มาด้วยกัน มาด้วยกัน เที่ยวสุพรรณเอ๋ย...

มาด้วยกัน มาด้วยกัน เที่ยวสุพรรณเอ๋ย...

มาด้วยกัน มาด้วยกัน เที่ยวสุพรรณเอ๋ย...
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาเยือน สุพรรณบุรี ทั้งที ขอร้องทำนองเพลงเลือดสุพรรณ ประพันธ์โดยหลวงวิจิตรวาทการ เสียหน่อยเถอะ "มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย" หากเอ่ยถึงเพลงนี้ เชื่อว่าส่วนใหญ่คงรู้จัก เผลอๆ ร้องคลอกันได้ด้วยซ้ำ ด้วยเพลงเลือดสุพรรณ เป็นเพลงฮึกเหิมที่ปลุกใจให้คนไทยรักชาติ เนื้อเพลงเกี่ยวกับการศึกระหว่างไทยและพม่า เนื่องจากดินแดนแถบนี้ล้วนเป็นยุทธภูมิที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นเมืองหน้าด่าน ผ่านศึกมานับไม่ถ้วน ครั้งที่สำคัญคือ ชัยชนะแห่งสงครามยุทธหัตถี ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราช ณ สมรภูมิ ดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี จึงดึงดูดใจคนรักประวัติศาสตร์มิใช่น้อย

ครั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญไปร่วมงานแถลงข่าวการจัดงานประเพณีบั้งไฟดอนคา และการจัด "โครงการประกวดเงาเสียงนักร้องลูกทุ่งเมืองสุพรรณฯ" พร้อมพาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จึงสบโอกาสที่จะรู้จักเมืองสุพรรณบุรี ก่อนจะขอก้าวเป็นคนรู้ใจให้มากยิ่งขึ้น

จุดเริ่มต้น...รู้จักสุพรรณบุรี

เริ่มต้นกันที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี" ใช้เวลาเดินราว 45 นาที คุณจะรู้จักสุพรรณบุรี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึง สุพรรณบุรีวันนี้ในปี 2555 ห้องที่สำคัญคือห้องเมืองสุพรรณ จัดแสดงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มจากสมัยหินใหม่ เมื่อ 3500 ปีก่อน เมื่อมนุษย์รู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร แม้จะเริ่มต้นแต่โบราณ แต่ก็มีโบราณวัตถุล้ำค่าให้ได้ชม เช่น หม้อสามขา ในห้องนี้ยังจัดแสดงบริเวณที่ตั้งเมืองสุพรรณบุรี ที่มีร่องรอยการสร้างเมืองซ้อนทับกัน 2 สมัย เมืองสมัยแรกครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ส่วนสมัยหลังมีขนาดเล็กลงและตั้งอยู่เฉพาะบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ก่อนจะย้ายตัวเมืองมาตั้งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรีจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่าย้ายเมืองในสมัยราชกาลที่ 5

ถัดมาคือห้องคนสุพรรณ หลายคนชอบเป็นพิเศษ เพราะแสดงรูปปั้นเหมือนจริงของคนหลากเชื้อชาติที่ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในสุพรรณบุรี ทั้ง ชาวไทยละว้า กลุ่มชนดั้งเดิมมีขนาดร่างกายค่อนข้างเล็ก ดำรงชีพด้วยการทำไร่ คนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋ว ระยะแรกเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายทางเรือ ก่อนจะตั้งร้านค้า กลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญของจังหวัด เช่นตลาดสามชุก ตลาดศรีประจันต์ เป็นต้น พอมาห้องนี้ทำให้เรารู้จักชาวสุพรรณบุรียิ่งขึ้น คุณ นิภา สังคนาคินทร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์บอกว่า จุดเด่นของที่นี่คือ ไม่ได้จัดแสดงข้อมูลแบบเชิงวิชาการ แต่จะจัดให้มีความสนุก ทุกคนสามารถเล่นได้ ทั้งรูปปั้นหรือเทคโนโลยีสุดล้ำภายใน เนื่องจากผู้เข้าชมส่วนใหญ่จัดเป็นเยาวชน 70 % ซึ่งจะทำให้พวกเขาสนใจบรรพบุรุษของตัวเอง

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์...ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร

จากตัวเมืองสุพรรณบุรี ขับรถไปตามถนนมาลัยแมน จะสังเกตเห็นมังกรพันเสาสูงประมาณ 22 เมตร ควรแวะมากราบไหว้นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง "เจ้าพ่อหลักเมือง" ประติมากรรมสลักหินแบบนูนต่ำ สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระนารายณ์สี่กร มีอายุประมาณ 1,300-1,400 ปี เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายจีน คาดว่าชาวจีนเป็นผู้ค้นพบพระรูปที่จมโคลนอยู่ริมคลอง เมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว ก่อนจะอัญเชิญขึ้นพร้อมสร้างศาลให้เป็นที่ประทับ

บริเวณเดียวกันมี พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ซึ่งจัดแสดงโดยใช้แสง สี เสียง และเทคนิคทันสมัย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เข้าชม เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของชาวจีน ตั้งแต่เทพบิดร "ผานกู่" สละชีวิตแยกแผ่นดิน แผ่นฟ้าออกจากกัน ให้กำเนิด พระอาทิตย์ พระจันทร์ ขุนเขา และสายน้ำ และความเชื่อว่าเทพธิดาหนี่วา เป็นผู้ปั้นมนุษย์ชาย-หญิงคู่แรก ขึ้นจากดินแม่น้ำเหลืองและเสกให้มีชีวิต คล้ายกับที่ชาวตะวันตกเชื่อว่าอดัมและอีฟ คือมนุษย์ชาย-หญิง คู่แรกของโลก คุณสามารถเดินชมได้อย่างเพลินๆ พร้อมเข้าใจประวัติศาสตร์ได้อย่างง่ายๆ ที่สำคัญ แต่ละห้องมีเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจ เดินเข้าไปแต่ละห้อง ต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก ว่าจะมีลูกเล่นอะไรสนุกๆให้ชมกัน

ยลประเพณีท้องถิ่น...บุญบั้งไฟดอนคา

อีกหนึ่งสิ่งที่เลื่องลือของเมืองสุพรรณบุรี คือประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งจะจัดงานในวันที่ 4-5 พฤษภาคม ที่ วัดโภคาราม ตำบลดอนคา ชุมชนบ้านดอนคา นี้เป็นชุมชนเก่าแก่ โยกย้ายถิ่นฐานกันมาจากนครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คนท้องถิ่นประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงเต็มไปด้วยประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร

ประเพณีสำคัญคือ บุญบั้งไฟ เป็นการบวงสรวงต่อพระยาแถน (เทพเจ้าแห่งฝน) ที่สิงสถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ โดยจุดบั้งไฟ เพื่อบอกให้พระยาแถนประธานฝนลงมา เพื่อเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก งานปีนี้เพิ่มสีสันโดยวงดนตรีพื้นบ้าน ลำแคนประยุกต์ จากวงดนตรีกว่า 20 วง ชวนให้เราสงสัยนักว่าทำไมถึงมีวงเยอะขนาดนี้ จนได้คำตอบว่า ที่วัดดอนคามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือมาก คือหลวงพ่อพระใหญ่ มีอายุประมาณ 600 ปี ใครเดือดเนื้อร้อนใจ ก็มาขอพรจากท่าน สำเร็จสมหวังตามปรารถนา ชาวบ้านจึงจัดเครื่องสังเวยสังการะบูชา ส่วนมากก็แก้บนด้วยดนตรีพื้นบ้าน อย่าง ฉิ่ง ฉาบ กลองสองหน้า แคน จนพัฒนาเรื่อยๆ กลายเป็นวงทันสมัย นี่จึงเป็นความน่ารักของชาวดอนคาที่กลางวันทำนา ตกกลางคืนร้องรำเล่นดนตรี

เคล้าเสียงลูกทุ่ง...จากนักร้องลูกทุ่งเสียงทอง

หากมาสุพรรณบุรี แล้วไม่ได้ฟังเพลงจากนักร้องลูกทุ่งเมืองสุพรรณฯ เรียกว่ายังมาไม่ถึง ซึ่งสุพรรณบุรีได้มีการจัดงาน "โครงการประกวดเงาเสียงนักร้องลูกทุ่งเมืองสุพรรณฯ" ขึ้น ตั้งแต่เดือนเมษายน - สิงหาคม ไล่เรียงเสียงจากนักร้องในตำนาน เดือนเมษายน ราชินีลูกทุ่ง-พุ่มพวง ดวงจันทร์ เดือนพฤษภาคม สายัณห์ สัญญา เดือนกรกฎาคม เสรี รุ่งสว่าง และเดือนสิงหาคม สุรพล สมบัติเจริญ ใครคิดถึงนักร้องคนไหน ก็หาเวลาแวะมาฟังเพลงลูกทุ่งจากนักร้องรุ่นใหม่ งานนี้เป็นการสืบสานเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่ ไม่สูญหายตามกาลเวลา และเชิดชูเกียรติประวัตินักร้องลูกทุ่งเมืองสุพรรณฯ ดินแดนที่สร้างนักร้องเสียงทองมาหลายยุค แม้ฤดูร้อนของสุพรรณบุรีอากาศจะร้อนอบอ้าว แต่เต็มไปด้วยความอิ่มใจ เพราะได้คุณค่าครบครัน ทั้ง ประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรม ศาสนา และดนตรี

งานนี้รู้ใจคนสุพรรณบุรีขึ้นเยอะ "มาด้วยกัน มาด้วยกัน เที่ยวสุพรรณเอ๋ย..."


เรื่องและภาพ: กมลพร สุนทรสีมะ

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ มาด้วยกัน มาด้วยกัน เที่ยวสุพรรณเอ๋ย...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook