เงาสะท้อนจากภาพจิตรกรรมวัดหนองบัว

เงาสะท้อนจากภาพจิตรกรรมวัดหนองบัว

เงาสะท้อนจากภาพจิตรกรรมวัดหนองบัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แสงของเที่ยงวันสาดส่องผ่านช่องประตูหน้าต่างไล่ความสลัวภายในวิหาร เผยภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุนับ 100 ปีให้กระจ่างชัด ใครจะรู้ว่า ภาพที่ถูกขีดเขียนและแต่งแต้มด้วยสีสันอย่างประณีตงดงามนี้ ซ่อนความเป็นมาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชนผู้อพยพมาจากดินแดนอันไกลโพ้นไว้เบื้องหลัง

เมื่อมาถึงวัดหนองบัว ต. ป่าคา ในอำเภอเดียวกันนี้ก็เกือบเที่ยง เสียงสะล้อ ซอ ซึง แว่วมาต้อนรับเราถึงประตูรถ พาให้ต้องชะเง้อหาต้นเสียง กลุ่มคุณลุงแห่งบ้านหนองบัวนั่นเองที่รวมตัวกันบรรเลงเพื่อมอบความสุขให้แก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมชมจิตรกรรมในวิหารซึ่งได้ชื่อว่าสวยงามมากแห่งหนึ่งของเมืองน่าน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการมาเยือนที่นี่ ครั้งนี้เราจึงมุ่งหวังจะรู้ลึกไปถึงความหมายของจิตรกรรมที่เคยผ่านตา และติดต่ออาจารย์สง่า อินยา รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ชาวหนองบัวโดยกำเนิด ให้เป็นผู้ช่วยไขความรู้ซึ่งแฝงอยู่ในภาพจิตรกรรม

วัดหนองบัว ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองบัว หมู่บ้านชาวไทลื้อซึ่งมีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองล้า แคว้นสิบสองปันนาของจีน ในปี 2345 ตามนโยบาย "เก็บผ้าใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ของเจ้าสุมนเทวราช เจ้าเมืองน่าน ที่ต้องการเพิ่มฐานประชากรหลังผู้คนเสียชีวิตในสงครามกับพม่า เจ้าสุมนเทวราชร่วมกับราชสำนักสยาม ทำสงครามยึดเชียงตุงและเชียงรุ่งในแคว้นสิบสองปันนา ครั้งนั้นเจ้าเมืองน่านตีเมืองต่างๆ อันตั้งอยู่โดยรอบและกวาดต้อนคนไทลื้อมาไว้ในเมืองน่าน

ชาวไทลื้อได้กระจายไปตั้งถิ่นฐานตามที่ราบต่างๆ หนึ่งในนั้นคือบ้านหนองบัว ซึ่งตั้งอยู่ริมหนองบัวอันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน (ปัจจุบันไม่มีหนองบัวนี้แล้ว) มีการสันนิษฐานว่า วัดหนองบัวสร้างขึ้นในปี 2315 บริเวณริมหนองบัวดังกล่าว แต่ในปี 2405 ซึ่งตรงกับสมัยที่พระสุนันต๊ะหรือครูบาหลวงเป็นเจ้าอาวาส เกิดน้ำท่วม จึงย้ายมาสร้างใหม่บนเนินดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

>>>ชมความงามข้างหลังภาพ

เวลาเที่ยงวันแม้แสงอาทิตย์จะร้อนแรงเหมือนต้องการแผดเผาทุกสิ่ง แต่แสงเดียวกันนี้เองที่สะท้อนกระจกสี ส่งให้วิหารหนองบัว ดูเรืองรองงดงามวิหารนี้มีสถาปัตยกรรมไทลื้อแบบ "เตี้ยแจ้" หรือทรงโรง ซึ่งโดดเด่นด้วยหลังคาทรงจั่วเป็นชั้นลดหลั่นกัน หน้าจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักรูปดอกลอยอันเป็นลวดลายดั้งเดิมของไทลื้อแล้วประดับกระจกสี

ด้านหน้าเป็นมุขโถงที่สร้างครอบบันได มีหน้าจั่วลายเครือเถา สันหลังคาประดับด้วยปูนปั้นรูปนกหัสดีลิงค์ สัตว์มงคลซึ่งคนไทลื้อเชื่อว่าเป็นพาหนะที่นำขึ้นสู่สวรรค์ บริเวณราวบันไดมีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์จากกรุงเทพฯ ตามคติของชาวล้านนา เชื่อกันว่า สิงห์จะคอยปกป้องพุทธศาสนา พักชมความสวยงามของวิหารอยู่ครู่หนึ่ง อาจารย์สง่าก็มาถึง

หลังกล่าวทักทายและแนะนำตัว อาจารย์ได้นำพวกเราชมภาพจิตรกรรมด้านในวิหาร แม้วิหารจะโอ่โถงชวนให้ตื่นตาตื่นใจแต่ก็เทียบไม่ได้กับความอลังการของงานจิตรกรรมที่วาดบนผนังเกือบทุกตารางนิ้ว

นางเทวสังกาสู้กับเจ้าเมืองอื่นที่ต้องการมาแต่งงานด้วย พิสูจน์รักแท้ที่มีต่อจันทคาธ

"ช่างที่วาดชื่อหนานบัวผัน คำว่า ‘หนาน' แปลว่าทิดหรือคนที่เคยบวชเรียนแล้ว บางคนก็ว่าเป็นชาวไทลื้อ บางคนก็เชื่อว่าเป็นไทพวน แต่ศิลปินบางท่านอย่าง วินัย ปราบริปู บอกว่าน่าจะเป็นชาวไทลื้อ เพราะคำบรรยายใต้ภาพจิตรกรรมเป็นภาษาไทลื้อ และแบบแผนในการวาดยังคล้ายกับวัดไทลื้อในที่ต่างๆ นอกจากนี้หนานบัวผันยังมีชื่อเสียงในแวดวงช่างไทลื้อด้วย"อาจารย์สง่าเริ่มบรรยายจากด้านขวาของพระประธาน

ภาพชาวต่างชาติและผู้คนสวมเสื้อราชปะแตน นุ่งโจงกระเบนซึ่งไม่ปรากฏในจิตรกรรมไทลื้อมาก่อน

"ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือเรื่องจันทคาธชาดก และพุทธประวัติ จันทคาธชาดก เป็นหนึ่งใน ปัญญาส-ชาดกปัจฉิมภาค ที่แต่งขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวล้านนา ได้รับความนิยมมากในล้านนาและล้านช้าง เวลาที่จะดูภาพเรื่อง จันทคาธชาดก ต้องเริ่มจากทิศเหนือของวิหารคือตรงนี้"อาจารย์เล่าถึงเนื้อเรื่อง จันทคาธชาดก โดยย่อว่า ในเมืองจำปามีสองพี่น้องชื่อจันทคาธและสุริยคาธ ถูกพ่อแม่ไล่ออกจากบ้านเพราะไม่มีความกตัญญู เดินร่อนเร่ในป่าจนพบไม้ชุบชีวิตระหว่างเฝ้าสังเกตการต่อสู้กันของงูกับพังพอน แล้วนำไปช่วยเหลือกาซึ่งถูกฤๅษีสาปให้ตาย ช่วยยักษ์ที่ตายไปให้ฟื้นจนยักษ์ช่วยเหลือทั้งสอง ต่อมาทั้งสองเดินหลงเข้าไปในเมืองกาสี ซึ่งเจ้าเมืองประกาศค้นหาคนชุบชีวิตธิดาของตน

สุริยคาธสามารถชุบชีวิตนางได้จึงได้เป็นเจ้าเมือง ส่วนจันทคาธเดินทางต่อจนไปพบเศรษฐีซึ่งสูญเสียนางเทวสังกาลูกสาว จึงเข้าช่วยเหลือและได้แต่งงานกับนาง ก่อนจะพลัดพรากกันระหว่างล่องเรือไปค้าขาย สองหนุ่มสาวต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายสิ่งแล้วจึงได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขพวกเรากวาดสายตาตามเนื้อหาของภาพจิตรกรรมซึ่งวางตัวจากทิศเหนือมาใต้และวกกลับไปทิศเหนือตามผนังวิหาร ภาพแต่ละภาพนอกจากสวยงามเปี่ยมสุนทรียะทางศิลปะแล้ว ยังสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทลื้อ เช่นวัฒนธรรมการแต่งกาย"

หญิงไทลื้อจะนุ่งซิ่น ลวดลายของซิ่นมีทั้งหมด 7 ประเภท คือ ซิ่นม่าน ซิ่นก๋าน ซิ่นเชียงแสน ซิ่นน้ำไหล ซิ่นไทลื้อ ซิ่นป้อง ซิ่นคำเคิบ และนิยมเกล้าผมมวย โพกหัวด้วยผ้าสีขาว

ภาพระบบคูคลองและท่าเรือ ทำให้เชื่อได้ว่าจิตรกรเคยเดินทางไปกรุงเทพฯ

ส่วนผู้ชายนิยมนุ่งผ้าต้อยผืนเดียวเพื่อให้เห็นลายสักที่สักตั้งแต่ต้นขาไปจนถึงเข่า แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและอดทนต่อความเจ็บปวด ผู้ชายคนไหนไม่สัก ผู้หญิงจะไม่แต่งงานด้วย"

บางภาพยังสะท้อนถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและศิลปะระหว่างเมือง "ศิลปินบางคนเชื่อว่า หนานบัวผันเคยเดินทางไปกรุงเทพฯ เพราะถ้าหนานบัวผันไม่ไปเห็น จะไม่สามารถวาดภาพปราสาท ชาวต่างชาติ เรือสำเภาแบบฝรั่ง ระบบคลองและสะพาน ซึ่งล้วนไม่ได้มีในน่าน"ภาพชนชั้นสูงในเรื่อง จันทคาธชาดก ผู้ชายจะใส่เสื้อคล้ายเสื้อราชปะแตนและนุ่งโจงกระเบนอย่างที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ส่วนผู้หญิงนุ่งห่มผ้าสไบและโจงกระเบน บางภาพอย่างภาพพระพุทธเจ้าทรงไสยาสน์ ยังคงเห็นอิทธิพลของศิลปะพม่า

พระประธานในวิหารววัดหนองบัว ศิลปะพื้นถิ่น

แม้พม่าไม่ได้ปกครองเมืองน่านแล้วก็ตามพวกเราท่องโลกของไทลื้อผ่านภาพจิตรกรรมอยู่นาน จนมาถึงภาพตอนสุดท้ายของชาดกนี้ "เรื่องนี้สอนเกี่ยวกับความกตัญญู การเสียสละต่อส่วนรวม ความซื่อสัตย์และความกรุณา เป็นกุศโลบายไว้สอนลูกหลานของชาวไทลื้อ" คำพูดของอาจารย์สง่าส่งให้ภาพจิตรกรรมมีคุณค่ามากกว่าภาพวาดทางศิลปะที่เห็นเพียงเบื้องหน้า ด้วยเรื่องราวเบื้องหลังภาพนั้นงดงามยิ่งหากผู้ชมงานจะได้ล่วงรู้ถึงความหมาย

>>>จากจิตรกรรมสู่วิถีไทลื้อ ในหมู่บ้านหนองบัว

ชะเง้อไปดูด้านนอก แดดร่มลมตกพอดี อาจารย์สง่าเอ่ยปากชวนพวกเราไปเรียนรู้วิถีไทลื้อของจริงด้านหลังวิหาร เดินไปไม่ไกลก็พบเรือนไม้ใต้ถุนสูงตั้งตระหง่านต้อนรับพวกเรา หลังคาจั่วของบ้านมุงด้วยแป้นเกล็ดซึ่งทำจากไม้ตัดถากเป็นรูปกระเบื้องปลายมนมีลายไม้เป็นร่องช่วยระบายน้ำ บ้านหลังนี้มีบันไดขึ้นลงเพียงด้านเดียว คลุมด้วยหลังคาที่สร้างเชื่อมต่อจากหน้าจั่วบันไดสูงนับขั้นได้นำพวกเราเข้าสู่ตัวบ้าน ดูเผินๆ บ้านไทลื้อคล้ายกับบ้านไทยภาคกลาง แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างไป

บ้านไทลื้อแบบดั้งเดิมบริเวณหลังวิหารวัดหนองบัวที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้

โดยเฉพาะการจัดสัดส่วนของบ้าน "หัวค่อม" หรือ "เติ๋น" พื้นที่รับแขก อยู่ทางด้านซ้ายของบันไดหรือกลางบ้าน และยกพื้นขึ้นมาจากชานบ้านที่เชื่อมหลายส่วนเข้าด้วยกัน ทั้ง "จานก่อ" พื้นที่สำหรับซักล้าง และยุ้งฉางซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของบ้าน ไทลื้อจะสร้างยุ้งฉางสูงกว่าบ้าน เพราะถือว่าข้าวเป็นของสูง อีกส่วนที่สำคัญคือห้องนอน พื้นที่สงวนสำหรับเจ้าของบ้าน ภายในห้องจะแบ่งด้วย "ผาเสื่อก่อ" ลักษณะคล้ายกับผ้าห่มซ้อนๆ กันหลายชั้น กั้นพื้นที่ระหว่างพ่อแม่กับลูกอาจารย์ให้ข้อมูลเสริมว่า "เมื่อลูกชายโตเป็นหนุ่มจะต้องมานอนนอกห้อง หรือถ้าแม่เสียชีวิต พ่อจะต้องมานอนด้านนอก"ในห้องนอนจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องครัว มีกระบะไม้อัดดินเหนียวจนแน่น วางก้อนเส้าหรือหินสามก้อนสำหรับก่อไฟทำอาหาร

ด้านบนแขวนตะแกรงไม้ไผ่สำหรับวางเนื้อหรือปลาเพื่อรมควันใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และทอผ้า ชาวไทลื้อเรียกกี่ทอผ้าว่า "ฮูก" ช่วงว่างเว้นจากการทำนาหญิงไทลื้อจะมาปั่นฝ้ายและทอผ้าใช้เอง ใต้ถุนบ้านหลังนี้ยังจัดเป็นร้านขายผ้าทอไทลื้อลายน้ำไหลซึ่งเป็นฝีมือของชาวบ้านอีกด้วย

ผ้าทอลายน้ำไหล หนึ่งในลวดลายของไทลื้อ

"ปัจจุบันในหมู่บ้านหนองบัวไม่มีบ้านไทลื้อแบบดั้งเดิมแล้ว แต่ถึงหลายอย่างจะเปลี่ยนไป ชาวไทลื้อที่นี่ก็ยังสืบทอดขนบประเพณีดั้งเดิมจากปู่ย่าตายายอยู่ อย่างประเพณีเลี้ยงเจ้าหลวงเมืองล้า" อาจารย์เล่าเพิ่มเติมว่า ที่หมู่บ้านจะมีงานประเพณีเลี้ยงเทวดาหรือประเพณีก๋ำเมืองในทุก 3 ปี 4 ร่วงข้าว หรือทุกๆ 4 ครั้งของการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี เทวดาประจำบ้านหนองบัวคือเจ้าหลวงเมืองล้า ผู้เกี่ยวพันกับตำนานการอพยพ ชาวไทลื้อนับถือผีซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวอุษาคเนย์ เทวดาประจำบ้านก็นับว่าเป็นผีเช่นกัน แต่เป็นผีดี ไม่ใช่ผีร้าย ในช่วงพิธีเลี้ยงเจ้าหลวงเมืองล้า ชาวบ้านจะนำวัว ควาย อย่างละตัว และไก่ ไปเลี้ยงผีหรือเลี้ยงเทวดาที่อนุสาวรีย์เจ้าหลวงฯ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดหนองบัว ด้วยความอยากรู้ พวกเราจึงขอให้อาจารย์สง่านำไปยังอนุสาวรีย์ฯ

อนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองล้า เทวดาประจำหมู่บ้านไทลื้อ

เดินลัดเลาะในหมู่บ้านไปราว 600 เมตร เราก็พบ อนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองล้า ในอิริยาบถยืนถือง้าว สะพายถุงย่าม ตั้งอยู่กลางลานโล่ง ด้านหลังเป็นซุ้มเทวดาผู้ติดตาม อาจารย์ชี้ให้พวกเราดูหลักไม้และกล่าวว่า "หลักไม้สองหลักนี้ เมื่อก่อนชาวบ้านจะนำควายมาผูกไว้หลักหนึ่ง วัวผูกไว้อีกหลักหนึ่งแล้วเชือด แต่ปัจจุบันนี้พวกเราไม่ทำแล้ว จะผูกตอนทำพิธีแล้วนำไปเชือดภายหลังในที่มิดชิดหน่อย ส่วนไก่ซึ่งนำไป สักการะผู้ติดตาม ไม่โดนเชือด แต่จะปล่อยให้วิ่ง ใครคนไหนจับได้ถือเป็นเรื่องโชคดี นำไปเลี้ยงแล้วครอบครัวจะเจริญรุ่งเรือง ชาวบ้านเชื่อว่าการเลี้ยงเทวดาทำให้หมู่บ้านสงบสุขและอุดมสมบูรณ์"จากอนุสาวรีย์ฯ อาจารย์ชวนพวกเราเดินกลับมาหน้าวัดหนองบัว วันนี้พวกเราได้รู้แล้วว่า ข้างหลังภาพจิตรกรรมวัดหนองบัวก็คือความเป็นไทลื้อนั่นเอง

ใครสนใจพักที่โฮมสเตย์บ้านหนองบัว ติดต่อที่ผู้ใหญ่แทน เทพเสน โทร. 08-9265-7404หรือที่ อุหลั่น จันต๊ะยอด โทร. 08-4365-6177


ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook