ประเพณีใส่บาตรเทียน

ประเพณีใส่บาตรเทียน

ประเพณีใส่บาตรเทียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จังหวัดอื่นมีประเพณีตักบาตรที่น่าสนใจอย่างตักบาตรขนมครก ตักบาตรดอกไม้ สำหรับคนเวียงสาก็มีประเพณี "ใส่บาตรเทียน" ให้กล่าวถึงได้ไม่น้อย หน้าใครเช่นกัน เพราะถือปฏิบัติกันมายาวนานกว่า 200 ปี และเชื่อกันว่าเป็นประเพณีที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก

ประเพณีใส่บาตรเทียนมีที่มาซึ่งต้องย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน สมัยยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงทั่วทุกหัวระแหงดังเช่นปัจจุบัน สมัยนั้นการบวชเรียนคือหนทางการศึกษาที่สำคัญของคนไทย และในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ยามค่ำคืนพระสงฆ์ต้องจุดเทียนไขอาศัยแสงสว่างอ่านศึกษาพระไตรปิฎก มีบ่อยครั้งที่เทียนไขหมดกลางคัน พระท่านจะไปซื้อหาก็ไม่สะดวก ชาวบ้านทราบดังนั้นก็นิยมนำเทียนไขไปถวาย นอกจากถวายเพื่อพระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์ให้มีปัญญาสว่างไสวดังแสงเทียนด้วย

ต่อมาจึงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นประเพณีใส่บาตรเทียน ซึ่งผู้รู้ชาวเวียงสาสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2344 หลังเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญสร้างวิหารวัดบุญยืนได้ 1 ปี จากนั้นก็ถือปฏิบัติสืบต่อกันทั่วจังหวัดน่าน กระทั่งระบบการส่งกระแสไฟฟ้าพัฒนาขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีไฟฟ้าใช้ตลอดวัน ความจำเป็นต้องใช้เทียนไขก็ลดลง พร้อมๆ กับความนิยมใส่บาตรเทียนก็ค่อยๆ จางหาย จนปัจจุบันคงเหลือสืบสานต่อก็เฉพาะที่เวียงสานี้ประเพณีใส่บาตรเทียนของคนเวียงสาจัดขึ้นที่วัดบุญยืน ซึ่งเป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภอและพระเถระอาวุโสอยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต โดยกำหนดทำพิธีในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 หรือ 1 วันหลังวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่คณะสงฆ์มีพิธีกรรมสำคัญ คือพิธีสูมาคารวะ หรือพิธีขอขมาเจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่

จุดประสงค์คล้ายกับวันไหว้ครูของฆราวาส ดังนั้นในวันนี้จึงมี 2 พิธีสำคัญ และนับเป็นวันสำคัญทางการศึกษาของคนน่านมาแต่อดีตเช้าวันงานพระภิกษุสามเณรในวัดทั่วเวียงสานับร้อยรูปและชาวบ้านจะเข้ามากราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถ พร้อมกับนำน้ำส้มป่อย น้ำอบ มารินลงในพานดอกไม้ธูปเทียนที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ พิธีใส่บาตรเทียนจะเริ่มขึ้นหลังพระสงฆ์ฉันเพลแล้ว โดยพระสงฆ์จะเดินเป็นขบวนลงมาจากอุโบสถ นำเทียนไขที่เตรียมมาใส่ลงในบาตรที่ตั้งเรียงรายบนโต๊ะด้านหน้า จากนั้นฆราวาสจะต่อแถวเดินนำเทียนไขพร้อมดอกไม้ใส่ลงในบาตร กว่าขบวนคนร่วมร้อยจะใส่บาตรครบ เทียนและดอกไม้ก็ล้นพูน เปรียบดังความศรัทธาอันเปี่ยมล้นของชาวพุทธหลังใส่บาตรเสร็จสิ้น พระภิกษุและสามเณรจะเดินกลับเข้าไปในอุโบสถเพื่อทำพิธีสูมาคารวะแก่พระแก้ว 5 โกฐาก ได้แก่ พระรัตนตรัยทั้งสาม พระกรรมฐาน และพระอาจารย์ผู้สอนกรรมฐาน

รวมถึงขอขมาเจ้าคณะอำเภอและพระเถระชั้นผู้ใหญ่ โดยเรียงลำดับตามอายุพรรษา พระสงฆ์ที่อ่อนพรรษากว่าจะกราบไหว้และถวายพานดอกไม้ธูปเทียนแด่พระสงฆ์ผู้ใหญ่อย่างนอบน้อม เมื่อเสร็จสิ้นพิธีคณะสงฆ์จะแบ่งเทียนและดอกไม้ ห่อด้วยผ้าอาบน้ำฝนนำกลับวัด เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมภายในวัด หรือนำมาหล่อรวมกันทำเป็นเทียนพรรษา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452-1118, 0-5452-1127

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook