7 พระธาตุไหว้แล้วรวย! ดินแดนอีสานกลาง ปี 2558

7 พระธาตุไหว้แล้วรวย! ดินแดนอีสานกลาง ปี 2558

7 พระธาตุไหว้แล้วรวย! ดินแดนอีสานกลาง ปี 2558
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดินแดนอีสานกลาง ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานและมีเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งหากใครได้เดินทางไปเยือนสักครั้ง จะรู้สึกประทับใจ และอยากไปกลับเยือนอีกหลายต่อหลายครั้งแน่นอน สำหรับปลายปีนี้หากเพื่อนๆ กำลังวางแผนไปไหว้พระทำบุญขอพรรับปีใหม่ หรือเดินทางไปพักผ่อนให้กับชีวิต สนุก! ท่องเที่ยว ขอแนะนำ สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งทำบุญศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่ากันว่าไปแล้วจะอิ่มบุญอิ่มใจราวกับได้ขึ้นสวรรค์ก็ไม่ปาน

1.พระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น แห่งวัดหนองแวง อ. เมือง จ.ขอนแก่น สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ มหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น พระมหาธาตุแก่นนครเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐ ถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมเรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ

ภายในรวบรวมพระธรรมคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ละชั้นโดดเด่นด้วยลวดลายของบานประตู และหน้าต่างแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ ภาพแกะสลักรูปพรหมสิบหกชั้น สำหรับผู้ที่มีพลังกายและจิตใจมุ่งมั่นก้าวเดินไปให้ถึงในส่วนชั้นบนสุดของพระธาตุซึ่งเป็นสถานที่สำคัญบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก อานิสงส์ที่ได้รับสักการบูชาพระธาตุเก้าชั้น เปรียงดังบูชาองค์พระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองอีกทั้งยังสามารถชมทัศนียภาพของเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศมีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ความสวยงามของพระมหาธาตุแก่นนครยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

2.พระธาตุขามแก่น วัดเจติยภูมิ อ.น้ำพอง  จ. ขอนแก่น  ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินอีสานอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "เมืองขอนแก่น"ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อานิสงส์ที่จะได้รับ "เรื่องร้ายกลายเป็นดีดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น รักยั่งยืน โรคภัยไม่มี หลีกลี้ห่างหาย" ภายในเจดีย์ นอกจากบรรจุ "พระอังคารของพระพุทธเจ้า"แล้ว ยังได้บรรจุ "คัมภีร์นวโลกุตตรธรรม" และคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า "บวรหคุณ" ไว้อีกด้วย

พระธาตุขามแก่น มีประวัติความเป็นมาเรื่องเล่าสืบขานกันมาช้านาน หลังจากพระยาหลังเขียว ได้ตกลงเห็นดีในการก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าไว้พร้อมด้วยเงินทอง แก้วแหวนแสนสารพัดนึก โดยทำเป็นพระพุทธรูปแทนพระองค์ เข้าบรรจุไว้ในพระธาตุนี้ เมื่อการก่อสร้างเสร็จ พระยาหลังเขียวก็จัดการสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้น บริเวณใกล้ๆกับพระธาตุนั้น มีกำแพงทั้ง 4 ทิศ ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ก็จัดการสร้างวัดวาอารามขึ้น คือ วิหารและพัทธสีมา เคียงคู่กับพระธาตุ เหตุการณ์เป็นดังนี้ จึงปรากฎนาม " พระธาตุขามแก่น" และเมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา พระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ได้ดับขันธ์ปรินิพพานในสถานที่นี้ทุกองค์ สรีระธาตุของท่านทั้ง 9 ก็ได้บรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุองค์ใหญ่ 

3.มหาธาตุเจดีย์ วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) อำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยอดเจดีย์เป็นทองคำแท้บริสุทธิ์ หนัก 30 กิโลกรัม ประดับด้วยอัญมณี-เพชร-พลอย พื้นผิวผนังโดยรอบเจดีย์เป็นทรายขัดทำเป็นรูปหนุมาน แสดงท่าต่างๆ ส่วนรอบๆ เป็นรูปเหตุการณ์สำคัญทางศาสนางานประณีตมากๆ ในพระมหาธาตุเจดีย์ มีประตูเป็นไม้แผ่นชิ้นเดียวขนาดใหญ่ ข้างในยิ่งตระการตา ผนังเป็นทรายขัดทำเป็นรูปพระอรหันต์ ส่วนยอดจะเป็นผ้าทอสีทอง ลายดอกบัว 4 แบบตรงกลางเจดีย์ เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ บรรจุอยู่ในเจดีย์แก้วเล็กๆ เรียงเป็นรูปต้นโพธิ์ ด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธนิมิตเหล็กไหล ทั้งองค์มีเนื้อสีดำ ประทับอยู่บนฐานไม้ ส่วนรอบ ๆ ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานรายรอบเต็มไปหมด

นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอุโบสถไม้แบบเปิดโล่งไม่มีฝาผนังปิดกั้นก่อสร้างแบบภาคเหนือและภาคกลางผสมผสานให้กลมกลืนกัน ระเบียงปูด้วยศิลาแลงโดยรอบตัวอุโบสถทั้งหมดก่อสร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลายไทยเป็นภาพสามมิติ มีความอ่อนช้อยงดงามวิจิตรตามประตู หน้าต่าง เพดาน ภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติประกอบด้วยลายไทยเครือเถา ทิวทัศน์ป่า สรรพสัตว์นานา หน้าบรรณของอุโบสถหน้าหลัง และหลังคาด้านในจะเป็นภาพพระพุทธองค์ในปางต่างๆ

4.เจดีย์หินวัดป่ากุง หรือ วัดประชาคมวนาราม อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด สร้างโดยหลวงปู่ศรี มหาวีโร มีเจดีย์ขนาดใหญ่ทำจากหินทรายธรรมชาติเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เหตุที่หลวงปู่ศรี ท่านมีดำริให้สร้างพระเจดีย์หิน เนื่องจากเมื่อพ.ศ. 2531 หลวงปู่ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ มหาเจดีย์บุโรพุทโธ เกิดความประทับใจในความยิ่งใหญ่อลังการของมหาเจดีย์แห่งนี้ จึงได้เล่าให้คณะศิษย์ฟัง ต่อมาใน ปี พ.ศ 2535 การก่อสร้างจึงเริ่มขึ้น จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 มีพิธียกยอดเจดีย์ทองคำแท้หนัก 101 ขึ้นประดิษฐาน ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุอยู่จุดศูนย์กลางของเจดีย์ ผนังแกะสลักเรื่องราวพระพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก รวมทั้งประวัติของหลวงปู่ศรีและรูปบูรพาจารย์

5.พระมหาเจดีย์ชัยมงคล วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก  จ. ร้อยเอ็ด นมัสการพระมหำเจดีย์ชัยมงคล ขนาดสูงและกว้างอย่างละ 101 เมตร ศิลปะแบบประยุกต์ วิจิตรสวยงามด้วยงานพุทธศิลป์ ใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 3,000 ล้าน บาท ภายในองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล แต่ละชั้นมีความตั้งใจตกแต่งให้เหมือนอยู่บนวิมานแดนสวรรค์ ชั้น1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ ผนังจารึกนามทานาธิบดีต่างๆ ใช้สำหรับทำพิธีทางศาสนา บำเพ็ญบุญ ประกอบด้วยรูปหล่อพระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ชั้น 2 เป็นห้องโถงสถานที่จัดการประชุม ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ลวดลายไทย

ส่วนชั้น 3 เป็นพระอุโบสถที่ประดิษฐานรูปเหมือนสลักหินทรายของพระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีต และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโนในจำนวน 101 องค์ ชั้น4 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัดวาอาราม สถานปฏิบัติสมถะวิปัสสนา กรรมฐานที่หลวงปู่ศรี เคยบำเพ็ญธรรมมา และมีระเบียงให้เดินชมวิวทิวทัศน์บริเวณโดยรอบองค์เจดีย์ เคียงข้างทัศนียภาพเทือกเขาเป็นฉากหลังอันสวยงาม ชั้น5 เป็นพิพิธภัณฑสถานซึ่งจัดแสดงจัดแสดงประวัติ พร้อมเก็บรวบรวมอัฏฐะบริขารของ พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ก้าวเดินขึ้นไปผ่านบันไดเวียน 119 ขั้น มาถึงชั้น 6 มีลักษณะห้องโถงรูประฆัง 8 เหลี่ยมเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอัฏฐิธาตุพระอรหันต์องค์ต่างๆ

6.พระธาตุยาคู" อ.กมลาไสย จ. กาฬสินธุ์ บูชาพระธาตุโบราณที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ จึงเรียกกันว่า " พระธาตุยาคู " เป็นหนึ่งในโบราณสถานเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการขุดค้นพบหลักฐานต่างๆมากมายในเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง มีหลักฐานว่าแต่ละส่วนของพระธาตุยาคู สร้างขึ้นใน 3 สมัย ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ โดยส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อ มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นส่วนฐานทรงแปดเหลี่ยม สร้างในสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิม

ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างต่อเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ เนื่องด้วยเป็นสถานที่แห่งเดียวในเมืองฟ้าแดดสงยางที่ไม่ถูกทำลายโดยเมืองเชียงโสม ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม จึงนับเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479 ทุกๆ ปีในเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นการขอฝนและนำความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้าน


7.พระธาตุนาดูนพุทธมณฑลอีสาน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปทวาราวดี ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งหมด ผนังภายนอกพระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหิน บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายบัว เสาบัวต่าง ๆ พร้อมจำลองแบบ พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุ และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐาน บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยพรรณไม้สวนสมุนไพร สวนรุกขเวช พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองโบราณนครจำปาศรี ชมความสวยงามของ พิพิธภัณฑ์เรือนอีสาน จำลองบ้านผู้ไทย บ้านประมง บ้านเครื่องมือดักสัตว์ บ้านผ้าทอ และพิพิธภัณฑ์ทางศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งตกแต่งให้เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
ขอขอบคุณ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) สำนักงานขอนแก่น และ ททท.ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook