กุฎีจีน และ ริมแม่น้ำจันทบูร Old And New Community Place

กุฎีจีน และ ริมแม่น้ำจันทบูร Old And New Community Place

กุฎีจีน และ ริมแม่น้ำจันทบูร  Old And New Community Place
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ชุมชนคือ การอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก ที่หล่อหลอมความคิดของผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ไว้ด้วยกัน โดยไม่ขัดแย้ง พร้อมการดำรงไว้ซึ่งกลิ่นอายของวันวานผสานปัจจุบันได้อย่างลงตัว"

หากเปรียบชุมชนให้ย่อเล็กลงมาเหมือนครอบครัว เราจะพบว่าในบ้านจะมีผู้สูงอายุ วัยผู้ใหญ่ และเด็ก การอยู่ร่วมกันให้มีความสุขนั้น เป็นจุดร่วมสำคัญ เพราะในช่วงวัยและช่วงยุคของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ผู้สูงอายุยังคงอยู่กับยุคที่เขาเคยอยู่ เพราะอยู่ที่เดิมมาอย่างยาวนาน วัยผู้ใหญ่ที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้าน และวัยเด็กที่เติบโตมากับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่า ความคิดของทุกคนย่อมต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้บ้านอบอุ่น และอยู่อย่างเป็นสุขคืออะไร ซึ่งไม่แตกต่างไปจากการอยู่ร่วมกันแบบหมู่มากอย่างชุมชน โดยเฉพาะ "ชุมชนกุฎีจีน เขตธนบุรี กรุงเทพฯ" ตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ พร้อมกับความเก่าและความทันสมัยที่เข้ามา และอีกหนึ่งชุมชนเชิงการท่องเที่ยว อย่าง "ชุมชนริมแม่น้ำจันทบูร อ.เมือง จ.จันทบุรี"

ชุมชมกุฎีจีน


คุณอังสนา ปิ่นรัตน์ เล่าให้ฟังว่า "ชุมชนนี้เกิดมานานแล้วประมาณ 243 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีหลากหลายวัย แต่เราค่อนข้างอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของคนรุ่นหลังกับเด็กรุ่นใหม่ และความเก่าแก่ที่อยู่ร่วมสมัยของบ้านเรือนและวิถีชีวิตที่หมุนไปตามกาลเวลา เพราะที่ชุมชนนี้มีระบบการจัดการที่ดี เรามีกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งเป็นคนที่มีอายุมาก รวมทั้งกลุ่ม ส.ว. เวลาทำงานเราก็จะแบ่งแยกหน้าที่กันไป โดยให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม เพื่อเป็นการผสานความสัมพันธ์ระหว่างวัย โดยทุกๆ เดือนจะมีตัวแทนแต่ละกลุ่มมาประชุมกันที่โบสถ์ แล้วก็นั่งคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่งเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน โดยตัวแทนแต่ละกลุ่มก็จะเสนอปัญหาในกลุ่มของตน จากนั้นก็ช่วยกันคิดหาวิธีการแก้ไข จะแก้ไขยังไง ใครจะรับผิดชอบตรงไหน คนในชุมชนทุกเพศทุกวัยได้ช่วยเหลือกัน โดยไม่มีความแตกต่างในด้านอายุ เด็กก็ไม่รู้สึกว่าเขาต่าง ผู้ใหญ่เองก็ไม่รู้สึกว่าแตกแยก แล้วก็ช่วยกันทำ เพราะฉะนั้นเยาวชนในชุมชนก็จะซึมซับ เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน โดยที่ไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ แต่คิดว่านี่คือสิ่งที่เราทุกคนในชุมชนต้องทำเป็นเรื่องปกติ มันก็จะปลูกฝังซึมซับไปเรื่อยๆ พอโตขึ้น ความรับผิดชอบมันก็มากขึ้น ก็ค่อยปลูกฝังกัน ค่อยเป็นค่อยไป ชุมชนนี้ก็เลยไม่ค่อยแตกแยกกัน และมีจุดร่วมที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ทุกรุ่นทุกวัย ยังคงให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง วัยรุ่นเองก็ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มาก สายสัมพันธ์จึงแน่นและหลุดยาก เวลาจะอนุรักษ์อะไร หรือ ขออาสาอะไร จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ทำให้ชุมชนแห่งนี้ยังคงรอยยิ้มและอดีตที่ผสมเรื่องราวของวันนี้ จากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา"


ชุมชนริมแม่น้ำจันทบูร

คุณประภาพรรณ ฉัตรมาลัย ประธานชมรมพัฒนาชุมชนริมแม่น้ำจันทบูร เล่าให้ฟังว่า "ชุมชนดั้งเดิม ของเมืองจันท์ ซึ่งเป็นชุมชนแห่งแรกที่อยู่ริมแม่น้ำ เป็นเมืองที่สำคัญเพราะเป็นเมืองท่าในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 อีก อย่าง พระองค์ทรงโปรดที่นี่มาก เสด็จมาบ่อย เพราะสบาย ร่มรื่น อากาศดี เราก็เลยเริ่มฟื้นฟูขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2552 เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่า ถนนเส้นนี้ที่อยู่ตรงหน้าเป็นเส้นแรก เราก็เก็บมรดกตรงนี้ไว้ เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านสถาปัตยกรรมแบบจีนกับญวนผสมผสานกัน เราก็ขายอาหาร ขนมต่างๆ ที่เป็นขนมพื้นบ้านแต่เดิมมาเรื่อยๆ แล้วก็ฟื้นฟูขึ้นมาเรื่อยๆ ใครเคยขายอะไรก็ให้ขายแบบนั้นกันต่อ เพราะที่นี่ไม่ใช่ตลาด หากนักท่องเที่ยวมาก็ต้องมาเที่ยวเพื่อดูวิถีชุมชนเดิม ดูการเป็นอยู่ ดูบ้านเรือนสมัยเก่าแก่ ซึมซับอดีตที่ยังมีตัวตน"

"แน่นอนว่ากาลเวลาเปลี่ยนไป ก็ต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะแนวความคิดใหม่ๆ ของเด็กรุ่นใหม่ที่มาเปิดร้านต่างๆ ให้กับที่นี่ เด็กหลายคนเลือกที่จะนำความเก่าของดีของที่นี่มาทำให้สวยกว่าเดิม ซึ่งเป็นจุดร่วมที่ดีที่ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนที่เขารักชุมชนยอมรับได้ หากจะมาทำให้เป็นตลาด ที่นี่คงจะต้องมีการพูดคุยกันยาว และเมื่อที่นี่ได้กลายเป็นชุมชนเชิงท่องเที่ยว ทำให้เราเห็นความสดใสของคนเฒ่าคนแก่ขึ้นมาก จากที่เคยซุกตัวอยู่หลังบ้าน กลับกลายมานั่งยิ้มแป้นต้อนรับแขกอยู่หน้าบ้าน พร้อมยินดีที่จะเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟังอย่างสนุกสนาน เด็กๆ รุ่นหลังเองก็เริ่มกลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง ทำให้น่าอยู่ น่าเที่ยวขึ้น เพราะส่วนใหญ่ที่กลับมาก็เป็นลูกหลานของคนในบ้านนั่นเอง โดยที่เรามอบวิสัยทัศน์ให้ดำรงไว้ซึ่งความมีวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ และมีความสุข ทำอะไรก็ตามให้สอดคล้องกับแบบเดิมที่มีอยู่ ชุมชนแห่งนี้และผู้เฒ่าผู้แก่ของที่นี่ก็ยังคงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตสืบต่อไป"

เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพ : กฤตภาส สุทธิกิตติบุตร / ปกาสิต เนตรนคร

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ กุฎีจีน และ ริมแม่น้ำจันทบูร Old And New Community Place

กุฎีจีน
 ริมแม่น้ำจันทบูร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook