หมออาสา กับ 1 เดือนให้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล (ตอนแรก)

หมออาสา กับ 1 เดือนให้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล (ตอนแรก)

หมออาสา กับ 1 เดือนให้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล (ตอนแรก)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

11218497_427778574069167_4635256233150102244_o

เมื่อเวลา 11.56 น.ของวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ได้เกิดธรณีพิบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ “เนปาล” แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ ได้เขย่าดินแดนที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ โบราณสถาน ชุมชนหมู่บ้านบางส่วนราบเป็นหน้ากลอง อีกบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ยากแก่การบูรณะ ผู้คนตื่นตระหนกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ ต่างอยู่กันในอารมณ์หวาดผวาต่อพื้นแผ่นดินที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่มาตลอดชีวิตตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

เหตุการณ์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทีม “แพทย์อาสาแพทยสภา” ที่มีแนวคิดระดมทีมแพทย์อาสาสมัครให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านต่างๆกัน แล้วจะส่งลงไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวเนปาล ตามความต้องการของรัฐบาลเนปาล หรือองค์กรของทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การกุศลต่างๆที่ประสานงานขอรับการสนับสนุนได้โดยสะดวก

ทีมแพทย์อาสาแพทยสภา เป็นทีมแพทย์ที่เกิดจากอาสาสมัครจิตอาสาทุกคน ทุกคนต้องจัดการค่าเดินทางและค่าใช้ชีวิตในพื้นที่ปฏิบัติงานด้วยตนเองทั้งหมด เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ถูกบริจาคผ่านมาทางองค์กรได้เข้าถึงไปสู่มือของผู้ประสบภัยสมตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาคเงินทุกประการ

การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ๆไม่ปกติ ย่อมไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ตลอดจนน้ำ อาหาร และที่พักย่อมขาดแคลน และลำบากกว่าการไปรักษาในช่วงเวลาปกติ และอาจมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยแพทย์อาสาจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมต่อการเดินทางในทุกเวลาและพร้อมจะปรับตัวเข้าสภาพแวดได้ในทุกๆรูปแบบ

พวกผมเป็นกลุ่มที่โชคดีเพราะถูกคัดเลือกเข้ามาโดยหัวหน้าทีมแพทย์อาสาคือ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ ให้เป็นทีมที่เดินทางต่อจากชุดสำรวจที่เป็นชุดเชี่ยวชาญหลักในการเปิดระบบแพทย์อาสาที่จะต้องไปเตรียมพื้นที่ในการออกหน่วย ซึ่งนำโดย คุณหมอพระโย พล.ร.ต.นพ.ปิโยรส ปรียานนท์, นพ.ธนพัน ขันธนิกรและ นพ.ธนกฤติ จินตวร

ทั้งเมื่อทีมสำรวจเมื่อเห็นว่ามีความปลอดภัยพอต่อการปฏิบัติงานได้ จึงได้แจ้งให้ทีมอาสาทีมถัดไปเดินทางมายังเนปาลต่อได้ ผลัดการเดินทางของผมคือวันที่ 27 พ.ค.2558 โดยมีพี่แหลม นพ.ธนพัน ขันธนิกร มาเป็นหัวหน้าทีมให้พวกเรา โดยอาจารย์แหลมต้องบินมาจากเชียงใหม่ตามคำขอของแพทยสภา เพื่อนำคณะเราไปเนปาลในครั้งนี้ สิ่งที่เราภูมิใจก่อนจะไปคือ เราถือเป็นตัวแทนของแพทย์ไทยที่จะได้เข้าพื้นที่ไปเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เนปาล

27 พฤษภาคม 2558

 

ครั้งนี้พวกผมสมัครมาร่วมทีมกับทางแพทยสภาในโครงการ "แพทย์อาสา-แพทยสภาและมหาเถรสมาคม" หรือ "Hands4Nepal" เพื่อจะได้ใช้ความสามารถที่มีในการสร้างประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกในโอกาสที่ได้รับในครั้งนี้

ตามกำหนดการเดินทางเดิมคือวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมาแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวซ้ำในวันที่ 12 พฤษภาคม ทุกอย่างจึงต้องชะลอก่อนเพื่อความปลอดภัย

หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ๆ ทางแพทยสภาก็ประชุมกันทุกวันว่าวันไหนคือวันที่เหมาะสมที่สุดในการส่งทีมแพทย์ออกไปอีกครั้ง ประเมินสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก จนแน่ใจอย่างที่สุดแล้วว่าจะให้เริ่มต้นอีกครั้งในวันพุธที่ 27 พฤษภาคมนี้

ก่อนจะออกเดินทางก็ต้องไปเตรียมตัวหลายอย่างครับ เช่น ทำบัตร MD Card เพื่อใช้ยืนยันสถานะวิชาชีพแก่คนต่างชาติ และรับเสื้อแพทย์อาสาไว้สำหรับใส่ทำงานให้เป็นทีมเดียวกันครับ

11288974_1075147262512966_8780323851243906661_o

เครื่องบินออก 10 โมง แต่ผมรีบมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ 6 โมงครึ่งเพราะเผื่อเวลาสำหรับจราจรที่ไม่ต่างจากจลาจลในกรุงเทพไว้มากทีเดียวครับ

นั่งการบินไทยก็รู้สึกสบายใจครับ มีคนไทยไปส่งถึงปลายทาง

ระหว่างที่ผมกำลังรอเวลา ผมเห็นคนจากหลายๆชาติที่ถึงแม้จะมาจากคนละประเทศจะแต่ก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกันที่ต้องการไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เนปาล

เวลาผ่านไป 3 ชั่วโมง กัปตันส่งเสียงตามสายแจ้งให้แก่ผู้โดยสารทราบว่าตอนนี้เครื่องบินกำลังจะลดระดับเพื่อลงจอดที่สนามบินตรีภูวัน เมืองกาฐมาณฑุแล้ว บ้านเรือนเล็กๆริมเนินเขาหิมาลัยจึงเริ่มปรากฏกายสู่สายตา

IMG_20150531_134608_HDR

เครื่องบินลงแตะสู่พื้นอย่างนุ่มนวล ผมล่ำลาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เดินแบกสัมภาระเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร

การผ่านแดนเป็นไปอย่างปกติ "ทุกอย่างดูเหมือนจะกลับคืนสู่สภาพเดิมแล้วหรือเปล่า" ผมได้แต่คิดในใจ เคยรู้มาก่อนว่าถ้าเอาของเข้ามาประเทศเขาเยอะอาจจะเป็นที่สงสัยของเจ้าหน้าที่ได้ เพราะมักมีคนลักลอบนำของผิดกฎหมายเข้ามาขายเป็นประจำ แต่รอบนี้ของที่ขนมากว่าของพวกผมกว่า 120 kg ก็ผ่านมาได้ด้วยดีปราศจากอุปสรรคขวากหนามใดๆ

ตอนนี้เวลาประมาณ 12.30 น. เวลาที่นี่ช้ากว่าที่เมืองไทย 1 ชั่วโมงกับอีก 15 นาทีครับ

11295550_1075149732512719_8904469541601674622_n

คนขับรถที่รอพวกผมอยู่ด้านประตูทางออกคือ คุณสุชิน ชาวเนปาลที่พูดไทยชัดแจ๋วเพราะเคยไปบวชเรียนอยู่ที่วัดสระเกศนานถึง 12 พรรษา แกก็บอกกับผมอย่างชัดเจนว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวในเนปาลเหลือน้อยมากจนทำให้แผ่นดินไหวก็แย่แล้ว นักท่องเที่ยวยังหายไปตามไปด้วย

จากสนามบินคุณสุชินพาพวกผมมาส่งที่วัด Vishwa Shanti หรือ World peace temple ที่เป็นวัดพุทธและเจ้าอาวาสวัดที่นี่ยังเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชของประเทศเนปาลอีกด้วย

10830970_1075395682488124_3381572254737212031_o

ถือเป็นบุญของพวกผมที่การมาเนปาลในครั้งนี้ ทางวัดได้จัดแม่ครัวคนไทยไว้คอยทำอาหารรสชาติที่ผมคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น ไข่เจียว จึงคลายความรู้สึกคิดถึงบ้านไปได้เยอะ

เนื่องจากภารกิจการช่วยเหลือชาวเนปาลจะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้ที่หมู่บ้านที่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึง วันนี้จึงเป็นการเตรียมกายและเตรียมใจก่อนเจอศึกจริงในวันพรุ่งนี้

เวลาประมาณ 15.00 น. หลังจากที่เก็บของเข้าที่แล้ว พวกผมจึงขอเดินทางออกไปในเมืองเพื่อดูให้เห็นกับตาว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองกาฐมาณฑุว่าจริงๆเป็นอย่างไร ไม่ได้ผ่านจอทีวีเหมือนทุกๆวัน

ทั้ง Patan Durbar square และ Kathmandu Durbar square เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เราไม่สามารถเดินไปเดินมาได้อย่างอิสระเหมือนเคย เจ้าหน้าที่จากทางการกั้นเส้นห้ามเดินเข้าไปยังใจกลางจัตุรัสมรดกโลกแห่งนี้ เพราะพื้นดินยังคงอ่อนไหวและไม่ปลอดภัย 100% ซากปรักหักพังยังคงกองอยู่บนพื้นให้เห็นได้ชัด นักท่องเที่ยวน้อยถึงน้อยมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่เหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่ผมมาที่นี่คือ ทุกคนยังคงยิ้มให้และทักทาย "นมัสเต" แก่คนต่างถิ่นอย่างผมเช่นเคยถึงแม้พวกเขาจะได้รับความลำบากอย่างมากในช่วงเวลานี้

11377332_1075395862488106_2532840273573103381_n

IMG_20150527_144711_HDR

ตึกที่สร้างมาดีก็รอดตัวไป ตึกที่สร้างมาปานกลางก็มีรอยร้าวแบบเห็นได้ชัด ส่วนตึกที่สร้างไม่ดีนั้นก็มากองอยูบนพื้นกันหมดแล้ว

คนจำนวนไม่น้อยก็เลยต้องมาอยู่กันในเต็นท์ที่พบเห็นได้ทั่วไปตลอดเมือง และด้วยอากาศที่ร้อนมากและกำลังจะเข้าสู่ฤดูมรสุมในอีกไม่ถึงเดือนข้างหน้านี้แล้ว คนเนปาลเหล่านี้พวกเขาจะอยู่กันได้อย่างไร

IMG_20150527_145358_HDR

 

ตกเย็นพวกผมกลับมาที่วัดอีกครั้ง ภารกิจสุดท้ายของวันคือการจัดยาทั้งหมดให้เรียบร้อย ผมใช้เวลาไป 4 ชั่วโมงกับรายการยาทั้งหมดกว่า 58 รายการ และเครื่องมือแพทย์บางส่วนต้องนำมาประชุมกันภายในทีมว่าจะเอายาตัวไหน เอาไปเท่าไร ตัวไหนเอาไปเพียงเล็กน้อย โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากทีมที่ไปสำรวจพื้นที่เอาไว้ล่วงหน้า ขนาดของหมู่บ้าน จำนวนประชากร ข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากครับ อีกทั้งยังต้องทำบันทึกสต็อคยาเพื่อจะดูยาที่ขาด หรือแนวโน้มว่าจะไม่พอ เพื่อจะได้แจ้งทีมที่เมืองไทยให้นำมาเสริมเพิ่มในครั้งต่อไปครับ

11062104_1075395789154780_2944983028904078118_o

เรื่องฉลากยาก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ท้าทาย เพราะเราต้องใช้ภาษาเนปาลีเท่านั้นในสื่อสาร ทางทีมงานอาสาที่เมืองไทยจึงได้เตรียมฉลากยาที่มีภาษาเนปาลีมาจากเมืองไทยแล้ว

ตอนนี้ผมพร้อมแล้วสำหรับการออกพื้นที่ในวันพรุ่งนี้ที่หมู่บ้าน “Dolakha” หมู่บ้านขนาดเล็ก ประชากรประมาณ 60 หลังคาเรือน ตั้งอยู่กลางเทือกเขาหิมาลัย อยู่ห่างออกจากเมืองหลวงไปประมาณ 5 ชม. และยังคงได้รับการช่วยเหลือจากโลกภายนอกเพียงเล็กน้อยในเวลานี้

แต่แผนวันรุ่งขึ้นก็ยังไม่แน่นอน 100% ขึ้นกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า หากมีสถานการณ์เปลี่ยน พวกผมก็ต้องพร้อมปรับตัวทันที โดยทางทีมสำรวจแจ้งมาแล้วว่าอาจจะให้อยู่ค้างที่หมู่บ้านไปเลยเนื่องจากระยะทางที่ค่อนข้างไกลและลำบาก อีกทั้งชาวบ้านยังคงรอการช่วยเหลืออีกมาก

คงจะเป็นอีกหนึ่งในชีวิตวันที่พวกผมจะได้มีโอกาสเพิ่มประสบการณ์ชีวิตให้กับตัวเองอย่างมากมายเลยละครับ

สำหรับคืนนี้ขอนอนหลับพักผ่อนก่อนนะครับ สิ่งของทุกอย่างที่สำคัญต้องวางไว้ข้างกาย ถึงแม้จะต้องหลับสนิทแต่ก็ยังต้องมีสติอยู่เสมอ หากเกิดอะไรขึ้นกลางดึกแบบไม่ทันรู้ตัว ต้องพร้อมตื่นในทันทีและหยิบของวิ่งไปยังพื้นที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ราตรีสวัสดิ์ครับ

 

28 พฤษภาคม 2558

คืนแรกกับการใช้ชีวิตราตรีในกาฐมาณฑุ เมื่อคืนเป็นการนอนที่ลุ้นมากครับ เพราะหลับไป ฝันไป แล้วยังต้องมาลุ้นไปกับแผ่นเปลือกโลกอีกด้วย ว่าจะได้มีกิจกรรมออกแรงยามวิกาลเหรอเปล่า

แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี ปลอดภัย 100% ถึงแม้ตอนเช้าพระในวัดจะบอกกับผมว่าที่นี่มี aftershock ไปหลายครั้งเลยทีเดียว แต่ผมกลับนอนแบบไม่รู้เรื่องมารู้สึกตัวอีกครั้งก็ตอนเสียงเพลง ที่เป็นเสียงนาฬิกาปลุกของผมดังขึ้น

มิน่าละที่เขาว่าภัยพิบัติอะไรก็ตามถ้าเกิดขึ้นตอนกลางคืน การสูญเสียย่อมมากกว่าตอนกลางวันแน่นอน แต่ชาวบ้านที่นี่รวมถึงพระลูกวัดทุกรูปดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับสภาพชีวิตแบบนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะชาวบ้านยังบอกผมเลยว่า "พื้นมันสั่นบ่อยจนเขารู้สึกเคยชินไปแล้วละ สั่นน้อยๆก็นอนต่อไป สั่นมากๆค่อยว่ากัน"

เช้าวันที่สองของการได้มีลมหายใจเดียวกับดินแดนที่พระพุทธเจ้าทรงพระประสูติ

IMG_20150528_060800_HDR

เวลาตีห้าเป็นเวลาที่ผมตื่นนอน แต่พระอาทิตย์ตื่นไปนานแล้ว ฟ้าสว่างราวกับเหมือนเวลาหกโมงกว่าๆในบ้านเรา จะรีบไปอาบน้ำให้เย็นกาย แต่เจ้ากรรมน้ำดันไม่ไหล ทำไงดีละครับ ในเมื่อผ้ายังเอาไปซักแห้งได้ ผิวหนังคนก็ซักแห้งได้เหมือนกัน เลยต้องเอาน้ำกินมาแปรงฟันและล้างหน้าแทน แล้วก็จัดการดับกลิ่นกายด้วยสเปรย์ที่เตรียมมาจากเมืองไทย

ที่ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อจะได้มา standby พร้อมออกเดินทางได้ในทุกวินาที รอฟังเพียงแต่คำสั่งจาก "พระมหาสุพจน์ กิตติวัณโณ" เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี หัวหน้าทีมแพทย์อาสาแพทยสภา

เวลา 7.00 น. ทีมเดินทางทุกคนพร้อม พวกเราช่วยกันย้ายสิ่งของที่จะนำไปแจกจ่าย ขนมปังไว้รองท้อง และคลังยาที่เตรียมกันมาเข้าไปเก็บไว้ที่หลังรถ พระอาจารย์สุพจน์ได้มานัดแนะและส่งพวกผมขึ้นรถเพื่อเตรียมจะออกเดินทาง

11295935_10152922362576344_2754943185927500163_n

จุดหมายปลายทางคือเมือง "Dolakha" ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของเมืองกาฐมาณฑุประมาณ 300 กิโลเมตร เวลาเดินทางโดยประมาณ 4-5 ชั่วโมง

ออกจากเมืองหลวงได้ไม่นาน ถนนเส้นตรงๆกลับค่อยบิดเบี้ยว คดไปคดมาอย่างกับงูเรื้อย เส้นทางคดเคี้ยว วิ่งเฉียดหน้าผา ไม่มีรั้วกั้น บางครั้งบางคราวรถผมก็ขับแซงรถด้านหน้าด้วยการไปวิ่งเฉียดริมขอบเหว สร้างความรู้สึกตื่นเต้นอย่างกับเล่นรถไฟเหาะแบบไม่รู้เมื่อไรจะจบ จนไส้กับตับแทบจะสลับที่กัน ก้นลอยจากฐานเก้าอี้เสมือนอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หัวโขกกระแทกกับขอบหน้าต่างประจำเพราะหลบไม่ทัน

1499573_1076176369076722_4240627501780546029_n

ขนาดผมว่าผมทนทานแล้วนะ แต่ก็ยังรู้สึกเวียนหัว เริ่มคลื่นไส้ จึงต้องไปเอายาแก้เมารถมากินเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งผลข้างเคียงก็คือทำให้หลับไปเกือบชั่วโมงเลยครับ

ยิ่งออกจากเขตเมืองหลวงไปมากเท่าใด ยิ่งเห็นได้ชัดถึงความจริงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของเนปาลมากขึ้นเท่านั้น

บ้านเรือนผู้คนที่พังทลายลงมาและยังปราศจากการบูรณะ ชาวบ้านต้องมานอนกันในเต็นท์ชั่วคราวที่กำลังจะเปลี่ยนกลายเป็นเต็นท์ถาวรหากการบรรเทาทุกข์ยังทำไม่สำเร็จในช่วงเวลาอันสั้นนี้

ระหว่างทางสวนไปมากับรถมากมายมีทั้งรถของชาวบ้าน และรถของ NGOs ต่างๆมากมายเช่น Norwegian Red Cross, Samaritan's Purse ที่ต่างระดมกำลังเข้าไปยังพื้นที่แถบ Dolakha แห่งนี้

IMG_20150528_082805_HDR

สุดท้ายกว่าจะมาถึงที่เมือง Dolakha เข้าไปก็เวลา 12.00 น. แล้วครับ สิริใช้เวลารวมไปเกือบๆ 5 ชั่วโมงตรงตามเวลาที่คาดการณ์กันไว้แล้ว กับจำนวนโค้งที่นับไม่ถ้วนเลยทีเดียว

หลังจากที่มาถึงที่หมู่บ้าน Dolakha แล้ว พวกผมจัดการเติมพลังให้ร่างกายด้วยข้าวกล่องที่เตรียมกันมาจากที่วัด ข้าวสวย หมูฝอยและปลาเค็ม อาหารง่ายๆที่อร่อยแบบเหลือเชื่อ หลังจากหนังท้องอิ่ม แต่หนังตาห้ามหย่อนครับ เพราะภารกิจวันนี้กำลังจะเริ่มแล้ว มีคนมากมายที่กำลังรอพวกเราอยู่

เมื่อเดินทางถึงยังสถานที่ๆตั้งใจไว้แล้ว พี่หมอจ๊วดทางแพทยสภาที่กรุงเทพฯได้ติดต่อเข้ามาและแจ้งข่าวสำคัญแก่ทีมว่า "พบว่ามีพึ่งมีคำสั่งใหม่จากรัฐบาลเนปาลว่า การออกหน่วยแพทย์อาสาที่ตรวจรักษาผู้ป่วยชาวเนปาลร่วมกับคณะพระสงฆ์นั้นอาจทำไม่ได้เหมือนเดิมอีก"

พี่หมอแหลมหัวหน้าทีมแพทย์ พร้อมพวกผมจึงได้ไปพบกับผู้ใหญ่บ้านที่ สำนักงานในเมือง Dolakha ซึ่งเขาก็ได้แจ้งแก่พวกเราตรงกันว่า มีคำสั่งมาใหม่จากรัฐบาลกลางที่มีเนื้อความตรงกัน จึงแนะนำให้เราไปยังโรงพยาบาล "Gaurishankar General hospital" ที่อยู่ถัดไปไม่ไกล ซึ่งมีแพทย์เนปาลประจำอยู่ที่นั่นเพื่อดูว่าเราจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

11390362_1076176129076746_4074716383682183917_n

พวกผมจึงเดินทางไปต่อยังโรงพยาบาลที่แจ้งมา มีลักษณะคล้ายกับโรงพยาบาลชุมชนในบ้านเรา พบว่ามีผู้ป่วยรอเข้ารับการบริการมากทีเดียวครับ แต่แพทย์ที่ปฏิบัติงานในเวลานั้นก็มีเพียงคนเดียวและกำลังยุ่งมากครับเขาต้องดูแลทั้งผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยในๆเวลาเดียวกัน

11391767_1076176245743401_8118745296500836666_n

พวกผมมองดูแล้ว อยากเข้าไปช่วยเหลือการทำงาน แต่ด้วยระบบที่แตกต่างกันมากกับของประเทศไทย ในเวลาสั้นๆไม่น่าจะแก้ไขปัญหาให้เขาได้ เพราะทั้งภาษา ระบบการบันทึก ชื่อยาและการจ่ายยา ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ เผลอๆจะทำให้ระบบของเขารวนขึ้นกว่าเดิมเสียอีก จึงได้พูดคุยกับแพทย์ชาวเนปาลท่านเดียวใน รพ.นั้น พบว่าเขามีเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลนบางส่วน เราจึงได้มอบเวชภัณฑ์ที่เขาต้องการให้ไว้ช่วยคนไข้แทนพวกเรา และได้แจ้งทางแพทยสภาให้รับทราบ

11377211_1076176082410084_1306055411491359680_n

เสร็จสิ้นภารกิจที่โรงพยาบาลจึงเดินทางกลับไปสมทบกับทีมพระธรรมทูตที่มาบริจาคของกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน คนเนปาลมากันมากทีเดียวครับ ทั้งคนแก่และเด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง มากันพร้อมหน้า ของที่บริจาคมีมากมาย เช่น ข้าวสารอาหารและธัญพืช น้ำมันถั่วเหลือง แผ่นรองนอน ของที่มาบริจาคคนรับก็รับไปอย่างมีความหวัง ทุกคนเข้าคิวกันอย่างเป็นระเบียบมากครับ พวกเราจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของสะพานบุญจากคนไทย ที่นำของจาก ‪#‎HANDS4NEPAL มามอบให้เขาถึงถิ่นที่เขาอาศัยและห่างไกลเมืองหลวงมากๆ

11039145_436562359857455_5580770027185571083_n

ดูจากสีหน้า เห็นจากแววตาของคนที่นี่แล้ว พวกเขาดีใจมาก ความหวังในชีวิตดูเป็นไปได้มากขึ้น ที่อย่างน้อยก็ยังมีคนกลุ่มๆหนึ่งบนโลกใบนี้ที่ได้เดินทางไกลเพื่อมาหาพวกถึงที่นี่

กว่าที่ทุกอย่างจะสำเร็จบริบูรณ์ ตอนนี้เวลาก็ได้เกือบ 16.00 น. แล้ว ได้เวลาต้องเดินทางกลับกันแล้ว ในตอนแรกแพลนกันไว้ว่าจะนอนพักค้างคืนกันที่นี่ แต่เปลี่ยนแผนไม่พักค้างและจะเดินทางกลับกาฐมาณฑุทันที การเดินทางขากลับอันยาวนานจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในเวลาที่ห่างกันเพียง 4 ชั่วโมง

11212138_1076175992410093_6840362944790279013_o

ฟ้าเริ่มมืด เส้นทางที่ยังคงคดเคี้ยวอันตราย มองไปเห็นแสงไฟไกลอยู่ลิบตา พวกเราเหนื่อยและ เพลียกันมากจากการเดินทางตั้งแต่เช้ามืด แต่ก็อิ่มใจกับการได้มาจุดความหวังให้กับชาวเนปาลในชนบทที่ห่างไกลอีกครั้ง ให้เขาเห็นธงไตรรงค์ บนเสื้อของพวกผม..ว่ายังมีคนไทยอีกมาก..ที่ห่วงเขาอยู่

21.00 น. เดินทางกลับมาถึงจุดหมายปลายทางที่วัด อย่างปลอดภัย รวมเวลาเดินทางตลอดทั้งวัน 15 ชั่วโมงพอดิบพอดี

นิยามสำหรับวันนี้ สั้นๆแต่ใจความครบถ้วน "เหนื่อยกาย แต่อิ่มใจ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook