ประเพณีไหลเรือไฟ-แห่ปราสาทผึ้ง : งานบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งอีสาน

ประเพณีไหลเรือไฟ-แห่ปราสาทผึ้ง : งานบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งอีสาน

ประเพณีไหลเรือไฟ-แห่ปราสาทผึ้ง : งานบุญที่ยิ่งใหญ่แห่งอีสาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษาเวียนมาอีกครั้ง นับเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนอย่างเราๆ จะได้ทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบพรรษา บางคนยังถือโอกาสวางแผนไปเที่ยวแถมอีกด้วย

หลังวันออกพรรษา 1 วันก็มีประเพณีตักบาตรครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ตักบาตรเทโว ตามความเชื่อว่า เป็นการทำบุญถวายแด่พระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเป็นการบำเพ็ญกุศลที่สำคัญอีกครั้งในรอบปี ในช่วงนี้ตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศจะมีบรรยากาศคึกคักเป็นพิเศษ

วันออกพรรษาปีนี้ ใครยังไม่รู้ว่าจะไปทำบุญที่ไหน "นายรอบรู้" อยากชวนไปเที่ยวภาคอีสาน ซึ่งมีงานบุญที่แสนยิ่งใหญ่อย่างประเพณีไหลเรือไฟในจังหวัดนครพนม และงานแห่ปราสาทผึ้งในจังหวัดสกลนคร งานประเพณีทั้งสองเปี่ยมด้วยความศรัทธา มีงานศิลปะพื้นถิ่นที่สวยงามวิจิตรน่าชม และเต็มไปสีสันทางวัฒนธรรมอย่างที่ไม่ควรพลาดจริงๆ

>>>ประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ความอลังการเหนือลำน้ำโขง

ในช่วงเทศกาลออกพรรษา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในตัวเมืองนครพนมจะมีงานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม นับเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ชาวไทยและลาวจะมารวมกันอย่างเนืองแน่น ไฮไลต์ของงานอยู่ที่เรือไฟ ซึ่งประดับด้วยดวงประทีปอย่างวิจิตรงดงาม ส่องสว่างสวยงามกลางลำน้ำโขงในยามค่ำคืน เมื่อเรือแล่นอยู่ในน้ำก็จะมีการจุดพลุไฟบนเรือ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมที่มาเฝ้ารออย่างยิ่ง

เรือไฟจะมีลักษณะคล้ายแพ แต่ต่อโครงไม้ไผ่ขึ้นมาบนแพแล้วนำดวงประทีปหลายร้อยดวงไปประดับเป็นรูปต่าง ๆ อาทิ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ รูปพระธาตุพนม พญานาค ฯลฯ ดวงประทีปนั้นทำจากขวดเครื่องดื่มชูกำลังใส่น้ำมันแล้วใช้เศษผ้าม้วนทำเป็นชนวน ผู้จุดจะต้องปีนโครงไม้ไผ่แล้วใช้คบไฟจุดประทีปทีละดวง เรือไฟลำหนึ่งใช้คนจุดไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในชุมชน ผู้จุดต้องอยู่บนเรือคอยจุดประทีปที่ดับลง เป็นงานที่ทั้งร้อนและต้องปีนอยู่บนที่สูง นับว่าไม่ง่ายเลยทีเดียว

พิธีกรรมการไหลเรือไฟหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เฮือไฟ" นี้ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าตามความเชื่อว่า หลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามได้แก่ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติในการใช้ชีวิตให้กับพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จ ชาวบ้านที่ร่วมใจกันสร้างเรือจะใส่ขนม ข้าวต้ม ฝ้าย ไหม ดอกไม้ธูปเทียนไว้ในเครื่องบูชาด้วย

>>>งานแห่ปราสาทผึ้ง ขบวนปราสาทเทียนแห่งศรัทธา

ชาวอีสานถือว่า การทำบุญด้วยการถวายปราสาทผึ้ง หรือหอผึ้ง หรือต้นดอกผึ้ง เป็นบุญกุศลที่สูง หลังจากทำบุญให้ผู้ตายในงานบุญแจกข้าวหรือบุญเดือนสิบแล้ว จะมีการถวายปราสาทผึ้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้วายชนม์ด้วย ตามความเชื่อว่าเมื่อผู้ถวายสิ้นชีวิตแล้วจะได้ไปอยู่ในวิมานบนสวรรค์

ปราสาทผึ้งแบบดั้งเดิมทำจากกาบกล้วยเหลาเป็นเส้น แล้วประกอบขึ้นเป็นทรงปราสาทหรือทรงสามเหลี่ยม จากนั้นนำขี้ผึ้งมาต้มแล้วปั้นหรือหล่อเป็นรูปดอกไม้ประดับบนปราสาทอย่างประณีต ชาวบ้านจะถวายพร้อมผ้าแพร ฝ้าย ไหม ไม้ขีด กระดาษและดินสอ เพื่อให้ทางวัดนำไปใช้ต่อไป

ต่อมาประเพณีนี้ได้รับความสำคัญโดยการจัดเป็นเทศกาลใหญ่ในช่วงออกพรรษา ด้วยความเชื่อว่าทำบูชาพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเฉพาะในจังหวัดสกลนครมีงานแห่ปราสาทผึ้งอย่างยิ่งใหญ่อลังการเป็นงานระดับจังหวัดทุกปี ชาวสกลนครจะทำปราสาทผึ้งเพื่อเป็นพุทธบูชา แล้วนำไปถวายที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร

นอกจากนี้ชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัดก็จะร่วมใจกันสร้างปราสาทผึ้งขนาดใหญ่ขึ้นมา ลักษณะเป็นปราสาทเรือนยอดหลายหลังต่อเนื่องกัน จำลองแบบคล้ายวิมานบนสวรรค์ โดยขึ้นโครงด้วยไม้ แล้วประดับด้วยขี้ผึ้งที่หล่อเป็นลวดลายที่วิจิตรจนเหมือนเป็นปราสาทบนสวรรค์ที่ทำจากเทียน ก่อนจะนำปราสาทผึ้งขึ้นประกอบบนรถแล้วนำไปร่วมขบวนแห่ในตัวเมือง มีการประกวดแข่งขันด้านความสวยงาม นับเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชนได้อย่างดี

พิธีแห่ขบวนปราสาทผึ้งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่าย ที่บริเวณ ถ. สุขเกษม ขบวนปราสาทผึ้งที่มีกว่าสิบหลังจะค่อยๆ เคลื่อนผ่านตัวเมืองสกลนคร โดยมีชาวพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ในสกลนครแต่งกายชุดพื้นเมืองแล้วฟ้อนรำอยู่ในขบวนด้วย เช่น ชาวภูไทย โซ่ ลาว กะเลิง ย้อ โย้ย ญวน ขบวนปราสาทผึ้งจะเคลื่อนไปที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ก่อนจะมารวมกันที่สนามมิ่งเมืองสกลนครให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง

ขอขอบคุณ งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook