหนีแดดร้อนและฝุ่นควันเมืองกรุงมาขึ้นเหนือเกี่ยวข้าวนาขั้นบันไดอีกครั้ง

008

นวลดีใจนะครับที่การท่องเที่ยวไม่ทำให้ทรัพยากรชุมชน รวมไปจนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอต้องเสียไป

"เพราะการท่องเที่ยวของบ้านผาหมอนไม่ใช่รายได้ของคนที่นี่ แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่เข้ามาพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนนั่นเอง"

029

 

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ ของ "บ้านผาหมอน" วิถีข้าว วิถีชาวนา วิถีปกาเกอะญอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook