ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตอน...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตอน...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตอน...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากคราวที่แล้ว สำหรับตัวฉันเองแล้ว ยังไม่จุใจกับการซึมซับเรื่องราวของป่าชายเลน ทำให้ในครั้งนี้ฉันจึงตัดสินใจกลับไปทำความรู้จักกับป่าชายเลนอีกครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเดิม คือ ตามรอยพระราชา แบบฉบับตามหาป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำน้อยใหญ่สามารถอยู่รอดได้ ชาวบ้านเองก็มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเรื่องราวของปลาพะยูน ที่ทำให้เราได้รับรู้ว่า พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ณ อ่าวคุ้งกระเบนแห่งนี้


เราเดินทางมาถึงกันช่วงสายๆ โดยมีคุณศิรารัตน์ คณะเมฆ มารอต้อนรับและเป็นผู้ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของศูนย์ฯ แห่งนี้ ซึ่งคุณศิรารัตน์เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของอ่าวคุ้งกระเบน และกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์ได้จัดทำขึ้นเพื่อชาวบ้านในละแวกนี้ว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตที่ดินชายฝั่งทะเล จังหวัดจันทบุรี โดยแบ่งเป็นกองงานต่างๆ อาทิ งานประมง การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ ที่ทำให้เราเห็นการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน ม้าน้ำ อย่างใกล้ชิด มีงานปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ไว้จำหน่าย รวมทั้งงานวิชาการเกษตร การปลูกข้าว ปลูกผักพื้นบ้าน ซึ่งฉันเองก็ได้อุดหนุนข้าวกล้องของที่นี่กลับบ้านด้วย และตอนเช้าๆ จะมีขายผักสดๆ สีเขียวน่ากินมาก และยังมีกะปิ น้ำปลา และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ศาลาสุขใจนั่นเอง และเมื่อเราได้เรียนรู้ภาคส่วนงานต่างๆ และอุดหนุนสินค้ากันตั้งแต่เริ่มเดินทาง คุณศิรารัตน์ได้พูดออกมาอย่างสุขใจว่า "เมื่อมีโครงการฯ นี้ขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านหรือเกษตรกรในละแวกนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้ก็สมดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการก่อตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นค่ะ" เราเองก็พลอยยิ้มและยินดี ทั้งยังซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราอย่างล้นใจ

ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ และปลาพะยูนที่ตามหา

ไฮไลท์ของการมาที่นี่ คงจะอยู่ที่ทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน และในจุดนี้ได้มีวิทยากรผู้ให้ความรู้คือ คุณวัชรี ศรีทองคำ ที่ได้พาเราเดินเข้าสู่สะพานไม้ที่ทอดตัวยาวเข้าสู่ดินแดนแห่งต้นโกงกาง "สะพานไม้ที่เราเดินอยู่ ทำจากไม้ตะเคียนทอง ระยะทางที่เราศึกษาธรรมชาติประมาณ 2 กิโลเมตรกว่าๆ เป็นการเดินรอบเดียวจบ ไม่มีการย้อนกลับ เมื่อเดินเข้าไปเรื่อยๆ ก็จะเจอศาลาสื่อความหมายตั้งอยู่เป็นระยะ ทั้งหมด 10 ศาลาด้วยกัน ด้านในเราจะเจอกับหอดูนกที่สูงประมาณ 15 เมตร ดูนกได้ตลอดปี มีจุดลงเรือคายัคให้ได้พาชมพื้นที่ปากอ่าว แต่ต้องเป็นช่วงน้ำขึ้นประมาณเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ช่วงนี้น้ำทะเลจะลดกลางวัน"
เดินกันพักใหญ่ก็ออกมาเจอเวิ้งปากอ่าว ที่กว้างสุดสายตา และมีอนุสรณ์รูปปั้นปลาพะยูนหรือหมูดุดตั้งอยู่

ซึ่งคุณวัชรีเล่าให้ฟังว่า "เมื่อก่อนนี้เคยมีพะยูนเข้ามาอาศัย เพื่อที่จะมากินหญ้าทะเลที่อ่าวคุ้งกระเบน พอหลังจากนั้นพะยูนเริ่มห่างหายไปจากอ่าวคุ้งกระเบนอีกครั้ง แต่ประมาณปี 2549 ก็เริ่มมีพะยูนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งมาติดที่อวนของชาวประมง มีน้ำหนักตัวราว 200 กิโลกรัม จากนั้นก็ประสานหน่วยงาน เพื่อให้สำรวจการกลับมาของพะยูน ทำให้พบอีก 3-4 ตัวอาจจะเป็นครอบครัวเดียวกัน จากนิมิตหมายที่ดีนี้ ซึ่งคงเป็นเพราะทางศูนย์ฯ ได้ทำการอนุรักษ์หญ้าทะเลขึ้นมาใหม่ประมาณ 617 ไร่ในอ่าวคุ้งกระเบน ทำให้พวกเขาเริ่มกลับคืนถิ่น แต่ตอนนี้ก็ตอบไม่ได้ว่า พวกเขายังอยู่จริงๆ หรือเปล่า เพราะโอกาสที่จะเจอพวกเขามันยากมากค่ะ"

จากนั้นก็ขึ้นหอดูนกที่สูงจนขาสั่น มองภาพปากอ่าวที่โค้งเป็นรูปคล้ายปลากระเบน กับสายลมอ่อนๆ ที่หอบเอาความชื้นและความเค็มมาโดนผิว พอเราเดินลงมาด้านล่าง และเดินผ่านต้นโกงกางเล็ก โกงกางใหญ่ที่เห็นแล้วว่า รากของมันดูแข็งแรงและแน่นหนามาก และมีต้นลำพูทะเลด้วย ซึ่งคุณวัชรีบอกว่า "สมัยก่อนมีหิ่งห้อยเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี เพราะว่าป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์จนแน่น ทำให้หิ่งห้อยไม่ได้สามารถส่องแสงได้ เพราะพวกมันต้องอาศัยพื้นที่ในการส่องแสงเพื่อหาคู่นั่นเอง"

ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 วัน แค่เพียงเท่านี้ก็ทำให้ฉันอิ่มไปกับเรื่องราวต่างๆ ของที่นี่แล้ว ก่อนกลับแวะไปชมอะควาเรียมเล็กๆ ที่บริเวณหน้าหาดแหลมสิงห์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ มาที่นี่สำหรับฉันแล้ว เกินคุ้มจริงๆ ค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โทร. 0 3943 3216-8

ขอขอบคุณ
คุณศิรารัตน์ คณะเมฆ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
คุณวัชรี ศรีทองคำ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนงานป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

 

เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพ : กฤตภาส สุทธิกิตติบุตร

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตอน...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook