10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุน โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุน โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุน โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาท้องทะเลไทย มีปรากฎการณ์แมงกระพรุนขึ้นมาให้เราได้เห็นจำนวนมากทั้งในพื้นที่จังหวัดตราด ระยอง มาจนถึงหัวหิน เหตุนี้เอง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้เขียนข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัว"Thon Thamrongnawasawat" เรื่อง "10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุน" สนุก! ท่องเที่ยว จึงนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน 

"ช่วงนี้ทะเลไทยมีแมงกะพรุนขึ้นมามาก จากชะอำ ไปหัวหิน ไประยอง ไปจันทร์ตราด มีใครต่อใครถามมาหลายราย ผมเลยเขียน 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนมาให้ผู้สนใจ หรือเอาไว้คุยอวดชาวบ้านก็ได้ครับ"

1. แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีอายุสั้นมาก ปรกติแล้ววงจรชีวิตน้อยกว่า 1 ปี แถมช่วงที่เราเห็นเขาลอยตุ๊บป่องอยู่ในน้ำ ยังเป็นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะช่วงต้นแมงกะพรุนจะอยู่ติดกับพื้น ก่อนปล่อยลูกลอยออกมาทีละตัว ช่วงทีลอยในน้ำเรียกว่า Medusa หรือนังผมงูเก็งกองรายนั้นแหละ

2. แมงกะพรุนมีนับพันชนิด จะเอาแบบเหมาน่าจะเกิน 2,000 ชนิด มีตั้งแต่ตัวเท่าหัวเข็มหมุดไปจนถึงตัวใหญ่กว่าคนด้วยซ้ำ แต่ขนาดไม่เกี่ยวกับพิษ โดยเฉพาะเจ้าตัวใหญ่อย่างแมงกะพรุนแผงคอสิงโต ถือเป็นเป้าหมายในการถ่ายภาพใต้น้ำชั้นยอด เป็นเหมือนยานอวกาศที่มีลูกปลาและสัตว์อาศัยเต็มไปหมด ผมเคยไปลอยตุ๊บป่องถ่ายภาพกับเธอเป็นชั่วโมง ไม่เบื่อครับ

3. เนื่องจากชีวิตของแมงกะพรุนเกิดเร็วตายเร็ว จึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะปริมาณของแมงกะพรุนที่มีมากขึ้นหรือน้อยลง เป็นไปตามอาหารของแมงกะพรุนเป็นหลัก

4. แมงกะพรุนกินแพลงก์ตอนจิ๋ว ตั้งแต่แพลงก์ตอนพืช เรื่อยไปจนถึงแพลงก์ตอนสัตว์ รวมทั้งลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน หากมีน้ำจืดไหลลงทะเลมาก บนแผ่นดินมีปุ๋ยหรือมีธาตุอาหารเร่งการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนเยอะ ปริมาณแพลงก์ตอนมากลูกแมงกะพรุนก็รอดมาก ปริมาณจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำจากแม่น้ำไหลลงทะเลพลั่กๆ เราจะเจอแมงกะพรุนเยอะเป็นพิเศษ

5. แมงกะพรุนไม่ได้เป็นสัตว์สังคม ไม่จำเป็นต้องอยู่รวมกัน เผอิญแมงกะพรุนกำหนดทิศทางในการเดินทางของตัวเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้กระแสน้ำพาไป อย่างดีก็ได้กระพือนิดหน่อย แมงกะพรุนถือเป็นแพลงก์ตอนครับ การมารวมกันของแมงกะพรุนจึงไม่ใช่มาโดยสมัครใจ แต่เชื่อว่าเป็นแมงกะพรุนรุ่นนั้นที่โตมาพร้อมกันในจังหวะที่มีอาหารมากเป็นพิเศษ

6. ปรากฏการณ์ที่แมงกะพรุนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เรียกว่า Jellyfish bloom ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื่องจากสาเหตุสำคัญหลายประการ เช่น น้ำจืดไหลลงทะเล กระแสน้ำพัดมา ปรกติจะพบบริเวณที่มีลักษณะน้ำผุด หรือน้ำสองกระแสมาชนกัน เช่น ตามริมฝั่งปากคลองปากแม่น้ำ เพราะน้ำจืดไหลมาชนกับน้ำทะเล ม้วนเอาแมงกะพรุนขึ้นมารวมกันที่ผิวน้ำ อย่างไรก็ตาม ในบางที่อาจมีกระแสน้ำ 2 สายไหลเลียบฝั่งมาชนกัน บริเวณนั้นมีโอกาสพบปาร์ตี้แมงกะพรุนเป็นประจำ

7. ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกี่ยวกับมนุษย์ไหม ? นักวิทยาศาสตร์กำลังหาคำตอบอย่างดุเดือด เชื่อกันว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั่วโลก บางคนบอกว่าอาจเกี่ยวกับโลกร้อน กระแสน้ำเปลี่ยนแปลง ฯลฯ
สำหรับผมแล้ว เชื่อว่าเกี่ยวกับปริมาณธาตุอาหารจากแผ่นดินที่ลงไปในทะเลเป็นจำนวนมาก ทำให้อาหารของแมงกะพรุนมากขึ้น ดังที่บอกเล่าไปแล้ว ยังอาจเกี่ยวข้องกับกระแสน้ำชายฝั่งที่สับสน อย่าลืมว่าปีนี้เราอาจเจอเอลนิโญ่อย่างแรง อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น รวมทั้งเรื่องอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา สรุปว่าหลายปัจจัยอาจเสริมกัน แต่ที่เกี่ยวกับเราคือเราไปช่วยเร่งปัญหาดังกล่างด้วยหรือเปล่า ?

8. แล้วมีผลเสียอย่างไร ? แมงกะพรุนกินแพลงก์ตอนรวมทั้งลูกสัตว์น้ำ หากมีจำนวนมากและอยู่รวมกัน ย่อมกินลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนตลอดจนแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารสัตว์น้ำอื่น อาจส่งผลต่อถึงปริมาณสัตว์น้ำที่ทำการประมง ยังหมายถึงการท่องเที่ยวที่คนไม่กล้าลงทะเลเพราะกลัวแมงกะพรุน (แม้จะมีคนมาดูอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องถาวรเหมือนวาฬบรูด้า) ตลอดจนการทำประมงที่ได้แมงกะพรุนติดอวนมาจนไม่รู้จะปลดกันยังไงให้หมด

9. แมงกะพรุนมีพิษทุกชนิด แรงบ้างเบาบ้าง หากโดนเข้าไป แนะนำให้ใช้น้ำทะเลล้างเยอะๆ (น้ำทะเลนะครับ!) เพื่อให้เศษแมงกะพรุนหลุดไป ใช้น้ำส้มสายชูราดเยอะ ๆ ทิ้งไว้ 3-5 นาที หากมีปัญหาหนักก็หาหมอนะ แต่ถ้าคนโดนทำท่าหายใจไม่ออก อย่างนั้นเป็นแมงกะพรุนพิษร้าย ต้องทำการช่วยหายใจเบื้องต้น (ให้คนทำเป็นนะ) แล้วรีบส่งหมอเร็วที่สุด

10. ต่อจากนี้คงเป็นการติดตามว่ามีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ไหนและอีกบ่อยไหม สำหรับในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะวนอยู่ในอ่าวไทยรูปตัวก.และระยอง จันทร์ ตราด เพราะบริเวณนี้กระแสน้ำไหลวน อีกทั้งยังรับปุ๋ยและธาตุอาหารมาจากที่ราบในภาคกลางและภาคตะวันออกทั้งหมด ที่อื่นก็มีบ้างเป็นจุด ๆ

เราคงต้องติดตามข้อมูลและประสานกับกลุ่มวิจัยระดับโลกที่กำลังพยายามทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ต่อไป และคงต้องกังวลไว้ล่วงหน้าว่าเราเติมของเสียและธาตุอาหารให้ทะเลไทยมากเกินไปหรือไม่ เพราะผลจากต้นน้ำกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ปลายน้ำแล้วครับ มันดูเหมือนจะมีมากขึ้นทุก ๆ ปี

- แถมให้ 1 ข้อ แมงกะพรุนไม่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว สึนามิ หรือการขอหวยใด ๆ ไม่ต้องวิตกหรือดีใจกันครับ

- กะพรุนปาร์ตี้เป็นปรากฏการณ์เกิดเร็วจบเร็ว เพราะขึ้นกับกระแสน้ำในรอบวันด้วย ได้ข่าวตอนเช้า ไปตอนเย็น กะพรุนอาจแยกย้ายไปหมดแล้ว ใครอยากดูต้องเร็วหน่อยและถามชาวบ้านให้ชัดเจน ไม่งั้นไปเก้อด้วยล่ะ ปกติเจอตอนเช้า ก็ต้องไปซ้ำเวลาเดิมหรือช้ากว่านิดหน่อย แต่ไม่รับประกันใดๆ นะครับ

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook