ความสนุก ผลุ่บๆ โผล่ๆ ที่บ้านอนุรักษ์แย้

ความสนุก ผลุ่บๆ โผล่ๆ ที่บ้านอนุรักษ์แย้

ความสนุก ผลุ่บๆ โผล่ๆ ที่บ้านอนุรักษ์แย้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

" อะไรนะ ไปดูแย้!!! " คุณคงประหลาดใจ ที่จู่ๆ "นายรอบรู้" ก็ชวนไปดูเจ้าสัตว์ที่หน้าตาเหมือนกิ้งก่าผสมกับตุ๊กแกชนิดนี้ บางคนอาจจะอี๋ แต่เชื่อเถอะ มันน่ารักกว่าที่คิด

บ้านอื่นเห็นแย้คงพากันจับกิน ด้วยมันเป็นเมนูโปรตีนชั้นดีที่คนกินกันมาเนิ่นนาน แต่ที่หมู่บ้านสุพรรณตะไล ตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้มาเกือบ 30 ปี จนได้ชื่อว่าเป็น "บ้านอนุรักษ์แย้" น่าจะเป็นแห่งเดียวของไทย และแห่งเดียวในโลก!

ใครไปใครมาจะได้เห็นแย้หลายสิบตัววิ่งไปวิ่งมาอย่างสุขสันต์ที่ลานแย้ ลานดินขนาดประมาณครึ่งสนามบาส แต่มีรูแย้อยู่กว่า 80 รู!! เดี๋ยวแย้ก็วิ่งลงรู เดี๋ยวก็โผล่ขึ้นมาใหม่ ผลุบๆ โผล่ๆ อย่างนั้นให้เราดูจนเพลินเลยล่ะ

หมู่บ้านอนุรักษ์แย้ อยู่ทางเดียวกับถนนสายดอกปรีดิยาธร ทางหลวง 3502 ห่างจากตลาดสามชุกประมาณสิบกว่ากิโลเมตร ในช่วงฤดูร้อน มาชมดอกไม้แล้วแวะมาชมแย้ด้วยคราวเดียวกันได้เลย

พี่ม่อน นพมาศ ปานสุวรรณ เล่าที่มาของการอนุรักษ์ให้ฟังว่า ราว 30 ปีก่อน คุณพ่อ-ลุงสิน แตงโสภา นำแย้คู่แรกมาเลี้ยงไว้ ลุงสินตั้งใจจะเลี้ยงไว้ให้ลูกหลานได้ดู และขอให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่ให้จับกิน หลังจากนั้นมันก็ออกลูกออกหลาน แพร่พันธุ์มาจนปัจจุบันมีราว 100 ตัวทั่วหมู่บ้าน จนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

ถ้าอยากมาชม ต้องมาช่วงเช้าเพราะแย้จะออกมาวิ่งเล่นอาบแดดอ่อนๆ ช่วงบ่ายคงร้อนจึงมุดลงรูกันหมด ตอนเย็นก็ดันหินปิดรูเข้านอน  แย้จะโชว์ตัวให้ชมได้ราวเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เพราะพอเข้าเดือนมิถุนายนมันจะเข้ารูจำศีล

แย้ที่นี่น่ารัก ไม่ดุร้าย ตัวอ้วนพีเพราะมีอาหารให้กินวันละสามมื้อ ชาวบ้านรักมันเหมือนหมาแมว จำได้ว่าตัวไหนเป็นตัวไหน แถมมีชื่อประจำตัวเสียด้วย เช่น น้องพร จารุนี ไมค์ น้องโซเชียล ฯลฯ

อาหารหลักของแย้ที่นี่คือหนอกนก (หนอนที่ใช้เลี้ยงนกกรงหัวจุก) ชาวบ้านให้กินวันละ 3 มื้อ รูไหนมีลูกแย้ ก็จะเอาไปหยอดให้กินก่อน เพราะเดี๋ยวมันแย่งตัวใหญ่กินไม่ทัน ราคาหนอนกิโลกรัมละ 500 บาท นับว่าค่อนข้างสูง นอกจากให้อาหาร ชาวบ้านยังต้องระวังสัตว์อื่นๆ ที่จะมาทำอันตรายแย้ เช่น สุนัข แมว งู พี่ม่อนบอกว่ารู้สึกปลื้มใจทุกครั้งที่เอาอาหารมาให้แล้วเห็นแย้วิ่งออกมากิน แม้วันนี้พ่อจากไปแล้วแต่พี่ม่อนก็ดูแลแย้ต่อมาอย่างดี จนกลายเป็นความผูกพันไปแล้ว

แต่ละตัวจะมีรูของตัวเอง ชาวบ้านเรียกว่า แปว รูมีขนาดเท่ากับตัวของมัน ตอนเย็นๆ มันจะดันก้อนดินมาปิดรูนอน ไม่ให้ตัวอะไรเข้าไปทำร้าย เช้าก็เปิดรูใหม่ หรือตอนใกล้ฝนตกมันจะปิดรู แย้จึงพยากรณ์อากาศให้ชาวบ้านแม่นยำยิ่งกว่ากรมอุตุฯ ถ้าแย้ตัวไหนมัวแต่เที่ยวกลับไม่ทันไปปิดรู มันจะรีบวิ่งเอาตัวไปบังปากรูไม่ให้ฝนเข้า คงเพราะกลัวน้ำขังในรูจนอยู่ไม่ได้ ...นี่อาจเรียกว่า แย้หวงรู

แย้ตัวเล็กๆ ที่เพิ่งเกิดไม่นานจะอาศัยอยู่รูเดียวกับแม่ก่อน พอโตขึ้นตัวเริ่มใหญ่ แม่แย้จะรอวันฝนตกแล้วไล่ลูกออกไปจากรู ไล่แบบผลักไสไล่ส่งเลยก็ว่าได้ เพื่อให้ลูกไปขุดรูของตัวเอง

สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มันชอบอาศัยตามพื้นดินร่วนปนทราย ในที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง แย้ตัวผู้มีสีสวยกว่าตัวเมีย แต่ปรับสีของลำตัวตามสภาพแวดล้อมไม่ได้ ในทางนิเวศวิทยา ถือเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อชาวนาชาวไร่ เพราะช่วยกินแมลงตัวเล็กๆ ที่เป็นศัตรูพืช ในขณะเดียวกันก็เป็นอาหารของงู ช่วยให้วงจรธรรมชาติสมดุล

ปัจจุบันจำนวนแย้ลดลงไปทุกที ที่เคยอยู่ในนาก็โดยปุ๋ยยาเคมีเด๊ดสะมอเร่กันไปหมด จนกลายเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ "นายรอบรู้" ก็เพิ่งเห็นแย้ตัวจริงเสียงจริงเป็นครั้งแรก คงจะดีไม่น้อยถ้าเราช่วยกันอนุรักษ์ไว้คนรุ่นลูกหลานเราได้รู้จักแย้

ขอขอบคุณ งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สนับสนุนเนื้อหา

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ความสนุก ผลุ่บๆ โผล่ๆ ที่บ้านอนุรักษ์แย้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook