เดินๆ กินๆ ถิ่นสามแพร่ง

เดินๆ กินๆ ถิ่นสามแพร่ง

เดินๆ กินๆ ถิ่นสามแพร่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันหยุดยาวๆ ติดๆ กันในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถนนหนทางในกรุงเทพฯ นั้นเรียกว่าเบาบางลงไปถนัดตา จะด้วยเพราะรถราทั้งหลายพร้อมใจกันหนีเมืองกรุงหรือไม่อยากออกมาสุงสิงกับท้องถนนให้เปลืองค่าน้ำมันค่าก๊าซ (ที่แสนแพง) ก็สุดแท้ แต่ก็ลดความวุ่นวายที่น่าเบื่อหน่ายลงไปอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อกรุงเทพฯ ไม่วุ่นวาย วันหยุดของเราก็เลยเป็นวันสบายๆ ที่ชวนให้ครึ้มอกครึ้มใจอยากออกไปเดินเล่นบ้าง จึงตัดสินใจฝ่าลมร้อน เลิกนอนอืดตีพุง มุ่งหน้าสู่ย่านถ.ตะนาว ออกย่ำเท้าตามรอยเมืองเก่ารอบเขตพระนครในย่าน "สามแพร่ง" ถิ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นเสน่ห์บางกอกมาช้านาน ด้วยเพราะเป็นย่านที่มีประวัติความเป็นมา เคยเป็นย่านที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู แม้แต่ปัจจุบันก็ยังคงเอกลักษณ์แห่งวันวานไว้เล่าขานให้ลูกหลานอย่างพวกเราได้เรียนรู้ และที่ดูจะเป็นของดีของเด่นแห่งย่านนี้ ก็เห้นจะหนีไมพ้นร้านรวงต่างๆ ที่เป็นต้นตำรับของความอร่อยในตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

สามแพร่งแห่งพระนคร ประกอบด้วย แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ ในอดีตถือเป็นย่านแห่งความก้าวหน้าทันสมัยทั้งจากการค้าขายและศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรมตามความนิยมของเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ที่นำมาเผยแพร่ทั้งยังเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูง ส่วนคำว่า "แพร่ง" นั้น แปลว่า ทางออก สามแพร่ง จึงหมายถึงทางออก 3 เส้นที่มาบรรจบกันของถ.ตะนาวซึ่งปัจจุบันกลายเป็นถนนสายหลักของย่านนี้

วัฒนธรรมการกินของชาวสามแพร่งที่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่จึงแผ่มายังผู้คนที่ผ่านไปมาได้ฝากท้อง สามแพร่งในปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นย่านแห่งอาหารการกินต้นตำรับอันโอชะ หลายร้านยังคงสืบทอดตำนานความอร่อยมาหลายชั่วรุ่น ขณะที่อีกไม่น้อยก็ล้มหายตายจากเหลือแค่ความทรงจำ แต่กระนั้นก็ยังหลงเหลือร้านอร่อยต้นตำรับที่เราอยากจะแนะนำหากใครอยากจะเดินชิลล์หิ้วท้องไปฝากที่สามแพร่งผ

เริ่มกันที่ "แพร่งภูธร" เส้นนี้จัดว่ารวบรวมร้านเด่นดังเอาไว้แทบจะตลอดทั้งเส้น แถมด้วยความที่อยู่ชิดติดกับถ.ตะนาว มีเสาชิงช้าและศาลเจ้าพ่อเสือเป็นแลนด์มาร์คให้จดจำ หลายคนจึงตั้งต้นที่แพร่งภูธรก่อนจะต่อไปยังอีกสองแพร่งที่เหลือ เราประเดิมท้องว่างๆ ด้วยจานหนักเติมพลังที่ร้าน "ไทยทำ" มีเกาเหลาสมองหมูเป็นเมนูเอก ร้านนี้เป็นร้านประจำของข้าราชการหลายยุคสมัย และหากใครไม่รู้ ร้านไทยทำนี่แหละคือร้านแรกที่ได้รับตรา "เชลล์ชวนชิม" จากคุณชายถนัดศรีมากว่า 50 ปีแล้ว เมื่อร้านยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงวันนี้จึงถือเป็นความน่าทึ่ง กิตติศัพท์ความอร่อยของเกาเหลาสมองหมูไทยทำคือความสดของเครื่องเคราที่ใส่ใจจนได้ทุกชามที่หอมหวานกลมกล่อมและไม่มีความคาว แกล้มให้กลมกล่อมด้วยกุนเชียงตับแก้วสูตรโบราณที่หาทานยาก ก็ไม่อยากได้อาหารเหลาที่ไหนมาทดแทน อีกร้านอร่อยที่ชวนให้ชิมคือ "บะหมี่แพร่งภูธร" บะหมี่เก่าแต่เก๋าด้วยสูตรกวางตุ้ง เจ้านี้เด่นดังที่บะหมี่ปูและหมูแดงย่างไฟหอมหวลไม่เติมสี และเอกลักษณ์ที่เส้นบะหมี่แบนฝอยนุ่มเหนียว และหากส่องไปยังฝั่งตรงข้ามของร้านก็จะเป็นที่ตั้งของร้านข้าวเหนียวมูน "ก.พานิช" ต้นตำรับข้าวเหนียวมูนและข้าวเหนียวมะม่วงแห่งพระนคร แม้ปัจจุบันจะปรับเสริมเพิ่มรายการขนมหวานอย่างสังขยา ขนมถ้วยตะไล และของหวานไทยๆ อีกหลากหลาย แต่รสชาติหอมมันของข้าวเหนียวมูนอันเป็นเอกลักษณ์ก็ยังคงอยู่

เดินดุ่มมาอีกเดี๋ยวก็มาถึง "แพร่งนรา" อันเป็นเส้นกึ่งกลางะหว่างทั้งสามแพร่ง แพร่งนราดูจะมีความโดดเด่นในด้านของสถาปัตยกรรมเพราะเดิมเคยเป็นที่ตั้งของวังวรวรรณ ที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต้นราชสกุลวรวรรณ ก่อนจะถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นถนนขยายเมือง ส่วนหนึ่งของร่องรอยความงามที่ยังหลงเหลือคืออาคารเรียนของโรงเรียนตะละภัฏศึกษาหรือโรงละครปรีดาลัยเก่า นั่นคืออาหารตาอาหารใจที่เสริมให้อาหารปากของย่านนี้มีมนต์ขลัง โดยเฉพาะขนมเบื้องไทยโบราณที่น่าจะเหลือเพียงเจ้าเดียวที่ยังคงสูตรดั้งเดิมแบบที่เคยทำถวายเจ้านายในวัง สูตรต้นเครื่องชาววังนอกจากจะมีหน้ากุ้งหอมมัน มาที่นี่ก็ยังจะได้ลิ้มลองกับไส้หวานที่หาทานยากด้วยเครื่องเคราอย่างฟักเชื่อม ลูกพลับแห้ง ประดับอยู่บนแผ่นแป้งกรอบบางไม่เหมือนที่ไหน

ย่านสุดท้ายที่เติมเต็มความหมายของสามแพร่ง คือ แพร่งสรรพศาสตร์ ด่านท้ายสุดก่อนออกสู่ถ.ตะนาวเพื่อมุ่งหน้าไปศาลเจ้าพ่อเสือและสถานที่สำคัญอื่นๆ รอบพระนคร แม้สิ่งที่ยังหลงเหลือให้รำลึกถึงอดีตอันเรืองรองของแพร่งสรรพศาสตร์จะมีเพียงซุ้มประตูวังให้รำลึกความหลังจากครั้งที่ถูกไฟไหม้ แต่ก็ใช่ว่าเสน่ห์ของย่านนี้จะหายไปด้วย หากใครได้ผ่านไปเส้นนี้ ของดีที่นึกถึงเป็นอย่างแรกร้อยทั้งร้อยจะบอกตรงกันว่าเป็นร้านเผือกหิมะเจ๊นีที่อยู่เยื้องกับศาลเจ้าพ่อเสือ เผือกทอดเคลือบน้ำตาลหวานมันของเขานั้นขายดีถึงขนาดที่ต้องโทรจองโทรสั่งกันล่วงหน้าถ้าอยากจะกินร้อนๆ เหล่านี้ล้วนเป็นของดีแห่งสามแพร่ง ที่ไม่ว่าจะแวะมาอิ่มอร่อยเอาแรง อร่อยเอาจริง หรืออร่อยอิงบรรยากาศ ก็รับรองได้ว่าทุกๆ รสชาดของสามแพร่งคือรสชาดที่หาจากที่ไหนไม่ได้

นี่คือความเป็นไปของสามแพร่งในปัจจุบันยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยมรดกแห่งวันวานที่โดดเด่นที่สุดคือตึกเก่าทรงชิโนโปรตุกีส ที่แม้จะไม่สมบูรณ์เช่นครั้งอดีต แต่ก็กลายเป็นร่องรอยแห่งกาลเวลาอันวิเศษ เฉกเช่นเดียวกับที่ชาวบ้านในย่านนี้ก็ยังคงภักดีกับวิถีชีวิตและความผูกพันกับเอกลักษณ์ของย่าน หากใครได้ผ่านไปแถวย่านนั้นก็จะสัมผัสได้ถึงเอกลักษณ์ในแบบของชาวสามแพร่ง หรือชาวบางกอกขนานแท้ที่เราคงอยากเก็บรักษาก่อนที่หน้าตาของ "บางกอก" จะเลือนหายไปพร้อมกับการมาเยือนของวันเวลาที่วุ่นวายและการล้มหายของบรรพบุรุษที่สร้างต้นแบบแห่งพระนครไว้ให้เรา

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook